การถือศีลอดสุนัต วันที่ห้ามถือศีลอด


128,019 ผู้ชม

ทุกๆ การงานของลูกหลานอาดัมนั้นสำหรับตัวเขาเอง นอกจากการถือศีลอด เพราะแท้จริงแล้วมันคืออิบาดะฮฺสำหรับข้า และฉันจะตอบแทนมันเอง และการถือศีลอดนั้นคือเกราะโล่ห์


การถือศีลอดสุนัต วันที่ห้ามถือศีลอด

การถือศีลอดสุนัต

ประเภทของการถือศีลอด 

            การถือศีลอดมี 2 ประเภท

            วาญิบ : เช่น การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

            สุนัต : มีสองชนิด คือ สุนัตมุฏลัก และสุนัตมุก็อยยัด การถือศีลอดสุนัตมุก็อยยัดบางชนิดเป็นที่ส่งเสริมให้กระทำยิ่งกว่าการถือศีลอดสุนัตมุก็อยยัดชนิดอื่น

            การถือศีลอดสุนัตมีภาคผลบุญมหาศาล เพิ่มภาคผลบุญ และยังช่วยเสริมการถือศีลอดที่เป็นวาญิบจากการขาดตกบกพร่อง

            จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: อัลลอฮฺตรัสว่า:

«كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلَّا الصِّيَامَ فَإِنَّهُ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ، وَالصِّيَامُ جُنَّةٌ وَإِذَا كَانَ يَوْمُ صَوْمِ أَحَدِكُمْ فَلَا يَرْفُثْ وَلَا يَصْخَبْ، فَإِنْ سَابَّهُ أَحَدٌ أَوْ قَاتَلَهُ فَلْيَقُلْ إِنِّي امْرُؤٌ صَائِمٌ، وَالَّذِي نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ لَخُلُوفُ فَمِ الصَّائِمِ أَطْيَبُ عِنْدَ اللهِ مِنْ رِيحِ الْمِسْكِ، لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ يَفْرَحُهُمَا، إِذَا أَفْطَرَ فَرِحَ وَإِذَا لَقِيَ رَبَّهُ فَرِحَ بِصَوْمِهِ»

ความว่า: “ทุกๆ การงานของลูกหลานอาดัมนั้นสำหรับตัวเขาเอง นอกจากการถือศีลอด เพราะแท้จริงแล้วมันคืออิบาดะฮฺสำหรับข้า และฉันจะตอบแทนมันเอง และการถือศีลอดนั้นคือเกราะโล่ห์ และเมื่อวันที่คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านถือศีลอดแล้ว ก็จงอย่าพูดจาหยาบคาย และจงอย่าตะโกนโห่ร้อง และเมื่อมีคนหนึ่งด่าว่าท่าน ท่านก็จงกล่าวเถิดว่า แท้จริงฉันเป็นคนที่ถือศีลอด ฉันขอสาบานกับผู้ที่ตัวของมุหัมมัดอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แท้จริงกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอด ณ อัลลอฮฺนั้นหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียงเสียอีก สำหรับผู้ที่ถือศีลอดนั้นมีความดีใจสองครั้ง เมื่อละศีลอดเขาจะดีใจ และเมื่อพบกับพระผู้อภิบาลของเขา เขาก็จะดีใจด้วยกับ(ผลบุญ)การถือศีลอดของเขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่: 1904 และมุสลิม เลขที่: 1101 และสำนวนหะดีษเป็นของท่าน)

 

ประเภทของการถือศีลอดสุนัต 

1. การถือศีลอดสุนัตที่ประเสริฐที่สุดคือ การถือศีลอดของท่านนบีดาวูด อะลัยฮิสสลาม ท่านจะถือศีลอดวันเว้นวัน

2. การถือศีลอดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนคือ การถือศีลอดในเดือนมุหัรร็อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 10 และหลังจากนั้นก็วันที่ 9 การถือศีลอดวันที่ 10 จะลบล้างบาปต่างๆ ที่ผ่านมา และส่งเสริมใฟ้ถือศีลอดวันที่ 9 แล้ววันที่ 10 ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เหมือนกับพวกยิว.

3. การถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ اتْبَعَهُ سِتّاً مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ»

ความว่า: “ใครก็ตามที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน หลังจากนั้นเขาก็ได้ติดตามมันด้วยกับการถือศีลอดอีก 6 วันในเดือนเชาวาล เสมือนกับว่าเขานั้นในถือศีลอดตลอดทั้งปี” (บันทึกโดยมุสลิม เลขที่: 1164)

