ภาคเรียนแห่งจิตวิญญาณ


1,899 ผู้ชม


ภาคเรียนแห่งจิตวิญญาณ

หลังจากใช้เวลาศึกษาค้นคว้าจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 40 ปี ทีมนักวิชาการมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ก็ได้นำเสนอผลการวิจัยว่าด้วยผลร้ายที่เด็กๆ จะได้รับจากการดูโทรทัศน์ออกมาในช่วงต้นปีนี้ว่า ยิ่งเด็กใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเติบโตไปเป็นคนที่มีบุคลิกภาพก้าวร้าว หรือกระทั่งมีส่วนร่วมในคดีอาชญากรรมก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ผลการศึกษาในลักษณะนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่กระบวนการให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้นับว่าวางอยู่บนความอุตสาหะและจริงจังโดยกลุ่มผู้ศึกษางานชิ้นดังกล่าวได้สำรวจพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 70 ตั้งแต่ช่วงอายุ 5 ปี จนถึง 15 ปี จำนวน 1,000 คน และติดตามผลอีกครั้งเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีอายุ 26 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ในวัยเด็กกับพฤติกรรมต่อต้านสังคมในวัยผู้ใหญ่

ผู้ร่วมทีมวิจัยคนหนึ่งระบุว่า ช่วงเวลาที่เด็กคนหนึ่งใช้ในการดูโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทุกชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่เด็กคนดังกล่าวที่เติบโตขึ้นในวัยผู้ใหญ่ช่วงแรกจะก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผลการวิจัยดังกล่าวยังพบความสัมพันธ์กันระหว่างระยะเวลาการดูทีวีในวัยเด็กที่มากเกินไปกับการมีบุคลิกภาพก้าวร้าว รวมถึงภาวะอารมณ์ในแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่ และแม้ว่าจะนำตัวแปรอื่นๆ เช่นสถานะทางสังคมการเลี้ยงดูหรือความฉลาดมาพิจารณา ก็ยังคงมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การที่เด็กอยู่หน้าโทรทัศน์มากเกินไปจะทำให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมต่อต้านสังคม ไม่เฉพาะจากเนื้อหาของรายการโทรทัศน์เท่านั้น แต่การที่เด็กถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการจัดการชีวิตในอนาคตข้างหน้า

นักวิจัยคนเดิมระบุว่า แม้จะไม่สามารถสรุปได้ว่าการดูโทรทัศน์มากเกินไปส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคมทั้งหมด แต่งานวิจัยนี้ก็ชี้ว่าการลดปริมาณการดูโทรทัศน์ลงสามารถลดพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้ในอนาคต ทั้งยังทิ้งหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่างานวิจัยดังกล่าวศึกษาเด็กในช่วงที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้การวิจัยต่อเนื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อก็คือการศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีต่อพฤติกรรมของเด็กในอนาคต

อันที่จริงในประเทศไทยก็เคยมี การสำรวจพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กๆ ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาน่าตื่นใจว่า เด็กๆ ในบ้านเราใช้เวลาอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยมถึง ๑ ใน ๕ ของเวลาตื่นโดยที่กว่าร้อยละ ๔๐ ของผู้ปกครองยอมรับว่าไม่เคยเลือกรายการโทรทัศน์ให้เด็กๆ เลย (จากผลการศึกษาของโครงการวิจัยพัฒนาการแบบองค์รวมของเด็กไทยฯ ปี ๒๕๔๕)

ในมุมของผู้ศรัทธา เรื่องนี้นับว่าเป็นประเด็นที่พ่อแม่ทุกคนไม่ควรละเลยเอาใจใส่ ทีมงานสารมุสลิมะฮฺจึงขอนำเสนอบางส่วนจากคุฏบะฮฺที่แสดงแง่มุมเกี่ยวกับบทบาทของโทรทัศน์ในครอบครัวมุสลิมไว้ได้อย่างน่าสนใจ เป็นคุฏบะฮฺที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า “ผู้ปกครองคนที่สาม” (The Third Parent) ของมุฮัมมัด อัชชารีฟ ดาอียฺชาวแคนาดา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้


“ตอนที่ผมเรียนชะรีอะฮฺ ในมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮฺไปได้หนึ่งปี ผมกลับบ้านช่วงปิดเทอมและได้พูดคุยกับเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่ไม่ได้เจอกันมานาน มีตอนหนึ่งเพื่อนบอกว่า “เมื่อคืนนี้ ไซน์เฟลด์ (ชื่อตัวละครในซิทคอมเรื่องดังของอมริกา) พูดเอาไว้ว่า...” มันทำให้ผมนึกถึงช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาที่ได้ยินแต่คำประเภทว่า “อิมามชาฟิอีกล่าวว่า...” “อิมามอบูหะนีฟะฮฺกล่าวว่า...” เป็นเรื่องจริงนะครับที่ว่าเราใช้เวลาไปกับคำพูดของใครมาก เราก็มักจะติดชื่อเขามาในคำพูดของเรา และแน่นอนรวมถึงเนื้อหาที่พูดเรื่อยไปจนถึงความคิดด้วย

ครั้งหนึ่งอับดุลลอฮฺ อิบนฺอุมัรได้ผ่านไป พบกลุ่มคนกำลังสนุกสนานกับการฆ่าเวลาด้วยการเล่นหมากรุก ท่านจึงถามพวกเขาด้วยอายะฮฺอัลกุรอานว่า “เจว็ดอะไรกันนี่ที่พวกท่านเฝ้าอุทิศตัวให้” (บางส่วนจากอัลกุรอาน 21:52) ลองคิดดูเถิดว่าหากท่านได้มาเห็นโทรทัศน์ของโลกวันนี้ และการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ครอบครัวมุสลิมมอบให้มันท่านจะคิดเห็นอย่างไร? และจะเป็นอย่างไรกับมุสลิมกว่าสามล้านคนจากประเทศมุสลิมที่ได้ร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกซึ่งพวกเขาจะเฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์ไม่ยอมไปไหนทั้งสิ้นในช่วงเวลาของเกมการแข่งขัน ลองเอาเวลาที่พวกเขาแต่ละคนใช้ไปหน้าจอดังกล่าวมาคูณกันสิ ประชาชาติของเราเสียประโยชน์ไปตั้งกว่าห้าล้านชั่วโมงเชียวนะครับ

