เมื่อใดที่ศาสนาบังคับใช้ให้เด็กถือศีลอด?


3,588 ผู้ชม

เมื่อใดที่ศาสนาจะใช้ให้เด็กๆ ถือศีลอด ? หรือจะปล่อยให้บรรลุศาสนภาวะก่อน หรือจะบังคับให้พวกเขาถือศีลอดนับแต่ยังเล็ก ๆ ?


 เมื่อใดที่ศาสนาจะใช้ให้เด็กๆ ถือศีลอด ? หรือจะปล่อยให้บรรลุศาสนภาวะก่อน หรือจะบังคับให้พวกเขาถือศีลอดนับแต่ยังเล็ก ๆ ?

ศาสนาถือว่า เป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องปฏิบัติที่บุตรหลานนั้นยิ่งใหญ่นัก หน้าที่นี้ถือเป็นอะมานะห์จำเป็นที่มนุษย์ทุกคนต้องพึงสังวรณ์ และทุกคนจะต้องถูกสอบสวนในหน้าที่นี้อย่างแน่นอนในวันปรภพ ดังนั้น ผู้ใดที่ปฏิบัติหน้าที่นี้ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้อัลเลาะห์ทรงพอพระทัยเขาก็จะได้รับชัยชนะ และถ้าผู้ใดบกพร่องในหน้าที่สำคัญนี้ เขาจะต้องขาดทุนอย่างย่อยยับทั้งในภาคภพนี้และภพหน้า(ดุนยาและอาคิเราะห์) อัลเลาะห์ทรงตรัสฝากบุตรหลานให้เป็นอะมานะห์แก่ผู้ปกครองไว้ในซูเราะห์ อันนิซาอ์ โองการที่ 11 ความว่า

يُوصِيكُمُ اللَّهُ فِي أَوْلادِكُمْ

“ อัลเลาะห์ทรงสั่งกำชับแก่พวกเจ้าในเรื่องการเอาใจใส่ดูแลลูกหลานของพวกเจ้า”

และอีกโองการหนึ่งในซูเราะห์ อัตตะห์รีม โองการที่ 6 ความว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَارًا

“ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงรักษาตัวพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากนรก”

ดังนั้น หน้าที่ของมุสลิมต้องสนใจในการอบรมเลี้ยงดูลูกหลานอย่างดีและถูกต้องตามหลักการศาสนาที่อัลเลาะห์และศาสนทูตได้กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งจากภาระหน้าที่ดังกล่าวที่พึงมอบให้ลูกหลานก็คือ ให้ปฏิบัติศาสนกิจ เมี่อพวกเขามีความสามารถจะกระทำได้

เมื่อใดที่ศาสนาบังคับใช้ให้เด็กถือศีลอด?

การถือศีลอด ถือเป็นศาสนกิจประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยความอดทน ความอุตสาหะอย่างมาก เพราะฉะนั้น สมควรที่พ่อแม่ต้องให้การอบรมตักเตือนให้บรรดาลูก ๆ ได้ฝึกปฏิบัติแต่เนิ่น ๆ เพื่อเมื่อพวกเขาเติบใหญ่จะได้ไม่หนักในการจะปฏิบัติศาสนกิจประเภทนี้

บรรดาสาวกของท่านศาสดา(ร.ฎ.) ได้สนใจที่จะให้บรรดาบุตรหลานของพวกเขาฝึกถือศีลอดตั้งแต่อายุยังเยาว์ และการปฏิบัติเช่นนี้ก็ได้รับการรับรองจากท่านนบี(ซ.ล.) ด้วยดี มีรายงานจากรุบัยเยี๊ยะอ์ บินติมุเอาวิซ (ร.ฎ.) ความว่า :

“พวกเราเหล่าสาวกของท่านนบี(ซ.ล.) ได้ใช้ให้บรรดาเด็ก ๆ ที่ยังเล็ก ๆ ของพวกเราถือศีลอด พวกเราพาพวกเขาไปมัสยิดด้วย และเราได้เตรียมของเล่นสำหรับพวกเขา เมื่อพวกเขาร้องไห้เพราะความหิว พวกเราก็ให้อาหารแก่พวกเขา พวกเราทำอย่างนี้จนถึงเวลาละศีลอด” และบางรายงานมีความว่า “ เมื่อพวกเด็ก ๆ ร้องขออาหาร พวกเราก็พยายามหาของเล่นแก่พวกเขาเพื่อให้เพลิน ๆ จนกระทั่งถึงเวลาละศีลอด แล้วจึงให้พวกเขาทานอาหารพร้อมพวกเรา”

