วันอีดิ้ลอัฎฮา ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนซุลฮิญญะห์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม 2561 (ฮ.ศ.1439) ตามประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี
ประวัติ วันตรุษอีดี้ลอัฎฮา วันเฉลิมฉลอง การเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน
วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำว่า อีด แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง และ อัฎฮา แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน ดังนั้น วันตรุษอีดี้ลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการ เชือดสัตว์เพื่อพลีทาน
จากท่านอิบนิอับบาสเล่าว่า ท่านรอซู้ลลุลเลาะฮ์หรือศาสดาทรงกล่าวว่า ในวันอีดิ้ลอัฎฮาไม่มีการภักดีใดๆของมนุษย์ จะเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของอัลลอฮ์ ดียิ่งไปกว่าการทำ กุรบาน
ตามประวัติศาสตร์อิสลามที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์กุรอาน อัลลอฮฺทรงต้องการ ที่จะทดสอบความศรัทธาของนบีอิบรอฮีม (หรืออับราฮัม) ดังนั้น คืนหนึ่งอัลลอฮฺจึงได้ทรงทำให้นบีอิบรอฮีม ฝันว่าพระองค์ทรงมีบัญชาให้ท่านเชือดอิสมาอีล ลูกชายของท่านเป็นการพลีถวายให้แก่พระองค์ นบีอิบรอฮีมจึงได้นำอิสมาอีลไปยังสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อทำตามคำสั่งของอัลลอฮฺ เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งนบีอิบรอฮีม จะใช้เป็นที่เชือดบุตรและเตรียมจะลงมือเชือด อัลลอฮฺก็ทรงเห็นว่านบีอิบรอฮีมเป็นผู้ศรัทธาที่พร้อมจะ ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์จริง พระองค์จึงได้มีบัญชาให้นบีอิบรอฮีมเชือดแกะหรือแพะแทน ลูกชายของท่าน การเชือดสัตว์พลีจึงเป็นที่ปฏิบัติอย่างหนึ่งในการประกอบพิธีฮัจญ์
ทั่งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มุสลิมได้รำลึกถึงวีรประวัติแห่งความศรัทธาต่อพระเจ้าและการเสียสละ อันสูงส่งของนบีอิบรอฮีมและนบีอิสมาอีล กุรฺบาน (อุฎฮียะฮฺ) หมายถึงการเชือดอูฐ, วัว (ควาย) แพะ หรือ แกะในวันอีดอัฎฮา และวันตัชรีกฺ (หลังวันอีดอัฎฮา 3 วัน) เพื่อทำการใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮฺ
ความประเสริฐของการทำกุรฺบาน
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ไม่มีการงานใดสำหรับลูกหลานอาดัมในวันแห่งการเชือด (คือวันอีดอัฎฮา) ซึ่งเป็นที่รักยิ่ง ณ พระองค์ ดียิ่งไปกว่าการหลั่งเลือด (หมายถึงการเชือด กรฺบาน) แท้จริงมัน (สัตว์ที่ถูกเชือด) จำนำเขา, ขน และกลีบเท้าจองมันมาในวันกิยามะฮฺ และเลือด (ของสัตว์ที่ถูกเชือด) จะถึงยังพระองค์อัลลอฮฺก่อนที่จะหลั่งลงพื้นดิน (เป็นการเปรียบเทียบถึงการรับผลบุญที่รวดเร็ว) ดังนั้นพวกท่านจงดีใจต่อสิ่งดังกล่าว (หมายถึงดีใจต่อการได้รับภาคผลในการทำกุรฺบาน)”
