เมื่ออ่านกุรอานจบเล่ม ดุอาอฺคอตัมอัลกุรอาน
เมื่ออ่านกุรอานจบเล่ม มีวิธีการคอตัมอัลกุรอ่านต้องทำอย่างไรมีขั้นตอนอย่างไรบ้างครับ พร้อมดุอาอฺคอตัมกุรอ่านพร้อมความหมายด้วยนะครับ?
การอ่านคัมภีร์อัลกุรอานตั้งแต่บทแรก (สูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺ) เรียงลำดับเรื่อยมาจนกระทั่งถึงบทสุดท้าย (สูเราะฮฺ อัน-นาส) เป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริม และในขณะที่มีการอ่านอัลกุรอานจบ 1 รอบทั้งเล่ม เรียกว่าค็อตมุ้ลกุรอาน (خَتْمُ الْقُرْآنِ) และเรียกหนึ่งจบว่า หนึ่งค๊อตมะฮฺ (خَتْمَة)
หากผู้อ่านอัลกุรอานจบ 1 จบประสงค์จะอ่านสูเราะฮฺในลำดับท้ายสุดเพียงลำพังก็ส่งเสริมให้จบการอ่านในการละหมาด จะเป็นละหมาดฟัรฎูหรือสุนนะฮฺก็ได้
ส่วนผู้ที่จะอ่านอัลกุรอานจบด้วยบรรดาสูเราะฮฺในลำดับท้ายสุดนอกการละหมาด ตลอดจนกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อจะจบการอ่านอัลกุรอานนั้นก็ส่งเสริมให้จบการอ่านในช่วงแรกของเวลากลางคืนหรือช่วงแรกของเวลากลางวัน และที่ดีควรจะถือศีลอดสุนนะฮฺในวันที่จะจบการอ่านอัลกุรอานด้วย ยกเว้นว่าวันนั้นตรงกับวันที่ห้ามถือศีลอด
ทั้งนี้ชาวสะลัฟศอลิหฺในรุ่นอัตตาบิอีน จากชาวเมืองอัลกูฟะฮฺมักจะถือศีลอดในวันที่พวกเขาจะจบการอ่านอัลกุรอานและส่งเสริมให้มาร่วมในที่ประชุมของการจบการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานทั้งผู้ที่อ่านอัลกุรอานและผู้ที่ไม่ชำนาญในการอ่าน
ในมุสนัด อัด-ดาริมียฺ รายงานว่าท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ได้ให้ชายคนหนึ่งคอยเฝ้าดูการอ่านอัล-กุรอานของชายอีกคนหนึ่ง เมื่อชายผู้ที่อ่านต้องการจบการอ่านอัลกุรอาน ชายที่เฝ้าดูก็จะบอกให้ท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ทราบ แล้วท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ก็จะมาร่วมในการดังกล่าว
อิบนุอบีดาวุดได้รายงาน 2 สายรายงานที่เศาะฮีหฺจากท่าน เกาะตาดะฮฺ (ร.ฮ.) ซึ่งเป็นตาบีอียฺอาวุโสเป็นสหายของท่าน อนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า : ท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) นั้น เมื่อท่านต้องการจบการอ่านอัล-กุรอาน ท่านได้รวมครอบครัวของท่านและขอดุอาอฺ
และมีรายงานที่ถูกต้องจากท่านอัล-หะกัม อิบนุ อุตบะฮฺ ซึ่งเป็นชนรุ่นตาบีอีนชั้นอาวุโสว่า : มุญาฮิด และ อุบาดะฮฺ อิบนุ อบีลุบาบะฮฺได้ส่งคนมาหาฉันโดยบอกว่า : เราส่งคนมาหาท่านเพราะเราต้องการจบการอ่านอัล-กุรอานและการขอดุอาอฺนั้นจะถูกตอบรับในขณะที่มีการจบการอ่านอัล-กุรอาน และในบางกระแสรายงานระบุว่า :
แท้จริงความเมตตา (อัร-เราะหฺมะฮฺ) จะลงมาในขณะที่มีการจบการอ่านอัลกุรอาน ดังนั้นจึงส่งเสริมอย่างมากให้มีการขอดุอาอฺขณะมีการจบการอ่านอัลกุรอาน
ส่วนสำนวนของดุอาอฺนั้นก็ควรเป็นถ้อยคำที่รวมเอาความดีทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาคิเราะฮฺและเรื่องราวทั่วไปของผู้ศรัทธา การได้รับการเตาฟิกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในการภักดีต่อพระองค์ และเมื่อเสร็จจากการจบการอ่านอัลกุรอานหนึ่งจบแล้วส่งเสริมให้เริ่มในการอ่านจบต่อไปโดยอ่านต่อกับการจบนั้น (เริ่มใหม่ในสูเราะฮฺแรก) เพราะชาวสะลัฟศอลิหฺถือเป็นเรื่องที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กระทำเช่นนั้น
ทั้งนี้มีหะดีษของท่านอะนัส (ร.ฎ.) ระบุว่า : การกระทำอะมัลที่ดีที่สุดก็คือ อัล-หัลลฺ และ อัร-ริหฺละฮฺ ซึ่งหมายถึงการเริ่มอ่านอัล-กุรอานและการจบการอ่านอัล-กุรอานทั้งเล่มนั่นเอง (ดู อัล-อัซการ ; อัน-นะวาวียฺ หน้า 101-102)
สำหรับดุอาอฺที่จะขอขณะทำการจบการอ่านอัล-กุรอาน (ค็อตฺมุ้ลกุรอาน) นั้นเป็นดุอาอฺบทใดก็ได้ แต่ที่ดีควรเป็นดุอาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งมีความหมายครอบคลุม หรือจะขอดุอาอฺบทนี้ก็ได้
اَللَّهُمَّ إِنِّي أَسْاَلُكَ بِكُلِّ اسْمٍ هُوَلَكَ سَمَّيْتَ بِهِ نَفْسَكَ ، أَوْأَنْزَلْتَهُ فِى كِتَابِكَ ، اَوْ عَلَّمْتَهُ أَحَدًا مِنْ خَلْقِكَ ، اَوِاسْتَأْ ثَرْتَ بِهِ فِى عِلْمِ اَ لْغَيْبِ عِنْدَكَ أَنْ تَجْعَلَ الْقُرآنَ نُوْرَصَدْرِيْ ، وَرَبِيْعَ قَلْبِيْ ، وَجِلَاءَخُزْنِيْ ، وَذَهَابَ هَمِّيْ
“โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยทุกพระนามอันเป็นของพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงเรียกพระองค์ด้วยพระนามนั้น หรือพระองค์ประทานพระนามนั้นในคัมภีร์ของพระองค์ หรือพระองค์ทรงสอนผู้หนึ่งจากสิ่งถูกสร้างของพระองค์ให้รู้ถึงพระนามนั้น หรือพระองค์ทรงสงวนพระนามนั้นในความรู้แห่งความเร้นลับ ณ พระองค์ท่านในการที่พระองค์จะได้ทรงบันดาลให้อัล-กุรอานเป็นรัศมีแห่งหัวอกของข้าพระองค์ เป็นความเบิกบานและปิติแห่งหัวใจของข้าพระองค์ เป็นการขจัดความเศร้าโศกและระทมทุกข์ของข้าพระองค์และเป็นการวิปลาสนาการไปซึ่งความเศร้าหมองกลัดกลุ้มของข้าพระองค์”
(รายงานโดย อิบนุ อัสสุนนียฺ จาก อบูมูซา อัล-อัชอะรียฺ)
ดุอาอฺคอตัมอัลกุรอาน
ที่มา: alisuasaming.org