อาหารจำนวนหนึ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องจ่ายแก่ผู้ยากไร้ เพื่อชำระตนเองให้สะอาดและเพื่อชดเชยข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการถือศีลอดเช่นคำพูดที่ไร้สาระและคำพูดหยาบคายเป็นต้น
ซะกาตฟิตร์ زكاة الفط คือ อาหารจำนวนหนึ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องจ่ายแก่ผู้ยากไร้ เพื่อชำระตนเองให้สะอาดและเพื่อชดเชยข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการถือศีลอดเช่นคำพูดที่ไร้สาระและคำพูดหยาบคายเป็นต้น
ท่านอิบนุอับบาส (ร.ด.) ได้กล่าวว่า
(( فَرَضَ رسولُ اللهِ صلى اللهُ عليه وسلم زكاةَ الفِطْرِ طُهْرَةً ِللصائِمِ مِنَ اللَّغْوِ والرَّفَثِ وَطُعْمَةً ِللْمَسَاكِيْنِ ))
رواه أبوداود
“ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) ได้กำหนดซะกาตฟิตร์ เพื่อชำระผู้ถือศีลอดให้สะอาดจากคำพูดที่ไร้สาระและหยาบคายและเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากไร้” (รายงานโดยอะบูดาวูด)
ข้าวฟิตเราะฮ์
คุณประโยชน์ในการบัญญัติซะกาตฟิตร์
ซะกาตฟิตร์ถูกบัญญัติในปีฮิจเราะห์ศักราชที่สองในเดือนรอมฎอน เช่นเดียวกับการถือศีลอด และจากฮะดีษที่ผ่านมาชี้ชัดว่าเคล็ดลับการกำหนดซะกาตฟิตร์ ก็คือสนองความต้องการของผู้ยากไร้และขัดสน ให้ได้มีอาหารไว้รับประทานอย่างสมบูรณ์ และเพื่อสร้างความปีติยินดีแก่พวกเขาจนไม่เกิดความรู้สึกขื่นขม และโดดเดี่ยวในความยากจนและขัดสน ในช่วงเวลาที่มุสลิมทุกคนต่างก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม มีอาหารการกินอย่างอิ่มหนำสำราญ เนื่องในการเฉลิมฉลองวันอีด ซึ่งมีอยู่ในความหมายของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และอาทรต่อกันของมวลมุสลิมนั่นเอง และการจ่ายซะกาตฟิตร์ยังเป็นการนำตนให้เข้าใกล้ชิดอัลเลาะห์ตาอาลาอีกด้วย และเป็นการขจัดความผิดต่างๆ ที่ผู้ถือศีลอดอาจกระทำขึ้นขณะถือศีลอดเพราะผลของความดีนั้นย่อมลบล้างความชั่วออกไปได้
ท่านวะเกียะอ์ได้กล่าวว่า ซะกาตฟิตร์สำหรับเดือนรอมาดอน ก็เหมือนกับสุหยูดซะห์วีย์ในละหมาด ซะกาตฟิตร์จะชดเชยความบกพร่องของการถือศีลอด เช่นเดียวกับสุหยูดซะห์วีย์ก็จะชดเชยความบกพร่องของละหมาด
ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) กล่าวว่า
(( وَاتَّبِعِ السَّيِّئَةَ الْحَسَنَةَ تَمْحُهَا ))
“ท่านจงทำความดีติดตามความชั่วเถิด เพราะความดีสามารถลบล้างความชั่วได้” รายงานโดยอะห์มัดและติรมิซี
เงื่อนไขที่ทำให้จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์
เงื่อนไขที่ทำให้จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์คือ เป็นเสรีชน นับถือศาสนาอิสลาม มีทรัพย์ที่เกินความต้องการของตนและคนที่ตนจำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู ในวันอีดและคืนหลังวันอีด และมีชีวิตอยู่ทันได้พบกับส่วนหนึ่งของเดือนรอมาดอน และส่วนหนึ่งของเดือนเซาวาล
ดังนั้นทาสจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์ เพราะทาสไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง แต่เจ้าของทาสจะต้องจ่ายซะกาตแทนทาสของตน และคนขัดสนที่ไม่มีทรัพย์เหลือพอเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและคนในครอบครัวในวันอีด
และคืนหลังวันอีดก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์ สำหรับคนที่เสียชีวิตก่อนตะวันตกในวันสุดท้ายของเดือนรอมาดอน และทารกที่คลอดภายหลังตะวันตกในวันสุดท้ายของเดือนรอมาดอน ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์เช่นเดียวกันเพราะขาดเงื่อนไข
หลักฐานที่ยืนยันว่าซะกาตฟิตร์เป็นวาญิบ
หลักฐานที่ยืนยันว่าซะกาตฟิตร์เป็นวาญิบ คือ หะดีษที่รายงานจากอิบนุอุมัร (ร.ด.) ว่า
فَرَضَ رسولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم زَكَاةَ الْفِطْرِ مِنْ رمضانَ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ أَوْ صَاعًا مِنْ شَعِيْرٍ عَلَى كُلِّ حُرٍّ أَوْعَبْدٍ ذَكَرٍ أَوْ أُنْثَى مِنَ الْمُسْلِمِيْنَ
“ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) ได้กำหนดซะกาตฟิตร์ของเดือนรอมาดอนไว้จำนวน หนึ่งซออ์ จากผลอินทผลัมหรือหนึ่งซออ์จากข้าวสาลี เหนือทุกคนที่เป็นเสรีชนหรือเป็นทาส เป็นเพศชายหรือเพศหญิง ที่เป็นมุสลิม”
ปริมาณที่ต้องจ่ายเป็นซะกาตฟิตร์
ปริมาณที่แต่ละคนจำเป็นต้องจ่ายเป็นซะกาตฟิตร์คือหนึ่งซออ์ จากอาหารที่ชาวเมืองที่ผู้จ่ายซะกาตหรือผู้ที่ถูกจ่ายซะกาตแทนให้อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารหลัก เช่นข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาร ถั่วหรือแป้ง และถ้าหากจะจ่ายอาหารที่ไม่ใช่เป็นอาหารหลักของคนส่วนใหญ่ แต่เป็นอาหารที่มีคุณภาพดีกว่า ก็ถือว่าใช้ได้
ตามมัซฮับซาฟิอีจะออกราคาอาหาร (คือออกเงินที่มีมูลค่าเท่ากับอาหาร) แทนอาหารหนักไม่ได้ แต่จำเป็นต้องออกอาหารหนักที่นิยมกันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศนั้น
มัซฮับฮะนาฟี อนุญาตให้ออกราคาอาหาร (คือออกเงินที่มีมูลค่าเท่ากับอาหาร) แทนการออกอาหารได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาย่อมเป็นประโยชน์แก่คนยากจนมากกว่าอาหาร และเข้าถึงเป้าหมายได้มากกว่าและไม่มีข้อห้ามถ้าจะตาม(ตักลีด)มัซฮับนี้
ถ้าหากผู้ที่ออกซะกาตให้เช่นพ่อหรือสามีอยู่เมืองหนึ่ง และผู้ที่ถูกออกแทนให้เช่นลูกหรือภรรยาอยู่อีกเมืองหนึ่ง ให้พิจารณาอาหารหลักในเมืองของผู้ที่ถูกออกแทนให้เป็นเกณฑ์ และต้องจ่ายซะกาตฟิตร์ในเมืองของผู้ที่ถูกออกแทนให้ ทั้งนี้เพื่อรักษาความรู้สึกของคนยากจนในเมืองนั้น
สำหรับหนึ่งซออ์นั้นมีน้ำหนักประมาณสองกิโลกรัมสี่ขีดถึงแปดขีด
เวลาที่ต้องจ่ายซะกาตฟิตร์
อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิตร์ตั้งแต่เข้าเดือนรอมาดอน แต่สุนัตให้จ่ายซะกาตฟิตร์ให้แล้วเสร็จก่อนละหมาดอีดิ้ลฟิตร์ และมักโรห์(ไม่ควรกระทำ) ที่จะนำซะกาตฟิตร์ไปจ่ายหลังละหมาดอีด แต่ถ้าหากมีเหตุผลเช่นรอญาติใกล้ชิด หรือเพื่อนบ้านมารับซะกาตฟิตร์ ก็สุนัตให้จ่ายหลังละหมาดอีดที่ดีนั้นควรรีบจ่ายซะกาตฟิตร์ เพื่อคนยากจนจะได้นำไปเปลี่ยเป็นอาหารในเดือนรอมาดอน และเพื่อมีเวลาพอที่จะแลกเปลี่ยนและจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็น สำหรับตนเองและลูกเมียได้ทันในวันอีด
จะจ่ายซะกาตฟิตร์แทนใครบ้าง
