เดือนเซาวาล (شوال) ตามทัศนะอิสลาม


1,501 ผู้ชม

เซาวาล (شوال) เป็นเดือนลำดับที่ 10 จากปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับเป็นเดือนที่อยู่ระหว่างเดือนเราะมะฎอน กับเดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์


เดือนเซาวาล (شوال) ตามทัศนะอิสลาม

เดือนเซาวาล (شوال) ตามทัศนะอิสลาม

นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ชาวอาหรับในสมัยโบราณได้อาศัยวิถีแห่งดวงจันทร์ในการกำหนดปฏิทินของพวกเขา (ด้วยการดูดวงจันทร์เสี้ยวเพื่อทำการกำหนด เริ่มต้นเดือนใหม่) ปฏิทินของชาวอาหรับจึงถูกกำหนดอยู่บนรูปแบบของจันทรคติ (Lunation) ในขณะที่ปฎิทินสากลมีรูปแบบเป็นสุริยคติ (calander) ซึ่งจำนวนเดือนของชาวอาหรับมีทั้งหมด 12 เดือน และในการเรียกชื่อเดือนหรือการตั้งชื่อเดือน ก็ได้นำมาจาก สภาพภูมิอากาศ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวอาหรับในยุคโบราณ ซึ่งมักจะมีความสอดคล้องกับช่วงเวลาในการตั้งชื่อเดือนในจำนวนทั้ง 12 เดือน

เซาวาล (شوال) เป็นเดือนลำดับที่ 10 จากปฏิทินทางจันทรคติของชาวอาหรับเป็นเดือนที่อยู่ระหว่างเดือนเราะมะฎอน กับเดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์

เชาวาล (شوال) มีรากศัพท์มาจากคำว่า شال يشول หมายถึง การยกออก เหตุที่ชาวอาหรับตั้งชื่อเดือนนี้ว่า "เซาวาล" ก็เพราะว่า อูฐตัวเมียจะยกหางขึ้นชี้เด่ เพื่อการผสมพันธ์ และเมื่อเกิดการปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ อูฐตัวเมียจะไม่ยอมให้อูฐตัวผู้ทำการผสมพันธ์อีก จนกว่ามันจะคลอดลูกออกมา ดังนั้น เดือนนี้จึงเป็นเดือนที่ชาวอาหรับในยุคก่อนอิสลามถือเป็นลางไม่ดีสำหรับบุคคลที่จะทำการแต่งงาน เพราะพวกเขามีความเชื่อว่า ฝ่ายหญิงจะขัดขืนต่อฝ่ายชาย ซึ่งอาจนำมาสู่การหย่าร้าง ดังเช่นกับ อูฐตัวเมีย ที่มันจะทำการขัดขืนอูฐตัวผู้(ไม่ยอมให้ผสมพันธุ์) จนกว่าจะคลอดลูกออกมา

เหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความสำคัญในเดือนเซาวาล

1.สงครามอุฮุด (غزوة الأحد) สงครามอุหุดเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 15 เดือนเซาวาล ปีที่ 3 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช สาเหตุเนื่องจากชาวกุร็อยซฺต้องการแก้แค้นจากการเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามบะดัรฺ พวกเขาจึงตระเตรียมกองกำลัง เพื่อทำสงครามกับท่านเราะซูล (ซ.ล.) ณ นครมะดีนะฮฺ

เมื่อท่านเราะซูล (ซ.ล.)ได้ทำการระดมพลทหาร ตลอดจนตระเตรียมกองทัพมุสลิมพร้อมออกรบแล้ว ท่านจึงสั่งให้ทำการเคลื่อนทัพไปยังบริเวณภูเขาอุฮุด โดยจัดทัพเผชิญหน้ากับกองกำลังกุร็อยซฺ ท่านเราะซูล (ซ.ล.) แบ่งกองทัพออกเป็นกลุ่มๆ ท่านคัดเลือกพลธนูจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังด้านหลังให้กับกองทัพมุสลิม และย้ำว่า "จงรักษาที่มั่นบนเนินเขานั้นให้ดี อย่าได้ละทิ้งฐานที่มั่นเป็นอันขาด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้จะเห็นว่า ฝูงนกไล่จิกบรรดามุสลีมีนก็ตาม" ในสงครามนี้เอง ท่านเราะซูล (ซ.ล.) เกือบถูกสังหาร และฮัมซะฮ์ บินอับดุลมุฏฏอเล็บ (حمزة بن عبد المطلب) อาของท่านเราะซูล (ซ.ล.)ได้เสียชีวิตในสงครามนี้ สภาพศพของท่านถูกหั่นและควักเอาหัวใจออกมา ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านเราะซูล (ซ.ล.) รู้สึกหดหู่เป็นอย่างยิ่ง

