แม่ หรือ มารดา เป็นคำที่เรียกผู้ให้กำเนิด และโดยทั่วไป คือ แม่ที่เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวแบบ พ่อ แม่ ลูก เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกเพราะเป็นผู้ให้กำเนิด แม่ทั่วไปมีหน้าที่ให้ครอบครัวคือ เลี้ยงลูก ดูแลบ้าน...
ความเป็นมาของวันแม่ และสถานะของคำว่าแม่ในอัลกุรอ่าน
วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแม่ ภาษาอังกฤษ คือ Mother Day ซึ่งวันนี้ถือตามวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ลูก ๆ ทุกคนควรรำลึกถึงพระคุณของแม่
แม่ หรือ มารดา เป็นคำที่เรียกผู้ให้กำเนิด และโดยทั่วไป คือ แม่ที่เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวแบบ พ่อ แม่ ลูก เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกเพราะเป็นผู้ให้กำเนิด แม่ทั่วไปมีหน้าที่ให้ครอบครัวคือ เลี้ยงลูก ดูแลบ้าน
แม่คือ... คนแรกทีเห็นเรา
แม่คือ... คนแรกที่พูดกับเรา
แม่คือ... คนแรกที่เจ็บเพื่อเรา
แม่คือ... คนแรกที่กอดเรา
แม่คือ... คนแรกที่เลี้ยงเรา
แม่คือ... คนสุดท้ายที่จะทำให้เราเสียใจ
แม่คือ... คนสุดท้ายที่จะทอดทิ้งเรา(หรือไม่คิดจะไม่ทิ้งเราเลย)
แม่คือ... คนสุดท้ายที่จะเกลียดเรา(หรือไม่คิดที่จะเกลียดเราเลย)
แม่คือ... คนสุดท้ายที่จะไม่ห่วงเรา
แม่คือ... ... ...
เราอาจจะให้นิยามของคำว่า "แม่" ได้อีกนับสิบนับร้อยนิยามในการกล่าวถึงคุณอนันต์ของท่านในชีวิตเรา แม้ว่าบทบาทของแม่ในปัจจุบันอาจดูเหมือนลดน้อยลงและถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่นๆ แม่อาจจะให้เวลากับลูกน้อยลง ลูกอาจจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่กับคนอื่นมากกว่าอยู่กับแม่ โรงเรียนอาจทำหน้าที่ในการสอนลูกแทนแม่ ฯลฯ แต่ไม่ว่าบทบาทของแม่จะถูกทดแทนด้วยสิ่งใด ความเป็นแม่ก็มิอาจถูกลดคุณค่าลง เพราะสิ่งแปลกปลอมอื่นใด ก็ไม่สามารถสวมทับ "นิยามแห่งความเป็นแม่" ได้อย่างแนบแน่นเท่ากับความเป็นแม่ตามลักษณะธรรมชาติ
ไม่มีความสำเร็จในชีวิตใดๆ ทดแทนความสำเร็จที่สามารถได้ตอบแทนพระคุณแม่ได้อย่างสมบูรณ์
แม่ในอัลกุรอาน
มีอายะฮฺอัล-กุรอานหลายอายะฮฺที่กำชับให้ทำดีกับบิดามารดา ตัวอย่างเช่น ในสูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์ อายะฮฺที่ 23-24
«وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَاناً إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلاَهُمَا فَلاَ تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلاَ تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلاً كَرِيماً، وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَقُل رَّبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيراً) (الإسراء : ٢٣-24)
ความว่า "และองค์อภิบาลของเจ้าได้สั่งว่า พวกเจ้าอย่าได้เคารพภักดีผู้อื่นนอกจากพระองค์ และกับบิดามารดานั้นจะต้องทำดี เมื่อผู้ใดระหว่างบิดามารดาหรือทั้งสองคนได้บรรลุวัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นจงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ (นั่นคือกล่าวแสดงความไม่พอใจ) และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงกล่าวกับทั้งสองด้วยคำพูดที่ดี และจงอ่อนน้อมแก่ท่านทั้งสองด้วยความเมตตา และจงขอว่า โอ้ผู้อภิบาลฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่พวกเขาได้เลี้ยงดูฉันมาเมื่อครั้งยังเยาว์วัย"
เป็นที่สังเกตว่า อัลลอฮฺได้กล่าวถึงการทำดีกับพ่อแม่หลังจากที่พระองค์สั่งให้เคารพภักดีพระองค์ เป็นการบอกถึงความสำคัญที่ต้องทดแทนคุณของทั้งสอง และยังเจาะจงกำชับการทำดีกับทั้งสองเมื่อถึงวัยชรา เพราะเวลานั้นลูกย่อมต้องเป็นที่ต้องการเพื่อดูแลปรนนิบัติและช่วยเหลือพ่อแม่มากกว่าเวลาอื่นใด (ดูบทอธิบายใน ฟัตหุล เกาะดีรฺ ของ อัช-เชากานีย์)
นี่คืออิสลาม คำสอนที่กำหนดให้การทำดีกับพ่อแม่เป็นภาระหน้าที่สำคัญรองลงมาจากการศรัทธาและอิบาดะฮฺ ในขณะที่ความสำคัญของแม่เพียงผู้เดียวก็เป็นที่เด่นชัดและถูกกำชับมากขึ้นอีก เพราะอัลลอฮฺได้สั่งให้ทำดีกับพ่อแม่ และได้เจาะจงพูดถึงแม่ด้วยการอธิบายถึงความยากลำบากและความเหนื่อยยากในการอุ้มท้อง ในสูเราะฮฺ ลุกมาน อายะฮฺที่ 14
«وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ وَهْناً عَلَى وَهْنٍ وَفِصَالُهُ فِي عَامَيْنِ أَنِ اشْكُرْ لِي وَلِوَالِدَيْكَ إِلَيَّ الْمَصِيرُ» (لقمان : 14 )
ความว่า "และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำดีกับพ่อแม่ของเขา ผู้เป็นแม่ได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยากเป็นทวี และยังให้นมเขาในเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า(หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺ) และขอบคุณบิดามารดาของเจ้า ยังข้านั้นคือที่ที่เจ้าต้องกลับมา"
อัลลอฮฺยังได้ตรัสในสูเราะฮฺ อัล-อะห์กอฟ อายะฮฺที่ 15 อีกว่า
(وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ إِحْسَاناً حَمَلَتْهُ أُمُّهُ كُرْهاً وَوَضَعَتْهُ كُرْهاً وَحَمْلُهُ وَفِصَالُهُ ثَلَاثُونَ شَهْراً) (الأحقاف : 15 )
ความว่า "และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำดีกับพ่อแม่ของเขา มารดาของเขาได้อุ้มท้องเขาด้วยความเหนื่อยยาก และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด ทั้งอุ้มครรภ์และให้นมในเวลาสามสิบเดือน"
นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานได้กล่าวว่า เหตุที่อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงมารดาและการอุ้มท้องของนาง เพื่อการย้ำถึงหน้าที่ที่ต้องทำดีกับนาง นี่คือสถานะของแม่ในอัล-กุรอานและบัญญัติของอิสลามที่ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาจากที่อื่นอีกเลย
ที่มา: https://islamhouse.com/, th.wikipedia.org