เมื่อวันอีดไปตรงกับวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์ก็จะไม่ตกไปด้วยการละหมาดอีด เพราะการละหมาดอีดเป็นเพียงแค่ซุนนะฮ์มุอั๊กกะดะฮ์....
หากวันอีดตรงกับวันศุกร์ ต้องทำอย่างไร?
เมื่อวันอีดไปตรงกับวันศุกร์ การละหมาดวันศุกร์ก็จะไม่ตกไปด้วยการละหมาดอีด เพราะการละหมาดอีดเป็นเพียงแค่ซุนนะฮ์มุอั๊กกะดะฮ์ (เน้นย้ำให้กระทำ) ส่วนละหมาดญุมุอะฮ์เป็นฟัรฎูที่จำเป็นต้องกระทำ ดังนั้น สิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ไม่ทำให้สิ่งที่เป็นฟัรฎูต้องตกไป
เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ تَعْلَمُونَ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อได้มีเสียงเรียก(ด้วยการอะซาน)เพื่อละหมาดวันศุกร์ ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺเถิด และจงละหมาดทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” (อัลญุมุอะฮ์: 9)
และในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นเคยมีวันศุกร์ตรงกับวันอีด และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ทำการละหมาดทั้งวันอีดและวันศุกร์ และทำการอ่านคุฏบะฮ์ทั้งวันอีดและคุฏบะฮ์วันศุกร์ โดยท่านไม่เคยทิ้งละหมาดทั้งสองเลย
ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นมีเผ่าอาหรับมากมายที่อยู่รอบๆ มะดีนะฮ์ แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยใช้ให้พวกเขามาละหมาดญุมุอะฮ์ แต่ถ้าหากพวกเขาได้ยินเสียอะซานละหมาดญุมุอะฮ์ ก็จำเป็นแก่พวกเขามาละหมาดญุมุอะฮ์เพื่อตามชาวเมืองมะดีนะฮ์นั้น (ดู อิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน, เล่ม 2, หน้า 101)
แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ผ่อนปรนผู้ที่อยู่ห่างไกลจากมัสยิดมะดีนะฮ์ให้ทำการงดเว้นละหมาดญุมุอะฮ์ได้ (แม้ว่าพวกเขาจะได้ยินเสียงอะซานก็ตาม) เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความยากลำบากแก่พวกเขาที่จะต้องเดินทางไปมาถึง 2 ครั้งเพื่อละหมาดวันอีดกับละหมาดวันศุกร์ และท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ผ่อนปรนแก่พวกเขาให้ทำการละหมาดซุฮฺริในที่อยู่อาศัยของพวกเขาได้
เพราะท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
قَدِ اجْتَمَعَ فِى يَوْمِكُمْ هَذَا عِيدَانِ فَمَنْ شَاءَ أَجْزَأَهُ مِنَ الْجُمُعَةِ وَإِنَّا مُجَمِّعُونَ
“แท้จริงในวันของพวกท่านนี้ได้รวมไว้ซึ่งสองอีด (คือวันอีดประจำปีกับวันศุกร์ที่เป็นวันอีดประจำสัปดาห์) ดังนั้นผู้ใดที่ประสงค์ (จะละหมาดอีดเท่านั้น) ก็ถือว่าเพียงพอแก่เขาแล้วจากการ (ไม่ต้อง) ละหมาดญุมุอะฮ์ โดยที่พวกเราได้รวมตัวกัน(ละหมาดญุมุอะฮ์)แล้ว”
รายงานโดยอะบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1075
ปราชญ์ส่วนใหญ่จากมัซฮับหะนะฟีย์ มาลิกีย์ และชาฟิอีย์ ได้อธิบายว่า หะดีษที่ผ่อนปรนให้งดเว้นละหมาดญุมุอะฮ์นี้สำหรับผู้ที่มาละหมาดอีดโดยเขาอยู่ห่างไกลหรืออยู่นอกมะดีนะฮ์ ซึ่งถ้าหากพวกเขารอคอยจนกระทั่งละหมาดญุมุอะฮ์ ก็จะเป็นความลำบาก และถือว่าเป็นความลำบากเช่นเดียวกันหากพวกเขากลับไปหาครอบครัว หลังจากนั้นกลับมาละหมาดญุมุอะฮ์อีก ดังนั้น ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงผ่อนปรนแก่พวกเขา
ท่านอุษมาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวในคุฏบะฮ์หนึ่งกับเหล่าศอฮาบะฮ์และประชาชนในยุคนั้นว่า
إنَّهُ قد اجْتَمَعَ لَكُمْ في يَوْمِكُمْ هذا عِيدَانِ فَمَنْ أَحَبَّ من أَهْلِ الْعَالِيَةِ أَنْ يَنْتَظِرَ الْجُمُعَةَ فَلْيَنْتَظِرْهَا وَمَنْ أَحَبَّ أَنْ يَرْجِعَ فَلْيَرْجِعْ فَقَدْ أَذِنْتُ له
