ช่วงเวลาที่จะถูกตอบรับจะเป็นช่วงท้ายของวันศุกร์ นั่นคือ หลังจากละหมาดอัศริ ซึ่งมีสุนัตให้ซิเกร ดุอาอ์ให้มากๆ ...
วันศุกร์ ช่วงเวลาที่ดุอาอ์จะถูกตอบรับ
ช่วงเวลาที่จะถูกตอบรับจะเป็นช่วงท้ายของวันศุกร์ นั่นคือ หลังจากละหมาดอัศริ ซึ่งมีสุนัตให้ซิเกร ดุอาอ์ให้มากๆ ในช่วงดังกล่าว ฉะนั้นการดุอาอ์ในช่วงนี้จึงเป็นการดุอาอ์ที่น่าจะถูกตอบรับมากที่สุดทั้งที่มันเป็นช่วงสั้นๆ
- ซุนนะฮฺในวันศุกร์ ความประเสริฐ เวลาสำคัญของวันศุกร์
- วิธีอาบน้ำสุนัตวันศุกร์ที่ถูกต้อง มีภาพประกอบ
- (หลักฐาน) ว่าด้วยความประเสริฐของวันศุกร์
ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รักทั้งหลาย ชีวิตของพวกเราต่างก็ดำเนิไปตามลิขิตของ
อัลเลาะห์ และพวกเราแต่ละคนก็มีหน้าที่ประกอบอาม้าลอีบาดะห์ จนสุดความสามารถ พร้อมด้วยการวิงวอนขอ(ดุอาอ์)ให้เราได้รับสิ่งที่เราปรารถนา และการขอดุอาอ์ก็คือ อีบาดะห์ที่บ่าวของอัลเลาะห์ต้องปฏิบัติ
อัลเลาะห์ตรัสว่า
وَقَالَ رَبُّكُمُ ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ إِنَّ الَّذِينَ يَسْتَكْبِرُونَ عَنْ عِبَادَتِي سَيَدْخُلُونَ جَهَنَّمَ دَاخِرِينَ
ความว่า “พระเจ้าของพวกเจ้าทรงกล่าวว่า เจ้าทั้งหลายจงวิงวอนขอต่อข้า และข้าจะตอบรับการขอแก่พวกเจ้า แท้จริงบรรดาผู้โอหังต่อการเคารพภักดีแก่ข้านั้นจะเข้าไปอยู่ในนรกอย่างต้อยต่ำ” (ซูเราะห์ฆอฟิร อายะห์ที่ 60)
ท่านพี่น้องที่รักทั้งหลาย เป็นความโปรดปรานและการให้เกียรติจากอัลเลาะห์ โดยการที่พระองค์ทรงรับการวิงวอนขอ ท่านอิบนุกะซีร กล่าวว่า อัลเลาะห์ทรงเรียกร้องให้บ่าวของพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ และพระองค์ยังรับรองที่จะตอบรับให้แก่พวกเขา การใช้ของอัลเลาะห์ให้บ่าวขอดุอาอ์ต่อพระองค์ถือเป็นอีบาดะห์ ดังมีรายงานจากนัวะมานบุตรบะชีร จากท่านนบี ได้กล่าวว่า
{اِنَّ الدُّعَاءَ هُوَ اْلعِبَادَةُ} رواه الاربعة وصححه الترمذي
ความว่า “แท้จริงการวิงวอนขอ(ดุอาอ์)คืออีบาดะห์”
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว พวกเราพยายามใฝ่หาช่วงเวลาที่ดุอาอ์มุสตะญับ(อัลเลาะห์ทรงรับ) เพื่อหวังให้การวิงวอนขอดุอาอ์ของเราสำเร็จผล มีมากมายหลายเวลา ที่มีรายงานเรื่องช่วงเวลา และหนึ่งในช่วงเวลานั้นคือ ช่วงเวลาหนึ่งที่ดุอาอ์ มุสตะญับ และอาจเป็นเวลาที่บ่าวหลายคนของอัลเลาะห์ปล่อยเวลาเลยไปโดยที่เขาไม่รู้หรือไม่แยแสก็เป็นไปได้ แต่เวลานั้นเป็นช่วงที่สั้นที่อยู่ในวันศุกร์ ดังมีรายงานว่า
عَنْ اَبِيْ لُبَانَةَ اْلبَدْرِيِّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ اَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلىَّ اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : قَالَ
{ سَيِّدُ اْلاَياَّمِ يَوْمُ الْجُمُعَةِ وَاَعْظَمُهَا عِنْدَ اللهِ تَعَالَى وَاَعْظَمُ عِنْدَ اللهِ مِنْ يَوْمِ اْلفِطْرِوَيَوْمِ اْلاَضْحَى وَفِيْهِ خَمْسُ خِلاَلٍ خَلَقَ اللهُ عَزَّوَجَلْ فِيْهِ آدَمَ عَلَيْهِ السَّلاَمُ وَاَهْبَطَ اللهُ تَعَالَى فِيْهِ آدَمَ اِلَى اْلاَرْضِ وَفِيْهِ تَوَفَى اللهُ تَعَالَى آدَمَ وَفِيْهِ سَاعَةٌ لاَيَسْاَلُ الْعَبْدُ فِيْهَا شَيْئًا اِلاَّ آتَاهُ الله تَعَالَى مَالَمْ يَسْاَلْ حَرَامًا وَفِيْهِ تَقُوْمُ السَّاعَةُ ....}الحديث رواه احمد وابن ماجه
ความว่า “จากท่านลุบานะห์อั้ลบัดรีย์ แท้จริงท่านบี กล่าวว่า นายแห่งวันทั้งหลายคือวันศุกร์ และเหลือจะยิ่งใหญ่ ณ ที่อัลเลาะห์ และที่เหลือจะยิ่งใหญ่ ณ ที่อัลเลาะห์ยิ่งกว่าวันตรุษอีดิ้ลฟิตรและอีดิ้ลอัฎฮาเสียอีก และวันศุกร์มีห้าเวลา(เหตุการณ์)ด้วยกัน
- อัลเลาะห์ทรงสร้าง นบีอาดัม อ่าลัยฮิสสลาม
- อัลเลาะห์ทรงให้นบีอาดัมสู่พื้นดินดุนยา
- อัลเลาะห์ทรงชักวิญญาณของนบีอาดัม
- ช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีบ่าวผู้ใดวิงวอนขอสิ่งใดจากอัลเลาะห์ เว้นเสียแต่อัลเลาะห์ทรงประทานให้แก่เขา ตราบใดที่เขาไม่ขอสิ่งที่เป็นของต้องห้าม
- วันกียามะห์ ก็เกิดขึ้นในวันศุกร์”
ช่วงเวลาที่การขอดุอาอ์มุสตะญับถูกระบุไว้ คือ ท้ายของวันศุกร์ ซึ่งมีรายงานจากอะบีซะอีดและอะบูฮูรอยเราะห์ว่า
{اَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ اِنَّ فِي الْجُمُعَةِ سَاعَةٌ لاَيُوَافِقُهَا عَبْدٌ مُسْلِمٌ يَسْاَلُ اللهَ عَزَّوَجَلْ فِيْهَا خَيْرًا اِلاَّ اَعْطَاهُ وَهِيَ بَعْدَ اْلعَصْرِ } رواه احمد
ความว่า “แท้จริงท่านนบีกล่าวว่า ในวันศุกร์นั้นมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจะไม่มีบ่าวที่เป็นมุสลิมคนใดที่ได้วิงวอนขอสิ่งดีในเวลานั้น เว้นเสียแต่อัลเลาะห์ได้ทรงประทานให้แก่เขานั้นคือหลังอัสริ”
จากท่านอาบีซะลามะห์ บุตรอับดุรเราะห์มาน และบันทึกโดยท่านซะอีดว่า เหล่าบรรดาซอฮาบะห์ได้รวมตัวพร้อมกล่าวถึงเรื่องเวลาที่ดุอาอ์มุสตะญับ ในวันศุกร์ และพวกเขาไม่ได้ขัดแย้งกันเลยว่า เวลานั้นคือท้ายของวันศุกร์
และยังมีบางรายงานให้ทำการขอดุอาอ์ระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมเทศนา( خُطْبَةْ )
นั่งระหว่าง 2 คุตบะห์ บนมิมบัร จนกระทั่งเสร็จละหมาด ซึ่งก็ไม่เป็นข้อต้องห้ามแต่ประการใด เพราะการขอดุอาอ์เป็นอีบาดะห์ที่บ่าวต้องปฏิบัติอยู่แล้ว จึงขอฝากท่านพี่น้องให้มุมานะทำการขอจากผู้ให้ ซึ่งแสดงตนถึงความเป็นบ่าวที่พึ่งพาต่อพระผู้เป็นเจ้า และนำตัวเองเสนอต่ออัลเลาะห์ทั้งยามทุกข์และสุข เพื่อจักได้เป็นผู้ที่อัลเลาะห์ทรงรับ
ที่มา: อ.อาลี กองเป็ง , มุสลิมไทย