ซะกาตค้าขาย การเนียตออกซะกาต การคิดคำนวณซะกาต ต้องจ่ายซะกาตหรือไม่?
ซะกาตค้าขาย การเนียตออกซะกาต การคิดคำนวณซะกาต
การค้า หมายถึง การแลกเปลี่ยนทรัพย์กับสิ่งตอบแทน เพื่อผลกำไรและการค้าไม่จำกัดว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใด ดังนั้น ทรัพย์สินที่ใช้ในการค้าก็คือ สินค้าที่มีการเปลี่ยนมือเพื่อผลกำไร (ปลาสวยงามและต้นไม้ประดับก็เข้าอยู่ในคำนิยามนี้)
และทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครองกรรมสิทธิ์ จะไม่กลายสภาพเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการค้าที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต นอกจากต้องมีเงื่อนไขประการนี้
ซะกาตการค้าแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ได้ทรัพย์นั้นมาครอบครองโดยมีข้อตกลงแลกเปลี่ยน เช่น ซื้อขาย เป็นต้น ถ้าหากได้มาครอบครองโดยการรับมรดก หรือพินัยกรรม หรือยกให้ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการค้า
2. เมื่อครอบครองแล้วมีเจตนาเอาไว้ใช้ในการค้า และการมีเจตนานี้มีอยู่โดยตลอด หากได้ครอบครองแล้วไม่มีเจตนาเอาไว้ใช้ในการค้า ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการค้าที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต และหากมีการเปลี่ยนเจตนาในภายหลังก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตเช่นกัน
ทรัพย์ที่ใช้ทำการค้านั้น ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับทองคำและเงินในเรื่องพิกัด,การครบรอบปี และจำนวนที่จำเป็นต้องจ่ายออกไป กล่าวคือ ให้ตีราคาสินค้าเป็นทองคำหรือเงิน ที่ใช้เป็นเงินตรา
ดังนั้น ถ้าหากราคาสินค้ามีค่าเท่ากับทองคำ 96 กรัม หรือเท่ากับเงินสองร้อยดิรฮัมก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาต และผู้ทำการค้ามีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเทียบราคาสินค้ากับทองคำหรือกับเงิน ยกเว้นในกรณีที่เขาซื้อสินค้ามาด้วยราคาที่เป็นทองคำหรือเป็นเงิน ก็จำเป็นต้องตีราคาตามนั้นโดยไม่มีสิทธิเลือก ทั้งนี้มีหลักให้พิจารณาท้ายปี นับแต่เริ่มทำการค้า โดยไม่พิจารณาว่าทรัพย์ที่ใช้ในการทำการค้านั้นจะครบพิกัดหรือไม่ในตอนเริ่มต้น และไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์นั้นต้องมีอยู่ครบตามพิกัดตลอดทั้งปี กล่าวคือ ให้พิจารณาการครอบครองสินค้าโดยมีเจตนาทำการค้าครบหนึ่งปี (ตามจันทรคติ) โดยเมื่อครบรอบปีให้ผู้ทำการค้าสำรวจสินค้าทุกชนิดในร้านของตนที่มีไว้เพื่อขาย
เช่น สำรวจจำนวนของปลาสวยงามมีทั้งหมดเท่าไหร่และทั้งหมดรวมเป็นจำนวนเท่าใด เงินจำนวนนั้นถึงอัตราพิกัดหรือไม่ เป็นต้น และให้ตีราคาสินค้าขณะสำรวจเป็นราคาทองคำหรือเงิน ถ้าถึงอัตราพิกัดก็ให้จ่ายซะกาตเศษหนึ่งส่วนสี่ของเศษหนึ่งส่วนสิบ (ร้อยละ 2.5%) คือ จำนวนเงิน หาร 40 = 2.5% ถ้าหากไม่ถึงอัตราพิกัด ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาต และสิ่งที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตนั้นเป็นราคาของสินค้าที่ตีราคาได้ มิใช่ตัวสินค้าแต่อย่างใด ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ แต่ถ้าจะจ่ายเป็นตัวสินค้าตามทัศนะที่ระบุเช่นนั้น ก็สามารถทำได้ โดยต้องจ่ายร้อยละสองครึ่งจากสินค้าทุกชนิดที่ครอบครองซึ่งตัวสินค้าดังกล่าวต้องไม่มีตำหนิหรือเสื่อมความนิยมจากท้องตลาด หากนำสินค้าที่มีลักษณะดังกล่าวมาจ่ายก็ถือว่าใช้ไม่ได้
(สรุปความจากอัลฟิกฮุล-มันฮะญี่ย์ เล่มที่ 2 หน้า 26 , 27 , 43-45)