“แท้จริงในวันของพวกท่านนี้ได้มีสองอีดตรงกัน (คือวันอีดประจำปีกับวันศุกร์ที่เป็นวันอีดประจำสัปดาห์) ดังนั้นผู้ใดจากชาวอัลอะลียะฮ์(ชาวหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของมะดีนะฮ์)มีความปรารถนาที่จะรอละหมาดญุมุอะฮ์ เขาก็จงรอละหมาดญุมุอะฮ์เถิด และผู้ใดปรารถนาที่จะกลับ เขาก็จงกลับเถิด เพราะแท้จริงฉันได้อนุญาตแก่เขาแล้ว”
รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ศอฮิห์อัลบุคอรีย์, หะดีษเลขที่ 5251, ดู อัชชาฟิอีย์, อัลอุมม์, เล่ม 1, หน้า 239
ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์กล่าวว่า
وَلَمْ يُنْكِرْ عَلَيْهِ اَحَدٌ
“ไม่มีผู้ใดให้การคัดค้านท่านอุษมานเลย” อันนะวาวีย์, มัจญฺมูอฺ ชัรห์ อัลมุฮัซซับ, เล่ม 4, หน้า 491
ดังนั้น การที่บรรดาศอฮาบะฮ์ไม่คัดค้าน จึงถือว่าเป็นการมติ(อิจญฺมาอฺ)ของพวกเขาในการผ่อนปรนแก่ผู้ที่ห่างไกลทำการกลับบ้านได้โดยมิต้องกลับมาละหมาดญุมุอะฮ์ แต่ให้ละหมาดซุฮ์ริตามปกติ
ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า
وإذا كان يَوْمُ الْفِطْرِ يوم الْجُمُعَةِ صلى الْإِمَامُ الْعِيدَ حين تَحِلُّ الصَّلَاةُ ثُمَّ أَذِنَ لِمَنْ حَضَرَهُ من غَيْرِ أَهْلِ الْمِصْرِ في أَنْ يَنْصَرِفُوا إنْ شَاؤُوْا إلَى أَهْلِيهِمْ وَلَا يَعُودُونَ إلَى الْجُمُعَةِ وَالِاخْتِيَارُ لهم أَنْ يُقِيمُوا حتى يَجْمَعُوا أو يَعُودُوا بَعْدَ انْصِرَافِهِمْ إنْ قَدَرُوا حتى يَجْمَعُوا وَإِنْ لَمْ يَفْعَلُوا فَلَا حَرَجَ إنْ شَاءَ اللَّهُ تَعَالَى
“เมื่อวันอีดเป็นวันเดียวกับวันศุกร์ ก็ให้อิหม่ามทำการละหมาดอีดขณะที่เข้าเวลา หลังจากนั้นก็ให้อิหม่ามอนุญาตแก่ผู้มาร่วมละหมาดที่ไม่ใช่ชาวเมืองทำการกลับไปหาครอบครัวของพวกเขาได้ตามความต้องการโดยที่ไม่ต้องกลับมาละหมาดญุมุอะฮ์อีก และพวกเขาสามารถเลือกได้ ว่าจะอยู่(รอคอย)จนกระทั่งทำละหมาดญุมุอะฮ์ หรือหากพวกเขามีความสามารถ ก็ให้กลับมาละหมาดญุมุอะฮ์หลังจากที่ไปหาครอบครัวแล้วก็ได้ แต่ถ้าหากพวกเขาไม่ทำ(การกลับมาละหมาดญุมุอะฮ์) ก็ถือว่าไม่เป็นบาปแก่พวกเขา อินชาอัลลอฮฺ” ดู อัชชาฟิอีย์, อัลอุมม์, เล่ม 1, หน้า 239
และท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ กล่าวเช่นกันว่า
وَلَا يَجُوزُ هذا لِأَحَدٍ من أَهْلِ الْمِصْرِ أَنْ يُدْعَوْا أَنْ يَجْمَعُوا إلَّا من عُذْرٍ يَجُوزُ لهم بِهِ تَرْكُ الْجُمُعَةِ وَإِنْ كان يوم عِيدٍ
“และไม่อนุญาตสิ่งนี้ (คือการทิ้งละหมาดวันศุกร์ในวันอีด) แก่คนใดจากชาวเมือง ทำการละทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์ นอกจากมีอุปสรรคที่อนุญาตให้ทิ้งละหมาดญุอุมอะฮ์ได้ หากแม้ว่าเป็นวันอีดก็ตาม(ก็ไม่อนุญาตให้ทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์แก่ชาวเมือง)”
ดู อัชชาฟิอีย์, อัลอุมม์, เล่ม 1, หน้า 239
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องละหมาดญุมุอะฮ์หลังจากละหมาดอีดถึงแม้ว่าการอะซานได้ยินไปถึงพวกเขาก็ตาม
ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์กล่าวว่า
وَالْمَذْهَبُ مَا سَبَقَ وَهُوَ سُقُوْطُهُا عَنْ اَهْلِ الْقُرَى الَّذِيْنَ يَبْلُغُهُمُ النِّدَاءُ
“มัซฮับชาฟิอีย์ คือ ละหมาดญุมุอะฮ์ตกไปจากผู้ไม่ใช่ชาวเมืองที่การอะซาน(ได้ยิน)ไปถึงพวกเขา”
อันนะวาวีย์, มัจญฺมูอฺ ชัรห์ อัลมุฮัซซับ, เล่ม 4, หน้า 491
ผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่และมีการละหมาดญุมุอะฮ์และวันอีดในวันเดียวกัน จะถูกผ่อนปรนไม่ต้องมาละหมาดญุมุอะฮ์ได้หรือไม่?
ก็ขอแนะนำว่า ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านและเป็นสัปบุรุษในมัสยิดของหมู่บ้านนั้นก็จำเป็นต้องมาละหมาดญุมุอะฮ์ตามปกติเพื่อเป็นการเผื่อป้องกันมิให้กลายเป็นคนทิ้งละหมาดญุมุอะฮ์เป็นฟัรฎู ส่วนผู้ที่ไปอยู่ต่างถิ่นเนื่องจากไปทำงานหรือไปศึกษาร่ำเรียนพร้อมอยู่ห่างไกลจากมัสยิดของท้องถิ่นนั้น ก็ผ่อนปรนไม่ต้องมาละหมาดญุมุอะฮ์ แต่ให้ละหมาดซุฮ์ริตามปกติ