2. สงครามอะฮฺซาบ ( غزوة الأحزاب )หรือสงครามสนามเพลาะ (غزوة الخندق) เกิดขึ้นในเดือนเซาวาลปีที่ 5 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช สาเหตุสืบเนื่องมาจากตะกูลนะฎีร (ยิวเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับนครมะดีนะฮฺ) ละเมิดสัญญาพันธมิตรกับมุสลิมจึงทำให้โดนขับไล่ โดยหัวหน้าของพวกยิวตลอดจนพวกมุนาฟิกีนหลายคนเดินทางมายังนครมักกะฮฺเพื่อเรียกร้อง และยุยงให้ทำสงครามกับท่านเราะซูล (ซ.ล.) ซึ่งชาวกุร็อยซฺก็ตอบรับข้อเรียกร้องนี้

เมื่อท่านเราะซูล (ซ.ล.)ทราบข่าวดังกล่าวจึงทำการเรียกประชุมเหล่าเศาะฮาบะฮฺ ในที่ประชุมท่านซัลมานอัลฟาริซีย์ เสนอให้มีการขุดสนามเพลาะทางด้านทิศเหนือของมะดีนะฮฺ เพราะเป็นทิศเดียวที่เปิดโล่งในการเข้าสู่นครมะดีนะฮ์ ในขณะที่ทิศอื่นๆนั้นเต็มไปด้วยกำบังทางธรรมชาติ อีกทั้งยังมีบ้านเรือนและเทือกสวนหนาแน่น ซึ่งเป็นการยากที่จะลุยผ่านเข้ามาได้ ท่านเราะซูล (ซ.ล.) จึงบัญชาให้ขุด โดยที่ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ก็ลงมือขุดด้วยเช่นกัน

สงครามเริ่มขึ้นเมื่อทหารม้าของชาวกุร็อยซฺพยายามขี่ม้าข้ามแนวสนามเพลาะ ทหารมุสลิมจึงสกัดกั้นเอาไว้ ต่อมาพระองค์อัลเลาะฮฺทรงทำให้ชาวกุร็อยซฺเกิดความระแวงต่อกัน และพระองค์ยังได้ส่งลมพายุที่รุนแรงพัดถล่มกองทัพของกุร็อยซฺ ในค่ำคืนที่เย็นยะเยือกของฤดูหนาว ลมพายุทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของพวกเขาล้มระเนระนาด กระโจมต่างๆ ก็พังพินาศกระจัดกระจาย พวกเขาจึงเกิดความหวาดกลัว และรีบเดินทางออกไปในคืนนั้น เช้าวันรุ่นขึ้นเมื่อมุสลิมมองออกไปยังตำแหน่งที่เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพกุร็อยซฺก็ไม่พบเห็นบุคคลใดหลงเหลืออยู่แม้แต่คนเดียว

3. สงครามหุนัยนฺ ( غزوة حُنَيْن) เกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือนเชาวาล ปีที่ 8 แห่งฮิจเราะห์ศักราชหลังจากที่มีการพิชิตนครมักกะฮฺเพียง 1 ปี สาเหตุในสงครามครั้งนี้เนื่องจากเมื่ออัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ให้ท่านเราะซูล (ซ.ล.)ทำการพิชิตมักกะฮฺได้สำเร็จ หัวหน้าและกลุ่มผู้นำตระกูลฮาวาซิน และษะกีฟ คาดการณ์ว่าท่าน เราะซูล (ซ.ล.)จะต้องจัดการกับพวกเขาต่อไปเป็นแน่ ภายหลังจากที่ท่านเราะซูล (ซ.ล.)ได้จัดการเรื่องราวต่างๆในเมืองมักกะฮฺเสร็จสิ้นแล้ว โดยพวกเขาตั้งใจที่จะเปิดฉากทำสงครามก่อนพวกเขามีความคิดในการเอาทรัพย์สินต่างๆ พร้อมด้วยภรรยา บุตรและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ของทุกคนเข้าร่วมในกองทัพด้วย เพื่อเป็นหลักประกันอันจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้พวกเขาต่อสู้อย่างทรหดสุดชีวิตยิ่งขึ้น เมื่อท่านเราะซูล (ซ.ล.)ยกทัพมาจนกระทั่งถึงลุ่มน้ำทะเลทรายหุนัยนฺ พวกมุชริกทำการโจมตีกองทัพมุสลิมตั้งแต่เช้ามืด ทหารมุสลิมต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อจนศัตรูพ่ายแพ้และล่าถอยไป ในขณะที่กองทหารมุสลิมกำลังสาละวนอยู่กับการเก็บทรัพย์เฆาะนีมะฮฺ (ทรัพย์สงคราม) กองทัพศัตรูจึงหันกลับมาโจมตีอีกครั้งทำให้กองทัพมุสลิมสับสนรนราน ไม่เป็นกระบวนมีชาวมักกะฮฺซึ่งที่เป็นมุสลิมใหม่บางส่วนได้ถอยหนีไป แต่ท่านเราะซูล (ซ.ล.)ยังคงอยู่บนล่อและในช่วงนี้เองก็มีการปล่อยข่าวลือในกองทหารมุสลิมว่า "ท่านเราะซูล (ซ.ล.)ถูกสังหารแล้ว" ทหารมุสลิมมากมายจึงทิ้งอาวุธอย่างสิ้นหวังแต่ชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอร จำนวนหนึ่งร่วมต่อสู้อยู่รอบๆ ท่านเราะซูล (ซ.ล.) โดยท่านอับบาสตะโกนด้วยเสียงดังกังวาลประกาศให้ชาวมุสลิมรู้ว่า "เราะซูล (ซ.ล.) ยังคงมีชีวิตอยู่" ดังนั้นมุสลิมจึงหันกลับมาสู้ใหม่อีกครั้งจนสามารถเอาชนะอีกครั้งได้ในที่สุด

