การถืออดอาหารหรือการถือศีลอดของมนุษยชาติ


1,342 ผู้ชม

การอดอาหารเพื่อความศรัทธาและเพื่อสุขภาพนั้นถือปฏิบัติกันมานานนับพันปี


เรื่องการอดอาหารเพื่อความศรัทธาและเพื่อสุขภาพนั้นถือปฏิบัติกันมานานนับพันปีแล้วโดยมีในแทบทุกศาสนาและความเชื่อ ศาสนาเก่าแก่อย่างพราห์มณ์ฮินดูก็มี โดยอดอาหารเป็นรายวันไม่ได้กำหนดกันชัดเจน ศาสนาพุทธเองในพระธรรมวินัยกำหนดให้พระสงฆ์ฉันมื้อเดียวเพื่อสุขภาพนั่นนับเป็นการถืออดอาหารเช่นเดียวกัน ศาสนาคริสต์และยูดายมีเรื่องราวการถืออดอาหารมานับแต่ประวัติศาสตร์ ลองย้อนกลับไปดูก็คงเห็น

เนิ่นนานมาแล้วก่อนการกำเนิดคริสต์ศาสนาสามพันปี ตามคัมภีร์ของสามศาสนาคือยูดายหรือยิว คริสต์และอิสลาม มีเรื่องราวของศาสดาโนอาฮฺ หรือนบีนุฮฺ (อ.ล.) ในศาสนาอิสลาม บันทึกกันไว้ว่าหลังน้ำท่วมใหญ่จากเหตุการณ์ฝนตกต่อเนื่องกันสี่สิบวัน ศาสดาโนอาฮฺนำเรือใหญ่ที่บรรทุกผู้คนและสิงสาราสัตว์เข้าฝั่ง วันนั้นท่านถืออดอาหารเพื่อแสดงความขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า

การถืออดอาหารหรือการถือศีลอดของมนุษยชาติ

วันเวลาผ่านมาถึง 1,450 ปีก่อนคริสตกาล ศาสดาโมเสสแห่งยูดายและคริสต์หรือนบีมูซา (อ.ล.) ในศาสนาอิสลาม ทำการถืออดอาหารในเดือนนิซานหรือเดือนมุฮัรรอมก่อนนำชาวยิวที่หนีภัยฟาโรห์จากอียิปต์ข้ามทะเลแดง ในช่วงคริสตกาล พระเยซูศาสดาแห่งศาสนาคริสต์หรือนบีอีซา (อ.ล.) ในศาสนาอิสลาม ก่อนออกจากทะเลทรายเพื่อเข้าไปเผยแผ่ธรรมะในเยรูซาเล็มใน ค.ศ.30 ท่านถืออดอาหารสี่สิบวัน ต่อมาในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.33 ท่านถูกตรึงกางเขน และวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.33 ท่านกลับฟื้นคืนชีพซึ่งถือเป็นวันปัสกาหรืออีสเตอร์ เรื่องราวนี้เชื่อต่างกันระหว่างคริสต์แคธอลิกและโปรเตสแตนท์ ส่วนในศาสนาอิสลามไม่มีความเชื่อเรื่องการตรึงการเขน

ในศาสนาอิสลาม ก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) จะรับโองการแรกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ณ ถ้ำหิรออฺ นอกนครมักกะฮฺ ท่านถืออดอาหารนาน 26 วัน ซึ่งท่านปฏิบัติเช่นนี้มานานหลายปีทุกเดือนรอมฎอนหรือเดือนที่เก้าตามปฏิทินอาหรับ กระทั่งถึงวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.610 ท่านจึงรับโองการแรก วันเวลานับจากวันนั้น 13 ปี ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.บ.) อพยพหนีภัยหรือฮิจเราะฮฺไปยังนครมะดีนะฮฺหรือยัธริบ โดยปีที่ 2 ของการฮิจเราะฮฺ การถือศีลอดนานหนึ่งเดือนตลอดเดือนรอมฎอนจึงถูกกำหนดเป็นศาสนบัญญัติในศาสนาอิสลาม

การถืออดอาหารหรือการถือศีลอดของมนุษยชาติ

การถืออดอาหารในศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งการถือศีลอดในศาสนาอิสลามนับเป็นการอดอาหารแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittant fasting หรือ IF) ซึ่งได้รับความนิยมปฏิบัติกันมากในปัจจุบัน การถือศีลอดแบบอิสลามแตกต่างจากการถืออดอาหารในศาสนาอื่นรวมทั้ง IF อย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือ อิสลามนับการถือศีลอดเป็นศาสนบัญญัติภาคบังคับสำหรับผู้ปฏิบัติได้ ประการที่สอง อิสลามมีข้อกำหนดการอดการดื่มพร้อมกันไปด้วย ขณะที่ในศาสนาอื่นไม่มีข้อกำหนดเรื่องการงดดื่มน้ำ

credit: Dr.Winai Dahlan

อัพเดทล่าสุด