
ทางสายกลาง เป็นหลักทางธรรมชาติที่ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กำหนดไว้ในอิสลาม และเป็นเอกลักษณ์อันเด่นชัด ของอิสลาม
ทางสายกลาง (الوسطية) ในอัลกุรอาน และอัลฮะดีษ
ทางสายกลาง เป็นหลักทางธรรมชาติที่ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กำหนดไว้ในอิสลาม และเป็นเอกลักษณ์อันเด่นชัด ของอิสลาม และของประชาชาติมุสลิม ซึ่งมีลักษณะของความสมดุล ในทุกสรรพสิ่งที่อัลลอฮ์สร้าง บทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์คำนึงถึง ความสมดุลในตัวของมนุษย์ และวิถีการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสมดุล ระหว่างจิตวิญญาณกับด้านวัตถุ โลกอาคิเราะฮ์กับโลกดุนยา จิตใจกับร่างกาย วะฮ์ยูกับสติปัญญา สิทธิกับหน้าที่ ปัจเจกบุคคลกับหมู่คณะ ความเป็นจริงกับอุดมคติ และระหว่างความคงที่ กับความเปลี่ยนแปลง
สายกลาง หรือหลักทางสายกลาง มาจากภาษาอาหรับว่า وَسَط หรือ وَسَطِية มีความหมายทางภาษาว่า กลาง ตรงกลาง หรือท่ามกลาง นักปราชญ์นิยามคำ วสฏียะฮ์ (وسطية) ไว้หลายความหมาย เช่น
1- ความสมดุล (التوازُن) ระหว่างวัตถุกับจิตวิญญาณ ศาสนากับการดำเนินชีวิต
2- ความยุติธรรม (العدل) เพราะความยุติธรรมอยู่ตรงกลาง ระหว่างสองฝ่าย ไม่ลำเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือขั้วใดขั้วหนึ่ง
3- สิ่งที่ดีที่สุด (الخَيرية والأفْضَلية) เพราะสิ่งที่ดีที่สุด มักจะอยู่ตรงกลาง ระหว่างสองสิ่งที่ตกขอบ หรือปรากฏเด่นชัด ท่ามกลางสิ่งต่างๆ อันมากมาย
4- ความเที่ยงตรง (الاستِقامَة) ไม่เบี่ยงเบนออกนอกทาง
ความหมายข้างต้น สื่อถึงลักษณะสายกลาง ในคำสอนอิสลามที่มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ท่ามกลางคำสอนต่างๆ อันมากมายที่เบี่ยงเบน และเอนเอียงไปจากลักษณะดังกล่าว ประชาชาติสายกลาง จึงครอบคลุมในทุกทุกความหมาย ทั้งความดีเลิศ ความยุติธรรม รูปธรรม และนามธรรม การจัดระเบียบ หลักคิด ความเชื่อ ความรู้สึกและมุมมอง และในการจัดความสัมพันธ์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี การเข้าใจหลักทางสายกลางในอิสลาม อย่างถ่องแท้จำเป็นต้องเข้าใจ จากตัวบทคัมภีร์อัลกุรอาน และตัวบทจากอัลฮะดีษ ที่เรียกร้องมนุษยชาติไปสู่ทางสายกลาง เพราะในหลายอายะฮ์อัลกุรอาน ได้สื่อความหมายคำสอน الوسطية บ้างด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน และบ้างสื่อ เป็นนัยยะ ที่กรอบประเด็นต่างๆ เช่น
1. ความเป็นประชาชาติสายกลาง
{وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا} (البقرة من آية 143)
“และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลาย เป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อว่าเจ้าทั้งหลาย จะได้เป็นสักขีพยานแก่มวลมนุษย์ และศาสนทูต (มูฮัมมัด) ก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า”
2. เส้นทางที่ไม่เบี่ยงเบน
หลักทางสายกลาง ในอัลกุรอานได้ถูกอธิบายด้วยคำว่า الصراط المستقيم (หนทางที่เที่ยงตรง) ถึง 33 ครั้งในอายะฮ์ และซูเราะฮ์ ต่างๆ กัน เพื่อสื่อถึง แนวทางสายกลางของอิสลาม ว่าเป็นแนวทางที่ไม่สุดโต่ง เหมือนกับแนวทางของนะศอรอ ที่ยกย่องท่านนบีอีซา อะลัยฮิสสลาม จนเลยเถิดเป็นพระเจ้า และเป็นแนวทาง ที่ไม่หย่อนยาน เหมือนแนวทางของยะฮูดี ที่ดูถูกเหยียดหยาม และสังหารนบีของอัลลอฮ์ แนวทางดังกล่าว คือแนวทางของผู้ศรัทธาที่ได้รับความโปรดปราน และความพอพระทัยจากอัลลอฮ์ และคือแนวทางของเหล่านบี เหล่าผู้ทำดี และเหล่าผู้มีความสัจจริง
3. การเลยเถิดในเรื่องศาสนา
