ดุอาอฺเมื่อเห็นจันทร์เสี้ยว(ฮิลาล) กล่าวเฉพาะคนที่เห็น รวมถึงคนที่ได้ยินข่าวด้วย


12,787 ผู้ชม

เมื่อเห็นจันทร์เสี้ยวเดือนรอมฎอนหรือเดือนอื่นๆ ท่านนบีจะกล่าวว่า


การเริ่มต้นถือศีลอดในปีนี้ ทางสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์หลังดวงอาทิตย์ลับของฟ้าเพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการถือศีลอดอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง หากมีผู้เห็นดวงจันทร์ก็จะเริ่มถือศีลอดในวันถัดไป แต่หากไม่มีผู้เห็นดวงจันทร์จะเริ่มต้นในวันถัดไปของอีกวัน ต่อไป

ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่เราคุ้นเคยมากที่สุด เป็นบริวารหนึ่งเดียวของโลกและเป็นวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดอีกด้วย เห็นได้ชัดในตอนกลางคืนและสวยงามมากในคืนจันทร์เพ็ญ (Full Moon) หากเราสังเกตดวงจันทร์บนท้องฟ้าในแต่ละคืน จะเห็นเฟสของดวงจันทร์ที่ปรากฏ (Phase of the moon) เปลี่ยนแปลงไปทุกวันชาวมุสลิมจะกำหนดวันที่  และวันสำคัญของแต่ละเดือนปฏิทินฮิจเราะห์หรือปฏิทินอิสลาม จากการปรากฏเฟสของดวงจันทร์ในแต่ละวัน

ดุอาอฺเมื่อเห็นจันทร์เสี้ยว(ฮิลาล) กล่าวเฉพาะคนที่เห็น รวมถึงคนที่ได้ยินข่าวด้วย

การนับวันที่หรือกำหนดวันที่ในแต่ละเดือนปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์ มีความสำคัญมากสำหรับชาวไทยมุสลิม ซึ่งเป็นศาสนิกกลุ่มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์ (Islamic Calendar) เป็นปฏิทินแบบจันทรคติที่ใช้การสังเกตดวงจันทร์จริงๆ (ดิถีจันทร์) เป็นตัวกำหนดวันที่ของเดือน ซึ่งในหนึ่งปีฮิจเราะห์ศักราชจะประกอบด้วย 12 เดือนทางจันทรคติ จะเรียกว่าเดือนกอมารียะห์ และหนึ่งปีฮิจเราะห์ศักราชจะมี 354 วัน หรือ 355 วัน จึงทำให้ปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์เป็นปฏิทินที่ไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล และยังเป็นตัวกำหนดวันสำคัญต่างๆเพื่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนาหรือปฏิบัติศาสนากิจอีกด้วย

การนับวันหรือการกำหนดวันที่ของแต่ละเดือนในปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์ จะนับแบบวันที่ 1 ถึง 29 หรือ 30 วัน ซึ่งจะไม่นับเป็นข้างขึ้น ข้างแรม และไม่กำหนดจำนวนวันที่แน่นอนในแต่ละเดือนในรอบปี คือทุก ๆ หนึ่งเดือนในปฏิทินอิสลามหรือปฏิทินฮิจเราะห์จะมีจำนวนวันเพียง 29 วัน หรือ 30 วัน จะขึ้นอยู่กับผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในวันที 29 ของทุก ๆ เดือน ดังนั้น การสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ในวันที่ 29 ของทุก ๆ เดือนนั้นมีความสำคัญมากสำหรับชาวไทยมุสลิม เพราะจะเป็นตัวกำหนดวันหรือเวลาเริ่มต้นของเดือนใหม่ พร้อมกับกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ ในเดือนนั้นอีกด้วย

