เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับมรดกน้อยกว่าผู้ชาย (อิสลาม)


4,854 ผู้ชม

ตามหลักการศาสนาอิสลามว่า ด้วยเรื่องการให้้มรดก เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับน้อยกว่าผู้ชาย นั่นเป็นเพราะว่า ตามหลักแล้ว 'ผู้ชาย' มีหน้าที่ต้องดูแล รับผิดชอบบรรดาผู้หญิง....


เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับมรดกน้อยกว่าผู้ชาย (อิสลาม)

เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับมรดกน้อยกว่าผู้ชาย (อิสลาม)

ตามหลักการศาสนาอิสลามว่า ด้วยเรื่องการให้้มรดก เหตุผลที่ผู้หญิงได้รับน้อยกว่าผู้ชาย นั่นเป็นเพราะว่า ตามหลักแล้ว 'ผู้ชาย' มีหน้าที่ต้องดูแล รับผิดชอบบรรดาผู้หญิง ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะ พ่อ สามี พี่ชาย น้องชาย ลูก (ในวัยอันควร) ลุง ก็ตาม ทรัพย์สินของผู้ชายต้องถูกใช้ไปในการดูแลบรรดาผู้หญิงด้วยเช่นกัน แต่ทรัพย์สินของผู้หญิง ก็จะยังคงเป็นของผู้หญิงให้ใช้จ่ายตามความต้องการของเธอ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ว่า เหตุใดฝ่ายชายจึงได้มากกว่า และนี่คือหลักการของศาสนาอิสลาม
แต่หากพบว่า ในปัจจุบันผู้ชายไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ดูแลครอบครัว เพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ และบางคนก็นำทรัพย์สินของฝ่ายหญิงมาใช้ จะด้วยความสมัครใจของฝ่ายหญิงหรือไม่ก็แล้วแต่ ...โปรดอย่าโทษ 'อิสลาม'
สรุปเรียบเรียงจากการฟังบรรยายของมุฟตี อิสมาอีล เมงกฺ
เราควรพิจารณาตัวเองมากกว่า ว่าเราได้ศึกษาหลักการและทำหน้าที่ของเราดีหรือยัง 

..............

มรดก คือ ทรัพย์สินหรือสิทธิที่ผู้ตายได้ทิ้งไว้ ซึ่งทายาทโดยชอบธรรม มีสิทธิได้รับ ด้วยการสิ้นชีวิตของผู้ตาย (อัลฟิกฮุล-อิสลามีย์ 8/243) การแบ่งมรดก เป็นระเบียบ ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ที่ได้รับการยืนยัน ด้วยตัวบทอัลกุรฺอาน อัลหะดีษ และอิจญ์มาอฺ ซึ่งมีความสำคัญ เช่นเดียวกับหลักการ ที่ว่าด้วยการละหมาด การจ่ายซะกาฮฺ การทำธุรกรรมต่างๆ และบทลงโทษ ตามลักษณะอาญา โดยจำเป็นในการบังคับใช้ และนำมาปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลง หรือฝ่าฝืน ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป นานเพียงใดก็ตาม (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญีย์ 5/71,72) และผู้ใดปฏิเสธบัญญัติของศาสนา ในเรื่องการแบ่งมรดก ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ออกนอกจากศาสนาอิสลาม (อ้างแล้ว 5/68)

ท่านนบีมุฮำหมัด (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวความว่า: “จงแบ่งทรัพย์สิน ในระหว่างผู้สืบทอด ตามนัยแห่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ”   (รายงานโดยบรรดาเจ้าของสุนัน)

องค์ประกอบของการแบ่งมรดก

องค์ประกอบของการแบ่งมรดกมี 3 ประการ คือ

  1. เจ้าของมรดกหรือผู้ตาย (อัล-มุวัชริซฺ)
  2. ผู้สืบ (รับ) มรดก (อัล-วาริซฺ) 
  3. ทรัพย์สินหรือสิทธิของเจ้าของมรดกหรือผู้ตาย เรียกในภาษาอาหรับว่า อัลเมารูซฺ,อัล-มีรอซฺ และอัล-อิรซฺ (المَوْرُوْثُ ، اَلمِيْرَاثُ ، اَلإِرْثُ) เมื่อขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดจาก 3 ประการนี้ ก็ไม่มีการสืบมรดก (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ 8/248,249)