อัลฮัดย์ คือ ปศุสัตว์ที่ถูกมอบพลีให้แก่เขตหะร็อมมักกะฮฺ โดยหวังในผลบุญแห่งอัลลอฮฺตะอาลา รวมไปถึงปศุสัตว์ที่เป็นค่าชดเชย อันเนื่องจากการประกอบพิธีหัจญ์แบบตะมัตตุอฺ หรือกิรอน หรือมีอุปสรรคกีดกัน อัลอุฎหิยะฮฺ คือ อูฐ วัว หรือแพะ ที่เชือดในช่วงอีดอัฎหา เพื่อหวังในผลบุญแห่งอัลลอฮฺตะอาลา กำหนดเวลาการทำ กุรบาน เริ่มเชือดกุรบานได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของเช้าวันอีดิลอัฎฮา(หลังละหมาด) จนถึงเวลาละหมาดอัสรีของวันที่ 4 ของวันอีดรวม 4 วัน (วันอีด 1 วันตัสริก 3 วัน) แต่ระยะเวลาที่ดีเยี่ยมควรเชือดกุรบาน คือ หลังจากเสร็จการละหมาดอีดิลอัฎฮาแล้ว การเชือดควรให้เจ้าของเป็นผู้เชือดเอง หากจะมอบให้ผู้อื่นเชือดก็ควรดูการเชือดด้วย
สัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่าน คือ อูฐ วัว ควาย แพะ แกะ กีบัช อูฐ ต้องมีอายุ 5 ปีบริบูรณ์ ใช้ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน ดังนั้น จึงรวมกันทำ 7 คน/อูฐตัวเดียวก็ได้ หรือจะทำคนเดียวก็ยิ่งดี วัว ควาย ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน แพะ ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน แกะและกิบัช ต้องมีอายุ 1 ปีบริบูรณ์ หรือเปลี่ยนฟันแล้ว ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน สัตว์จะทำกุรบ่าน ต้องอ้วนสมบูรณ์ปราศจากสิ่งตำหนิหรือโรค ควรมีลักษณะสวยงามสง่า
สัตว์ที่ห้ามทำกุรบ่านไม่ได้ ได้แก่ สัตว์ที่เป็นโรค หรือพิการหรือไม่สมประกอบ เช่น ตาบอด หูแหว่ง เขาหัก ไม่มีฟัน แคระแก่น มีท้อง สิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเชือดอุฎหิยะฮฺ ห้ามให้ผู้ที่ต้องการเชือดอุฎหิยะฮฺตัดหรือโกนขนตามร่างกาย หรือตัดเล็บ เมื่อเข้าสู่สิบวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ
หากเขาได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากข้อห้ามเหล่านั้นไป ก็ให้อิสติฆฟารฺขออภัยโทษ และไม่มีฟิดยะฮฺชดเชยแต่อย่างใด ผู้ใดเชือดอุฎหิยะฮฺสำหรับตัวเขาเองและสมาชิกในครอบครัวของเขา ส่งเสริมให้เขากล่าวขณะทำการเชือดว่า บิสมิลลาฮฺ, วัลลอฮุอักบัรฺ, อัลลอฮุมมะ ตะก็อบบัล มินนี, อัลลอฮุมมะ ฮาซา อันนี วะอัน อะฮฺลิ บัยตี “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺคือผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุด โอ้อัลลอฮฺขอพระองค์ทรงตอบรับจากฉันด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ นี่คือการเชือดสำหรับฉัน และสมาชิกในครอบครัวของฉัน”
วิธีการเชือดแบบนะหัรฺและแบบซับหฺ การเชือดอูฐ มีซุนนะห์ให้เชือดแบบนะหัรฺขณะที่อูฐกำลังยืนอยู่ ในสภาพที่มือข้างซ้ายของอูฐถูกมัดไว้ ส่วนปศุสัตว์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัว หรือแพะให้เชือดแบบซับหฺ และอนุญาตให้ทำกลับกัน ซึ่งการเชือดอูฐแบบนะหัรฺนั้น ให้ทำตรงช่วงล่างสุดของคอก่อนถึงหน้าอก ส่วนการเชือดแบบซับหสำหรับวัวหรือแพะนั้น ให้เชือดส่วนบนสุดของคอที่ติดกับส่วนหัว โดยให้มันนอนลงทางด้านซ้าย แล้วให้วางขาขวาบนคอของมัน แล้วจับหัวของมัน และทำการเชือด โดยกล่าวขณะทำการเชือดว่า บิสมิลลาฮฺ วัลลอฮุอักบัร (ด้วยพระนามอัลลอฮฺ และพระองค์คือผู้ทรงยิ่งใหญ่เกรียงไกรยิ่ง)
