แผนที่ มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม ตั้งอยู่ที่ อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา...
โต๊ะตะเกี่ย คือใคร ย้อนประวัติ มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม
แผนที่ มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม ตั้งอยู่ที่ อำเภอ พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา
โต๊ะตะเกี่ยฯคือใคร
ชื่อเต็มของท่านคือ พระคุณตะเกี่ยโยคินราชมิสจินจาสยาม "พบว่าบริเวณสุสานท่านมีกระดานจารึก(แกะสลักนูนต่ำ)เป็นภาษาเปอร์เซียว่า ชัยคฺ ษามะฮฺ มัยมูน ชาฮฺ อัลลอฮฺย๊าร เป็นชาวฮินดูสตาน (อินเดีย) เสียชีวิตในวันจันทร์ เดือนญุมาดาอัล-เอาวัลฺ เวลาเย็น ในปี ฮ.ศ. ที่ 1,000 กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณตะเกี่ยฯ เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2097 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสิ้นชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2122 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา” 1 บ้างก็ว่าท่านเข้ามาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมเพื่อเผยแผ่ศาสนาอิสลาม มีเรื่องเล่าขานต่อๆกันมาถึงความกะรอมะฮฺของท่านว่า
“มีท่านสมภารท่านหนึ่ง ซึ่งมิได้ระบุว่าท่านชื่อว่าอะไร พักอาศัยอยู่ที่วัดเทพชุมพล วันหนึ่งท่านได้พายเรือออกบิณฑบาตร และเป็นช่วงที่ท่านกำลังพายเรือกลับวัด ท่านได้พายเรือมาตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้หัวเกาะเรียน พอมาถึงชายฝั่งซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดเทพชุมพล ท่านได้พบชายชาวต่างชาติคนหนึ่งโพกผ้าที่ศรีษะสีขาวคล้ายแขกอินเดียยืนกวักมือเรียกท่านเพื่อที่จะขออาศัยเรือข้ามฝากไปที่วัดเทพชุมพล แต่เรือที่ท่านสมภารนั่งมามีขนาดเล็ก ท่านจึงบอกชายผู้นั้นให้ยืนรอก่อนเดี๋ยวจะให้ลูกศิษย์เอาเรือใหญ่มารับ แต่พอท่านพายเรือถึงหน้าวัดก็ได้พบชายผู้นั้นยืนรออยู่แล้ว ท่ายสมภารนึกในใจว่าชายท่านนี้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และวิชาสูงส่ง จึงได้เชิญชายคนดังกล่าวเข้าไปยังอารามซึ่งเป็นที่พัก ท่านสมภารได้คุยถึงวิชาความรู้ซึ่งกันและกัน ต่อมาได้มีการท้าทายแข่งขันกันด้านวิชาอิทธิปาฏิหาร โดยมีข้อตกลงว่าถ้าใครแพ้ต้องยอมตนเป็นศิษย์ จากนั้นได้มีการทดลองวิชากัน
ท่านสมภารนำไข่ไก่มาก่อเป็นรูปเจดีย์และได้ถามชายผู้นั้นว่าทำได้ไหม ชายผู้นั้นตอบว่าทำได้แต่ไม่สวย ชายผู้นั้นได้นำไข่ไก่มาตั้งต่อกันเป็นแนวดิ่ง และได้ชักไข่ออกทีละฟองเป็นช่องละใบทำให้ไข่ที่เหลือลอยอยู่ ต่อมาชายผู้นั้นได้พูดว่าที่ใดมีน้ำที่นั้นต้องมีปลา ท่านสมภารได้ให้ลูกศิษย์ไปเอามะพร้าวมาและบอกว่าในลูกมะพร้าวก็มีน้ำ จึงให้ลูกศิษย์เอามีดผ่าลูกมะพร้าวปรากฎว่ามีปลาเงินปลาทองอยู่ในลูกมะพร้าว และต่อมาได้มีการหลบซ่อนกันท่านสมภารได้หลบไปอยู่ในก้อนกรวดแต่ชายผู้นั้นก็หาเจอ และต่อมาชายผู้นั้นได้หลบเข้าไปอยู่ในผงฝุ่นที่ติดอยู่ที่ขนตาของท่านสมภาร หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอจึงยอมแพ้และยอมตนเป็นลูกศิษย์