สิ่งที่ถือว่าเป็นมรดก

สิ่งที่ถือว่าเป็นมรดกได้แก่

  1. สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน ตึก อาคาร บ้าน สวน ไร่นา รถยนต์ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น

  2. เงินสดในมือ และในธนาคาร
  3. ทรัพย์สิน ที่ผู้ตายมีสิทธิโดยชอบธรรม แต่ยังมิได้มีการส่งมอบ เช่น หนี้สินของผู้ตาย ที่ติดค้างอยู่ที่ผู้อื่น (ลูกหนี้) เงินค่าทำขวัญ เงินค่าทดแทน เงินค่าตอบแทน เป็นต้น

  4. สิทธิทางวัตถุ ซึ่งมิได้เกิดจากตัวทรัพย์สินโดยตรง แต่ทว่าเกิดจากการกระทำโดยทรัพย์สินนั้น หรือมีความผูกพันกับทรัพย์สินนั้น เช่น สิทธิในน้ำดื่ม สิทธิในการใช้ทางสัญจร สิทธิในการอาศัย สิทธิในที่ดินเพื่อการเพาะปลูก สิทธิในการเช่าช่วง เป็นต้น

บรรดาสิทธิที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย

มีสิทธิ 5 ประการ ที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยมีความสำคัญก่อนหลังตามลำดับ ดังนี้ คือ

  1. บรรดาหนี้สิน ที่เกี่ยวพันกับตัวของทรัพย์มรดก ก่อนหน้าการเสียชีวิตของผู้ตาย อาทิ เช่น การจำนอง, การซื้อขาย และทรัพย์สิน ซึ่งจำเป็นต้องออกซะกาฮฺ

  2. การจัดการศพ อันหมายถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด นับแต่การเสียชีวิตของผู้ตาย จวบจนเสร็จสิ้นการ ฝังศพ โดยไม่มีความสุรุ่ยสุร่าย หรือความตระหนี่ในการใช้จ่าย

  3. บรรดาหนี้สิน ที่มีภาระผูกพันกับผู้ตาย ไม่ว่าบรรดาหนี้สินนั้น จะเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อาทิ เช่น ซะกาฮฺ,สิ่งที่ถูกบน (นะซัร) เอาไว้ และบรรดาค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) หรือจะเป็นสิทธิของบ่าว อาทิ เช่น การยืมหนี้สิน เป็นต้น

  4. พินัยกรรม (วะศียะฮฺ) ที่ผู้ตายทำไว้ จากจำนวน 1 ใน 3 ของทรัพย์สิน ที่ผู้ตายละทิ้งไว้ หลังจากค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ และการชดใช้หนี้สินของผู้ตาย

  5. ทรัพย์อันเป็นมรดก ซึ่งถือเป็นสิทธิ ที่เกี่ยวพันกับทรัพย์สิน ของผู้ตาย ในลำดับท้ายสุด โดยให้นำมาแบ่ง ระหว่างทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ตามสัดส่วน ที่ศาสนากำหนด (อัลฟิกฮุล-มันฮะญี่ย์ 5/73,74)

เงื่อนไขของการแบ่งมรดก

การแบ่งมรดกนั้น จะมีเงื่อนไข ดังนี้

  1. เจ้าของมรดกได้เสียชีวิตอย่างแน่นอน หรือด้วยคำสั่งของศาล (ว่าเสียชีวิต หรือสาบสูญ)