ผู้ชายที่เป็นเสรีชน จำเป็นต้องจ่ายซะกาตในส่วนของตนเอง และต้องจ่ายแทนบุคคลที่ตนจำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ทุกคน ที่เป็นภรรยาหรือทาสหรือเป็นบิดามารดาหรือลูกหลาน แม้จะเป็นภรรยาที่ถูกหย่าแบบที่สามารถคืนดีกันได้ (รอจอีญะห์) หรือถูกหย่าแบบที่คืนดีกันไม่ได้แต่ตั้งครรภ์ก็ตาม
ส่วนภรรยาที่ดื้อดึงไม่อยู่ในโอวาทของสามีนั้น สามีไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์แทนให้ เพราะในขณะนั้นสามีไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ แต่ภรรยาจำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์เองถ้าหากเป็นคนรวย
ในกรณีที่สามีเป็นคนจนและภรรยาเป็นคนรวย สามีไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์แทนให้เพราะสามีจน และภรรยาก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์ของตนเอง ทั้งนี้เพราะภรรยาได้มอบตัวให้แก่สามีโดยสมบูรณ์์แล้ว
แม่ จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์แทนลูกของตน ที่เกิดนอกสมรส(ลูกที่เกิดจาซินา) เพราะแม่เป็นผู้ที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้
พ่อ ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์ แทนลูกที่เป็นผู้เยาว์ของตนที่มีทรัพย์สินเป็นของตนเองในขั้นร่ำรวย แต่ลูกที่เป็นผู้เยาว์จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์จากทรัพย์สินของตนเอง ถ้าหากพ่อเอาทรัพย์ส่วนตัวของตนจ่ายแทนให้ ก็ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้
สำหรับลูกที่ยังเล็กๆ ซึ่งยังไม่บรรลุศาสนภาวะ และไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ถือเป็นภาระที่พ่อจะต้องจ่ายซะกาตฟิตร์แทนให้
ส่วนบุตรที่โตจนบรรลุศาสนภาวะแล้ว และสามารถประกอบอาชีพหารายได้ได้เองแล้ว พ่อก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายแทนให้ แต่บุตรที่โตแล้วนั้นจำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิตร์เอง ถ้าหากพ่อจ่ายแทนให้ ก็ถือว่าซะกาตฟิตร์นั้นยังไม่พ้นไปจากลูก นอกจากต้องได้รับอนุญาตจากลูกเสียก่อน เพราะในเรื่องนี้พ่อจะกระทำโดยพละการไม่ได้
ส่วนลูกผู้หญิงนั้น พ่อจะต้องรับภาระจ่ายซะกาตฟิตร์แทนให้ จนกว่าจะแต่งงาน สามีจึงจะรับภาระในการจ่ายซะกาตฟิตร์แทน หรือลูกผู้หญิงมีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ก็ให้จ่ายซะกาตฟิตร์เอง
ส่วนเด็กกำพร้า (ที่บิดาตาย) ผู้ที่จะต้องจ่ายซะกาตฟิตร์แทนให้ก็คือปู่ของเด็ก และผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่าปู่ขึ้นไป แต่ถ้าหากไม่มีปู่และผู้ที่มีศักดิ์สูงขึ้นไป ผู้ที่จะต้องจ่ายซะกาตฟิตร์แทนเด็กกำพร้าโดยจ่ายจากทรัพย์ของเด็กเองก็คือ ผู้ได้รับคำสั่งเสียให้ดูแลเด็ก (วะซีย์) หลังจากนั้นคือเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กกำพร้าของรัฐ (กอยยิม) หลังจากนั้นคือฮากิม และอันดับสุดท้ายคือบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลเด็กกำพร้า ถ้าหากเด็กกำพร้าไม่มีทรัพย์ของตนเอง ก็ถือว่าซะกาตฟิตร์หลุดพ้นไป ไม่มีอะไรติดตัว
ถ้าหากเขาไม่มีทรัพย์พอจ่ายซะกาตฟิตร์ให้แก่ทุกคนที่เขาจำเป็นต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูได้ ก็ให้เขาจ่ายให้พ้นตัวของเขาเองก่อน ลำดับต่อไปก็ภรรยาของเขา ลูกคนเล็ก พ่อ แม่ของเขา และลูกที่โตแล้ว ซึ่งยังไม่สามารถประกอบอาชีพเองได้
