นิสฟูของเดือนชะบานนั้นจึงหมายถึงวันที่ 15 ของเดือนนั้นเองส่วนคืนนิสฟูชะบานนั้นก็ให้คิดกันตั้งแต่ค่ำลงของวันที่ 14 ชะบานนั้นเอง
คืนนิสฟูชะอฺบานนั้นสำคัญไฉน?
เมื่อพูดถึงเดือนชะบาน สิ่งที่เราหลายๆ คนมองเห็นกันในมโนภาพก็คือคืนนิสฟูชะบานนั้นอาจเป็นเพราะ คืนนั้นเรามักจะพบเห็นคนเขาปฏิบัติอามาลกันมากมายหลายรูปแบบและก็อีกเช่นเคย วิวาทะก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้ภายในเดือน แห่งความมงคลนี้และไม่ใช่วิวาทะอะไรที่ใหนหรอกก็แค่คำว่า บิดอะฮฺดอลาละฮฺ หรือชิริก หรือฮารอม สองสามคำนี้ แค่นั้นเอง
“ชะบาน” คือ ชื่อของเดือนๆ หนึ่งจาก 12 เดือนของอาหรับ(ในรอบปี)และมันเป็นเดือนที่ถือได้ว่า มีเกียรติอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่ก็คงจะคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดีนั้นก็อาจเพราะว่า มีหลายฮาดีษเหลือเกินที่บ่งบอกถึงฐานันดรอันสูงส่งของมันเมื่อเดือนชะบานได้ย่างเข้ามาหลายต่อหลายคนคงได้ยินการพูดกันถึงเรื่องของคืน
“ นิสฟูชะบาน ” ใช่ไหม?
แล้วนิสฟูชะบานที่ว่านี้มันคืออะไรกันหรือ?
นิสฟู แปลว่า ครึ่งหนึ่งหรือกึ่งหนึ่ง นั้นก็หมายถึงใน 30 วันของเดือนชะบาน นี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ ครึ่งแรกและครึ่งหลัง และเราคงจะไม่นับว่า ถึงครึ่งหนึ่งของ 30 หากว่ามันไม่อยู่ใน ลำดับที่ 15
ฉะนั้น นิสฟูของเดือนชะบานนั้นจึงหมายถึงวันที่ 15 ของเดือนนั้นเองส่วนคืนนิสฟูชะบานนั้นก็ให้คิดกันตั้งแต่ค่ำลงของวันที่ 14 ชะบานนั้นเอง พี่น้องอาจถามว่า แล้วทำไมต้องมาวุ่นอยู่แค่นิสฟูชะบานเล่า? ทำไมไม่พูดถึงนิสฟูมุฮัรรอมบ้าง? หรือ ที่ควรต้องเอ่ยถึงควรจะเป็นนิสฟูรอมฎอน ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ทุกๆเดือนนั้นต่างก็มีความงดงามในตัวของมันอยู่แล้วแต่หากจะพูดถึงวันใดเดือนใดเป็นการพิเศษก็ควรจะแสวงหาบรรทัดฐานมาจากคำบอกเล่าขององค์ศาสดาน่าจะดีที่สุดใช่ไหมครับ?
