จากการศึกษาวิธีการนอน และการตื่นนอนของท่านนบี (ซ.ล.) พบว่า ท่านนบี (ซ.ล.)
จากการศึกษาวิธีการนอน และการตื่นนอนของท่านนบี (ซ.ล.) พบว่า ท่านนบี (ซ.ล.) เป็นผู้ที่นอนอย่างพอเพียง ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อร่างกายและอวัยวะต่างๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ท่านจะนอนในช่วงหัวค่ำและตื่นในช่วงดึกๆ ครึ่งที่สองของกลางคืน (คือ เลยเที่ยงคืนไปแล้ว : ผู้แปล) ท่านจะลุกขึ้นมาถูฟันและละหมาดสุนัตตอนกลางคืนเท่าที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) กำหนดไว้ การกระทำเช่นนี้ทำให้ร่างกายและอวัยวะต่างๆ ได้พักผ่อน สะสมกำลังจนเพียงพอและแข็งแรงขึ้นจากการนอน หลังจากนั้นจึงเป็นการออกกำลังกายที่ให้ผลบุญด้วยการละหมาด เหล่านี้คือจุดมุ่งหมายที่จะให้ประโยชน์ต่อทั้งร่างกาย และจิตใจ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ท่านนบี (ซ.ล.) จะไม่นอนนานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และท่านจะไม่ฝืนความต้องการของร่างกายเมื่อต้องการจะนอน ท่านจะทำตามที่ร่างกายต้องการอย่างเต็มที่ โดยนอนเมื่อร่างกายต้องการ กล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จนกว่านัยน์ตาสองข้างจะหลับลง ไม่ทำให้กระเพาะมีอาหารหรือเครื่องดื่มแน่นเกินไปเวลานอน ไม่นอนลงไปบนพื้นดินโดยไม่มีอะไรรองรับ และไม่นอนบนที่นอนที่สูงเกินไป แต่จะนอนบนที่นอนที่ยัดไส้ด้วยใบไม้ ท่านจะนอนหนุนหมอนและเอามือเข้าไปซุกในหมอนเป็นบางครั้ง
- การนอนมีประโยชน์มากมาย แต่การนอนที่ถูกต้องจะให้ประโยชน์มากกว่า คือ การนอนตะแคงขวาทำให้อาหารเคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมขึ้นในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารนั้นจะเอียงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย ดังนั้นการตะแคงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยจะช่วยให้การย่อยอาหารทำงานได้เร็วขึ้น เนื่องจากกระเพาะอาหารจะพิงอยู่กับตับนั่นเอง หลังจากนั้นจึงเอนไปทางด้านขวาเพื่อให้อาหารที่ย่อยแล้วถูกดันออกจากกระเพาะได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นการนอนตะแคงด้านขวาจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการนอน การนอนตะแคงด้านซ้ายบ่อยเกินไปจะเป็นอันตรายต่อหัวใจ เพราะจะทำให้อวัยวะอื่นไปกดที่หัวใจมากขึ้น
- การนอนที่แย่ที่สุด คือการนอนหงาย แต่การนอนหงายเพื่อพักผ่อนโดยไม่ได้หลับก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
- การนอนที่แย่ไปกว่านั้นคือ การนอนคว่ำหน้า ดังที่มีรายงานในหนังสือ “มุสนัด” และ “สุนันอิบนิมาญะฮฺ” จากท่านอบีอุมามะฮฺ กล่าวว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้เดินผ่านชายคนหนึ่งซึ่งนอนคว่ำหน้าอยู่ในมัสยิด ท่านได้กล่าวว่า
“จงลุกขึ้นยืนหรือนั่งเถิด เพราะการนอนท่านี้ (นอนคว่ำหน้า) เป็นการนอนของพวกที่อยู่ในนรก”
(ระดับดี อิบนิมาญะฮฺ, 3725)
การนอนที่พอดี จะทำให้ร่างกายฟื้นคืนพลังจากการทำงานกลับมาดังเดิม ให้พลังจิตได้พักผ่อนจากภาระที่ต้องแบกไว้ ผ่อนคลายจากความเหนื่อยยากต่างๆ การนอนในตอนกลางวันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้เกิดโรคต่างๆ จากความชื้นและความเย็นที่ศีรษะ ทำให้ผิวพรรณเสียไป ทำให้ม้ามเป็นโรค เกิดเส้นประสาทอ่อนแอ ทำให้ขี้เกียจ นอกจากในฤดูร้อนเวลาเที่ยงเท่านั้น การนอนที่เลวร้ายมากคือ การนอนในตอนเช้าตรู่ การนอนที่เลวร้ายกว่านั้นคือ การนอนในเวลาใกล้ค่ำ
ครั้งหนึ่งท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิอับบาส ได้เห็นบุตรชายนอนในตอนเช้าตรู่ ท่านจึงบอกกับเขาว่า "จงลุกขึ้นเถิด เจ้าจะนอนในเวลาที่ความมั่งคั่งกำลังถูกแจกจ่ายอยู่หรือ ! "
การนอนในตอนเช้าตรู่เป็นการห้ามความมั่งคั่งของตัวเองในปัจจัยยังชีพต่างๆ ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะประทานให้ เนื่องจากช่วงเช้าเป็นช่วงที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) กำลังแจกจ่ายริสกีหรือปัจจัยยังชีพของพระองค์แก่สิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลาย ดังนั้น การไปนอนในช่วงนั้น จึงเป็นการปิดกั้นริสกีของตนเอง นอกจากด้วยเหตุจำเป็นหรือเจ็บป่วย การนอนในตอนนี้ยังเป็นอันตรายมากต่อร่างกายทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทำให้อาหารที่อยู่ในกระเพาะต้องเน่าเสียไปทั้งๆ ที่ควรจะถูกย่อยและนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวต่างๆ และเกิดอันตรายต่อร่างกายเกิดเป็นโรค และความอ่อนแอ และจะนำไปสู่โรคต่างๆ อื่นๆ เพิ่มขึ้น
การนอนภายใต้แสงอาทิตย์สามารถทำให้เกิดโรคได้ การนอนที่ให้ร่างกายส่วนหนึ่งโดนแดดและร่างกายส่วนหนึ่งอยู่ในร่มเป็นการนอนที่ไม่ดี มีรายงานจากท่านอบูดาวูดในหนังสือ “สุนัน” จากฮะดิษของท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“ถ้าหากคนหนึ่งคนใดจากพวกท่านนอนกลางแดดและเกิดมีร่มเงาขึ้น ทำให้ตัวของเขาส่วนหนึ่งถูกแดดเผา และส่วนหนึ่งอยู่ในร่ม ก็จงตื่นขึ้นจากที่นั้นเถิด”
(ระดับดี อบูดาวุด, 4821)
ในหนังสือ “สุนันอิบนิมาญะฮฺ” และคนอื่นๆ ได้รายงานฮะดิษจากท่านบะรีดะฮฺ บินฮะซีบ ว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ห้ามไม่ให้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในระหว่างกลางของร่มเงาและแดดเผา และนี่คือการเตือนไม่ให้นอนในระหว่างมันเช่นกัน
ใน “ซอฮีเฮน” จากท่านบะรอฮฺ บินอาซิบ รายงานว่า ท่านนบี (ซ.ล.) เมื่อท่านจะไปนอนก็ให้อาบน้ำละหมาดก่อน เหมือนกับที่ท่านอาบน้ำละหมาดก่อนละหมาด หลังจากนั้นก็ให้นอนตะแคงขวา และกล่าวว่า
“โอ้ อัลลอฮฺ แท้จริงฉันขอมอบร่างกายของฉันให้กับพระองค์ ขอผินหน้าไปหาพระองค์ ขอมอบหมายการงานของฉันไว้ที่พระองค์ ขอหลบภัยทั้งปวงไปหาพระองค์ ด้วยความหวังและความกลัวในพระองค์ ไม่มีที่หลบภัยใดๆ ที่จะพ้นไปจากท่าน นอกจากท่านจะเป็นผู้ให้ที่หลบภัยนั้น ฉันขอศรัทธาต่อคัมภีร์ของพระองค์ ที่ได้ประทานลงมา ขอศรัทธาต่อนบีของพระองค์ที่ได้ส่งลงมา”
ให้คำกล่าวเหล่านี้เป็นคำกล่าวสุดท้ายของท่าน เพราะถ้าหากท่านได้เสียชีวิตไปในคืนนั้นก็เท่ากับท่านได้เสียชีวิตในสภาพของมุสลิม
(ซอเฮียะฮฺบุคอรี, 6311)
ท่านนบี (ซ.ล.) จึงได้สอนผู้นอนให้กล่าวคำขอมอบหมายและขอลี้ภัยต่างๆ ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยความหวังและความหวาดกลัว เพื่อจะได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์จากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพื่อช่วยคุ้มครองร่างกายและจิตใจของเขา และเขาอาจจะเสียชีวิตในขณะที่นอนก็ได้ ดังนั้นถ้าหากคำสุดท้ายที่เขากล่าวเป็นการแสดงความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) แล้ว เขาก็จะได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน และแนวทางในการนอนนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อหัวใจและร่างกาย รวมทั้งวิญญาณ ทั้งในการนอนและการตื่นจากนอนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ขอคำสรรเสริญของ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และความสันติจงมีแด่ท่านผู้มอบสิ่งดีๆ ให้แก่ประชาชาติของท่านด้วยเถิด
แนวทางการตื่นนอน
แนวทางการตื่นนอนของท่านนบี (ซ.ล.) ท่านจะตื่นเมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน จะกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ และกล่าวตักบีร กล่าว “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” และขอดุอาร์ ถูฟันด้วยไม้ถูฟัน แล้วจึงลุกขึ้นไปอาบน้ำละหมาด หลังจากนั้นก็ไปละหมาด กล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตั้งความหวังไว้กับพระองค์ ขอต่อพระองค์ด้วยความหวังและความกลัว วิธีนี้เป็นการรักษาสุขภาพของจิตใจและร่างกายไปพร้อมๆ กัน ฟื้นฟูวิญญาณและพละกำลัง เพื่อให้ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
วัลลอฮฺอะห์ลัมบิศศอวาบ
ผู้แปล : นายแพทย์ กษิดิษ ศรีสง่า
แหล่งที่มา : มหัศจรรย์อัลกุรอ่าน, การแพทย์ตามแนวทางท่าน นบีมุฮัมหมัด