กินให้ถูกในเดือนรอมฎอน


5,364 ผู้ชม

ถือศีลอด เดือนรอมฎอน เป็นการอดอาหารช่วงสั้น (Intermittent fasting) ไม่ใช่ขาดอาหาร (Starving) เปลี่ยนการกินอาหารจากสามมื้อเป็นสองมื้อ....


กินให้ถูกในเดือนรอมฎอน

บทความโดย: รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถือศีลอด เดือนรอมฎอน เป็นการอดอาหารช่วงสั้น (Intermittent fasting) ไม่ใช่ขาดอาหาร (Starving) เปลี่ยนการกินอาหารจากสามมื้อเป็นสองมื้อ โดยนับเวลาอดอาหาร 14-15 ชั่วโมงในช่วงเวลาที่ตื่นอยู่นั่นคือ 04.30-18.30 น. ไม่ใช่นับกันตอนหลับคือ 15.00-06.00 น.อย่างแบบ IF diet ที่นิยมทำกันในโลกตะวันตก การถือศีลอดแบบอิสลามหากต้องการประโยชน์ต่อสุขภาพเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีข้อแนะนำให้ทำและให้เลี่ยง ดังนี้

กินสองมื้อคือมื้อก่อนเช้า (Sahuur) และมื้อค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก (Iftar) ส่วนมื้อดึกรวมถึงกินจุบกินจิบหลังละศีลอดต้องงดเด็ดขาด ทั้งห้ามงดมื้อก่อนเช้า

มื้อก่อนเช้า ให้เป็นมื้อหนักโดยเติมโปรตีนมากขึ้นเพื่อให้อิ่มนาน อดใจอย่ากินหนักในมื้อค่ำ เพราะเป็นช่วงอินสุลินทำงานกลับด้านก่อให้เกิดการสะสมไขมันหากมากเกินไปย่อมเป็นโทษต่อสุขภาพ

กินให้ถูกในเดือนรอมฎอน

การอดอาหารนาน 14 ชั่วโมงเกิดภาวะโปตัสเซียมต่ำ แนะนำให้เติมโปตัสเซียมในมื้อค่ำโดยกินอินทผาลัมสามผลตามแนวทางสุนนะฮฺ ซึ่งช่วยให้ได้น้ำตาลชนิดดี (Fructose) เพิ่มเติมไปด้วย แนะนำให้เลือกอินทผาลัมจากปาเลสไตน์ ระวังอินทผาลัมจากอิสราเอลหน่อยก็แล้วกัน

เสริมถั่วเปลือกแข็ง (nuts) เมล็ดพืช (seeds) ผักใบเขียวเข้ม ผักสารพัดสี น้ำผลไม้คั้นสดให้ได้กาก เพื่อให้ได้สารอาหารชนิดดี

ดื่มน้ำเปล่าให้มากหลังละศีลอด เสริมผักอุ้มน้ำ เช่น แตงกวา ฟัก บวบ งดชากาแฟซึ่งสารกาเฟอีนจะเร่งขับปัสสาวะช่วงกลางวันทำให้ขาดน้ำ

งดน้ำอัดลม งดขนมหวาน งดน้ำตาลก้อน น้ำตาลกรวด ไซรัปน้ำเชื่อม อาหารประเภทแป้งขัดขาว รวมทั้งลดไขมันสัตว์

ให้กล้ามเนื้อได้ทำงานตามปกติในเวลากลางวัน โดยในยามค่ำเพิ่มการละหมาด (ตะรอเวียะฮฺ วิตริและกิยามุลลัย) การใช้พลังงานยามค่ำช่วยยับยั้งการทำงานกลับด้านของอินสุลิน ทั้งช่วยยืดกล้ามเนื้อ

ทำได้อย่างนี้ รอมฎอนจะเป็นเดือนแห่งสุขภาพอย่างแท้จริง

อัพเดทล่าสุด