สำหรับเดือนชะบานนี้ท่านศาสดาเองได้เอ่ยถึงความประเสริฐของมันครั้งแล้วครั้งเล่า
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ฮาดีษที่ได้บันทึกโดยอีหม่ามบุคอรีและอีหม่ามมุสลิมสีบสายรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ด.ฮ) นางกล่าวว่า
مَا رَأيْتُ رَسُوْلُ الله .صَ. : إسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍِ قَطُّ, إلاَّ شَهْرَ رَمَضَانَ , وَمَا رَأيْتُهُ فِىْ شَهْرٍ كْثَـَرَ مِنْهُ صِيَامًا فِي شَعْبَانَ
ความว่า: “ ฉันไม่เคยเห็นท่าน ศาสดา (ซอลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัม) ถือศีลอดในเดือนใดจนครบเดือนเลยนอกจากเดือนรอมฎอนและฉันก็ไม่เคยเห็นเดือนใดเลยที่ท่านได้ถือศีลอดเสียส่วนใหญ่มากกว่าเดือนชะบาน”(รายงาน โดย บุคอรีย์ ลำดับที่ 1868 และ มุสลิม ลำดับที่ 1156 )ท่าน อิบนุ ฮาญัร อัล อัซกอลานียฺ กล่าวว่า“ ฮาดีษดังกล่าวนั้น คือเครื่องยืนยันถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนชะบาน”
(ฟัตฮุลบารียฺ เล่ม 4 หน้า 253 )มีสายรายงาน มาจากท่าน อุซามะฮฺ บิน เซด (ร.ด) ท่านได้กล่าวว่า:
قُلْتُ : يَا رَسُوْلُ اللهِ لَمْ أرَاكَ تَصُومُ مِنْ شَهِْرمِنَ الشُّهُورِ مَا تَصُومُ مِنْ شَعْبَانِ؟قَالَ ذَالِكَ شَهْرُْ يَغْفَلُ النَّاسُ عَنْهُ , بَيْنَ رَجَبَ وَ رَمَضَانَ وَهُوَ شَهْـرٌ تُرْفَعُ بِهِالأعْمَال اِلَى رَبِّ العَالَمِيْنَ فَأحِبُّ اَنْ يُرْفَعُ عَمَلِى وَأنَا صَائِمٌ.
ความว่า:
“ ข้าพเจ้าได้ถาม(ท่านศาสดาว่า)โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺฉันไม่เคยพบว่าท่านนั้น จะทำการถือศีลอดในเดือนใดๆเลยเหมือนอย่างที่ท่านได้ถือศิลอดในเดือนชะบาน?ท่าน(ศาสดา)ได้กล่าวว่า“ เดือนนั้นคือเดือนที่ มนุษย์มักจะหลงลืมกัน.มันอยู่ระหว่างเดือนรอญับ กับเดือนรอมฏอนและมันเป็นเดือนที่บรรดาการงานต่างๆจะถูกยกไปยังอัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งโลกทั้งผองฉะนั้นฉันจึงชอบที่จะให้บรรดาอามาลการปฏิบัติของฉันถูกยกไปในขณะที่ฉันอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอด”(รายงาน โดยอาบูดาวุดและนาซาอียซึ่งท่าอิบนุคูซัยมะฮฺ ได้พิจารณาและตัดสินว่า มัน ซอเฮี้ยะ )
และได้มีสายรายงาน จาก อุมมูซาลามะฮฺ (ร.ด) นางได้กล่าวว่า :
ما رأيت النبي صلى الله عليه وسلم يصوم شهرين متتابعين إلا شعبان ورمضان