ฉะนั้น ผู้ใดที่มีบุตรยังไม่บรรลุศาสนภาวะ โตพอที่จะถือศีลอดได้ ก็จงฝึกให้เขาถือศีลอด แม้จะไม่เป็นการบังคับพวกเขาในทางศาสนาก็ตาม เพราะท่านศาสนทูตของอัลเลาะห์(ซ.ล.) ได้สั่งให้พวกเราปฏิบัติศาสนกิจนับแต่พวกเรายังด้อยปัญญา คือยังเล็ก ๆ ซึ่งพอจะกระทำได้ มีรายงานหะดีษจากท่านอิบนิอุมัร (ร.ฎ.) กล่าวว่า ท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวว่า

«مُرُوا أَبْنَاءَكُمْ بِالصَّلاَةِ لِسَبْعٍ، وَاضْرِبُوهُمْ عَلَيْهَا لِعَشْرٍ،

وَفَرِّقُوا بَيْنَهُمْ فِي الْمَضَاجِعِ»

“ พวกท่านทั้งหลายจงใช้ให้ลูก ๆของพวกเจ้าทำละหมาดเมื่อพวกเขาอายุได้ 7 ขวบ และให้ทำโทษพวกเขาได้เมื่ออายุได้ 10 ขวบ และให้แยกที่นอนระหว่างพวกเขา”

เมื่อใดที่ศาสนาบังคับใช้ให้เด็กถือศีลอด?

กระนี้ ท่านนบีได้สั่งให้พวกเรากระทำ โดยให้พวกเรากำชับให้ลูก ๆ ทำการละหมาด และอนุญาตให้เราทำโทษลูก ๆ ได้ หากพวกเขายังไม่กระทำตามคำสั่ง แม้จะยังไม่บรรลุศาสนภาวะก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้พวกลูก ๆ ได้มีการฝึกปฏิบัติศาสนกิจนับแต่ยังเยาว์ เพื่อเมื่อเติบใหญ่ถึงภาคบังคับจะได้ไม่หนักสำหรับพวกเขา

ส่วนถ้าหากพวกเราเหล่าพ่อแม่ ปล่อยประละเลยไม่ยอมฝึกให้ลูก ๆ ได้กระทำการละหมาดหรือถือศีลอดตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ๆ อยุ่ ครั้นเมื่อถึงพวกเขาเติบใหญ่ เข้าวัยบรรลุศาสนภาวะค่อยใช้ให้พวกเขาทำละหมาดหรือถือศีลอด แน่นอนว่า คำสั่งของพวกเราย่อมถูกปฏิเสธได้ง่าย เพราะพวกเขาไม่มีความเคยชินต่อการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจพูดได้ว่า “ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”

ส่วนพ่อแม่บางคนอ้างว่า ที่ไม่ยอมฝึกให้ลูก ๆ ทำอิบาดะห์ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เพราะสงสาร เกรงลูกจะลำบาก ถ้าจะให้ถือศีลอดกลัวพวกลูก ๆ จะหิว จะไม่สบาย การคิดอย่างนี้ถือเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะพ่อแม่มีความสงสารลูกอย่างแท้จริงนั้น ต้องปกป้องมิให้ลูก ๆ ตกนรก และแนะทางให้พวกเขาเข้าสู่สวรรค์ แม้การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวอาจจะลำบากใจในช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้วจะมีความสุขที่สุด เมื่อพ่อแม่เห็นลูกละหมาดและถือศีลอด และเมื่อสภาพลูก ๆ กลายเป็นคนทำศาสนกิจอย่างประจำ จะกลายเป็นเด็กดีในสายตาของพ่อแม่ พี่น้อง และทุกคนที่พบเห็น รวมทั้งอัลเลาะห์ก็ทรงพอพระทัยด้วย ซึ่งผลดีที่ว่านี้จะส่งผลอันประเสริฐสุดสู่ตัวพ่อแม่ วงค์สกุล ทั้งดุนยาและอาคิเราะห์ อินซาอัลเลาะห์

อัพเดทล่าสุด