มัสยิดต้นสน เป็นมัสยิดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช....
มัสยิดต้นสน ประวัติ สถาปัตยกรรมอิสลามในไทย
มัสยิดต้นสน เป็นมัสยิดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพ.ศ.๒๒๑๑ อายุเกือบ 400 ปี โดยเจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (ม๊ะหมูด) เดิมเรียกกันว่า "กุฏีใหญ่" ซึ่งเรียกย่อมาจาก กุฏีบางกอกใหญ่ อาคารเดิมสร้างเป็นเรือนไม้สักยกพื้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา รูปทรงคล้ายศาลาการเปรียญที่อยู่ในวัดศาสนาพุทธ ในสมัยรัชกาลที่๒ ชาวมุสลิมในบริเวณคลองบางกอกใหญ่ได้ร่วมมือกันบูรณะใหม่ โดยสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีการสร้างใหม่อีกครั้ง
มัสยิดต้นสน สร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเนื่องจากอาคารหลังเดิมทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะได้ และได้ปลูกต้นสนคู่ใว้ที่หน้าประตูกำแพงมัสยิด และเปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า "มัสยิดต้นสน" ภายในมัสยิดมีที่แสดงธรรมเรียกว่า มิมบัร ลักษณะสวยงาม และมีแผ่นกระดาษใหญ่ซึ่งมีรอยแกะสลักภาษาอาหรับ และรูปวิหารกะบะ รวมทั้งผังของมัสยิดในนครมักกะห์ เป็นหลักฐานที่พบในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
กรอบประตูตกแต่งบัวปูน และกรอบประตูทางเข้าตกแต่งด้วยบัวหินขัดสีขาวลวดลายงดงาม
สมาคมสนธิอิสลามอยู่ด้านในของมัสยิด และยังเคยเป็นอาคารรับเสด็จเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมมัสยิดต้นสนและชาวชุมชนพร้อมด้วยพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๔๘๙ ครั้งนั้นได้มีการปรับปรุงอาคารไม้สองชั้นหลังคาทรงปั้นหยาประดับลวลลายขนมปังขิง
มิห์รอบและมิมบัรทรงไทย มิห์รอบ (เครื่องกำหนดชุมทิศ) คือองค์ประกอบหนึ่งภายในมัสยิดสำหรับระบุทิศทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียอันเป็นทิศที่มุสลิมต้องหันไปในยามละหมาดด้วยเป็นศาสนศิลป์ที่มีความสำคัญ และมิมบัร (แท่นแสดงธรรม) แม้จะเป็นมัสยิดอิสลามแต่กลับกลายเป็นศิลปะไทยแบบอยุธยาตอนปลาย โดยมิห์รอบนั้นจำหลักหน้าบันเป็นลายกระจังก้านขด ยกช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองสวยงามแบบไทยๆ ส่วมมิมบัรนั้นเป็นศิลปะผสมแบบชวาลงรักปิดทองประดับกระจกเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันมิห์รอบและมิมบัรทั้งสองถูกเก็บรักษาใว้ไม่ได้นำมาใช้งานแล้ว
และยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ "กุโบร์" หรือสุสานของมัสยิด ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยในสังคมแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์ (หมุด) ผู้ร่วมกอบกู้แผ่นดินในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาราชวังสัน (ฉิม) แม่ทัพเรือในรัชกาลที่๓ หลวงโกชาอิสหาก (นาโคดาลี) ผู้ปฏิสังขรณ์มัสยิสต้นสนสมัย พ.ศ.๒๓๗๐ รวมทั้งยังเป็นสุสานที่ฝังศพของจุฬาราชมนตรีทั้ง ๙ท่าน ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ อีกทั้งเจ้าจอมองค์สำคัญที่เป็นชาวมุสลิม ในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าจอมหงส์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่๑ เจ้าจอมจีบในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ เจ้าจอมละม้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ก็ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
มัสยิดต้นสน ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 447 ถ.วังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กทม. 10600 โทร. 02-4665326 รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน สาย 19,57
อาคารมัสยิดต้นสน หลังเดิม เป็นทรงไทย คล้ายกุฏิวัด แต่เนื่องจากอาคารพังลง เลยมีการสร้างตัวอาคารใหม่ หลังปัจจุบัน
- มัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลก
- มัสยิดรายอ สายบุรี มีจุดเด่นสวยจนต้องลองไปเยี่ยมชมสักครั้ง
- มัสยิดสวนพลู ประวัติศาสตร์ไทยอันน่าจดจำ
ภาพจาก: zungzaa : www.bloggang.com