  2. ผู้สืบมรดก (ทายาท) ยังมีชีวิตอยู่อย่างแน่นอน หรือด้วยคำสั่งของศาล

  3. จะต้องทราบว่า ผู้นั้นเกี่ยวข้องในการสืบมรดกอย่างไร เช่น เป็นสามี เป็นภรรยา ฯล

  4. จะต้องไม่ถูกกันสิทธิในการสืบมรดก ตามหลักศาสนบัญญัติ

ผู้ที่ไม่มีสิทธิในกองมรดก

ผู้ที่ไม่มีสิทธิสืบมรดก โดยเด็ดขาด มีดังนี้ คือ

  1. ผู้ที่ทำการสังหารเจ้าของมรดก หรือมีส่วนร่วมในการสังหาร (สมรู้ร่วมคิด) ไม่ว่าจะเป็นการสังหาร โดยเจตนา หรือผิดพลาด, จะด้วยสิทธิอันชอบธรรม หรือไม่ก็ตาม หรือตัดสินให้ประหารชีวิต หรือเป็นพยานปรักปรำ จนเป็นเหตุให้มีการประหารชีวิต หรือรับรองพยาน ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ มีรายงานจากท่าน อัมร์ อิบนุ ชุอัยฺบ์ จากบิดาของเขา จากปู่ของเขาว่า แท้จริงท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า : - لَيْسَ لِلْقَاتِلِ شَئٌ (أَىْ مِنَ الْمِيْرَاثِ -  “สำหรับผู้สังหาร ย่อมไม่มีสิทธิใดๆ เลย จากทรัพย์มรดก  (อบูดาวูด-4564-)

  2. ทาส ทุกชนิด ทั้งนี้ เพราะทาสไม่มีสิทธิ ในการครอบครองทรัพย์สิน 
  3. ผู้สืบมรดกเป็นชนต่างศาสนิก หรือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม (มุรตัด) ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า :  - لاَيَرِثُ الْمُسْلِم الكَافِرَوَلاَالْكَافِرُالْمُسْلِمَ -  มุสลิมจะไม่สืบมรดก คนต่างศาสนิก และคนต่างศาสนิก ก็จะไม่สืบมรดก คนมุสลิม”  (รายงานโดย บุคอรี-6383-,มุสลิม-1614-)

ผู้มีสิทธิสืบมรดก اَلْوَارِثُ (อัล-วาริซฺ)

ทายาทผู้ตายที่เป็นชาย ซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้

  1. บุตรชายของผู้ตาย

  2. หลานชาย เหลนชาย ฯลฯ

  3. บิดาของผู้ตาย

  4. ปู่ของผู้ตาย (บิดาของบิดา ฯลฯ)

  5. พี่ชายหรือน้องชาย (ทั้งที่ร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดา หรือร่วมมารดากับผู้ตาย

  6. บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดามารดา)

  7. บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดากับผู้ตาย)

  8. อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชาย ของบิดาที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย)

  9. อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชาย ของบิดาที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)

  10. บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชาย หรือน้องชายของบิดา ที่ร่วมบิดามารดา กับบิดาของผู้ตาย)

  11. บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชาย หรือน้องชายของบิดา ที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)

  12. สามีของผู้ตาย

  13. ผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาส ที่เขาปล่อยนั้น เป็นเจ้าของมรดก)

อนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด มีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดก ผู้มีสิทธิสืบมรดกมีเพียง บิดา ลูก และสามีของผู้ตาย เท่านั้น

ทายาทผู้ตายที่เป็นหญิง ซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้

  1. บุตรีของผู้ตาย
  2. บุตรีของบุตรชาย (หลานสาว) หรือบุตรีของบุตรชายของบุตรชาย (เหลนสาว) ของผู้ตาย

  3. มารดาของผู้ตาย
  4. ย่า (มารดาของบิดา) ของผู้ตาย
  5. ยาย (มารดาของมารดา) ของผู้ตาย
  6. พี่สาวหรือน้องสาว (ร่วมบิดามารดาหรือร่วมมารดาหรือร่วมบิดากับผู้ตาย)

  7. ภรรยาของผู้ตาย
  8. นายหญิงผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาส ที่นางปลดปล่อยนั้น เป็นเจ้าของมรดก)

อนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด มีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดก ผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดก คือ

  1. บุตรีของผู้ตาย
  2. หลานสาว (บุตรีของบุตรชาย) ของผู้ตาย
  3. ภรรยาของผู้ตาย
  4. มารดาของผู้ตาย
  5. พี่สาวหรือน้องสาว ที่ร่วมบิดามารดากับผู้ตาย และถ้าหากนำผู้สืบมรดกทั้งชาย และหญิงมารวมกัน  ผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดกนั้น คือ  1. บิดาของผู้ตาย  2. มารดาของผู้ตาย  3.บุตรชายของผู้ตาย  4.บุตรีของผู้ตาย  5.สามีหรือภรรยาของผู้ตาย

ที่มา:   การครองคู่ในอิสลาม , www.piwdee.net

อัพเดทล่าสุด