ความว่า : “ ฉันไม่เคยเห็น(เดือนใดเลยที่)ท่านศาสดาซอลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัมได้ทำการถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันนอกจากเดือนชะบาน(ติดต่อ)กับรอมฎอนเท่านั้น (รายงานโดย อีหม่าม ตัรมีซียฺ ลำดับที่ 733 ซึ่งท่านเองได้ตัดสินว่ามันฮาซัน ) พี่น้องครับยังมีฮาดีษอีกมากมายที่บ่งบอกถึงความประเสริฐของเดือนชะบานแต่คงเป็นการเพียงพอแล้วใช่ไหมครับ..หากเราจะพิจารณาถึงคุณค่าของมันจากสองสามฮาดีษที่ผ่านมา...และเกี่ยวกับนิสฟูชะบานนั้นได้ปรากฏรายงานมาจากองค์ศาสดาเช่นเดียวกันครับ...ซึ่งท่าน อิหม่ามตัรมิซียฺได้ทำการบันทึกไว้ใน “ อัน-นาวาดีร” ของท่านและขณะเดียวกันท่านอีหม่ามฏอบรอนียฺก็ได้ทำการบันทึกไว้เช่นกันด้วยสายรายงานที่ฮาซันสืบสายรายงานมาจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ(ร.ด.ฮ)ในขณะที่ท่านศาสดาได้ถามเธอว่า “โอ้อาอีชะฮฺ เธอรู้ไหมว่าคืนนี้เป็นคืนอะไร?” ซึ่ง นางก็ตอบว่า “ อัลลอฮ์และรอซูลเท่านั้นที่รู้ยิ่ง”
ท่านศาสดาเลยบอกเธอว่า :
هَذِهِ لَيْلَةُ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانِ يَغْفِرُ الله ُ المُسْتَغْفِرِيْنَ , وَ يَرْحَمُ المُسَْتَرْحِمِيْنَ وَ يُؤَخِّرُ أهْلَ الحِقدِ عَلَى حِقْدِهِمْ
ความว่า : “ ในค่ำคืนนี้คือคืนนิสฟูชะบานซึ่งอัลลอฮ์จะประทานอภัยโทษแก่บรรดาผู้ขออภัยในความผิดและพระองค์จะทรงเมตตาแด่บรรดาผู้วิงวอนขอความเมตตาจากพระองค์และจะทรงประวิงเวลา(แห่งการลงทัณฑ์)ต่อชนผู้อิจฉาริษยาเนื่องจากการริษยาของเขา”
นอกเหนือจากฮาดีษข้างต้นแล้วยังมีฮาดีษอีกหลายๆ บทที่บอกเราถึงความพิเศษของค่ำคืนนิสฟูชะบานเช่นฮาดีษที่บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺซึ่งสืบสายรายงานจากท่านคอลีฟะฮฺอาลี (ร.ด) ฮาดีษที่บันทึกโดยอิบนูมาญะฮฺ,ตัรมีซีย์และอีหม่ามอะฮ์หมัดสืบสายรายงานมาจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ (ร.ด.ฮ) ฮาดีษที่บันทึกโดยอิบนูมาญะฮฺและอีหม่ามอะฮฺหมัดซึ่งสืบสายรายงานมาจากอาบูมูซา อัลอัช-อารีย์ (ร.ด) เป็นต้น
ซึ่งฮาดีษเหล่านั้นต่างก็บ่งบอกให้เรารับทราบถึงความประเสริฐของคืนนิสฟูชะบานที่ว่านี้ และขณะเดียวกันก็ยังมีฮาดีษที่ท่านอัล-บานีย์ ซึ่งเป็นปราชญ์วาฮาบีย์เองได้ให้การยอมรับ (ในซิลซีละฮฺอัล-อาฮาดีษ-อัซซอฮีฮะฮ์ของท่านลำดับที่ 1144 )นั้นก็คือ
“ อัลลอฮฺตาอาลาจะทรงมอง(ดูแล)ต่อปวงบ่าวของพระองค์ในคืนนิสฟูชะบาน ดังนั้นพระองค์ก็ได้อภัยโทษแก่บรรดาบ่าวทั้งหลายของพระองค์นอกเสียจากผู้ตั้งภาคีและผู้ที่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน”
และยังมีฮาดีษอีกบทหนึ่งที่รายงานโดยท่าน อาลี (ร.ด) ว่าท่านศาสดาซอลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัม ได้กล่าวว่า
“คืนนิสฟูชะบานฉะนั้นท่านจงทำให้คืนนั้นมีชีวิตชีวาด้วยการละหมาดและถือศีลอดในช่วงกลางวันของมันเถิดเพราะแท้จริงอัลลอฮฺจะลง(พระบัญชา)มาในค่ำคืนนั้นยังฟากฟ้าแห่งโลกนี้พระองค์ได้ตรัสว่า:
