ผู้ถือศีลอดจึงควรระวังตัวจากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน เพราะการถือศีลอดมิใช่เป็นเพียวการงดจากการกินดื่มเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการยับยั้งอวัยวะทุกส่วนจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม...
6 สิ่งที่ผู้ถือศีลอดบางคนมักจะละเมิด
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความศานติสถาพรขอจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยปราศจากภาคีใดๆ และฉันขอปฏิญาณตนว่ามุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
วันนี้ประชาชาติมุสลิมกำลังใช้ชีวิตอยู่กับฤดูกาลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่จากบรรดาฤดูกาลแห่งความดีทั้งหลาย
อัลลอฮฺตรัสว่า
يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣
ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! พวกเจ้าถูกกำหนดให้ถือศีลอด (ในเดือนเราะมะฎอน) เช่นเดียวกับที่การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:183)
แต่เนื่องจากผู้ถือศีลอดบางท่านมักจะล่วงละเมิด (ขอบเขตของการถือศีลอด) ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอปลุกจิตสำนึก เพื่อเป็นการปฏิบัติต่อสิทธิของอัลลอฮฺ และทำหน้าที่ในการตักเตือนดังนี้
ความว่า “บางครั้งผู้ถือศีลอดจะไม่ได้อะไรจากการถือศีลอดของเขานอกจากความหิว และบางครั้งผู้ลุกขึ้นละหมาดในยามค่ำคืนจะไม่ได้อะไรจากการละหมาดของเขานอกจากการอดนอน” (บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ เล่ม 1หน้า 539 หมายเลข 1690)
ในหะดีษข้างต้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ชี้แจงว่า ชนกลุ่มหนึ่งทำการถือศีลอดแต่พวกเขากลับไม่ได้รับการบันทึก ณ อัลลอฮฺว่าจะได้รับผลบุญของผู้ถือศีลอด แต่ทว่าสิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากการถือศีลอดดังกล่าวเป็นเพียงความหิวและกระหาย เนื่องจากว่าอวัยวะต่างๆ ของพวกเขาไม่ได้หักห้ามจากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ สายตาของพวกเขาจะจ้องมองในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม หูของพวกเขาจะสดับฟังในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม ลิ้นของเขาจะพูดจาในสิ่งที่ทำให้อัลลอฮฺโกรธกริ้ว
อัลลอฮฺตรัสว่า
ความว่า “แท้จริงหู ตา และหัวใจ ทั้งหมดล้วนต้องถูกสอบสวน (ในวันกิยามะฮฺ)” (อัล-อิสรออ์ 36)
อีกกลุ่มหนึ่งทำการละหมาดยามค่ำคืนแต่พวกเขากลับไม่ได้รับผลบุญของผู้ละหมาดยามค่ำคืน อาจจะเป็นเพราะขาดความอิคลาศ (บริสุทธิ์ใจ) ในการทำอิบาดะฮฺ หรืออาจไม่สอดคล้องกับแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรืออื่นๆ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ถือศีลอดจึงควรระวังตัวจากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน เพราะการถือศีลอดมิใช่เป็นเพียวการงดจากการกินดื่มเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการยับยั้งอวัยวะทุกส่วนจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม
ส่วนหนึ่งของการละเมิดที่มักเกิดขึ้นกับผู้ถือศีลอด คือ
1. ละหมาดหลังจากเลยเวลาแล้ว ผู้ถือศีลอดบางคนจะนอนหลับหลังจากทานอาหารสะหูรฺ และตื่นจากนอนหลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ทำให้เขาต้องพลาดจากละหมาดศุบหฺ และบางคนจะนอนก่อนเวลาอัศริ และตื่นจากนอนหลังจากที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ทำให้เขาต้องพลาดละหมาดอัศริ
อัลลอฮฺตรัสว่า :
ความหมาย “เมื่อพวกเจ้าละหมาด (ในสภาพที่กลัว) เสร็จแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ในทุกสภาพการณ์) ทั้งในสภาพยืน นั่ง และนอนตะแคง ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัย (จากศัตรูและหายจากความกลัว) ก็จงดำรงละหมาด (อย่างเต็มรูปแบบ) แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลาไว้แก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (อัน-นิสาอ์ 103)
ท่าน บุร็อยดะฮฺ เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