ท่านนบีมุฮัมมัดเคยกล่าวไว้ว่า “(ในวันฟื้นคืนชีพ) มนุษย์นั้นจะได้อยู่กับคนที่เขารัก” สอนหะดีษนี้แก่เด็กๆ ของเราเถิดครับ บอกพวกเขาว่าถ้าพวกเขารักไมเคิล แจ๊คสัน พวกเขาก็จะถูกนำตัวไปอยู่กับไมเคิล แจ็คสันนะ แต่อะไรรู้ไหมครับ บางทีเรื่องที่น่ากลัวที่สุดนี้กลับไม่สามารถสร้างความหวดกลัวให้หัวใจของเด็กๆ เราได้ มันเศร้ามากนะครับที่ต้องบอกว่าบางทีเราพูดอย่างนี้กลับจะยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับลูกหลานของเรา กลายเป็นว่าพวกเขาดีใจที่จะได้ไปอยู่กับเหล่าดารานักร้องในดวงใจ และบางคนก็ไม่สามารถจะนึกได้แม้สักชื่อเดียวจากคนดีๆ ที่เราหวังจะให้พวกเขาได้อยู่ร่วมด้วย – ขออัลลอฮฺโปรดคุ้มครองพวกเราทุกคน

พี่น้องที่รักครับ เราไม่ได้มาอยู่บนโลกนี้เพื่อความบังเทิง เปล่าเลย เราคือประชาชาติแห่งทางนำและแห่งงานทำ โปรดนึกถึงหะดีษที่ท่านนบีได้บอกเราว่าสองเท้าของลูกหลานอาดัมจะไม่เคลื่อนไปไหนในวันกิยามะฮฺจนกว่าจะถูกถามสี่คำถาม หนึ่งในนั้นคือเราได้ใช้ช่วงวัยหนุ่มสาวของเราไปกับเรื่องอะไร แล้วเราจะตอบอย่างไรละครับ ตอบว่าใช้ไปหน้าจอโทรทัศน์อย่างนั้นน่ะหรือ?

บางคนบอกว่าพวกฟรีทีวีน่ะดีแต่ขายโฆษณาสินค้าให้คนดู แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอกครับ คนดูนั่นแหละที่กำลังถูกขายให้พวกบริษัทโฆษณา รู้ไหมครับกลุ่มเป้าหมายของพวกแบรนด์สินค้าทั้งหลายน่ะเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ คำตอบคือสองขวบ นั่นคือก่อนที่เราจะมีกำลังซื้อเสียอีก แต่ไม่ก่อนที่สินค้าเหล่านั้นจะติดหูติดตาเด็กๆ ที่รับชมได้ไงครับ นั่นหมายความว่า ลูกๆ ของเราสามารถจะรักและอยากกินโค้กกับเป็ปซี่ได้ตั้งแต่สองขวบ-ขออัลลอฮฺคุ้มครองพวกเรา

ในทางสถิติ ประมาณกันว่าผู้ที่รับชมฟรีทีวีจะได้ชมโฆษณาสินค้าต่างๆ ถึงกว่าสองหมื่นชิ้นต่อปี ถ้าเราเปิดหน้าอัลกุรอานผ่าตาซ้ำไปซ้ำมาจนได้จำนวนเท่านี้ คุณคิดว่าเราจะไม่สามารถท่องจำมันได้เลยหรือครับ?

ลองกลับมาทบทวนกันอีกครังเถิดนะครับ เท่าไหร่แล้วกับเวลาที่เราเสียไปหน้าจอโทรทัศน์โดยไม่เกิดประโยชน์ เท่าไหร่แล้วที่ดวงตาเราได้มองสิ่งต้องห้ามจากหน้าจอนั้น และตั้งเท่าไหร่แล้วที่หัวใจเราต้องแบกรับผลกระทบจากมัน เราไม่สามารถประมาณได้เลยนะครับว่าลูกหลานของเราได้รับผลอะไรจากการรับชมสิ่งผิดหลักการผ่านทางโทรทัศน์ไปบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้มันเติบโตอยู่ภายในของพวกเขา

นี่ทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่ชัยคฺอัฏเฏาะหฺหานเคยเล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า ครั้งหนึ่งมีผู้หญิงโทรมาหาท่านแล้วก็ร้องห่มร้องไห้ พอถามว่ามีปัญหาอะไร เธอก็เล่าว่า “สามีของฉันเพิ่งจะซื้อโทรทัศน์พร้อมด้วยเครื่องเล่นวีดีโอมาได้สองวัน แต่เมื่อคืนนี้เองที่ฉันได้เห็นลูกชายคนเล็กกำลังทำบางสิ่งฮะรอมที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เขาบอกว่าจำมาจากลูกสาวคนเล็กของฉันที่นั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์เครื่องใหม่นั่นทั้งวัน”

ครับ สารพัดความผิดใหญ่โตมีจุดเริ่มจากการมองเพียงครู่เดียว ไม่ต่างจากที่กองไฟมหึมามีจุดเริ่มจากประกายไฟเพียงแวบเดียว !”


ที่มา : สารมุสลิมะฮฺ

อัพเดทล่าสุด