ชายผู้นั้นแท้จริงท่านคือเชคมะฮ์มัยมูนหรือเรียกว่าท่านชาฮุลลอร์ยาร และท่านสมภารก็ได้เข้ารับอิสลามซึ่งมีนามว่าท่านดิหว่านเจ้า และต่อมาประชาชนได้เรียกท่านชาฮุลลอร์ยารว่าท่าน"เจ้าพระคุณตะเกี่ยฯ"ซึ่งคำว่าตะเกี่ยมาจากคำว่าตะกียะ ซึ่งหมายความว่าผู้มีความรู้ ท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยได้พักอาศัยอยู่ที่นี่โดยมีลูกศิษย์ของท่านได้สร้างที่พักไว้บนฐานของพระอุโบสถเดิมมีลักษณะเป็นหกเหลี่ยม ท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยเป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาของชาวมุสลิมและประชาชนทั่วไป ในเดือนยะมาอุ้ลเอาวัล ปีระกา ท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม ศพของท่านบรรดาลูกศิษย์ได้ฝั่งไว้ ณ.ที่พำนักของท่าน และ7ปีต่อมาท่านดิหว่านเจ้าก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม ศพของท่านก็ได้ฝั่งไว้เคียงข้างกับท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ย ปัจจุบันได้สร้างมะก่อมขยายออกมาครอบที่ฝังศพของท่านดิหว่านเจ้าไว้ซึ่งจะเห็นได้ในปัจจุบัน”
ประวัติ เจ้าคุณตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม
เรื่องเล่าข้างต้นมีจุดจบที่ไม่เหมือนกันบ้าง คือท่านดิหว่านเจ้า(บางเว็บไซต์ระบุว่าชื่อยูซุบ)ถูกฆ่าตายก่อนแล้วท่านเจ้าพระคุณก็ถูกฆ่าตายตาม ซึ่งเห็นว่าหากยึดเรื่องเล่าที่เหมาะสมแล้วควรยึดตามป้ายข้างหลุมฝังศพซึ่งมีเนื้อหาตรงกับย่อหน้าด้านบน
จากการหาข้อมูลเบื้องต้น พบข้อน่าสงสัยคือ หากใช้ข้อมูลของอ.อาลี เสือสมิง ที่บอกถึงปีเสียชีวิตของท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยปีฮศ.ที่1000 จะตรงกับปีพศ.2122 ช่วงชีวิตของโต๊ะตะเกี่ยจะไม่ตรงกับการเข้ามาของท่านเฉกอะหมัด(สันณิฐานว่าเป็นผู้นำการสร้างมัสยิด) เป็นไปได้หรือไม่ที่จะฝังโต๊ะตะเกี่ยไว้ที่พำนักของท่านก่อนจะได้พื้นที่สร้างเป็นมัสยิด
เปรียบเทียบช่วงเวลาการเข้ามาประเทศไทยของบุคคลทั้งสามท่าน
เฉกอะหมัดคือใคร?
เฉกอะหมัดหรือเจ้าพระยาบวรราชนายก ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในสังคมมุสลิมในสมัยนั้นคือ จุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย เป็นต้นตระกูล บุนนาค ท่านนับถือนิกายชีอะห์ เป็นชาวอิหร่านที่เดินทางมากับน้องชายเพื่อเข้ามาขายสินค้าโดยนำสินค้าจากอยุธยาไปขายต่างประเทศแล้วนำสินค้าจากเมืองอื่นมาขายต่อ จนท่านเป็นเศรษฐีดังคนหนึ่งในสมัยนั้น
ว่ากันว่าท่านเข้ามาอยุธยาช่วงปลายยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนถึงสมเด็จพระเอกาทศรถ และเริ่มเป็นที่รู้จักในสมัยพระเจ้าทรงธรรมอีกทั้งยังเป็นเพื่อนกับพระองค์ช่วยเหลืองานหลวง ท่านมีความดีความชอบในหน้าที่ต่างๆเป็นที่ไว้ใจแก่พระมหากษัตริย์ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ชาวบ้านจะเรียกท่านว่า”เจ้าประคุณกลางเมือง” และสุสานที่ฝังศพของท่านปัจจุบันคือ ม.ราชภัฎพระนครศรีอยุธยา
เฉกอะหมัดมีความสามารถเรื่องวิชาลี้ลับไหม?