การกำหนดเวลาเริ่มต้นของเดือนใหม่หรือวันเริ่มต้นเดือนถัดไปในปฏิทินฮิจเราะห์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องคำนึงถึง หากกำหนดวันเวลาเริ่มต้นผิดพลาด การนับวันหรือวันที่ของเดือนนั้น ๆ ก็จะผิดพลาดไป และส่งผลให้การกำหนดวันสำคัญของเดือนนั้น ๆผิดพลาดตามไปด้วย โดยเฉพาะในเดือนที่สำคัญที่จะมีกิจกรรมทางศาสนาหรือการประกอบศาสนกิจ ดังนั้น เพื่อความถูกต้องในการกำหนดวันเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ของปฏิทินฮิจเราะห์ ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาช่วยกันสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ทุกเดือน หรือทุกวันที่ 29 ของเดือน หากผลการสังเกตการณ์ในวันดังกล่าวมีผู้คนสามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) พร้อมพยานหลักฐานการมองเห็น จะสามารถส่งขอมูลให้ทางสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อประกาศขึ้นเดือนใหม่ได้ทันที

แต่หากผลการสังเกตไม่สามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) ชาวมุสลิมก็จะนับให้เดือนนั้นมี 30 วัน และหลังจากนับครบ 30 วัน หรือหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันที่ 30 ก็จะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ทันที หรือวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นวันเริ่มต้นเดือนใหม่ทันทีโดยไม่ต้องออกไปสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) และในปีฮีจเราะห์ศักราช 1441 ปีนี้ วันเริ่มต้นเดือนกอมารียะห์ จะตรงกับวันที่เท่าไรเมื่อเทียบกับปฏิทินไทยสากล ขึ้นกับผลของการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮิลาล) หรือคำประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี

 เมื่อเห็นจันทร์เสี้ยวเดือนรอมฎอนหรือเดือนอื่นๆ ท่านนบีจะกล่าวว่า

 اللهُ أَكْبَرُ . اللَّهُمَّ أَهِلَّهُ عَلَيْنَا بِالأَمْنِ وَالإِيْمَانِ وَالسَّلامَةِ وَالإِسْلامِ  وَالتَّوْفِيْقِ لِمَا تُحِبُّ وَتَرْضَى رَبِّيْ وَرَبُّكَ اللهُ .   

อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุมมะอะฮิลละฮู อะลัยนา บิลอัมนิ วัลอีมานิ วัสสลามะติ วัลอิสลามิ วัตเตาฟีกิ ลิมา ตุฮิบบุ วะตัรฎอ ร็อบบี วะร็อบบุกัลลอฮุ 

ความว่า : อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร โอ้อัลลอฮฺ ขอให้(จันทร์เสี้ยวนี้)ปรากฏต่อเราด้วยความสวัสดิภาพ ความศรัทธา ความปลอดภัย อิสลาม และทางนำในสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดและพอพระทัย พระผู้อภิบาลของฉันและท่านคืออัลลอฮฺ  (บันทึกโดยติรมิซียฺและดาริมียฺ อิบนิฮิบบานกล่าวว่าศ่อเฮียะฮฺ)

ดุอาอฺบทนี้มีหลายสำนวน อาจะเพิ่มหรือลดจากนี้ แต่ดุอาอฺนี้ท่านนบีจะกล่าวไม่ว่าท่านจะเห็นเองหรือมีผู้อื่นเห็นฮิลาลแล้วมาแจ้งท่านนบีก็ตาม ดังนั้น ใครที่เห็นฮิลาลเองก็ควรกล่าว และใครที่ไม่ได้เห็นฮิลาลเอง แต่ได้รับข่าวการเห็นฮิลาลก็ควรกล่าวเช่นกัน แต่จะกล่าวเมื่อไหร่ ? ก็ช่วงแรกๆ ที่เราได้รับข่าวการเห็นหิล้าล เราทราบข่าวเมื่อไหร่ก็ให้กล่าวดุอาอฺเมื่อนั้น

บทความโดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
ที่มา https://www.islaminthailand.org

อัพเดทล่าสุด