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสงครามเหล่านี้ล้วนมีแง่คิดและให้บทเรียนอันทรงคุณค่าซึ่งไม่สามารถประเมินได้ พระองค์อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.)ได้ให้ข้อคิดต่างๆ แก่มนุษย์ชาติผ่านบททดสอบ ข้อคิดเหล่านั้นก่อให้เกิดแง่คิดที่ทรงคุณค่ากับมนุษย์มากมาย อาทิเช่น สงครามสามารถเผยให้เห็นธาตุแท้ของมุอฺมินผู้ศรัทธาที่แท้จริงกับพวกมุนาฟิก(หน้าไหว้หลังหลอก)ได้ สงครามสอนให้มีการยืนหยัดดำรงไว้ซึ่งศาสนาของอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) แม้มันจะยากลำบากเพียงใด สงครามสอนให้มนุษย์เห็นคุณค่าของการพูดคุยปรึกษาหารือ การเสนอความคิดและยอมรับในความคิดเห็นที่เป็นมติเอกฉันท์ สงครามสอนให้มนุษย์รู้ว่า เพียงเพราะเห็นแก่ทรัพย์ในสงครามอาจนำมาซึ่งความพ่ายแพ้และการสูญเสีย สงครามสอนให้มนุษย์รู้จักการเสียสละ รู้จักการสมัครสมานสามัคคีในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และที่สำคัญสอนให้มุสลิมรู้ว่าความพ่ายแพ้ย่อมเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการวางแผน เชื่อฟัง และยึดมั่นต่อคำสั่งของผู้นำอย่างเด็ดขาด

สิ่งที่สนับสนุนให้กระทำในเดือนเซาวาล

1. เดือนเซาวาล เป็นเดือนที่ศาสนาส่งเสริมให้มีการถือศีลอด กล่าวคือ ภายหลังจากการถือศีลอดของมุสลิมในเดือนเราะมะฎอนแล้ว ศาสนาส่งเสริมให้ทำการถือศีลอดอีก 6 วัน ในเดือนเชาวาล ซึ่งเป็นสุนนะฮ์ของท่านเราะซูล (ซ.ล.) หากบุคคลใดได้ทำการถือศิลอดอีก 6 วัน ในเดือนเซาวาล เขาจะได้รับผลบุญประหนึ่งการถือศีลอด 1 ปี มีรายงานจากท่านอบูอัยยูบ อัลอันศอรีย์ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ได้ฟังท่านเราะซูล (ซ.ล.) กล่าวว่า

مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ، كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ رواه مسلم وغيره

“ผู้ใดที่ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน แล้วถือต่ออีก 6 วันจากเดือนเชาวาล เสมือนกับเขาถือศีลอดตลอดปี”

2. เดือนเซาวาล เป็นเดือนที่สุนัตให้มีการแต่งงาน (ตามมัซฮับซาฟีอี และมาลีกี) โดยมีตัวบทจาก ท่านหญิงอาอีซะฮ์ กล่าวว่า

تَزَوَّجَنِي رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وآله وَسَلَّمَ فِي شَوَّالٍ، وَبَنَى بِي فِي شَوَّالٍ : رواه مسلم

“ นบีได้แต่งงาน (อักดุนนิกาหฺ) กับฉันในเดือนเซาวาล และอยู่ร่วมกับฉันในเดือนเซาวาล” รายงานโดยมุสลิม

อิหม่ามนาวาวีย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ท่านหญิงอาอีซะฮ์ต้องการสื่อให้เห็นถึง ประเพณีเดิมของชาวญาฮีลียะฮ์นั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งเหมือนกับความเห็นของคนทั่วไปบางคนที่ยึดติดกับการแต่งงาน และอยู่ร่วมกันในเดือนเซาวาลเป็นสิ่งมักโระฮ์ อันเป็นความคิดที่หลงเหลือมาจากสมัยญาฮีลียะฮ์ ซึ่งพวกเขาถือว่า เดือนเซาวาลเป็นลางไม่ดี

3. เดือนเซาวาล เป็นเดือนหนึ่งจากบรรดาเดือนของการทำหัจญ์ และยังมีเดือนอื่นๆ อีกคือ เดือนซุลเกาะดะห์ และ 10 วันของเดือนซุลหิจญะฮ์ ซึ่งการทำฮัจญ์นั้นเป็นหนึ่งจากห้าของรู่ก่นอิสลาม ดังนั้น บุคคลใดต้องการทำหัจญ์ ก็สามารถทำการเหนียตครองเอี๊ยะรอมได้ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนเซาวาลเป็นต้นไป

ที่มา สำนักจุฬาราชมนตรี
https://skthai.org/th/articles/265303-เดือนเซาวาล-(شوال)-ตามทัศนะอิสลาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

อัพเดทล่าสุด