มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช


7,863 ผู้ชม

ประวัติ มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก เป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนจีนสำคัญอย่างสำเพ็ง ก่อตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน...


มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ตั้งอยู่เลขที่ 979 ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ชื่อตามผู้ก่อตั้งมัสยิดคือ หลวงโกชาอิศหาก (เกิด บินอับดุลลาห์) และเป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนจีนสำคัญอย่างสำเพ็ง ก่อตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน

ออกหลวงโกชา คือใคร?

หลวงโกชาอิศหาก (พ.ศ. 2350-2440) ชื่อเดิม เกิด บินอับดุลลาห์ เป็นบุตร ของหวันมูซา กับนางจุ้ย ชาวเมืองไทรบุรี (ขณะนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย) หลวงโกชาอิศหากเข้ารับราชการตำแหน่งล่ามมลายู กรมท่าขวา ทำหน้าที่ติดต่อกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายกับกรุงสยาม หรือบรรดาประเทศราชแหลมมลายูที่มาถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำทุกปี

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

หลวงโกชาอิศหาก  (ภาพถ่ายโดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

จอห์น ครอเฟิร์ด ทูตจากประเทศอังกฤษ ที่เข้ามายังกรุงสยามในรัชกาลที่ 2 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเจรจาการค้า บันทึกของเขาตอนหนึ่งก็กล่าวถึง “หลวงโกชาอิศหาก” ไว้เช่นกันว่า สยามได้จัดส่งเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลและคอยเป็นล่ามของราชทูต บุคคลผู้นี้มีตำแหน่งเป็นหลวงโกชาอิศหาก มีชื่อว่า “นักโกด่าอาลี” ซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมเชื้อสายมลายู ตำแหน่งล่ามแขกฝรั่งในกรมท่าขวา เดิมเป็นนายเรือและพ่อค้าชื่อเกิด  

หลวงโกชาอิศหากรู้จักและคุ้นเคยกับบรรดาชาวต่างชาติทั้งหลายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามที่มาติดต่อค้าขายทางเรือกับประเทศไทย ขณะนั้นท่าจอดเรือในกรุงเทพฯ จะอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มตั้งแต่บางรักไปถึงท่าราชวงศ์ ชาวต่างประเทศที่นับถืออิสลามจึงขอร้องให้ท่านได้จัดหาที่สำหรับทำการละหมาด จะได้ไม่ต้องเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดไกลๆ เนื่องจากการคมนาคมลำบากมาก

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อสร้าง “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก”

แล้วหลวงโกชาอิศหากก็จัดหาซื้อที่ดินได้แปลงหนึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา และท่าเรือที่ชาวต่างชาติจอดเรือขนถ่ายสินค้า โดยจัดสร้างเรือนไม้เล็กๆ เรียกว่า “บ้านแล” พอเป็นที่ละหมาดเท่านั้นยังไม่มีความสะดวกสบาย ต้องเดินบนสะพานเล็กๆ ข้ามร่องสวนเจ้าไป (เวลานั้นยังไม่มีถนนทรงวาด) ต่อมาบ้านแลเริ่มทรุดโทรมลงเรื่อย

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงโกชาอิศหากมีความตั้งใจจะสร้างมัสยิดให้มั่นคงถาวรสืบไป จึงทำการเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองจากลูกหลานที่มีฐานะมั่นคง รวมกับเงินทองส่วนตัวของท่านที่ได้สะสมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ในส่วนของพื้นที่ด้านหน้าสร้างเป็นอาคารทรงยุโรปตามสมัยนิยมขณะนั้นสำหรับประกอบศาสนพิธี ส่วนพื้นที่ด้านหลังจัดเป็นกุโปร์สำหรับฝังศพประมาณ 1 ไร่

ภายหลังหลวงโกชาอิศหากก็ถึงแก่กรรม ในปี 2440 พระโกชาอิศหาก (หมัด บินอับดุลลาห์) เป็นบุตรคนโตของท่านเป็นผู้ดูแลคนต่อมา ปัจจุบันการบริหารงานของมัสยิดดำเนินการโดยบุคคลในสกุล “มันตรัฐ” ซึ่งเป็นเชื้อสายของหลวงโกชาอิศหาก โดยมีวันละหมาดใหญ่คือทุกวันศุกร์ เวลาประมาณเที่ยง ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณสำเพ็ง และเยาวราชจะเข้ามาร่วมกันทำละหมาด

ที่มา: วิษณุ ทรัพย์สมบัติ. “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” ใน, สำเพ็งประวัติศาสตร์ชุมชนในกรุงเทพฯ,  สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกณณ์มหวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2559

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในเยาวราช

www.silpa-mag.com

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23691

อัพเดทล่าสุด