
มีหะดีษหลายบท ที่กล่าวถึงมารยาท และข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับ คำพูดขณะถือศีลอด เพื่อให้การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น
การระวัง ลิ้น ในระหว่างถือศีลอด
มีหะดีษหลายบท ที่กล่าวถึงมารยาท และข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับ คำพูดขณะถือศีลอด เพื่อให้การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นอุปนิสัยและจรรยามารยาทติดตัวไปตลอดชีวิต มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«الصِّيَامُ جُنَّةٌ، فَإِذَا كانَ يَوْمُ صَومِ أَحَدِكُم فَلا يَرْفث، وَلا يَصْخَب» [رواه البخاري]
ความว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นโล่ป้องกัน ดังนั้นในวันที่คนหนึ่งคนใดในหมู่ท่านถือศีลอด ก็อย่าได้พูดจาลามก หรือเอะอะโวยวาย” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
หะดีษบทนี้ ได้ส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาระมัดระวังคำพูด และหลีกเลี่ยงคำพูดที่แข็งกระด้าง หยาบโลน หรือลามกอนาจาร และปรากฏในรายงานหะดีษ อีกบทหนึ่งว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَيْسَ الصِّيَامُ عَنِ الطَعَامِ وَالشَرَابِ، وَإِنَّمَا مِنَ اللَغْوِ وَالرَفَثِ» [رواه ابن حبان]
ความว่า “การถือศีลอดนั้นมิใช่แค่เพียงการงดเว้นอาหารและเครื่องดื่ม แต่ต้องงดเว้นสิ่งไร้สาระ และคำพูดที่ลามกอนาจารด้วย” (บันทึกโดย อิบนุ หิบบาน) และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่า
«مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُوْرِ وَالعَمَلَ بِهِ، وَالجَهْلَ، فَلَيْسَ للهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ» [رواه البخاري]
ความว่า “ผู้ใดไม่งดเว้นคำพูด และการกระทำที่เป็นการโกหกมดเท็จ และสิ่งไร้สาระ การอดอาหารและน้ำของเขา ก็มิได้เป็นที่ต้องการของอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่อย่างใด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
รอมฎอนจึงเปรียบได้ดัง โรงเรียนที่มุสลิมจะเรียนรู้การระมัดระวังคำพูด และฝึกฝนมารยาทการสนทนาพูดคุย ตลอดจนการหลีกเลี่ยงปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่มักจะมีลิ้นเป็นต้นเหตุสำคัญ เคยมีผู้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่ามุสลิมคนใดประเสริฐที่สุด? ท่านตอบว่า
«مَنْ سَلِمَ المُسْلِمُوْنَ مِنْ لِسَانِهِ وَيَدِهِ» [رواه البخاري ومسلم]
ความว่า “คือผู้ที่พี่น้องมุสลิมต่างปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม) และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่า
«مَنْ يَضْمَنْ لِيْ مَا بَيْنَ لِـحْيَيْهِ، وَمَا بَيْنَ رِجْلَيْهِ؛ أَضْمَنْ لَهُ الجَنَّةَ» [رواه البخاري]
ความว่า “ผู้ใดสามารถรักษาสิ่งที่อยู่ระหว่างกระดูกขากรรไกร (ลิ้น) และสิ่งที่อยู่ระหว่างขาของเขา (อวัยวะเพศ) ได้ ฉันขอรับประกันว่าเขาจะได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
การระวังรักษาลิ้น ให้พูดแต่สิ่งที่ดีนั้น ถือเป็นการรับประกันอย่างหนึ่งว่าจะได้รับสรวงสวรรค์ตอบแทน ดังนั้น บทเรียนข้อนี้ จึงเป็นบทเรียนล้ำค่ายิ่ง ที่ผู้ศรัทธาได้รับจากการถือศีลอด ทั้งนี้ หากว่าผู้ถือศีลอดสามารถระมัดระวังคำพูดของตนเอง เป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม มิให้กล่าวถ้อยคำที่หยาบคาย ติฉินนินทา ยุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกัน ตลอดจนคำพูดที่ไร้สาระ หรือโกหกหลอกลวง แน่นอนว่า สิ่งดังกล่าวจะช่วยให้เขาสามารถควบคุม ระวังคำพูดของเขาในเดือนอื่นๆ ได้
งดเว้นการตอบโต้ ด้วยสิ่งที่ไม่ดี
บทเรียนข้อนี้ มีหะดีษเป็นหลักฐานสนับสนุน นั่นคือคำกล่าวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«فَإِنِ امْرًؤٌ سَابَهُ أَحَدٌ أَوْ قَاتَلَهُ، فَلْيَقُلْ: إِنِّي امْرُؤ صَائِمٌ» [رواه البخاري]
ความว่า “ถ้าหากว่ามีผู้ใดด่าทอต่อว่าเขา หรือชวนทะเลาะเบาะแว้ง ก็ให้เขากล่าวแต่เพียงว่า : ฉันเป็นผู้ที่ถือศีลอด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)
มารยาทข้อนี้ นอกจากจะช่วยเตือนสติผู้ถือศีลอด มิให้พลั้งเผลอตอบโต้ผู้ที่ด่าว่าตน ด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีไม่งาม อันเป็นผลให้การถือศีลอดของเขาไม่สมบูรณ์แล้ว ยังฝึกให้เขาเป็นคนรู้จักให้อภัย จนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวต่อเนื่องไป แม้กระทั่งหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน โดยเขาจะสามารถยกโทษ ให้อภัย และมีความอดทนอดกลั้น และด้วยมารยาทอันประเสริฐนี้ เขาจะได้รับผลบุญและรางวัลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ทรงสัญญาไว้ สำหรับผู้ที่ชอบให้อภัยแก่ผู้อื่น ผู้ศรัทธานั้น นอกจากจะระวังรักษาคำพูด และหลีกเลี่ยงการด่าทอผู้อื่น ขณะถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้ว จำเป็นที่เขาจะต้อง ตอบโต้ผู้อื่นด้วยวิธีการที่ดีด้วย ดังที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสถึงคุณลักษณะของ "อิบาดุรเราะหฺมาน" หรือ บ่าวซึ่งเป็นที่รักของพระองค์ ว่า
﴿ وَإِذَا خَاطَبَهُمُ ٱلۡجَٰهِلُونَ قَالُواْ سَلَٰمٗا ٦٣ ﴾ [الفرقان: ٦٣]
ความว่า "และเมื่อเหล่าผู้โง่เขลากล่าวทักทายพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ หรือสลาม" (อัล-ฟุรกอน: 63)
เดือนรอมฎอน จึงเป็นดังโรงเรียนที่ช่วยขัดเกลาและส่งเสริมมารยาทข้อนี้ ด้วยการให้ผู้ถือศีลอดกล่าวตอบผู้ที่มาหาเรื่อง แต่เพียงว่า إنّي صَائِمٌ (ฉันถือศีลอด) วันหนึ่งระหว่าง ที่ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เดินทางพร้อมด้วยองครักษ์ประจำตัว ผ่านสถานที่หนึ่ง ซึ่งมืดมาก ท่านได้เดินชนชายผู้หนึ่งโดยมิได้เจตนา ชายผู้นั้นจึงกล่าวตวาดขึ้นมาว่า “นี่คุณบ้าหรือไง?” ท่านอุมัรฺ กล่าวตอบแต่เพียงว่า “เปล่า” จังหวะนั้น องครักษ์ของท่านก็พุ่งเข้าหาชายคนดังกล่าว เพื่อจะทำการสั่งสอน แต่ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ ได้ห้ามไว้ พร้อมกล่าวว่า “ช้าก่อน เขาเพียงแต่ถามว่า ฉันบ้าหรือเปล่า ซึ่งฉันก็ตอบเขาไปแล้ว” คำตอบของ ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ ดังกล่าวนี้ คือมารยาท แบบเดียวกับสิ่งที่อิสลาม สอนให้ผู้ถือศีลอดพึงยึดถือ และคำพูดเช่นนี้ คือสิ่งที่อิสลามส่งเสริม กล่าวคือ เป็นคำพูดที่ไม่นำพาไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย เช่นนี้แหละคือ ลักษณะของผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นมารยาทหรือคำพูดของเขา ล้วนนำมาซึ่งสันติและความสงบสุข
การให้อภัย
รอมฎอน คือเดือนแห่งความเมตตา และการให้อภัย ในเดือนนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะทรงประทานความเมตตาอย่างเหลือล้น และจะทรงอภัยให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ โดยในทุกค่ำคืนของเดือนรอมฎอน จะมีผู้คนจำนวนมากได้รับความเมตตา ให้รอดพ้นจากไฟนรก พระองค์ทรงให้สัญญาว่าจะให้อภัย แก่ผู้ที่ถือศีลอด และยืนละหมาดยามค่ำคืนของเดือนรอมฎอน อย่างมุ่งมั่นและหวังในผลบุญ และทรงกำหนดให้ "ลัยละตุลก็อดรฺ" เป็นคืนแห่งการอภัยโทษ ความหมายอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ เป็นแรงผลักดันและฝึกฝนให้ผู้ศรัทธา กลายเป็นผู้ที่ชอบให้อภัยและมีเมตตาต่อผู้อื่น ทั้งนี้ ผู้ที่ชอบให้อภัยผู้อื่นนั้น เป็นผู้ที่สมควร จะได้รับการอภัยจากอัลลอฮฺ (ซบ.) มากกว่าคนทั่วไป เพราะพระองค์ทรงชอบการให้อภัย ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ فَٱعۡفُ عَنۡهُمۡ وَٱصۡفَحۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣ ﴾ [المائدة: ١٣]
ความว่า "จงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และเมินหน้าเสีย แท้จริง อัลลอฮฺ (ซบ.) นั้นทรงชอบผู้ทำดีทั้งหลาย" (อัล-มาอิดะฮฺ: 13)
ทั้งนี้ การตอบแทนของอัลลอฮฺ (ซบ.) นั้นจะขึ้นอยู่กับการกระทำ กล่าวคือ ผู้ใดให้อภัยผู้อื่น อัลลอฮฺ (ซบ.) ก็จะทรงให้อภัยแก่เขา ผู้ใดยกโทษให้ผู้อื่น อัลลอฮฺ (ซบ.) ก็จะทรงยกโทษให้แก่เขา บทเรียนจากเดือนรอมฎอนข้อนี้ ถือเป็นข้อคิดสำคัญสำหรับผู้ศรัทธา เรื่องการให้อภัย ต่อความผิดพลาดของผู้อื่น และการมีความเมตตา ต่อผู้ที่กระทำผิด อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสชื่นชมผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้ ว่า
﴿ وَٱلۡكَٰظِمِينَ ٱلۡغَيۡظَ وَٱلۡعَافِينَ عَنِ ٱلنَّاسِۗ وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣٤ ﴾ [آل عمران: ١٣٤]
ความว่า "และบรรดาผู้ข่มโทษ และบรรดาผู้ให้อภัย แก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺ (ซบ.) นั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย" (อาล อิมรอน: 134)
บทความที่น่าสนใจ