และที่ดีที่สุดคือ ให้ถือ 6 วันติดๆ กันหลังจากวันอีด แต่ก็อนุญาตให้ถือแยกกันได้

4. การถือศีลอด 3 วันในทุก ๆ เดือน ผลบุญของมันเสมือนกับการถือศีลอดทั้งปี และส่งเสริมให้ถือศีลอดทั้ง 3 วันนั้น ในวันอัล-บีฎฺ(วันเต็มดวงข้างขึ้น) นั่นคือ วันที่ 13 , 14 และ 15 ของทุก ๆ เดือน หรือถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และถือวันจันทร์อีกวันหนึ่งหลังจากนั้น และหากเขาประสงค์ก็ให้ถือต้นหรือท้ายเดือนก็ได้

5. การถือศีลอด 9 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนซุลหิจญะฮฺ และที่ประเสริฐที่สุดคือ การถือศีลอดในวันที่ 9 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ประกอบพิธีหัจญ์ เพราะมันคือวันอะเราะฟะฮฺ การถือศีลอดในวันนั้นจะลบล้างความผิดหนึ่งปีที่ผ่านมาและอีกหนึ่งปีที่จะมาถึง

6. การถือศีลอดเพื่อหนทางของอัลลอฮฺ

จากท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า: ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«مَنْ صَامَ يَوْماً فِيْ سَبِيْلِ اللهِ بَعَّدَ اللهُ وَجْهَهُ عَنِ النَّارِ سَبْعِيْنَ خَرِيْفاً»

ความว่า: “ใครก็ตามที่ถือศีลอดเพียงวันเดียวเพื่อหนทางของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงให้หน้าของเขาพ้นห่างจากไฟนรกเป็นระยะเวลาเดินทางถึง 70 ปี” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่: 2840 และมุสลิม เลขที่: 1153)

7. ส่งเสริมให้ถือศีลอดมากๆ ในเดือนชะอฺบาน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกของเดือน

8. ถือศีลอดวันจันทร์ทุกๆ สัปดาห์

عن أبي قتادة الأنصاري رضي الله عنه أَنَّ رَسُولَ الله صلى الله عليه وسلم سُئل عن صومه.. -وفيه- وسئل عن صوم يوم وإفطار يوم؟ قال: «ذَاكَ صَوْمُ أَخِي دَاوُدَ عَلَيْـهِ السَّلام» قال: وسئل عن صوم يوم الإثنين؟ قال: «ذَاكَ يَوْمٌ وُلِدتُ فِيهِ، وَيَومٌ بُـعِثْتُ (أَوْ أُنْزِلَ عَلَيَّ فِيهِ)»، وَسُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَرَفَةَ؟ فقال: «يُكَفِّرُ السَّنَةَ المَاضِيَةَ وَالبَاقِيَةَ»، وسئل عن صوْم يوم عاشوراء؟ فقال: «يُكَفِّرُ السَّنَةَ المَاضِيَةَ».

จากท่านอบู เกาะตาดะฮฺ อัล-อันศอรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอด ท่านถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดวันเว้นวัน ? ท่านตอบว่า “นั่นคือการถือศีลอดของพี่น้องของฉันนบีดาวูด อะลัยฮิสสลาม” และท่านถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันจันทร์ ? ท่านตอบว่า “นั่นคือวันที่ฉันเกิด และวันที่ฉันถูกแต่งตั้งให้เป็นนบี (หรือวันที่ฉันถูกประทานคัมภีร์อัลกุรทาน)” และท่านถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ? ท่านตอบว่า “มันจะลบล้างความผิดหนึ่งปีที่ผ่านและอีกหนึ่งปีข้างหน้า” และท่านถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ? ท่านตอบว่า “มันจะลบล้างความผิดหนึ่งปีที่ผ่านมา” (หะดีษบันทึกโดยมุสลิม, เลขที่: 1162)

จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา  เล่าว่า:

كَانَ رَسُولُ اللهِ ﷺ يَصُومُ حَتَّى نَقُولَ لاَ يُفْطِرُ ، وَيُفْطِرُ حَتَّى نَقُولَ لاَ يَصُومُ ، وَمَا رَأَيْتُ رَسُولَ اللهِ ﷺ اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍ قَطُّ إِلاَّ رَمَضَانَ وَمَا رَأَيْتُهُ فِى شَهْرٍ أَكْثَرَ مِنْهُ صِيَامًا فِى شَعْبَانَ

ความว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถือศีลอดจนกระทั่งเรากล่าวว่า ท่านจะไม่ละมัน และท่านได้ละศีลอดจนกระทั่งเรากล่าวว่าท่านจะไม่ถือศีลอด และฉันไม่เคยเห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากเดือนเราะมะฎอน และฉันไม่เคยเห็นท่านถือศีลอดในเดือนไหนมากกว่าเดือนชะอฺบาน (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่: 1969 และมุสลิม เลขที่: และสำนวนหะดีษเป็นของท่าน)

ไม่อนุญาตให้เจาะจงถือศีลอดเฉพาะเดือนเราะญับทั้งเดือน เพราะมันเป็นเอกลักษณ์ของพวกญาฮิลียะฮฺ แต่ถ้าหากถือศีลอดวันอื่นไปด้วยไม่ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม

และการเจาะจงถือศีลอดวันศุกร์เพียงวันเดียว ซึ่งถือเป็นมักรูฮฺ (น่ารังเกียจ) เพราะวันศุกร์ถือเป็นวันอีดของมุสลิม แต่ถ้าหากถือวันอื่นพ่วงด้วยก็ไม่ถือว่าเป็นมักรูฮฺ

หุก่มการถือศีลอดวันเสาร์และวันอาทิตย์

            ส่งเสริมให้ถือศีลอดวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะวันทั้งสองเป็นวันอีด (รื่นเริง) ของพวกมุชริกีน และการถือศีลอดในสองวันนั้นถือเป็นการขัดแย้งกับพวกเขา และส่งเสริมให้ผู้เดินทางถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺและวันอาชูรออ์ เพราะเมื่อวันทั้งสองผ่านไป เวลาของการถือศีลอดในวันนั้นก็หมดไป (ไม่มีการถือชด)

วันต่าง ๆ ที่ห้ามถือศีลอด 

            ห้ามถือศีลอดวันอีดฟิฏรฺ อีดอัฎหา วันแห่งการสงสัย นั่นคือวันที่ 30 ของเดือนชะอฺบาน เมื่อมีเจตนาถือศีลอดเพื่ออิหฺติยาฏ(เผื่อ)สำหรับเดือนเราะมะฎอน วันตัชรีกทั้งสามวัน นอกจากการถือเพื่อเสียดัมสำหรับการทำหัจญ์แบบตะมัตตุอฺและกิรอน และไม่เป็นที่บัญญัติให้ถือศีลอดตลอดทั้งปี และการถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺสำหรับผู้ทำหัจญ์ถือเป็นมักรูฮฺ

            ไม่อนุญาตให้สตรีถือศีลอดสุนัตในขณะที่สามีของนางอยู่ด้วย นอกจากจะขออนุญาตจากเขาเสียก่อน ส่วนการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนและการถือศีลอดชด หากไม่เหลือเวลามากพอ ก็ให้นางถือศีลอดได้ถึงแม้จะไม่ขออนุญาตจากเขาก็ตาม

 

หุก่มการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาลก่อนการถือศีลอดชดของเดือนเราะมะฎอน  

          ใครก็ตามที่ยังค้างการถือศีลอดชดของเดือนเราะมะฎอน แล้วก็ถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล เขาจะไม่ได้รับผลบุญดังที่ได้กล่าวมา (คือผลบุญเสมือนกับการถือศีลอดตลอดทั้งปี) แต่ให้เขาถือศีลอดชดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วค่อยถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับผลบุญของมัน

หุก่มการยกเลิกการถือศีลอดสุนัต 

ใครก็ตามที่ถือศีลอดสุนัต แล้วเขานึกอยากยกเลิก ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ และอนุญาตให้ตั้งเจตนาเพื่อถือศีลอดสุนัตในช่วงกลางวัน และอนุญาตให้ยกเลิกเมื่อใดก็ตามที่เขาประสงค์ และไม่จำเป็นที่จะต้องถือชด แต่ทั้งนี้ก็ไม่สมควรยกเลิกนอกจากจะมีเหตุสุดวิสัย

จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ มารดาของศรัทธาชน ได้เล่าว่า:

دَخَلَ عَلَيَّ النَّبِيُّ ﷺ ذَاتَ يَوْمٍ فَقَالَ هَلْ : «عِنْدَكُمْ شَيْءٌ؟»، فَقُلْنَا : لَا، قَالَ : «فَإِنِّي إِذَنْ صَائِمٌ»، ثُمَّ أَتَانَا يَوْمًا آخَرَ، فَقُلْنَا : يَا رَسُولَ اللهِ أُهْدِيَ لَنَا حَيْسٌ، فَقَالَ : «أَرِينِيهِ فَلَقَدْ أَصْبَحْتُ صَائِمًا»، فَأَكَلَ.

ความว่า: ในวันหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เข้ามาหาฉัน แล้วกล่าวว่า “พวกท่านมีอะไรให้ฉันรับประทานไหม ?” พวกเราตอบว่า ไม่มี แล้วท่านก็กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นฉันก็จะถือศีลอด” หลังจากนั้นท่านก็ได้มาหาพวกเราอีกวันหนึ่ง พวกเราก็กล่าวแก่ท่านว่า โอ้เราะสูลุลลอฮฺ มีคนมอบอิทผาลัมกวนให้แก่พวกเรา ท่านกล่าวว่า “ไหนให้ฉันดูหน่อยซิ แท้จริง เช้านี้ฉันถือศีลอด” แล้วท่านก็กิน. (บันทึกโดยมุสลิม เลขที่: 1154)

แปลโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี 

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน 

ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

islamhouse.com

อัพเดทล่าสุด