ความประเสริฐของวันศุกร์ในอิสลาม


7,287 ผู้ชม

วันศุกร์ เป็นวันยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮฺตะอาลา อัลลอฮฺ จึงได้ให้วันศุกร์เป็นบทหนึ่ง (ซูเราะฮฺ) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เรียกบทนี้ว่า...


ความประเสริฐของวันศุกร์ในอิสลาม

วันศุกร์ เป็นวันยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮฺตะอาลา อัลลอฮฺ จึงได้ให้วันศุกร์เป็นบทหนึ่ง (ซูเราะฮฺ) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เรียกบทนี้ว่า “อัลญุมอะฮฺ” ในบทนี้มีการอธิบายความเกี่ยวกับหลักการสำคัญในการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งในวันอื่น ๆ อีกหกวัน มิได้ถูกยกมาเป็นบทใด ๆ ในอัลกุรอานอันเป็นการเฉพาะวันศุกร์

อันความสำคัญของวันศุกร์นั้น สำคัญมากกว่าวันตรุษอีดิลฟิตรฺ และอีดิลอัฎฮาด้วยซ้ำ สังเกตได้จากคำสอนของท่านนบี ความว่า :

“หัวหน้าแห่งบรรดาวันทั้งหายคือ วันศุกร์ ซึ่งสำคัญกว่าวันอีดิลอัฎฮาและอีดิลฟิตรฺ ในวันศุกร์นั้น มีเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ

♦ เป็นวันที่อัลลอฮฺ ทรงสร้างศาสดาอาดัม มนุษย์คนแรกของโลก

♦ เป็นวันที่ศาสดาอาดัมออกจากสวรรค์สู่โลก

♦ เป็นวันที่ศาสดาอาดัมเสียชีวิต

♦ ในวันศุกร์จะมีช่วงเวลาที่บ่าวคนใดขอพรต่ออัลลอฮฺ พระองค์ทรงรับคำขอแน่นอน ตราบที่เขาไม่ได้ทำและขอในสิ่งที่ผิดต่อศาสนาหรือตัดสัมพันธ์เครือญาติ

♦ และเป็นวันที่จะเกิดขึ้นของสรรพสิ่งอีกครั้ง เรียกวันนี้ว่า วันกิยามะฮฺ”  (บันทึกโดยบุคอรี)

ความประเสริฐของวันศุกร์ในอิสลาม

วันศุกร์ เป็นวันรวมกันของชุมชนมุสลิม เพื่อการทำละหมาดวันศุกร์ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการละหมาด คือ มีการแสดงธรรม (คุตบะฮฺ) อันเป็นการอบรมสั่งสอน ผู้เข้าร่วมละหมาด เป็นการเตือนใจประจำสัปดาห์ และเป็นการประชุมปรึกษาหารือระหว่างคนในชุมชนประจำสัปดาห์เช่นกัน ดังนั้น ประโยชน์แห่งการรวมกันในทุกสัปดาห์นั้นจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรัก ความสามัคคีระหว่างกันต่อไป

เมื่อถึงวันศุกร์และได้ทำละหมาดวันศุกร์ได้ทำกิจการดีในวันศุกร์ และได้ทบทวนตัวเองประจำสัปดาห์ ก็จะส่งผลให้ปลอดภัยจากความชั่วร้ายไปจนกระทั่งวันศุกร์ต่อไป ท่านนบี กล่าวความว่า

 “การละหมาดประจำวัน 5 เวลา วันศุกร์ถึงอีกวันศุกร์ หรือรอมฎอนหนึ่งถึงอีกรอมฎอนหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นการลบล้างความชั่วได้ ตราบที่ระหว่างนั้นมิได้ก่อกรรมอันเป็นบาปใหญ่”  (บันทึกโดยมุสลิม)

การละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮฺ) เป็นกิจสัปดาห์ละครั้ง ผู้ที่ละเลยไม่ได้ละหมาดวันศุกร์ติดต่อกัน 3 ศุกร์ ท่านนบี คาดโทษว่า

“ผู้ใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ 3 ศุกร์ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลจำเป็นที่ศาสนาผ่อนผันให้ อัลลอฮฺทรงประทับตราลงที่หัวใจเขากลายเป็นคนหัวใจบอด”  (บันทึกโดยมุสลิม)

ความประเสริฐของวันศุกร์ในอิสลาม

1. วันศุกร์เป็นวันที่ประเสริฐที่สุด

จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

«خَيْرُ يَوْمٍ طَلَعَتْ عَلَيْهِ الشَّمْسُ يَوْمُ الْجُمُعَةِ، فِيهِ خُلِقَ آدَمُ، وَفِيهِ أُدْخِلَ الْجَنَّةَ، وَفِيهِ أُخْرِجَ مِنْهَا، وَلَا تَقُومُ السَّاعَةُ إِلاَّ فِي يَوْمِ الْجُمُعَةِ»

ความว่า : "วันที่ประเสริฐที่สุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นคือวันศุกร์ ในวันนั้นนบีอาดัมถูกสร้าง และถูกนำเข้าสวรรค์และถูกให้ออกจากสวรรค์ และวันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้นนอกจากในวันศุกร์" (มุสลิม : 854)

2. ผลบุญอันยิ่งใหญ่แก่ผู้ที่ไปมัสยิดในช่วงเช้าของวันศุกร์

จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ اغْتَسَلَ يَوْمَ الْجُمُعَةِ غُسْلَ الْجَنَابَةِ، ثُمَّ رَاحَ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَدَنَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الثَّانِيَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَقَرَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الثَّالِثَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ كَبْشًا أَقْرَنَ، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الرَّابِعَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ دَجَاجَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الْخَامِسَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَيْضَةً، فَإِذَا خَرَجَ الإِمَامُ حَضَرَتْ الْمَلاَئِكَةُ يَسْتَمِعُونَ الذِّكْرَ»

