ซุนนะห์ในวันอีดิลฟิตรี(ฮารีรายอ) ที่ควรปฏิบัติ


11,866 ผู้ชม

เตรียมตัวเพื่อไปละหมาดอีดิลฟิฏรี ด้วยการทำความสะอาดร่างกายและส่วมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม


ซุนนะห์ในวันอีดิลฟิตรี(ฮารีรายอ) ที่ควรปฏิบัติ

สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันอีดิลฟิตรี

1. เตรียมตัวเพื่อไปละหมาดอีดิลฟิฏรี ด้วยการทำความสะอาดร่างกายและส่วมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม 

รายงานจากนาเฟียะ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ว่า  แท้จริงอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮู อาบน้ำในวันอิดิ้ลฟิฎรี ก่อนที่จะไปยังสถานที่ละหมาด(มุศอ็ลลา)แต่เช้าตรู่ 

รายงานโดยอิหม่ามมาลิก ในอัลมุวัฏฏออฺ ด้วยสายรายงานที่เศาะเฮียะ ท่านหาฟิซอิบนุหะญัร(ขออัลลอฮเมตตาต่อท่าน) กล่าวว่า :

อิบนุอบีดุนยาและอัลบัยฮะกีย์ ได้รายงานด้วยสายรายงานที่เศาะเฮียะ สืบไปถึง อิบนุอุมัร ว่า  “เขาสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยที่สุด ในวันอีดทั้งสอง” – ดู ฟัตหุ้ลบารีย์ เล่ม 2 หน้า 51 

2. ก่อนออกไปละหมาดอีดิ้ลฟิฏรี ชอบ(มีซุนนะห์)ให้รับประท่านอินทผลัมก่อน หนึ่งเม็ด,สามเม็ด หรือมากกว่านั้น โดยให้เป็นจำนวนคี่

รายงานจากอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮูว่า ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ออกไปในวันอีดแต่เช้าตรู่ จนกว่าท่านจะรับประทานอินทผลัมหลายเม็ด และท่านกินมันเป็นจำนวนคี่”  (บันทึกโดย อัลบุคอรี )

3. มีซุนนะห์ให้กล่าวตักบีรด้วยเสียงดังสำหรับผู้ชาย และด้วยเสียงค่อยสำหรับผู้หญิง

ดังหะดิษอับดุลลอฮ บิน อุมัร ระบุว่า 

แท้จริง ปรากฏว่า ร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ออกไปละหมาดอีดทั้งสอง โดยกล่าวกล่าวตักบีร ด้วยเสียงดัง (หะดิษเศาะเฮียะ ดู อัลอิรวาอฺ เล่ม 3 หน้า 123 )

รายงานจากนาเฟียะว่า:   “แท้จริงอิบนุอุมัร เมื่อออกไปในวันอีดิลฟิฎรีและอีดิลอัฎหา แต่เช้าตรู่ เขาได้ตักบีร ด้วยเสียงดัง จนกระทั้งถึงสถานที่ละหมาด(มุศอ็ลลา) หลังจากนั้นก็ได้ตักบีร จนกระทั้งอิหม่ามมาถึง แล้วจึงกล่าวตักบีร ด้วยการตักบีรของอิหม่าม” (บันทึกโดย อัดดารุ้ลกุฏนีย์ ด้วยสายรายงานที่เศาะเฮียะ )

สำหรับถ้อยคำที่ใช้กล่าวตักบีรนั้น มีรายงานว่า 

จากอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ว่า เขาได้กล่าวตักบีร ในบรรดาวันตัชรีกว่า “ อัลลอฮุอักบัร,อัลลอฮุอักบัร,ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮุ วัลลอฮุอักบัร,อัลลอฮุอักบัร วะลิ้ลลาฮิลหัมดุ” (บันทึกโดย อิบนุอบีชัยบะฮ ด้วยสายรายงานที่เศาะเฮียะ )