ความหมาย “ผู้ใดละทิ้งละหมาดอัศริโดยเจตนา (จนกระทั่งเลยเวลา) เขาก็จะไม่ได้รับผลบุญจากการงาน (การละหมาด) ของเขา” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เล่ม 1 หน้า 195 หมายเลข 553)
อัลลอฮฺตรัสว่า
ความหมาย “ดังนั้น ความหายนะจงประสบแด่บรรดาผู้ละหมาดที่หลงลืมและละเลยต่อการละหมาดของพวกเขา” (อัล-มาอูน 4-5)
มีรายงานจากมุศอับ บิน สะอัด ท่านกล่าวว่า “ฉันได้ถามบิดาของฉันว่า: โอ้ท่านบิดา ท่านสังเกตคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า ﴿ٱلَّذِينَ هُمۡ عَن صَلَاتِهِمۡ سَاهُونَ ٥ ﴾ พวกเราคนใดบ้างที่ไม่หลงลืม และไม่พูดในใจ (ขณะละหมาด)” ท่านตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น แต่ความหมายของมันคือ การใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์จนกระทั่งเวลาละหมาดหมดไป” (มุสนัด อบู ยะอฺลา เล่ม 1 หน้า 336 หมายเลข 700 อัล-มุนซิรีย์ได้กล่าวในหนังสืออัต-ตัรฆีบ วัต-ตัรฮีบ เล่ม 1 หน้า 441 ว่า สายรายงานนี้หะสัน)
อัลลอฮฺได้ตรัสเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มีสภาพเช่นเดียวกับบรรดาผู้ที่ละทิ้งละหมาดข้างต้นว่า
ความหมาย “ภายหลังจากกลุ่มชนก่อนหน้าได้จากไป ก็ได้บังเกิดกลุ่มชนที่ละทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามอารมณ์ตัณหาสืบต่อ แล้วพวกเขาก็จะประสบกับความหายนะ” (มัรยัม 59)
2. ขาดละหมาดญะมาอะฮฺ ผู้ถือศีลอดบางคนปฏิบัติละหมาดในเวลา แต่ขาดละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด
อัลลอฮฺตรัสว่า
ความหมาย “และเมื่อพวกเจ้าอยู่ในหมู่พวกเขา(ท่ามกลางกองทัพในสมรภูมิ) แล้วเจ้าได้ให้มีการปฏิบัติละหมาดขึ้นแก่พวกเขา ดังนั้น กลุ่มหนึ่งจากพวกเขาก็จงยืนละหมาดร่วมกับเจ้า และก็จงเอาอาวุธของพวกเขาถือไว้ด้วย ครั้นเมื่อพวกเขาสุญูดแล้ว พวกเขาก็จงอยู่เบื้องหลังของพวกเจ้าและอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมิได้ละหมาดก็จงมา และจงละหมาดร่วมกับเจ้า และจงยึดถือไว้ซึ่งการระมัดระวังของพวกเขา และอาวุธของพวกเขา บรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น หากว่าพวกเจ้าละเลยอาวุธของพวกเจ้า และสัมภาระของพวกเจ้าแล้ว พวกเขาก็จะจู่โจมพวกเจ้าอย่างรวดเดียว และไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้า หากว่าที่พวกเจ้ามีความเดือดร้อน เนื่องจากฝนตกหรือพวกเจ้าป่วย ในการที่พวกเจ้าจะวางอาวุธของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงเตรียมไว้แล้ว ซึ่งการลงโทษที่ยังความอัปยศแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย” (อัน-นิสาอ์ 102)
ในอายะฮฺข้างต้นบ่งบอกถึงการละหมาดยามหวาดกลัว (เคาฟฺ) ขณะทำสงคราม ยังถือว่าจำเป็น (วาญิบ) ต้องปฏิบัติเป็นญะมาอะฮฺ ดังนั้นการละหมาดเป็นญะมาอะฮฺในยามที่สงบและไม่มีสงครามจึงยิ่งจำเป็น (วาญิบ) ต้องปฏิบัติ
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
ความหมาย “แท้จริงละหมาดที่ลำบากที่สุดสำหรับบรรดาผู้กลับกลอกคือละหมาดอิชาอ์และละหมาดฟัจญ์รฺ(ศุบหฺ) หากพวกเขาทราบถึงความประเสริฐและความดีงามในการละหมาด (ญะมาอะฮฺของ) ทั้งสองเวลา แน่นอนว่าพวกเขาต้องไปละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดถึงแม้ว่าต้องคลานไปก็ตาม และแท้จริง ฉันตั้งใจที่จะสั่งให้ดำเนินการละหมาด แล้วสั่งให้คนใดคนหนึ่งเป็นอิหม่ามนำละหมาด หลังจากนั้นฉันจะพาชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งที่พร้อมด้วยไม้ฟืนไปยังบ้านของกลุ่มชนที่ไม่ไปละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดแล้วฉันจะเผาบ้านของพวกเขาด้วยไฟ” (อัล-บุคอรีย์ เล่ม 1 หน้า 218 หมายเลข 657, มุสลิม เล่ม 1 หน้า 451 หมายเลข 252)
3. อดนอนกลางคืนหรือตลอดทั้งคืน ด้วยการจดจ้องอยู่หน้าจอทีวีหรืออินเตอร์เน็ตที่เผยแพร่สิ่งไม่ดีต่างๆ ซึ่งจะนำเสนอรายการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเคลือบแคลงแก่ชาวมุสลิมเกี่ยวกับศาสนาของพวกเขา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความน่าเกรงขามของผู้ปฏิเสธศรัทธา และเพื่อให้เกิดความชื่นชมในอารยธรรมของพวกเขา เช่นการแสดงต่างๆ ที่งมงาย การร้องรำที่บ้าคลั่ง และรูปภาพที่เปลือยและไม่เหมาะสม