การแจกจ่ายเนื้อกุรฺบาน มีซุนนะห์ให้ผู้ทำกุรบานรับประทานเนื้อของสัตว์กุรบาน และนำไปแจกจ่ายให้แก่ญาติสนิท แก่ผู้ยากจนขัดสน (และมุสลิมทั่วไป) ก่อนหน้านี้ ท่านรสูลุลลอฮฺได้ห้ามการเก็บเนื้อกุรฺบานเอาไว้ ต้องแจกจ่ายเนื้อให้หมด แล้วช่วงหลังท่านรสูก็ได้ยกเลิกสิ่งดังกล่าว จากท่านอิบนุ อุมัรฺ แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“บุคคลหนึ่งในหมู่พวกท่านอย่าได้บริโภคเนื้อกุรฺบานเกินกว่า 3 วัน ”
ถูกยกเลิกด้วยกับหะดีษต่อไปนี้ จากท่านสุลัยมาน บุตรของบุร็อยดะฮฺ จากพ่อของเขากล่าวว่า ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า “ฉันเคยสั่งห้ามพวกท่านบริโภคเนื้อกุรฺบานเกินกว่าสามวัน เพื่อมั่งคั่งจะได้เอื้อเฟื้อต่อผู้ยากจนขัดสน (แต่ ณ วันนี้) พวกท่านจงบริโภคต่อสิ่งที่ปรากฏ และจงแจกจ่าย และจงเก็บเอาไว้” นักวิชาการกล่าวว่า “ถือว่าประเสริญที่สุด (สำหรับผู้ทำกุรบาน) ด้วยกับการกินเนื้อ (กุรบาน) เศษหนึ่งส่วนสาม, แจกจ่ายเศษหนึ่งส่วนสาม และเก็บเอาไว้เศษหนึ่งส่วนสาม” และ อนุญาตให้ย้ายเนื้อกุรบานไปยังท้องถิ่นอื่น หรือประเทศอื่น
ในหนังสือ “กิฟายะตุล อัคบารฺ” กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้ขายหนังสัตว์กุรบานและไม่อนุญาตให้ค่าจ้างแก่ผู้เชือดมัน แต่ถ้าหากเป็นกุรฺบานสุนนะฮฺ ให้ผู้ทำกุรบานแจกจ่าย (หนัง,กระดูก และอื่นๆ ของมัน) หรือไม่ก็นำหนังของมันมาประดิษฐ์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นรองเท้าหุ้มข้อ, รองเท้าธรรมดา หรือ ที่ตักน้ำ ถุงใส่น้ำ หรืออื่นๆ อีก” ส่วนนักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่า “ไม่อนุญาตให้ขายหนังของสัตว์กุรบาน”
ส่วนทัศนะของอบู หะนีฟะฮฺ อนุญาตให้ขายส่วนของหนัง แล้วนำผลประโยชน์ดังกล่าวไปเศาะดะเกาะฮฺ ไม่อนุญาตมอบเนื้อกุรฺบานให้แก่คนเชือดสัตว์กุรฺบาน (หรือบุคคลแล่เนื้อ,บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อกุรฺบาน) เป็นค่าตอบแทนหรือเป็นค่าจ้าง แต่ถ้าหากว่าต้องจ้างก็ให้ผู้ทำกุรบานจ่ายค่าตอบแทนเอง ซึ่งเป็นส่วนที่เขาจำเป็นต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว อนึ่ง หากจะถามถึงการขายหนังหรือกระดูกของสัตว์กุรบาน หะดีษข้างต้นได้ตอบชัดเจนแล้วว่า
ท่านอลีย์แจกจ่ายสัตว์กุรบานทั้งกระดูก และส่วนอื่นๆ แม้กระทั่งผ้าคลุม สัตว์กุรบานยังแจกจ่ายจนหมด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อต้องการให้สัตว์ตัวใดเป็นกุรบานถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องแจกจ่ายจนหมด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อต้องการให้สัตว์ตัวใดเป็นกุรบานถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องแจกจ่ายให้หมด และไม่อนุญาตให้ตีค่าเป็นราคา