4. มีซุนนะห์ให้เดินทางไปละหมาดอีดิ้ลฟิตรี โดยการเดินเท้า

ดังหะดิษท่านอาลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า   “ ส่วนหนึ่งจากสุนนะฮ คือ การออกไปละหมาดอีด โดยการเดินเท้า” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ )

5. มีซุนนะห์ให้ไปละหมาดอีดทางหนึ่งแล้วกลับอีกทางหนึ่ง ดังหะดิษญาบีร เราะฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า  “ ปรากฏว่ารซูลุ้ลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อถึงวันอีด ท่านจะสลับทางเดิน”  – บันทึกโดย อัลบุคอรี 

6. การละหมาดอีด ไม่มีสุนนะฮให้อาซานและอิกอมะฮ จากอิบนุอับบาส เราะฏิยัลลอฮุอันฮู ว่า “แท้จริงรซูลุ้ลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ละหมาดอีด โดยไม่มีการอาซานและอิกอมะฮ” (เศาะเฮียะสุนนันอบีดาวูด )

7. เมื่อต้องการจะกล่าวอวยพร ก็ให้กล่าวคำว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุมินนา วะมิงกุม”

อิบนุตัรกะมูนีย์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ มีหะดิษ อยู่ในระดับที่ดี คือ หะดิษมุหัมหมัด บินซิยาด กล่าวว่า “ข้าพเจ้าพร้อมกับ อบีอะมามะฮ อัลบาฮิลีย์ และคนอื่นจากเขา จากบรรดเหล่าสาวกของท่านนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปรากฏว่าเมื่อพวกเขากลับ บางส่วนของของพวกเขาจะกล่าวกับอีกบางส่วนว่า “ขออัลลอฮได้โปรดรับจากเราและจากท่านด้วย” อิหม่ามอะหมัด บิน หัมบัล กล่าวว่า “สายรายงานของหะดิษนี้อยู่ในระดับดี (ดู อัลเญาฮะรุนนะกีย์ เล่ม 3 หน้า 320)

ซุนนะห์ในวันอีดิลฟิตรี(ฮารีรายอ) ที่ควรปฏิบัติ

การจ่าย ซะกาตฟิตเราะห์ (ทานบังคับ)  

คือ ซะกาตที่จำเป็นจะต้องจ่ายอันเนื่องจากหมดภาระถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจำเป็นแก่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง เพียงแต่ผู้ที่จะเป็นผู้จ่ายนั้นจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้อุปการะผู้อื่นโดยจ่ายเพื่อตัวเขา และเพื่อคนที่อยู่ในครอบครัวทุกคน และคนที่ต้องรับผิดชอบด้วย 

สำหรับปริมาณที่ต้องจ่าย คนละ 1 ศออฺ (ในภาษาอาหรับ) หรือประมาณเกือบ 4 ลิตร ของอาหารหลักในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในประเทศไทยคือ ข้าวสาร เป็นต้นโดยจะจ่ายให้คนยากจน หรือให้เจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของมัสญิดก็ได้ เพื่อจะได้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตต่อไป

เพราะฉะนั้นจะเห็นชาวบ้านจำนวนมากจะออกจากบ้านในคืนสุดท้ายหรือช่วงเช้าของวันอีด(ฮารีรายอ)ไปหาคนยากจนหรือเจ้าหน้าที่มัสยิด

ซุนนะห์ในวันอีดิลฟิตรี(ฮารีรายอ) ที่ควรปฏิบัติ

ภารกิจมุสลิมวันอีด (ฮารีรายอ) 

เมื่อสำนักจุฬาราชมนตรีประกาศกำหนดวันอีดชัดเจนแล้ว มุสลิมจะมีหลักปฏิบัติ ดังนี้ 

- กล่าว ตักบีร (สรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า) เมื่อมีการประกาศกำหนดวันอีดแล้ว มุสลิมทั้งชายและหญิงควรกล่าวตักบีรไปเวลาละหมาดอีด ในชุมชนมุสลิมจะเปิดเครื่องขยายเสียงดังที่มัสยิด

- อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกาย ควรมีการอาบน้ำชำระล้างและทำความสะอาดร่างกายก่อนสวมใส่เสื้อผ้าไปยังที่ ละหมาด พร้อมทั้งขจัดขนอวัยวะเพศ ขนรักแร้ ตัดเล็บ กลิ่นกายที่น่ารังเกียจ และรบกวนผู้อื่น

- แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ดี ที่สามารถหามาได้ พร้อมกับใช้น้ำหอม ยกเว้นบรรดาสตรี ซึ่งไม่อนุญาตให้พวกนางใช้น้ำหอมในการไปละหมาด

-ไปยังที่ละหมาดตั้งแต่เช้า สำหรับผู้เป็นมะมูม (ประชาชน ทั่วไป) ควรรีบออกไปยังที่ละหมาดตั้งแต่เช้า เพื่อจองที่และรอละหมาด ยกเว้นผู้เป็นอิหม่าม (ผู้นำละหมาด)ให้ออกไปเมื่อใกล้เวลาละหมาด โดยการออกไปยังที่ละหมาดควรปฏิบัติดังนี้

ก.ควรออกไปและกลับด้วยการเดินเท้า นอกจากมีเหตุจำเป็น เช่น ไม่สบาย เป็นไข้ อยู่ไกล เช่นนี้อนุญาตให้ใช้พาหนะได้ 

ข.กล่าวตักบีรตลอดทางไปสู่ที่ละหมาด

ค.เดินเท้าไปและกลับควรใช้เส้นทางต่างกัน

ง.พาครอบครัวไปด้วยกัน

จ. ควรพาครอบครัว บุตร ภรรยา ไปที่ละหมาด เพื่อร่วมละหมาดหรือฟังคุฏบะฮฺ (ธรรมเทศนา) ร่วมกัน เช่นปีที่ผ่านมา ที่ปัตตานีจัดละหมาดอีดที่สนามโรงเรียนเบญจมราชูทิศมีผู้เข้าร่วมเกือบหมื่น คน

ภารกิจหลังละหมาดอีด

หลังละหมาดให้ต่างคนต่างแสดงความดีใจและยินดีซึ่งกันและกัน โดยให้กล่าว “ตะก๊อบ บะลัลลอฮู มินนา วะมินกุม” ซึ่งแปลว่า “ขอให้อัลลอฮฺเจ้าจงตอบแทนความดีของเรา” และขออภัยซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นให้มีการบริจาคทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาสตรี สุดท้ายไปเยี่ยมญาติและเพื่อนๆ

ถือศีลอดอีก 6 วัน 

หลังจากวันอีดิ้ลฟิตรี  ซึ่งเป็นการถือศีลอดซุนนะห์  (ตามความสมัครใจและตามแบบฉบับศาสดา) ตามรายงานของอะบีอัยยู๊บ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮฺ (อัครสาวกศาสดาท่านหนึ่ง) แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า 

"ผู้ใดถือศีลอดเดือนรอมฎอนแล้วติดตามหลังจากรอมฎอนอีก 6 วันจากเดือนเซาวัล เสมือนกับว่าเขาถือศีลอดทั้งปี"  (อ่านเพิ่มเติม:  ถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล (บวช6) เหนียตว่าอย่างไร)

นี่คือ  หลักปฏิบัติของอิสลามพอสังเขปซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมภาคใต้ซึ่ง อยากจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงเข้าใจ และนำเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติ
ในพื้นที่ เพราะหลายๆกิจกรรมเป็นช่วงกลางคืนและดึกดื่น

ในขณะเดียวกันการเรียกร้องให้องค์กรของรัฐและสังคมอื่นเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ได้อย่างสมบูรณ์นั้น มุสลิมเองต้องมีคุณลักษณะ และแสดงความเป็นมุสลิมที่ดีตามแนวทางศาสดาทุกอริยะบทของการดำเนินชีวิต รวมทั้งเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกับสังคมอื่นตามกรอบที่ศาสนาได้กำหนดไว้เช่นกัน

โดย : รอซัยณี นีย์ ดีเยาะ

https://islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด