การทำกุรบานเป็นการรำลึกถึงความเสียสละของนบีท่านใด? ความดีงามจากกุรบาน มาทำกุรบานกันเถิด...
การทำกุรบานเป็นการรำลึกถึงความเสียสละของนบีท่านใด?
การทำกุรบานเป็นการรำลึกถึงความเสียสละของนบีอิบรอฮีม อลัยฮิสสลาม
มาทำกุรบานกันเถิด
มีผู้คนบางส่วนที่มีทรัพย์สินอย่างเพียงพอ ซึ่งพวกเขาย่อมมีความสามารถในการทำกุรบานด้วยกับแพะหนึ่งตัว หรือ หนึ่งส่วนเจ็ดของสัตว์ (วัวและอูฐ- ผู้แปล) แต่แน่นอนมนุษย์ย่อมมีลักษณะนิสัย คือ รู้สึกเสียดายที่จะใช้จ่ายทรัพย์สิน ทั้งๆที่การทำกุรบานนั้นมีความดีงามและความประเสริฐอย่างมากมาย
เรามักรู้จักกุรบาน ในอีกชื่อหนึ่ง คือ อุฎฮียะฮฺ ในด้านภาษาอุฎฮียะฮ์ หมายถึง แพะที่ถูกเชือดในช่วงเวลาที่ประเสริฐ และยังมีหมายถึง แพะที่ถูกเชือดในวันอีดอัฎฮา ในส่วนของความหมายด้านบทบัญญัติ หมายถึง สัตว์ที่ถูกเชือดเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ใน วันนะฮัร(วันอีดอัฎฮา)จนถึงวันตัชรีก ด้วยบทบัญญัติที่เฉพาะ (ดู อัลเมาสูอะฮฺ อัลฟิกฮียะฮฺ)
บทบัญญัติการกุรบาน
การทำกุรบาน มีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งคือ อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“เจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” (อัลเกาษัร : 2)
ส่วนหนึ่งจากการอธิบายโองการนี้ คือ “การเชือดสัตว์พลี(กุรบาน) ในวันอีดอัฎฮา” ซึ่งเป็นการอธิบายจากสายรายงานของอาลี บิน อบีฏ็อลหะฮฺ จาก อิบนุอับบาส และยังเป็นทัศนะจากท่านมุญาฮิดและส่วนใหญ่จากบรรดานักวิชาการอิสลาม (ดู ชาดุลมะสีร ของอิมาม อิบนุ เญาซีย์)
จากท่านอนัส บิน มาลิก (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) กล่าวว่า
“ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้ทำการเชือดกุรบานแกะสีขาวสองตัว ซึ่งมันทั้งสองมีเขาแล้ว โดยท่านได้เชือดมันทั้งสองด้วยมือของท่านเอง ท่านได้วางเท้าทั้งสองของท่านลงบนข้างๆ ต้นคอทั้งสองของมัน พร้อมกับกล่าวบิสมิลลาฮฺและตักบีร ” (หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
ประชาชาติอิสลามต่างเห็นพ้องเป็นมติเอกฉันท์ว่า การกุรบานนั้นมีอยู่ในบทบัญญัติของอิสลาม (ดู ฟิกฮุล อุฎฮียะฮฺ)
ภาพประกอบเท่านั้น
ความดีงามจากกุรบาน
1. กุรบานเป็นการแสดงออกถึงความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ การทำกุรบานต้องเป็นไปบนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจและความยำเกรง มิใช่เพื่อเนื้อและเลือดของสัตว์
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า “เนื้อและเลือดของอูฐที่ถูกเชือดนั้นจะไม่ถึงอัลลอฮฺอย่างแน่นอน แต่ความยำเกรงของพวกเจ้าต่างหากที่จะถึงพระองค์” (อัลฮัจญ : 37)
ชัยคฺ อับดุรรอฮฺมาน อัสสะอฺดี กล่าวว่า
“พึงรำลึกเถิดว่า การกุรบานนั้นมิใช่แค่การเชือด และอัลลอฮฺ มิได้ต้องการเนื้อและเลือดของสัตว์กุรบาน เพราะแท้จริงแล้วพระองค์ คือ ผู้ทรงร่ำรวย และผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ แต่สิ่งที่อัลลอฮฺ ต้องการ คือ ความบริสุทธิ์ใจ ความหวังในผลบุญ และเจตนาที่บริสุทธิ์ เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสความว่า "แต่ความยำเกรงของพวกเจ้าต่างหากที่จะถึงพระองค์"
