คนที่กินหรือดื่มเวลากลางวันของเดือนรอมฎอน โดยเข้าใจว่า ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ต่อมารู้แน่ว่ามันยังไม่ตกลับขอบฟ้า ศาสนาจะว่าอย่างไร ?
ละศีลอดก่อนดวงอาทิตย์ตก
ถาม คนที่กินหรือดื่มเวลากลางวันของเดือนรอมฎอน โดยเข้าใจว่า ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ต่อมารู้แน่ว่ามันยังไม่ตกลับขอบฟ้า ศาสนาจะว่าอย่างไร ?
ตอบ คนที่ถือศีลอดเข้าใจว่า ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว เขาจึงกินหรือดื่ม ต่อมาเขาทราบว่ามันยังไม่ตกลับขอบฟ้า ศาสนาถือว่าเขาต้องงดเว้นการกินหรือดื่มทันทีจนกว่าจะแน่ใจว่าดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจริง ๆ กระนี้ เป็นทัศนะสอดคล้องกันทั้งสี่มัซฮับ เพราะขณะเขาละศีลอดเขารู้ดีว่าตนกำลังถือศีลอด ทำนองเดียวกับคนที่กินในวันสงสัย (30 ซะอ์บาน) ต่อมาเขาทราบว่า วันนั้นเป็นวันที่หนึ่งของรอมฎอน
ดังนั้น การชดใช้จึงเป็นการจำเป็นสำหรับเขา โดยเอกฉันท์ของนักวิชาการ นี่ก็เป็นทำนองเดียวกัน ท่านอัสมาอ์ บุตรีของท่านอะบีบากัร (ร.ฎ.) กล่าวกรณีเช่นนี้ว่า : พวกเรา (เหล่าสาวก) เมื่อที่ท่านนบี (ซ.ล.) ยังมีชีวิตอยู่ ได้ทำการละศีลอดในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆมืดท้องฟ้า ต่อมาสักพักดวงอาทิตย์ก็ทอแสงขึ้นมา - มีผู้ถามฮิซาม(ผู้รายงานหะดีษ) ว่า : พวกเขาถูกใช้ให้ชดใช้ศีลอดหรือไม่ ? เขาตอบว่า พวกเขาถูกใช้ให้ถือศีลอดชดใช้ (กอฎออ์) หะดีษนี้บันทึกโดยบุคอรี
ส่วนในบันทึกของ บัยฮะกีย์มีใจความว่า : เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นในยุคของท่านคอลีฟะห์อุมัร (ร.ฎ.) ท่านอุมัร กล่าวว่า “ ผู้ใดละศีลอด เขาต้องถือศีลอดชดใช้แทนวันดังกล่าว”
ส่วนหะดีษที่มีความว่า “ ประชาชาติของฉันจะได้รับการอภัยในความผิด พลาดอันเกิดขึ้น” หะดีษนี้ให้หมายความว่า : การอภัยที่ว่านั้น ได้แก่การไม่มีบาป มิใช่ยกเว้นไม่ต้องชดใช้
ภาพจาก: www.gettyimages.com