เนื่องจากเรื่องเล่าของเฉกอะหมัดที่คล้ายคลึงกับเรื่องเล่าการประลองของเจ้าพระคุณตะเกี่ยมากเพียงแค่เปลี่ยนตัวละครเท่านั้น ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นเรื่องของท่านใดกัน เมื่อสืบค้นก็พบจากพงศาวดาร
จากชาวไทยมุสลิมที่พำนักอยู่ในตัวเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ให้ข้อมูลกับนาง เพ็ญศรี กาญจโนมัย และนางนันทนา กปิลกาญจน์ (๒๕๒๓:๔๗) ว่า พระโหราธิบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำนายในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองนั้นมีเชื้อสายมุสลิม ชื่อเดิมว่า “ซาฮุลลอฮฺ” บ้างและชาวบ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ตั้งสรรพนามพระโหราธิบดีว่า “ตาฝ้าผ้าขาวผืนเดียว” บ้าง “เจ้าประคุณกลางเมือง” มีเรื่องราวของพระโหราธิบดีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า
“…ลุลักราช ๑๐๐๕ ปีมะแมเบญจสก พระเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท มุลิกะ (หนู) ตกลงมาทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราคำนวณแล้วทูลว่า สัตว์ ๔ เท้า ทรงพระกรุณาตรัสว่ากี่ตัว พระโหราคำนวณแล้วทูลว่า ๔ ตัว ทรงพระกรุณาตรัสว่า ๔ เท้านั้นถูกอยู่ แต่ที่ ๔ ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขึ้น เป็นลูกมูสิกะคลานอยู่ ๓ ตัวกับแม่ตัว ๑ เป็น ๔ ตัว ก็ทรงพระกรุณาตรัสสรรเสริญพระโหราธิบดีว่าดูแม่นกว่าตาเห็นอีก ให้พระราชทานเงินชั่งหนึ่ง เสื้อผ้า ๒ สำรับ (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า. ๒๕๑๔: ๒๒๓)...” แต่นั้นมาก็เชื่อถือพระโหราธิบดีนัก” 2
ถึงแม้ท่านมีความสามารถในเรื่องการทำนาย แต่ในประวัติศาตร์ที่ค้นพบจะบอกเล่าถึงตำแหน่งหน้าที่และคุณงามความดีมากกว่าจึงไม่พบเรื่องเล่าการทำนายใดๆ
เรื่องเล่าการประลองวิชานั้นน่าจะเป็นเรื่องของท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยเพราะท้องเรื่องสอดคล้องกับป้ายที่พบในมัสยิด
อกา มหะหมัด คือใคร?
ออกพระศรีเนาวรัตน์ มีชื่อเดิม คือ อกา มหะหมัด(อกา มุฮัมหมัด) มาจากอิหร่านมีศักดิ์เป็นหลานของเฉกอะหมัด ได้สมรสกับคุณชี ธิดาของเฉก อาหมัด ซึ่งคุณชีนั้นในได้ถวายตัวเป็นพระสนมในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคต เจ้าพระยาอภัยราชาจึงได้ขอพระราชทานคุณชีจากสมเด็จพระนารายณ์เพื่อให้สมรสกับอกา มหะหมัด จึงทำให้ความสัมพันธ์ของอกา มหะหมัดกับเฉกอะหมัดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เมื่ออกา มหะหมัด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นออกพระศรีเนาวรัตน์ จึงกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกรมท่าขวา เพราะเขามีความสัมพันธ์กับกลุ่มขุนนาง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเฉกอาหมัด และ กลุ่มขุนนางเชื้อสายมุสลิมชาวอิหร่าน ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในสมัยนั้น
อำนาจของพระศรีเนาวรัตน์ เพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองกับขุนนางเชื้อสายอิหร่านและไม่สามารถควบคุมคนในบังคับบัญชาของตนได่ซึ่งอาจจะส่งผลต่อบัลลังค์ของสมเด็จพระนารายฯ์รวมถึงความขัดแย้งภายในกันเอง สมเด็จพระนารายณ์ทรงพิโรธถึงขั้นสั่งเย็บปากของอออกพระศรีเนาวรัตน์ หลังจากถูกลงโทษและปลดออกจากตำแหนงไม่นานนักออกศรีเนาวรัตน์ก็ถึงแก่กรรมและคาดว่าถูกฝังที่มัสยิดตะเกี่ยโยธินราชมิจจาสยาม
มัสยิดตะเกี่ยโยธินราชมิจจาสยาม
มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม สร้างในสมัยใด ?
มัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ย หรือ มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม เป็นมัสยิดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณด้านข้างเป็นสุสานซึ่งเป็นอาคารแปดเหลี่ยมทรงโดมสร้างครอบ กล่าวกันว่าเป็นที่ฝังศพของเจ้าพระคุณตะเกี่ยโยคินฯ ผู้เป็นที่เคารพสักการะของชาวมุสลิมในย่านนี้ ภายในมัสยิดมีสิ่งที่แสดงถึงสำคัญของที่นี่ได้ดี คือ แท่นบรรยายธรรมและตะเกียง ซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 มัสยิดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางประกอบศาสนกิจของชาวบ้านในชุมชนคลองตะเคียน ย่านปากคลองตะเคียนด้านใต้ กลุ่มคนที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมสืบเชื้อสายแขกจามและมลายู ทำอาชีพประมงน้ำจืด ทำแห ทำอวน และทอผ้า
พบข้อมูลที่น่าสนใจของการสร้างมัสยิดแห่งนี้สองอย่างด้วยกัน คือ
1.ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อพระประลองแพ้ท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยก็ได้มอบที่ดินวัดเพื่อสร้างแป็นมัสยิด อาจเป็นไปได้ในแง่ของประวัติศาสตร์เพราะในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชนเปอร์เซีย ซึ่งปรากฏใน“บันทึกเรื่องสำเภากษัตริย์สุลัยมาน” ว่า สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้รื้อวัดแล้วสร้างมัสยิดขึ้นเป็นเกียรติแก่ท่านอกามหะหมัด (ออกพระศรีเนาวรัตน์) ซึ่งหนึ่งในมัสยิดนั้นคือมัสยิดของชุมชนนี้เรียกว่ากุฎีใหญ่ (กุฎีเจ้าเซ็น) แต่ไม่ปรากฏชื่อมัสยิดตะเกี่ยโยธินฯ
ซึ่งกุฎีใหญ่(เจ้าเซ็น)ไม่ใช่กุฎีต้นส้น(เขตบางกอกใหญ่)แต่หมายถึงกุฎีช่อฟ้า(จ.อยุธยา) ซึ่งพื้นเพเดิมของท่านอกาหมะหมัดที่อยู่ในอยุธยาและคาดว่าศพของท่านฝังอยู่ที่มัสยิดมัสยิดตะเกี่ยโยธินฯ สันนิฐานว่าหนึ่งในมัสยิดที่ให้รื้อวัดสร้างเป็นมัสยิดนั้นน่าจะมีมัสยิดตะเกี่ยโยธินฯรวมอยู่ด้วย
จากเรื่องเล่าที่ว่าพระประลองแพ้แล้วยกที่วัดสร้างเป็นมัสยิดนั้น พระท่านไม่น่ามีสิทธิเต็มที่ในพื้นที่วัดน่าจะเป็นสมบัติของกษัตริย์มากกว่า ข้อนี้อาจเป็นไปได้ที่ที่ดินเดิมเป็นวัดมาก่อนแต่เปลี่ยนเป็นมัสยิด ตรงกับคำพูดของชาวบ้าน ไม่ใช่พระประลองแพ้แล้วยกที่ดินให้แต่อย่างใด
2. “ศาสนสถานในศาสนาอิสลามที่ท่านเฉกอหะหมัดได้สร้างขึ้นหลังจากได้ตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒๔ ปี ให้แก่วงศ์วานของท่านที่เป็นชาวเมืองเตอร์ก ประเทศเปอร์เซียแล้ว ให้ชื่อว่า กะดีย์เติกกี้ (ปากคลองตะเคียนใต้) อาจเป็นไปได้ว่าถูกสร้างในสมัยพระเจ้าทรงธธรม” 3
ข้อนี้ก็อาจเป็นไปได้อีกเพราะท่านอ้างความเป็นเจ้าของการสร้าง ซึ่งคิดว่าน่าจะศึกษามาสมควรแล้วอีกทั้งตรงกับช่วงคาดการณ์สมัยสร้างมัสยิดตะเกี่ยโยธินราชมิจจาสยาม
หากเป็นเช่นนั้นชื่อเดิมของมัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ยโยธินราชมิจจาสยามน่าจะชื่อ“กะดีย์เติกกี้” (กุฎี) ดังเช่นกุฎีอื่นๆที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา โดยบางข้อมูลกล่าวว่าได้รับพระราชทานเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชกาลที่๕ ซึ่งทำให้มัสยิดแห่งนี้มีนามแตกต่างจากกุฎีทั่วไปที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น
มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม
มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินจาสยาม
ข้อปฏิบัติตัวทางศาสนาเมื่อเข้าไปสถานที่แห่งนี้
อ.อาลี เสือสมิงได้แนะนำไว้ว่า “ให้สล่ามและขอดุอาอฺจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ทรงประทานความเมตตา การให้อภัย และเรื่องดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ล่วงลับที่อยู่ในสุสานนั้น ส่วนการไปวิงวอนขอโดยตรงให้ผู้ที่ล่วงลับในสุสานให้บันดาลสิ่งต่างๆ ที่ต้องการย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม
และถือเป็นการตั้งภาคีใหญ่ดังเช่นการกระทำของคนต่างศาสนิกที่มาจุดธูปเทียนและนั่งพนมมือขอต่อท่านเจ้าพระคุณฯ ในเรื่องต่างๆ นั่นแหล่ะคือการตั้งภาคีใหญ่ ส่วนมุสลิมที่อ้างว่า ไม่ได้ขอต่อท่านเจ้าพระคุณฯ แต่อาศัยสถานที่ซึ่งมีบารอกะฮฺเพราะเป็นสุสานของโต๊ะวะลีย์ กะเราะมะฮฺในการตอบรับดุอาอฺที่ขอต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้ที่อ้างเช่นนั้นก็ต้องรับผิดชอบในสภาวะทางความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ของตน เพราะผู้นั้นย่อมรู้ดีแก่ใจในสิ่งที่ตนกล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงเพราะเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากผู้ที่พบเห็น แม้ว่าเจ้าพระคุณฯ จะเป็นวะลียฺจริงมีกะเราะมัตมากมายเพียงใด นั่นก็เป็นเรื่องเฉพาะของท่านที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ท่าน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราในเรื่องความเป็นวะลียฺและกะเราะมัติดังกล่าว และเจ้าพระคุณฯ ก็คือมัคลู๊กที่อ่อนแอเหมือนอย่างเรา คือต้องตาย
จึงให้ข้อสรุปได้ว่า การซิยาเราะฮฺสุสานที่บริเวณมัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ย เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องระวังในเรื่องความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ตลอดจนการกระทำบางอย่างที่มีคนต่างศาสนิกได้กระทำ ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งจำเป็นที่ผู้ดูแลต้องบอกกล่าวและห้ามปราม เพราะหากเห็นดีและอำนวยความสะดวกให้คนต่างศาสนิกมากระทำชิรกฺ ณ สถานที่ของชาวมุสลิมโดยไม่มีการห้ามปราม นั่นก็เท่ากับเป็นการริฎอ (ยินดี) ต่อการกุฟรฺ ซึ่งถือเป็นกุฟรฺหรือมุรตัดได้ จึงต้องระวังให้จงหนักในเรื่องนี้”
ข้อสรุปเบื้องต้น
1. กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าท่านเจ้าพระคุณโต๊ะตะเกี่ยเป็นคนที่มีความกะรอมัตซึ่งนั่นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และท่านเป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้าน อีกทั้งคงมีความดีความชอบจึงมีชื่อเป็นมัสยิดตะเกี่ยโยธินราชมิจจาสยาม แต่ที่น่าสนใจคือไม่มีการนำเสนอความดีความชอบใดนอกเหนือจากเรื่องเล่าประลองวิชา
2. ป้ายเรื่องเล่าการประลองของเจ้าพระคุณตะเกี่ย มีความคล้ายคลึงกับข้อมูลอินเตอร์เน็ต และไม่พบประลองอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ อาจเป็นไปได้หรือไม่ที่นำเรื่องเล่าที่โดดเด่นและนำเสนอไปสู่นโยบายประชาสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ และมีความเป็นไปได้เช่นกันที่คนนับถือท่านเจ้าพระคุณตะเกี่ยจะไม่โพสต์ลงอินเตอร์เน็ตเพราะถือเป็นการละเมิดครูและจะไม่เล่าถึงความกะรอมัตให้คนอื่นๆรู้ยกเว้นอัลลอฮจะดลใจให้เขารู้เห็นเท่านั้น
3. สังเกตได้ว่ามีข้อแนะนำปล่อยสัตว์ทำทาน ซึ่งในละแวกนั้นนอกจากจะมีร้านค้าหลายร้านแล้วก็ยังมีชาวบ้านเลี้ยงสัตว์ เตรียมกับข้าว จัดขนม ผลไม้เพื่อให้คนที่มาทำบุญโดยเฉพาะ(ลืมสอบถามรายละเอียดเรื่องนี้) ท่านอิหม่ามอ่านดุอาอฺทำน้ำเพื่อให้คนที่มาสามารถดื่มได้ โดยส่วนตัวมองเป็นว่าธุรกิจชุมชนขนาดย่อม สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านโดยภาคส่วนเข้ามาสนับสนุน(ดูจากสปอนเซอร์)
4. มัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ยราชมิจจาสยาม อาจสร้างช่วงเฉกอะหมัดหรือท่านอกะอะหมัด อย่างไรเสียท่านทั้งสองคือสายสกุลบุนนาค
ที่มา: rdairis.blogspot.com
islamhouse.muslimthaipost.com