ความว่า : "บุคคลใดก็ตามที่อาบน้ำวันศุกร์เหมือนกับที่อาบน้ำญะนาบะฮฺ แล้วเขาออกไป (ยังมัสยิด) ในชั่วโมงแรกเขาจะได้รับผลบุญเหมือนเขากุรบานด้วยการเชือดอูฐ และใครออกไป (ยังมัสยิด) ในชั่วโมงที่สอง เขา(จะได้รับผลบุญ)เหมือนเขาเชือดวัว และใครออกไป(ยังมัสยิด)ในชั่วโมงที่สามเขา(จะได้รับผลบุญ)เหมือนเขาเชือดแกะที่มีเขา และใครออกไป(ยังมัสยิด)ในชั่วโมงที่สี่เขา(จะได้รับผลบุญ)เหมือนเขาเชือดไก่ และใครออกไป(ยังมัสยิด)ในชั่วโมงที่ห้าเขา(จะได้รับผลบุญ)เหมือนเขาบริจาคไข่ และเมื่ออิมามออกมากล่าวคุฏบะฮฺ บรรดามลาอิกะฮฺก็จะเข้าร่วมฟังการกล่าวซิกิร (คนที่มาตอนนี้และหลังจากนี้จะไม่ได้รับผลบุญกุรบานเหมือนคนที่มาก่อนหน้านี้)"

(รายงานโดยอัล-บุคอรีย์ : 841 สำนวนรายงานเป็นของท่าน, มุสลิม : 851)

ความประเสริฐของวันศุกร์ในอิสลาม

3. ในวันศุกร์จะมีช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอัลลอฮฺจะทรงตอบรับดุอาอ์ของผู้ที่ขอในช่วงเวลานั้น

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้พูดถึงวันศุกร์ แล้วท่านก็กล่าวว่า

«فِيهِ سَاعَةٌ لاَ يُوَافِقُهَا عَبْدٌ مُسْلِمٌ وَهُوَ قَائِمٌ يُصَلِّي يَسْأَلُ اللَّهَ تَعَالَى شَيْئًا إِلاَّ أَعْطَاهُ إِيَّاهُ»

ความว่า: "ในวันนั้นมีช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่มีบ่าวมุสลิมคนใดที่กำลังยืนละหมาด และขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺทรงประทานสิ่งหนึ่งสิ่งใดในช่วงที่ตรงกับเวลานั้น นอกจากอัลลอฮฺจะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่เขา"

และท่านนบีให้สัญญานด้วยมือของท่านว่ามันเป็นช่วงเวลาอันน้อยนิด (รายงานโดยอัล-บุคอรีย์ : 893 และมุสลิม : 852)

ในรายงานของมุสลิมจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ فِي الْجُمُعَةِ لَسَاعَةً لاَ يُوَافِقُهَا مُسْلِمٌ يَسْأَلُ اللَّهَ فِيهَا خَيْرًا إِلاَّ أَعْطَاهُ إِيَّاهُ، قَالَ : وَهِيَ سَاعَةٌ خَفِيفَةٌ»

ความว่า: "แท้จริง ในวันศุกร์นั้นมีช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่มีมุสลิมคนใดที่ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่ดี นอกจากพระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่เขา มันเป็นช่วงเวลาที่สั้น" (มุสลิม 852)

อัส-สุยูฏีย์ กล่าวว่า บรรดาผู้รู้ในหมู่เศาะหาบะฮฺและตาบิอีนมีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าวมากกว่า 30 ทัศนะ และท่านก็หยิบยกทัศนะเหล่านั้น แล้วท่านก็อ้างถึงคำพูดของอัฏ-เฏาะบะรอนีย์ที่ว่า หะดีษที่น่าเชื่อถือที่สุดคือหะดีษของ อบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ ซึ่งรายงานโดยมุสลิมมีว่า :

ท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ ได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

«هِيَ مَا بَيْنَ أَنْ يَجْلِسَ الإِمَامُ إِلَى أَنْ تُقْضَى الصَّلاةُ»

ความว่า: "มัน(ช่วงเวลาดังกล่าว)นั้นอยู่ในช่วงระหว่างที่อิมามนั่ง(อยู่บนมินบัร)จนละหมาดเสร็จ" (มุสลิม :853)

และทัศนะที่แพร่หลายที่สุดคือทัศนะของท่านอับดุลลอฮฺ บิน สลาม เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ นั่นก็คือ มันอยู่ในช่วงสุดท้ายของวันศุกร์

อัส-สุยูฏีย์ได้กล่าวต่อไปว่า บรรดาคนรุ่นก่อนก็ขัดแย้งกันอีกว่า ทั้งสองทัศนะนี้ทัศนะใดที่ถูกต้องที่สุด และแต่ละทัศนะนั้นต่างก็มีผู้เห็นด้วยทั้งสิ้น

อิบนุล อะเราะบีย์, อัล-กุรฏุบีย์ และอัน-นะวะวีย์ต่างก็เห็นด้วยกับทัศนะของท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์

ส่วนอะห์มัด, อิบนุ รอฮะวัยฮฺ และอิบนุ อับดิลบัร นั้นเห็นด้วยกับทัศนะของท่านอับดุลลอฮฺ บิน สลาม

อัส-สุยูฏีย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า และทัศนะที่ฉันเลือกและเห็นด้วยกับมันคือ ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นคือช่วงระหว่างอิกอมะฮฺของละหมาดวันศุกร์.

บทความโดย: อ.ซุฟอัม อุษมาน / www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด