ประเพณีลอยกระทงกับอิสลาม สรุปอิสลามลอยกระทงได้ไหม? มุสลิมเราอาศัยอยู่ในประเทศที่ประชากรส่วนมาก ไม่ได้เป็นมุสลิม...
ประเพณีลอยกระทงกับอิสลาม สรุปอิสลามลอยกระทงได้ไหม?
มุสลิมเราอาศัยอยู่ในประเทศที่ประชากรส่วนมาก ไม่ได้เป็นมุสลิม แน่นอนเราต้องใช้ชีวิตปะปนกับผู้คนมากมาย หลากหลายวัฒนธรรมและหลากหลายความเชื่อ
ซึ่งบางครั้งมุสลิมได้เข้าไปร่วมกับกิจกรรมประเพณีของคนต่างศาสนาที่บางครั้งมีที่มาซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนา มุสลิมจะต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมเพราะมันเกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อของศาสนาอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอิสลาม เช่น ประเพณีสงกรานต์ การไหว้ครู และประเพณีลอยกระทงและอีกมากมายที่มีที่มาจากความเชื่อทางศาสนา
แท้จริงแล้วอิสลามไม่ได้ห้าม การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างศาสนา เช่น การค้าขาย การไปเยี่ยมคนป่วย การช่วยเหลือผู้ประสบกับความเดือดร้อนที่เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และอีกมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับประเด็นที่อยากจะหยิบยกมาทำความเข้าใจ คือ เรื่องของการลอยกระทง
การลอยกระทง ถ้าเรามองแบบผิวเผิน ไม่น่าจะมีอะไรมากมาย มันเป็นกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน มีการจัดการแสดงมหรสพ และมีการแสดงดนตรี การประกวดนางงาม ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับศาสนาตรงไหน แต่ถ้าหากเราไปศึกษาความเป็นมาของการลอยกระทง จะพบว่า มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา
ประเพณีลอยกระทงกับอิสลาม อิสลามลอยกระทงได้ไหม สรุปดังนี้
ประเพณีลอยกระทง วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยส่วนใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือเดือนยี่ (เดือนที่ 2) ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา "มักจะ"ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ
ประเพณีลอยกระทง กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่า เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก
สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทง ได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ความเชื่อเกื่ยวกับวันลอยกระทง
สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่
1. เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
2. เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทธ
3. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
4. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
5. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
6. เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน
7. เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย
ที่มา hilight.kapook.com
นี่คือความเชื่อบางประการที่ทำให้เกิดประเพณีลอยกระทง การที่มุสลิมไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประเพณีของศาสนาอื่นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาไม่ได้เป็นการไปดูถูก แต่เป็นการแสดงเอกลักษณ์ในคำสอนของอิสลาม อิสลามไม่ได้ไปตำหนิความเชื่อของศาสนาอื่น ใครจะเชื่ออย่างไรในเรื่องศาสนาเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับหรือเหยียดหยามศาสนาของคนอื่นได้ เพราะเรื่องความเชื่อเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แต่คำสอนของศาสนาแต่ละศาสนาล้วนแล้วมีเอกลักษณ์เฉพาะ
ดังนั้น มุสลิมเวลาจะทำอะไรที่เกี่ยวกับประเพณีต่างๆ จึงต้องดูด้วยว่ามีที่มาจากหลักความเชื่อหรือไม่ หากประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อทางศาสนา เป็นแนวปฏิบัติของคนในสังคมและไม่ไปค้านกับหลักการอิสลามก็ถือว่าไม่เป็นที่ต้องห้ามที่มุสลิมจะเข้าไปมีส่วนร่วม
ในยุคของท่านนบี (ซ.ล.) บรรดามุชริกในเมืองมักกะฮ์หมดวิธีการที่จะหยุดยั้งท่านนบี (ซ.ล.) ในการเรียกร้องผู้คนมาสู่อิสลาม บรรดามุชริกผู้ตั้งภาคีเลยประชุมหาวิธีเพื่อที่จะให้ท่านนบี (ซ.ล.) หยุดทำหน้าที่ในการเรียกร้องผู้คนมาสู่การให้เอกภาพต่ออัลลอฮ์ เพียงพระองค์เดียว พวกเขาได้ข้อสรุปว่า
ต้องหาวิธีการที่เป็นการสมานฉันท์ พวกเขาจึงเสนอทางออกให้แก่ท่านนบี (ซ.ล.) โดยพวกเขาจะยอมเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ พร้อมกับบรรดามุสลิมเป็นระยะเวลาหนึ่งปี
หลังจากนั้น อีกหนึ่งปีบรรดามุสลิมก็ต้องมาบูชาพระเจ้าของพวกเขาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อต้องการยุติความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม สิ่งที่บรรดาผู้ตั้งภาคีในเมืองมักกะห์ได้เรียกร้องนั้นเป็นสิ่งที่บรรดามุสลิมกระทำไม่ได้เป็นอันขาด เพราะมันเป็นการกระทำที่ค้านต่อหลักคำสอนของอัลอิสลาม เพราะหลักความเชื่อของอัลอิสลามนั้นคือการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์องค์เดียว
การเคารพภักดีอัลลอฮ์พร้อมกับพระเจ้าอื่นนั้นถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์ และการที่เราได้นำสิ่งอื่นมาหุ้นส่วนกับอัลลอฮ์ในการเคารพภักดีนั้นถือว่า เราได้กระทำสิ่งที่มาทำลายหลักความเชื่อของอิสลามคือการเชื่อต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว หลังจากที่บรรดาผู้ตั้งภาคีได้เสนอข้อเรียกร้องนี้อัลลอฮ์ได้ประทานอัลกุรอานเพื่อต้องการให้บรรดามุสลิมได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้
1. จงกล่าวเถิด มุฮัมมัดว่า โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเอ๋ย
2. ฉันจะไม่เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดีอยู่
3. และพวกท่านก็ไม่ใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี
4. และฉันก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีสิ่งที่พวกท่านเคารพภักดี
5. และพวกท่านก็มิใช่เป็นผู้เคารพภักดีพระเจ้าที่ฉันเคารพภักดี
6. สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน
นี่คือคำสั่งของอัลลอฮ์ ที่ให้บรรดามุสลิมปลีกตัวออกจากสิ่งที่เป็นการตั้งภาคีกับพระองค์ และส่วนหนึ่งจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ คือ การที่มุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีกรรมของศาสนาอื่น และการที่มุสลิมเข้ามีส่วนในพิธีกรรมที่เป็นหลักความเชื่อของศาสนาอื่นนั้นถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลักการอิสลามอันบริสุทธิ์ได้มีสิ่งอื่นเข้ามาเจือปน และจะทำให้สูญเสียอากีดะห์
ท่านนบี (ซ.ล.) ได้มีคำสอนมากมายที่ไม่ต้องการให้มุสลิมไปลอกเลียนแบบ ตามการใช้ชีวิตของบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิม