แต่งงานแล้วแยกกันอยู่ อิสลามอนุมัติหรือไม่?


11,908 ผู้ชม

ในกรณีแต่งงานกันแล้วแต่มิได้ร่วมหลับนอน หรือมิได้อยู่ด้วยกัน เพราะอยู่กันคนละที่ บทบัญญัติศาสนาว่าอย่างไร?


แต่งงานแล้วแยกกันอยู่ อิสลามอนุมัติหรือไม่?

ในกรณีแต่งงานกันแล้วแต่มิได้ร่วมหลับนอน หรือมิได้อยู่ด้วยกัน เพราะอยู่กันคนละที่ บทบัญญัติศาสนาว่าอย่างไร?

ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน

คำถามข้างต้นมี 2 ประเด็นด้วยกัน ขอตอบที่ละประเด็น

ประเด็นแรก ในกรณีที่แต่งงานกันแล้วมิได้ร่วมหลับนอนกัน ถือว่า เป็นที่อนุมัติในศาสนา โดยพื้นฐานเดิมภายหลังการแต่งงานไม่อนุญาตให้ฝ่ายหญิงล่าช้าในการร่วมหลับนอนกับฝ่ายชาย ยกเว้นมีอุปสรรคจำเป็นเช่น ฝ่ายหญิงมีประจำเดือน หรือมีอาการป่วยไข้ แต่ถ้าทั้งคู่ตกลงกันว่ายังไม่ขอร่วมประเวณีเป็นระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ ถือว่า เป็นที่อนุญาต เพราะทั้งคู่ต่างพอใจเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ท่านนบีมุหัมมัด (ซ.ล.)  กล่าวไว้ว่า

“บรรดามุสลิมนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ของเขา (ที่ได้ตกลงกันไว้โดยไม่ผิดบทบัญญัติของศาสนา)” (เล่าโดยอบู ฮฺร็อยเราะฮฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด, ติรมีซีย์, บัยหะคีย์, ดารุ กุฏนีย์ และหากิม)

ส่วนกรณีที่ไม่อยู่ด้วยกันภายหลังการแต่งงานไม่ว่าจะเป็น สาเหตุใดก็ตามถือว่า เป็นที่อนุญาตเช่นกัน ทั้งนี้มีแบบอย่างจากท่านนบีมุหัมมัด (ซ.ล.) ดังที่ท่านอุรวะฮฺได้เล่าว่า

“ ภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านหญิงเคาะดียะฮฺก่อนการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ) ประมาณ 3 ปี จากนั้นท่านนบี (ซ.ล.) ยังคงพำนัก (ที่มักกะฮ) ประมาณ 2 ปี หรือ (ระยะเวลา) ใกล้เคียงกันนั้น ท่านนบี (ซ.ล.) ได้แต่งงานกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ ขณะนั้นนางมีอายุเพียง 6 ปี (การแต่งงานนั้นเกิด) ก่อนการอพยพและภายหลังการอพยพ (มาอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ) ท่านนบี (ซ.ล.)  ได้อยู่ร่วมกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ ในเดือนเชาวาล ขณะนั้นนางมีอายุประมาณ 9 ปี” (บันทึกโดยบุคอรีย์)

แต่งงานแล้วแยกกันอยู่ อิสลามอนุมัติหรือไม่?

อีกสำนวนหนึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวไว้ว่า “แท้จริงท่าน นบีมุหัมมัดแต่งงานกับนาง ขณะนั้นนางอายุได้ 6 ปี และนางถูกส่งตัวไปยังท่านนบี เมื่ออายุประมาณ 9 ปี และนางอยู่กับท่านนบี ขณะอายุได้ 9 ปี”  (บันทึกโดยมุสลิม)

จากตัวบทข้างต้นบ่งชี้ถึงระยะเว้นช่วงการอยู่ด้วยกันของท่าน นบีมุหัมมัด (ซ.ล.)  กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ ประมาณ 3-4 ปี ทั้งนี้มีอุปสรรคในการอยู่ด้วยกัน แต่ภายหลังอพยพมายังเมืองมะดีนะฮฺแล้วจึงได้อยู่ร่วมกัน

ฉะนั้น หากชายหญิงคู่ใดที่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันภายหลังการแต่งงาน ไม่ว่าจะมีสาเหตุหรืออุปสรรคใดๆ ก็ตาม อันทำให้อยู่ร่วมกันไม่ได้ในช่วงแรกทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของบุคคลทั้งสอง เช่นนั้นแล้ว ถือว่า เป็นที่อนุญาตทางศาสนา แต่มีเงื่อนไขว่า ฝ่ายชายยังคงต้องจ่ายปัจจัยค่าใช้จ่าย (นะฟะเกาะฮฺ)ให้แก่ฝ่ายหญิง

หากฝ่ายชายละเลยการจ่ายนะฟะเกาะฮฺถือว่า เขามีความผิด เพราะการจ่ายนะฟะเกาะฮฺ ให้แก่ภรรยาถือเป็นวาญิบ โดยไม่พิจารณาว่านางจะอยู่ร่วมกันกับเขาหรือไม่อยู่ร่วมกับเขาเพราะมีเหตุอันจำเป็นก็ตาม

https://islamhouse.muslimthaipost.com/

ภาพจาก: feyzahakyemez , sahin_agar

อัพเดทล่าสุด