จ่ายซะกาตฟิตร์ให้ใคร
นักวิชาการมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ซะกาตฟิตร์นั้นให้จ่ายแก่บุคคลทั้งแปดจำพวก ที่มีสิทธิ์รับซะกาต ดังปรากฏในอัลกุรอานว่า
إِنَّمَا الصدقاتُ ِللفقراءِ والمساكينِ والعامِلينَ عليهَا والمؤلفةِ قلوبُهم وفي الرِّقَابِ والغارمين وفي سبيلِ اللهِ وابْنِ السَّبيلِ فريضةً مِنَ اللهِ واللهُ عَليمٌ حكيمٌ
“ซะกาตนั้นจะตกเป็นของคนยากไร้ คนขัดสน เจ้าหน้าที่ซะกาต ผู้ที่ศรัทธาใหม่ ในเรื่องไถ่ตัวทาส คนที่มีหนี้สิน ในวิถีทางของอัลเลาะห์ และคนเดินทาง เป็นข้อกำหนดจากอัลเลาะห์ และอัลเลาะห์ทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงเชี่ยวชาญยิ่ง” (อัตเตาบะห์ 60)
1. คนยากไร้ (มิสกีน) ได้แก่คนที่มีทรัพย์ไม่พอเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องนุ่งห่มและค่าที่พัก เช่นต้องการใช้จ่ายวันละหนึ่งร้อย แต่หาได้เพียงสามสิบ เป็นต้น
2. คนขัดสน (ฟะกีร) ได้แก่คนที่มีรายรับไม่พอกับรายจ่าย เช่นต้องการใช้วันละหนึ่งร้อย หาได้แปดสิบ เป็นต้น
3. เจ้าหน้าที่รับซะกาต (อามิ้ล) ได้แก่คนงานเจ้าหน้าที่ และคนเก็บซะกาต ที่ผู้นำจำเป็นต้องใช้คนเหล่านี้ในการจัดเก็บรวบรวม และแจกจ่ายซะกาต
4. ผู้ที่ศรัทธาใหม่ (มุอัลลัฟ) คือผู้ที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม และการจ่ายซะกาตให้เขาจะทำให้ศรัทาของเขามั่นคงขึ้น
5. ในการไถ่ตัวทาส ได้แก่ทาส (มุกาตับ) ที่ทำสัญญาไถ่ถอนตนเองจากการเป็นทาส โดยหาเงินมาจ่ายให้ผู้เป็นนายเป็นงวดๆ เมื่อจ่ายเงินครบก็จะเป็นอิสระ
6. คนมีหนี้สิน (ฆอริม) คือคนที่มีหนี้สินมาก ไม่สามารถชดใช้ได้ โดยที่การกู้ยืมของเขา เป็นการกู้ยืมเพื่อกระทำสิ่งที่ไม่ผิดบทบัญญัติของศาสนา
7. ในวิถีทางของอัลเลาะห์ (ฟีสะบีลิ้ลลาห์) คือนักรบอาสาสมัครในสงครามป้องกันศาสนา โดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่มีเงินเดือน บางทัศนะว่าหมายถึงกิจกรรมทางศาสนาอิสลามทั่วไป โดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะนักรบอาสาสมัครเท่านั้น เช่นสร้างโรงเรียน มัสยิด
8. คนเดินทาง (อิบนุสสะบีล) หมายถึงคนเดินทางที่การเดินทางของเขา มีวัตถุประสงค์ไม่ผิดหลักศาสนา แม้จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวก็ตาม
วิธีการจ่ายซะกาตฟิตร์
ตวงข้าวสารตามจำนวนที่ต้องจ่ายคือคนละประมาณสองกิโลกรัมกับอีกสี่ถึงแปดขีด ให้ครบจำนวนคนที่ตนจำเป็นต้องจ่ายแทนให้ เช่นภรรยา บุตร และพ่อแม่
ใส่ข้าวสารลงในภาชนะเดียวกันทั้งหมด หลังจากนั้นให้เขาตั้งเจตนา (เนียต) ครั้งเดียวว่า “นี่คือซะกาตฟิตร์ของข้าพเจ้า และของคนที่ข้าพเจ้าต้องจ่ายแทนให้เขา”
ในกรณีที่แยกเป็นถุงๆละสองกิโลกรัมกับอีกสี่ถึงแปดขีด ให้เขาตั้งเจตนา(เนียต)ให้แก่ตัวของเขาเองก่อน เมื่อหยิบถึงขึ้นมาว่า “นี่คือซะกาตฟิตร์ของข้าพจ้า”
หลังจากนั้นก็ให้แก่ภรรยา โดยตั้งเจตนาว่า “นี่คือซะกาตฟิตร์ของภรรยาข้าพเจ้า”
หลังจากนั้นก็ให้แก่บุตร โดยตั้งเจตนาว่า “นี่คือซะกาซฟิตร์ของบุตรข้าพเจ้าชื่อ .... (ใส่ชื่อบุตร)” ตั้งเจตนา(เนียต)อย่างนี้จนครบทุกคน
หลังจากนั้นนำออกแจกจ่ายแก่พวกที่มีสิทธิได้รับ
โดย: อ.สลาม
เรียบเรียง และ แปล จากหนังสือตามมัซฮับอิหม่ามซาฟีอี
islamhouse.muslimthaipost.com