เลิกกันเพื่ออัลลอฮฺ ขอดุอาอฺให้ได้แต่งงาน จะมีบะเราะกะฮฺไหม?


12,606 ผู้ชม

เป็นแฟนกัน เลิกกันเพื่ออัลลอฮฺ (เพราะมารู้ทีหลังว่าผิดหลักการ) รักเธอมาก ขอดุอาอฺให้ได้แต่ง, ถ้าแต่งงานกับเธอแล้ว จะมีบะเราะกะฮฺ (ความจำเจริญ) ไหมครับ?


เป็นแฟนกัน เลิกกันเพื่ออัลลอฮฺ (เพราะมารู้ทีหลังว่าผิดหลักการ) รักเธอมาก ขอดุอาอฺให้ได้แต่ง, ถ้าแต่งงานกับเธอแล้ว จะมีบะเราะกะฮฺ (ความจำเจริญ) ไหมครับ?

ตอบโดย อ.มุรีด ทิมะเสน

ประเด็นแรก ในอิสลามไม่มีระบบแฟน พึงทราบเถิด ความรักเกิดขึ้นหลังแต่งงานเท่านั้น ใครที่อ้างว่าความรักเกิดก่อนแต่งงาน นั่นเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะคนทั้งสองจะรู้จักนิสัยใจคอกันจริงๆ ขณะอยู่ร่วมกันเท่านั้น เช่น ก่อนแต่งงานตีสีตีห้าโทรมาหา หรือส่งข้อความมาหาหละ ครั้นแต่งงานแล้ว เขาอาจไม่ตื่นนมาซศุบหฺก็เป็นได้ ทำนองนี้เป็นต้น

ประเด็นถัดมา คบกันในฐานะแฟน โอกาสผิดหลักการศาสนาย่อมเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย, การเขียนข้อความส่งทางเฟสถึงกันและกัน ฯลฯ ซึ่งสิ่งข้างต้นถือเป็นซินา (เล็ก)

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า : 

فَزِنَا العَيْنِ النَّظَرُ، وَزِنَا اللِّسَانِ المَنْطِقُ،

“ดังนั้นการทำซินาของดวงตา (กับเพศตรงข้าม) คือ การมอง (ส่งตาเยิ้ม) และการทำซินาของลิ้น (กับเพศตรงข้าม) คือการพูด (เชิงเกี้ยวพาราสี)” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1574]

ข้างต้นล้วนสะสมความผิด ส่วนความผิดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนสองคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ด้วยกันสองต่อสอง

เลิกกันเพื่ออัลลอฮฺ ขอดุอาอฺให้ได้แต่งงาน จะมีบะเราะกะฮฺไหม?

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :

«لاَ يَخْلُوَنَّ رَجُلٌ بِامْرَأَةٍ إِلَّا مَعَ ذِي مَحْرَمٍ»

“ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง (ที่ยังไม่แต่งงานกัน) ไม่อนุญาต (ต้องห้าม) ที่จะอยู่ด้วยกันสองต่อสอง ยกเว้นจะต้องมีมะหฺร็อม (ผู้ปกครองฝ่ายหญิง) นั่งร่วมอยู่ด้วย (เท่านั้น)” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 5233]

เพราะการอยู่ด้วยกันตามลำพัง ชัยฏอนจะทำหน้าที่ของมันสุดความสามารถ สุดท้ายทั้งคู่ก็กระทำความผิด ไม่ว่าจะจับมือ, กอดจูบ หรือมากกว่านั้น

ประเด็นถัดมา การเลิกคบกันในฐานะแฟนนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ศาสนากำชับให้กระทำ เพราะการคบกันในฐานะแฟน ถือเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในทัศนะของอิสลาม ฉะนั้นให้เราเลิกคบกันก่อน แม้จะรักเขา หรือเธอ มากเพียงใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งที่ดีงาน อีกทั้งยังมีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) อีกด้วย

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า

«مَنْ أَحَبَّ لِلَّهِ، وَأَبْغَضَ لِلَّهِ، وَأَعْطَى لِلَّهِ، وَمَنَعَ لِلَّهِ فَقَدِ اسْتَكْمَلَ الْإِيمَانَ»

“บุคคลใดที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺ, โกรธกันเพื่ออัลลอฮฺ, ให้ก็เพื่ออัลลอฮฺ และห้ามปรามก็เพื่ออัลลอฮฺ เช่นนี้ถือว่าเขามีความศรัทธาที่สมบูรณ์แล้วนั่นเอง” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 4681]

ประเด็นสุดท้าย เมื่อก่อนเคยคบกันเป็นแฟน พอมารู้ทีหลังว่าผิดหลักการ ก็เลยเลิกคบเพื่ออัลลอฮฺ จากนั้นก็ขอดุอาอ์ให้ได้แต่งกับเขา (หรือเธอ) เช่นนี้ถือว่ามีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) อย่างแน่นอน เพราะสิ่งใดที่เราทำผิดไป แล้วสำนึกผิด อัลลอฮฺให้อภัย อีกทั้งพระองค์จักทรงเพิ่มพูนความจำเริญให้อีกต่างหาก บุคคลซึ่งเขาทำผิดแล้วสำนึกผิดนั้น ในทัศนะของศาสนา ถือว่าเป็นคนผิดที่ดี

อนึ่ง เป้าหมายการแต่งงานคือการสร้างความจำเริญให้แก่คู่บ่าวสาวมิใช่ละหรือ ไม่งั้นท่านรสูลุลลอฮฺคงไม่ขอดุอาอ์ให้คู่บ่าวสาวมีความจำเริญในวันแต่งงาน ด้วยสำนวนดังนี้

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า  :

«بَارَكَ اللَّهُ لَكَ، وَبَارَكَ عَلَيْكَ، وَجَمَعَ بَيْنَكُمَا فِي خَيْرٍ»

คำอ่าน “บาร่อกัลลอฮุ ล่าก้า ว่าบาร่อก้าอ้าลัยก้า ว่าญ่าม่าอ้า บัยน่ากุมา ฟี ค็อยริน”

คำแปล “ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญให้แก่ท่าน (เจ้าบ่าว), และความจำเริญให้แก่ท่าน (เจ้าบ่าว) หลังจากวันนี้ และขอให้ท่านทั้งสอง (เจ้าบ่าวเจ้าสาวใช้ชีวิต) อยู่บนความดี (คุณธรรม) ด้วยเถิด” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 2130]

(วัลลอฮุอะอฺลัม)

อัพเดทล่าสุด