หุก่มการจ่ายซะกาตทองและเงินบริสุทธิ์


12,060 ผู้ชม

จำเป็นต้องจ่ายซะกาตทองคำและเงินบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเหรียญ แท่ง เครื่องประดับ หรือเป็นก้อน เมื่อมีจำนวนครบพิกัดและครบรอบปี


หุก่มการจ่ายซะกาตทองและเงินบริสุทธิ์   เพิ่มเติม:  คำเหนียตและคำกล่าวรับซะกาตฟิตเราะห์ พร้อมวิธีการปฎิบัติ (อย่างง่ายๆ)

จำเป็นต้องจ่ายซะกาตทองคำและเงินบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเหรียญ แท่ง เครื่องประดับ หรือเป็นก้อน เมื่อมีจำนวนครบพิกัดและครบรอบปี

1. อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنَّ كَثِيرًا مِّنَ الْأَحْبَارِ وَالرُّهْبَانِ لَيَأْكُلُونَ أَمْوَالَ النَّاسِ بِالْبَاطِلِ وَيَصُدُّونَ عَن سَبِيلِ اللَّهِ ۗ وَالَّذِينَ يَكْنِزُونَ الذَّهَبَ وَالْفِضَّةَ وَلَا يُنفِقُونَهَا فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَبَشِّرْهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٍ ( 34 ) 

يَوْمَ يُحْمَىٰ عَلَيْهَا فِي نَارِ جَهَنَّمَ فَتُكْوَىٰ بِهَا جِبَاهُهُمْ وَجُنُوبُهُمْ وَظُهُورُهُمْ ۖ هَٰذَا مَا كَنَزْتُمْ لِأَنفُسِكُمْ فَذُوقُوا مَا كُنتُمْ تَكْنِزُونَ ( 35 )

ความว่า “และบรรดาผู้ที่สะสมทองและเงิน และไม่จ่ายมันในทางของอัลลอฮฺนั้น จงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาเถิดด้วยการลงโทษอันเจ็บปวด วันที่มันจะถูกเผาไฟนรกแห่งญะฮันนัม แล้วหน้าผากของพวกเขาและสีข้างของพวกเขา และหลังของพวกเขาจะถูกนาบด้วยมัน นี่แหละคือสิ่งที่พวกเจ้าได้สะสมไว้เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง ดังนั้นจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด” (อัต-เตาบะฮฺ 34-35)

2. จากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَيْسَ فِيمَا دُونَ خَمْسِ أَوَاقٍ صَدَقَةٌ، وَلَيْسَ فِيمَا دُونَ خَمْسِ ذَوْدٍ صَدَقَةٌ، وَلَيْسَ فِيمَا دُونَ خَمْسِ أَوْسُقٍ صَدَقَةٌ»

ความว่า “ทรัพย์สินที่ไม่ครบห้าอูกิยะฮฺ(หน่วยชั่งชนิดหนึ่ง)ไม่ต้องจ่ายซะกาต อูฐที่ไม่ครบห้าตัวไม่ต้องจ่ายซะกาต ธัญญพืชที่ไม่ครบห้าวะสัก(หน่วยตวงชนิดหนึ่ง)ไม่ต้องจ่ายซะกาตเช่นกัน” (อัล-บุคอรีย์ 1405 มุสลิม 979)

 หุก่มการจ่ายซะกาตทองและเงินบริสุทธิ์

ปริมาณพิกัดทองคำ

- ทองหากถึงปริมาณยี่สิบดีนาร์หรือมากกว่านั้น ถือว่าต้องจ่ายซะกาตจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ (ร้อยละสองจุดห้า)

- หนึ่งดีนาร์ของทองมีน้ำหนักเท่ากับหนึ่งมิษกอล และหนึ่งมิษกอลเทียบกับมาตรวัดในปัจจุบันเท่ากับ 4.25 กรัม

- ยี่สิบดีนาร์เท่ากับ 85 กรัมทองคำ นั้นคือ 20 × 4.25 = 85 กรัมทองคำ ซึ่งถือเป็นค่าต่ำสุดของพิกัดทองคำ

ปริมาณพิกัดเงิน

- เงินหากถึงปริมาณสองร้อยดิรฮัม หรือมากกว่านั้น หรือมีน้ำหนักห้าอูกิยะฮฺหรือเกินกว่านั้นถือว่าต้องจ่ายซะกาตจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ(ร้อยละสองจุดห้า)

- สองร้อยดิรฮัมมีน้ำหนักเท่ากับ 595 กรัมหรือเท่ากับ 56 เหรียญเงินบริสุทธิ์ซาอุดิอาระเบีย และหนึ่งเหรียญเงินบริสุทธิ์ซาอุดิอาระเบียปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 7 ริยาลซาอุดิอาระเบีย ดังนั้นจึงแสดงการคูณได้ดังนี้ 7 × 56 = 392 ริยาลซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นค่าต่ำสุดของพิกัดเงินธนบัตรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องจ่ายหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ นั่นก็คือเท่ากับ 9.8 ริยาล หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5

 หุก่มการจ่ายซะกาตทองและเงินบริสุทธิ์

การทำรูปพรรณทองและเงินมีสามลักษณะ คือ

1- หากมีเจตนาในการทำเพื่อการค้าถือว่าต้องเสียซะกาตค้าขาย หนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ(ร้อยละสองจุดห้า)เพราะมันกลายเป็นสินค้าที่ค้าขายจึงต้องตีค่าเป็นสกุลเงินประเทศนั้นแล้วจึงจ่ายซะกาต

2- หากมีเจตนาในการทำดังกล่าวเพื่อเป็นของมีค่า เช่นภาชนะเครื่องใช้ อย่างมีด ช้อน กาน้ำ เป็นต้น ถือว่าหะรอมแต่ต้องจ่ายซะกาตหากครบพิกัดเป็นจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ

3- หากมีเจตนาในการทำเพื่อใช้สอยในสิ่งมุบาหฺ(ศาสนาอนุญาต) หรือให้ยืม ถือว่าต้องจ่ายซะกาต จำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบหากถึงพิกัดและครบรอบปี

ซะกาตเงินธนบัตรต่างๆ (เงินตราสกุลต่างๆ ในปัจจุบัน)

เงินตราต่างๆ ในปัจจุบันเช่น ริยาล ดอลลาร์ บาท เป็นต้น หุก่มของมันเหมือนกับทองและเงิน ต้องตีค่าตามราคาของมัน หากถึงพิกัดทองหรือเงิน ถือว่าต้องจ่ายซะกาตจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ(ร้อยละสองจุดห้า)เมื่อครบรอบปี

วิธีการคิดพิกัดซะกาตธนบัตร(เงินตราในปัจจุบัน)

ให้ตีค่าธนบัตรเป็นพิกัดทองหรือเงิน ดังนั้นเมื่อค่าต่ำสุดของพิกัดทองคือ 85 กรัม และสมมุติว่าราคาทองหนึ่งกรัมเท่ากับ 40 ริยาลซาอุดิอารเบีย ให้เราคูณค่าพิกัดทองเข้ากับราคาต่อกรัม ดังนี้ 85 × 40 = 3400 ริยาล นี้คือค่าต่ำสุดของพิกัดธนบัตร(เงินตราปัจจุบัน) ซึ่งต้องจ่ายหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ นั้นคือเท่ากับ 85 ริยาลซาอุดิอาระเบีย หรือเท่ากับ ร้อยละสองจุดห้า เป็นต้น

 หุก่มการจ่ายซะกาตทองและเงินบริสุทธิ์

ในการคิดจำนวนซะกาตธนบัตร (เงินตราปัจจุบัน) มีหลายวิธี

1. แบ่งทรัพย์สินเป็น 40 ส่วน แล้วเอาออกหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ (2.5%)ซึ่งเป็นส่วนที่วาญิบสำหรับซะกาตทองและเงินและสิ่งที่อยู่ในลักษณะเดียวกับทั้งสองประเภทนี้ ตัวอย่างเช่น หากบุคคลมีเงิน 80,000 ริยาล คิดได้ดังนี้ 80,000 ÷ 40 = 2,000 ริยาล และนี่คือจำนวนซะกาตของเงิน 80,000 ริยาล นั้นคือคิดเป็นส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ

2. หรือแบ่งทรัพย์สินเป็น 10 ส่วน หนึ่งส่วนจากจำนวนนั้นแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ผลที่ได้คือจำนวนซะกาตที่วาญิบ ตัวอย่างเช่น หากเงินมีจำนวน 100,000 คิดดังนี้ 100,000 ÷ 10 = 10,000 แล้วนำมาแบ่งสี่ ดังนี้ 10,000 ÷ 4 = 2,500 จำนวน 2,500 นี้คือซะกาตที่วาญิบของเงิน 100,000 เป็นต้น

หุก่มซะกาตเครื่องประดับ(ทองและเงิน)ที่เก็บไว้ใช้

อนุญาตให้สุภาพสตรีสวมใส่ตามธรรมเนียมทั่วไปของสตรีโดยไม่ฟุ่มเฟือยไม่ว่าจะเป็นทองหรือเงิน และนางต้องจ่ายซะกาตหากครบพิกัดและครบรอบปี แต่หากนางไม่รู้หุก่มให้จ่ายทันทีที่รู้ และปีผ่านๆ มาก่อนที่จะรู้ถือว่าไม่ต้องจ่าย เพราะบทบัญญัติศาสนาถือว่าไม่ต้องปฏิบัติจนกว่านางจะรู้ (แต่ถ้านางอยู่ในสภาพที่จะเรียนรู้ได้แต่ไม่ยอมเรียนรู้ถือว่าไม่พ้นผิดและต้องชดเชยสิ่งที่ผ่านมา - ผู้แปล)

หุก่มซะกาตเครื่องเพชรและไข่มุก

เพชร ไข่มุก หินมีค่า(อัญมณี)และสิ่งอื่นๆ ที่คล้ายกัน หากมีไว้เพื่อใช้สวมใส่ ถือว่าไม่ต้องจ่ายซะกาต แต่หากมีไว้เพื่อการค้าก็ให้เทียบค่ากับพิกัดของทองและเงิน หากครบพิกัดและครบรอบปีต้องจ่ายซะกาตจำนวนหนึ่งส่วนสี่ของหนึ่งส่วนสิบ(ร้อยละสองจุดห้า)

**จะไม่ต้องนำทองไปรวมกับเงินเพื่อให้ครบพิกัด แต่ในส่วนของราคาสินค้านั้นจะต้องรวมเข้ากับทั้งทองหรือเงินเพื่อคำนวนให้ครบพิกัดซะกาต

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : อิสมาน จารง
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

อัพเดทล่าสุด