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทำกุรบานจำเป็นต้องบริสุทธิ์ใจ ปฏิบัติเพื่อแสวงหาความพึงพอใจของอัลลอฮฺ ไม่มีการโอ้อวด หยิ่งผยอง หรือปฏิบัติเพราะเป็นธรรมเนียมประเพณี(โดยไม่มีเป้าหมายทางศาสนา-ผู้แปล) นี่แหละ คือ สิ่งที่ต้องมีในอิบาดะฮฺ หากไม่มีความบริสุทธิ์ใจและความยำเกรงแล้วไซร้ อิบาดะฮฺนั้นก็จะเสมือนสิ่งที่มีแต่เปลือกนอกแต่ไม่มีผลด้านใน หรือเสมือนร่างกายที่ไม่มีวิญญาณ”
(ดู ตัยสีร อัลการีมีรอฮฺมา ของชัยคฺ อับดุรรอฮฺมาน อัลสะอฺดี )
2. กุรบานเป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ในความโปรดปรานของพระองค์
3. กุรบานเป็นการสืบทอดแนวทางของท่านนบีอิบรอฮีม ผู้ซึ่งเป็นที่รักของอัลลอฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺ ได้ทดสอบท่านโดยการให้ท่านเชือดลูกสุดที่รักของท่าน นั้นคือ นบีอิสมาอีล (อลัยฮิสสลาม) ในวันอีดอัฎฮา (แต่พระองค์ก็ได้แทนด้วยแกะ)
4. ผู้ศรัทธาจะได้รำลึกถึงความอดทนของนบีอิบรอฮีม (อลัยฮิสสลาม) ซึ่งท่านได้ปฏิบัติในการสั่งใช้ของอัลลอฮฺ และรักอัลลอฮฺ มากกว่าตนเองและลูก ด้วยการเสียสละที่ยิ่งใหญ่นี่แหละที่ทำให้ท่านได้ผ่านบททดสอบ และถูกแทนให้เชือดด้วยกับแกะหนึ่งตัว
5. การกุรบานประเสริฐกว่าการบริจาคเงิน แม้ว่าเงินดังกล่าวจะมีจำนวนเท่ากับราคาของสัตว์ที่ถูกเชือดก็ตาม
อิมาม อิบนุ ก็อยยิม อัซเญาซียะฮฺ (รอฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “การเชือดที่ถูกปฏิบัติในช่วงเวลาที่ประเสริฐ ย่อมดีกว่าการบริจาคที่มีจำนวนเท่ากับราคาของสัตว์ที่ถูกเชือด”
(ดู ตัลคีซ กิตาบ อะหฺกามิล อุฎฮียะฮฺ วัซซะกาฮฺ และ ศอหี้ห ฟิกฮ ซุนนะฮฺ)
จงทำกุรบานหากกว่ามีความสามารถแม้ว่าหุก่มจะสุนัต
จากอุมมุ สาลามะฮฺ (รอดิยัลลอฮฺอันฮา) ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“เมื่อเข้าสู่สิบวันแรกของเดือนซุลฮิจยะฮฺ และคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านมีความประสงค์จะทำการกุรบาน ก็จงอย่าได้ตัดเส้นผมและขนตามร่างกาย” (หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยมุสลิม)
อิมาม อัชชาฟีอีย์ (รอฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า
“หะดีษนี้ เป็นหลักฐานว่าการทำกุรบานนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่จำเป็น(วายิบ) เพราะท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า "คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านมีความประสงค์จะทำการกุรบาน ” (ดู อัลกุบรอ ของอิมามบัยฮากีย์)
แม้ว่าทัศนะของบรรดานักวิชาการอิสลามส่วนมาก จะถือว่าการทำกุรบานเป็นสิ่งที่สุนัต (ส่งเสริม) แต่ถึงกระนั้นก็สมควรอย่างยิ่งที่จะทำกุรบานหากมีความสามารถ เพียงเสียสละเงินจำนวนหนึ่ง(ราคาตามตลาด) เพื่อการกุรบานแพะ ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อยู่ที่ว่ามีความตั้งใจจะทำจริงๆหรือไม่
ชัยคฺ มูฮำหมัดอามีน อัชชังกิฏีย์ (รอฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า
“สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความสามารถ ที่จะไม่ละทิ้งการทำกุรบาน เพราะด้วยการทำกุรบานจะทำให้ หัวใจรู้สึกมั่งคงและแสดงถึงการมีความรับผิดชอบ” (ดู อัฎวาอฺ อุลบะยาน)
ที่มา: มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์ แปลและเรียบเรียง / www.islammore.com