ซะกาต คืออะไร ความหมายของคำว่า ซะกาต ทางด้านภาษาหมายถึง งอกเงย เพิ่มพูน หรือทุกสิ่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น...
ซะกาต คืออะไร ความหมายของคำว่า ซะกาต (เข้าใจง่าย)
ความหมายของคำว่า “ซะกาต”
“ซะกาต” (زكاة) ทางด้านภาษาหมายถึง งอกเงย เพิ่มพูน หรือทุกสิ่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
บางครั้งซะกาตก็แปลว่า การขัดเกลาให้บริสุทธิ์ หรือความมี สิริมงคลอีกด้วย พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيهِم بِهَا
ความว่า: “เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของพวกเขาจ่ายเป็นเศาะดะเกาะฮฺ (ทาน) ออกไป ซึ่งสิ่งนั้นจะทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์” (ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 103)
ทางด้านบทบัญญัติ หมายถึง ทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่ถูกกำหนด ตามบทบัญญัติของศาสนา โดยมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดไว้เช่นกัน หรืออาจจะหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่ พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดให้แก่บุคคลที่ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน
ฉะนั้น ความหมายทางด้านภาษากับทางด้านบทบัญญัติ สามารถรวมความได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ซะกาตที่ถูกจ่ายไปนั้น แม้ว่าทางด้านภาพที่เห็นว่าทรัพย์นั้นพร่องไป แต่นัยความเป็นจริง
นั่นเป็นสาเหตุทำให้ทรัพย์สินเพิ่มพูน ทรัพย์สินมีความจำเริญมากยิ่งขึ้น พระองค์อัลลอฮฺจะทรงเปิดประตูแห่งการประทานปัจจัยยังชีพ ให้แก่บุคคลที่ได้จ่ายทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งศาสนาของพระองค์ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
وَمَا آتَيْتُم مِّن رِّبًا لِّيَرْبُوَ فِي أَمْوَالِ النَّاسِ فَلَا يَرْبُو عِندَ اللَّهِ ۖ وَمَا آتَيْتُم مِّن زَكَاةٍ تُرِيدُونَ وَجْهَ اللَّهِ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُضْعِفُونَ
ความว่า: “และสิ่งที่สูเจ้าจ่ายออกไปจากทรัพย์สินดอกเบี้ย เพื่อให้มันเพิ่มพูนในทรัพย์สินของมนุษย์ มันจะไม่เพิ่มพูน ณ ที่อัลลอฮฺ และ สิ่งที่สูเจ้าจ่ายจากซะกาต โดยสูเจ้าปรารถนาพระพักตร์ของอัลลอฮฺ เช่นนั้นชนเหล่านี้แหละ พวกเขาคือผู้ได้รับการตอบแทนอย่างทวีคูณ” (ซูเราะฮฺอัรรูม อายะฮฺที่ 39)
อีกอายะฮฺหนึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
وَمَا أَنفَقْتُم مِّن شَيْءٍ فَهُوَ يُخْلِفُهُ ۖ وَهُوَ خَيْرُ الرَّازِقِينَ
ความว่า: “และอันใดที่สูเจ้าบริจาคจากสิ่งใดก็ดี พระองค์จักทรงทดแทน สิ่งนั้น และพระองค์จักทรงเป็นผู้ที่ดีเลิศในหมู่บรรดาผู้ประทานปัจจัย ยังชีพทั้งหลาย” (ซูเราะฮฺสะบะอุ อายะฮฺที่ 39)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) มีกล่าวว่า
ما نقصت صدقة من مال
ความว่า: “การบริจาคนั้นจะไม่ทำให้ทรัพย์สินบกพร่องเลยแม้แต่น้อย” (หะดีษเศาะหฺห, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 6757)
ฉะนั้นการจ่ายซะกาต จะทําให้ทรัพย์ของผู้จ่ายซะกาตมีความ จําเริญ และมีความเพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้น
จากหนังสือ ซะกาตที่ต้องจ่าย โดยอ.มุรีด ทิมะเสน