4. การปฏิบัติขณะละศีลอดของผู้ถือศีลอดที่ติดบุหรี่บางคน โดยแทนที่พวกเขาจะละศีลอดกับอาหารหรือเครื่องที่หะลาลและมีประโยชน์ พวกเขากลับละศีลอดด้วยการสูบบุหรี่ ขณะที่อัลลอฮฺได้ส่งศาสนทูตของพระองค์เพื่อห้ามปรามสิ่งนั้น
อัลลอฮฺตรัสว่า
ความหมาย “บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามเราะสูลผู้เป็นนบีที่เขียนอ่านไม่เป็น ที่พวกเขาพบเขาถูกจารึกไว้ในคัมภีร์ของพวกเขา ทั้งในอัต-เตารอต และในอัล-อินญีล ซึ่ง (ลักษณะเด่นของนบีท่านนั้นคือ) เขาจะสั่งสอนพวกเขาให้กระทำในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามพวกเขามิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ชอบ และจะอนุมัติให้พวกเขาทานสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ และจะห้ามพวกเขาไม่ให้ทานสิ่งที่เลวทรามและเป็นอันตราย และจะปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งและบ่วงที่ติดอยู่กับคอออกจากพวกเขา ดังนั้น บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขา และเทอดทูนเขา ช่วยเหลือเขา และปฏิบัติตามแสงสว่าง (คำสอน) ที่ถูกประทานลงมาแก่เขา ชนเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ที่ได้รับความสำเร็จ” (อัล-อะอฺรอฟ 157)
5. การพูดจาที่หยาบคายการฝ่าฝืนอื่นๆ
อบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
ความหมาย “ผู้ใดไม่เลิกคำพูดที่มดเท็จและปฏิบัติอยู่กับสิ่งนั้น จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับอัลลอฮฺต่อการอดอาหารและเครื่องของเขา” (อัล-บุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 31 หมายเลข 1903)
อบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
ความหมาย “เมื่อถึงวันถือศีลอดของพวกเจ้าแต่ละคน ก็จงอย่าพูดจาเกี้ยวพาราสี และอย่าพูดจาที่หยาบคาย และหากมีผู้ใดด่าว่าเขา หรือจะต่อสู้กับเขา ก็จงกล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นคนที่กำลังถือศีลอด” (อัล-บุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 31 หมายเลข 1904 มุสลิม เล่ม 2 หน้า 806 หมายเลข 1151)
6. การนอนกลางวันเป็นเวลานาน
ส่วนหะดีษที่ระบุว่า “การนอนของผู้ถือศีลอดเป็นอิบาดะฮฺ” นั้น เป็นหะดีษที่อ่อนและไม่มีรายงานที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ดังนั้น จึงไม่เป็นที่บังควรสำหรับมุสลิมที่จะปล่อยให้เวลาแห่งการถือศีลอดหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วยการนอนเป็นเวลานาน เพราะมุสลิมทุกคนจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับการใช้เวลาของเขาในวันกิยามะฮฺ
อบู บัรซะฮฺ อัล-อัสละมีย์ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
ความหมาย “ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวแต่ละคนจะไม่ขยับไปไหนจนกว่าเขาจะถูกถามเกี่ยวกับอายุว่าได้หมดไปกับสิ่งใด เกี่ยวกับความรู้ว่านำไปใช้ทำอะไร เกี่ยวกับทรัพย์สินว่าได้มาจากไหน และได้ใช้จ่ายไปในทางใด และเกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าได้ทรุดโทรมไปกับสิ่งใด” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ เล่ม 4 หน้า 612 หมายเลข 2417 และท่านกล่าวว่า หะดีษ หะสัน เศาะฮีหฺ)
กวีอาหรับกล่าวว่า
وَالْوَقْتُ أَنْفَسُ مَا عُنِيْتَ بِحِفْظِهِ وَأَرَاهُ أَسْهَلَ مَا عَلَيْكَ يَضِيْعُ
“เวลาเป็นสิ่งมีค่าที่สุดที่จำเป็นต้องดูแลรักษา
แต่เวลากลับถูกทำลายได้อย่างง่ายดายที่สุด”
และมวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ความศานติสถาพรขอจงประสบแด่ท่านนบีมุฮัมมัด ตลอดวงศ์วานของท่าน และบรรดามิตรสหายทุกคน
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร จำเป็นต้องถือศีลอดหรือไม่?
- เลือดนิฟาสหมดก่อนครบกำหนด 40 วัน ถือศีลอดเลยหรือไม่?
- ชิมอาหาร เสียศีลอดไหม?
- ลืมเหนียตถือศีลอด จนเข้าเวลาซุบฮิ ทำไงดี?
- ถือศีลอดในขณะมียูนุบอยู่ ได้หรือไม่?
- การถือศีลอดของผู้เดินทาง เนียตไม่ถือศีลอดได้ไหม?
- คนท้องกับเดือนรอมฎอน
- ดุอาอฺละศีลอด พร้อมคําอ่านภาษาไทย
- วิธีการถือศีลอด ข้อห้าม การถือศีลอด
- โทษของผู้ที่ไม่ถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน
ที่มา: www.islamhouse.com