อัลกุรอานได้ประณาม ความเลยเถิดและความสุดโต่ง ในเรื่องศาสนาทั้งด้านพฤติกรรม และความเชื่อ โดยการหยิบยกพฤติกรรม ของนะศอรอ (ชาวคัมภีร์) มาเป็นตัวอย่าง ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสว่า :
{ يَا أَهْلَ الْكِتَابِ لَا تَغْلُوا فِي دِينِكُمْ وَلَا تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ إِلَّا الْحَقَّ إِنَّمَا الْمَسِيحُ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ رَسُولُ اللَّهِ وَكَلِمَتُهُ أَلْقَاهَا إِلَىٰ مَرْيَمَ وَرُوحٌ مِّنْهُ فَآمِنُوا بِاللَّهِ وَرُسُلِهِ وَلَا تَقُولُوا ثَلَاثَةٌ انتَهُوا خَيْرًا لَّكُمْ إِنَّمَا اللَّهُ إِلَٰهٌ وَاحِدٌ سُبْحَانَهُ أَن يَكُونَ لَهُ وَلَدٌ }(النساء 171)
“ชาวคัมภีร์ทั้งหลายทั้งหลาย จงอย่าเลยเถิดในศาสนาของพวกเจ้า และจงอย่ากล่าวเกี่ยวกับอัลลอฮฺ นอกจากสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น แท้จริง อัล-มะซีฮ์ อีซาบุตรของมัรยัมนั้น เป็นเพียงศาสนทูตของอัลลอฮฺ และเป็นเพียงดำรัสของพระองค์ ที่ได้ทรงกล่าวมันแก่ มัรยัม และเป็นเพียงวิญญาณหนึ่งจากพระองค์เท่านั้น ดังนั้น จงศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และบรรดาศาสนทูตของพระองค์เถิด และจงอย่ากล่าวว่า (อัลลอฮ์) มีสามองค์ (คือพระบิดา พระบุตร และพระจิต) จงหยุดยั้งเสียเถิด มันเป็นสิ่งดียิ่งแก่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺ คือพระเจ้าผู้ได้รับการเคารพสักการะเพียงองค์เดียวเท่านั้น พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากการที่มีพระบุตร”
ยิ่งไปกว่านี้ วิถีชีวิตของท่านนนบี (ซ.ล.) เป็นวิถีชีวิตสายกลาง เพราะ ท่านเป็นศาสนทูตที่มีทุกมิติของความเป็นมนุษย์ ในตัวบทของอัลหะดีษ มีคำสอนมากมายที่สื่อถึง ทางสายกลางในการดำเนินชีวิต บางตัวบทใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน และบางตัวบทใช้ถ้อยคำ ที่สื่อถึงเจตนารมณ์ของทางสายกลาง ดังต่อไปนี้ :-
" إذا سألتم اللهَ فاسْأَلوه الفِرْدّوسَ فإنه أَوْسَط الجَنَّة وأعْلَى الجَنة "البخاري رقم 2627
“เมื่อพวกท่านขอต่ออัลลอฮ พวกท่านจงขอ อัลฟิรเดาส์ มันคือ สวรรค์ชั้นเลิศสุด และสูงสุด”
(" خَيْرُ الأمورِ أَوْساطُها " (البيهقي في السنن 3/273 وانظر تخريج الحديث في كشف الخفاء 1/469-470
“กิจการที่ดีที่สุด คือปานกลาง” หมายถึง มีความพอเหมาะพอดี
องค์ประกอบของทางสายกลาง
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าใจหลักทางสายกลางอย่างถ่อแท้ ก็ต้องเข้าใจใน องค์ประกอบหลักของทางสายกลาง คือ :-
1-ความสุดโต่งและความเลยเถิด (الغُلو والإفْراط)
2-ความละเลยและความหย่อนยาน (الجَفاء والتفْريط)
3-หนทางที่เที่ยงตรง (الصراط المستقيم)
ทางสายกลาง เป็นหลักที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ความสุดโต่ง หรือเลยเถิด กับความละเลยหรือหย่อนยาน เป็นหลักของความเที่ยงตรง ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ในซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์
{اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ} (الفاتحة: 6-7)
“ ขอพระองค์ได้ทรงชี้นำเรา สู่หนทางที่เที่ยงตรง คือ ทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานพวกเขา ไม่ใช่ทางของพวกที่ถูกกริ้ว และไม่ใช่ทางของพวกที่หลงผิด”
ท่านนบี ได้อธิบายทางที่ถูกกริ้ว ว่า หมายถึง ทางที่ละเลยและหย่อนยาน ของพวกยะฮูดี และอธิบายทางที่หลงผิด ว่า หมายถึง ทางที่สุดโต่งและเลยเถิด ของพวกนัศรอนี
บทความที่น่าสนใจ