“ ผู้ใดที่เขาวิงวอนการอภัยโทษข้าก็จะอภัยผู้ที่วิงวอนขอปัจจัยยังชีพข้าก็จะประทานให้ผู้ใดที่ได้รับการทดสอบและภยันตรายใดข้าก็จะให้เขารอดพ้นจนกระทั่งฟ้าสาง” (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺด้วยสายรายงานที่อ่อน)
หากเราลองมานึกกันดูดีๆ อีกทีก็คงจำกันได้ว่าบรรดาอุลามะอฺได้เห็นพ้องกันแล้วว่า ฮาดีษที่มีสายรายงานอ่อน(โดยที่ไม่ถึงขั้นอ่อนเอามากๆหรือไม่ก็เป็นฮาดืษเก๊ )อนุญาตให้นำมาใช้ในเรื่องราวแห่งการแสวงหาความประเสริฐได้และแม้ว่าฮาดีษบางต้นที่กล่าวมานั้นอาจจะถูกจัดอยู่ในสถานะที่อ่อนก็จริงแต่หากจะพิจารณาฮาดีษโดยรวมแล้วนั้นก็คงยากที่ปฏิเสธถึงคุณค่าและความประเสริฐของเดือนชะบานและคืนนิสฟูชะบานที่มีอยู่อย่างมากมายหากจะเทียบกับเดือนอื่นๆหรือค่ำคืนอื่นๆ
ท่านมูฮัมหมัดบินญารีรอัฎ-ฏอบรีย์ (ซึ่งมักคุ้นหูในชื่อว่า อิบนุญารีร ฮ.ศ. 224 – 310 ) ได้บอกความประเสริฐของค่ำคืนนิสฟูชะบาน เอาไว้ด้วยฮาดีษบทหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ใน ตัฟซีร ของท่าน ที่มีชื่อว่า “ ตัฟซีร อัฎ-ฏอบรียฺ”เล่มที่ 11 หน้าที่ 222 ดังนี้
حدثنا الفضل بن الصباح ، والحسن بن عرفة ، قالا : ثنا الحسن بن إسماعيل البجلي ، عن محمد بن سوقة ، عن عكرمة قال : في ليلة النصف من شعبان ، يبرم فيه أمر السنة ، وتنسخ الأحياء من الأموات ، ويكتب الحاج فلا يزاد فيهم أحد ، ولا ينقص منهم أحد
ความว่า: “ รายงานจากท่าน อักริมะฮฺ ได้กล่าวว่า“ ในคืนนิสฟูชะบานนั้นอัลลอฮฺจะทรงบัญญัติ (ต่อมวลมาลาอิกัต) ถึงการงานและสิ่งที่จะอุบัติขึ้นในรอบปีและจะทรงลบรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วออกและจะบันทึกผู้ที่จะเสียชีวิตต่อไปในปีนั้นและจะทรงบันทึกรายชื่อของผู้ที่จะประกอบพิธิฮัจญ์ โดยจะไม่เพิ่มหรือลดลงแม้แต่คนเดียว"
และฮาดีษบทดังกล่าวนั้นท่านอิบนุลมุนซิรและท่านอาบีฮาติมก็ได้ทำการรายงานเอาไว้เช่นกัน ยังมีฮาดีษอีกหลายบทที่ไม่ได้นำมาเสนอในที่นี้และฮาดีษต่างๆ เหล่านั้นต่างก็มีสถานะที่แตกต่างกันไปบ้างก็ซอเฮี้ยะบ้างก็ฮาซันและบ้างก็ดออิฟ แต่หากเรามองในภาพรวมแล้วก็ไม่อาจปฏิเสธถึงการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติอามาลในค่ำคืนดังกล่าวนั้นเองท่านเชคซอฟียุดรอฮฺมานได้กล่าวไว้ในตำรา “ตุฮฺฟะตุลอะฮฺวาซี”อรรถาธิบายฮาดีษของซุนันตัรมีซีย์ที่ 3 หน้าที่ 365 ว่า:
اعلم أنه قد ورد في فضيلة ليلة النصف من شعبان عدة أحاديث مجموعها يدل على أن لها أصلا فمنها ... فهذه الأحاديث بمجموعها حجة على من زعم أنه لم يثبت في فضيلة ليلة النصف من شعبان شيء والله تعالى أعلم
ความว่า: “พึงทราบเถิดแท้จริงแล้วนั้นมีหลายๆฮาดีษที่ได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องของความประเสริฐแห่งค่ำคืนนิสฟูชะบานซึ่งโดยรวม(ของฮาดีษ)แล้วนั้นมันบ่งชี้ว่าความประเสริฐต่างๆที่ว่านั้นมันมีต้นตอ(หลักฐาน)ที่มาที่ไปและส่วนหนึ่งจากฮาดีษเหล่านั้นก็คือ(ท่านเชคได้ยกฮาดีษมาขอรวบรัดเอาข้อสรุป)
ฉะนั้น ด้วยฮาดีษต่างๆ ที่กล่าวมานั้นโดยรวมแล้วก็นับว่าเป็นหลักฐานโต้แย้งเหนือผู้ที่คิดกันไป(เอง)ว่าไม่ปรากฎหลักฐานใดๆเกี่ยวกับความประเสริฐของคืนนิสฟูชะบานอยู่เลย”
เมื่อเรารับทราบแล้วว่า คืนนิสฟูชะบานนั้นมีความประเสริฐและอิสลามก็ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติคุณความดีขึ้นในค่ำคืนนั้นพี่น้องบางคนอาจจะสงสัยขึ้นว่าแล้วในคืนนั้นเราจะทำอะไรกันบ้างหละ?--ท่านอีหม่ามชาฟีอีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ อัลอุม” ของท่านเล่ม 2 หน้า 264 ว่า“ ได้มีรายงานมาถึงเราว่า
إن الدعاء يستجاب في خمس ليال في ليلةالجمعة , وليلة الأضحى , وليلة الفطر , وأول ليلة من رجب , وليلة النصف من شعبان
ความว่า: “ แท้จริงแล้วนั้นคำวิงวอนจะถูกตอบรับ(เป็นพิเศษ)ในห้าคืนด้วยกันในคืนวันศุกร์(วันพฤหัสค่ำลง)และคืนวันตรุษอัฎฮา,คืนวันตรุษฟิตรี,ค่ำคืนแรกของเดือนรอญับและคืนนิสฟูชะบาน"(รายงานโดยท่านอีหม่ามบัยฮากีย์ใน “ซุนันกุบรอ” ของท่าน)
ท่านอีหม่ามซายูฎีย์(ร.ฮ)ได้บันทึกฮาดีษบทหนึ่งไว้ใน“อัล-ญามิอฺ อัซ-ซอฆีร” ของท่านซึ่งมีรายงานมาจากอิบนุอาซากีรและอาบูอุมามะฮฺ
ความว่า: “มีอยู่ห้าค่ำคืนที่การวิงวอนต่างๆในคำคืนนั้นอัลลอฮฺจะมิปฎิเสธคืนแรกของเดือนระยับคืนนิสฟูชะบานคืนวันศุกร์และคืนวันตรุษทั้งสอง(อิดิลฟิตรี,อิดิลอัฎ-ฮา)"
จากคำกล่าวของอีหม่ามชาฟีอียฺและฮาดีษที่บันทึกโดยอีหม่ามซายูฏีย์ ใน “ ญามีอิซ-ซอฆีร” ของท่านก็น่าจะทำให้เราได้รู้ว่าสิ่งหนึ่งที่มัสฮับของเราส่งเสริมให้กระทำในคืนนิสฟูชะบานนั้นก็ คือการวิงวอนขอดุอาต่ออัลลอฮฺตาอาลาสุดเท่าที่เราสามารถจะปฏิบัติได้
พี่น้องบางท่านอาจถามขึ้นอีกว่า แล้วจะขอดุอาอะไร? นบีสอนไว้หรือเปล่า ? คำตอบก็คือท่านศาสดาไม่ได้สอนดุอาอ์เฉพาะสำหรับคืนนั้นไว้ ทั้งนี้จุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อไม่ต้องการให้อุมมัตของท่านพะวงอยู่กับดุอาอ์ใดดุอาอ์หนึ่งจนเกินไปแต่ให้วิงวอนด้วยดุอาที่หลากหลายและแตกต่างกันไป พี่น้องอาจจะถามขึ้นอีกว่าแล้วการทำอิบาดัต มันมีรูปแบบที่ตายตัวหรือ?
ก่อนอืนต้องขอบอกพไว้ก่อนว่ารูปแบบและวิธีการทำอิบาดัตในค่ำคืนนี้นั้นท่านศาสดาไม่ได้กำหนดรูปแบบที่ตายตัวเอาไว้ แต่การกำหนดรูปแบบและการปฎิบัติอามาลกันอย่างแข็งขันนั้นได้ปรากฎขึ้นในสมัยของเหล่าตาบีอีนแห่งแผ่นดินชามซึ่งในการนี้ท่าน อัล-ฮาฟิซ อับดุร-รอฮฺมานบินอะฮฺหมัดอัล-ฮัมบาลีย์ซึ่งคนทั่วไปรู้จักท่านดีในชื่อว่า “ อิบนุรอญับ”( ฮ.ศ.736-795)ท่ านได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านขื่อว่า“ ลาฏออิฟุลมาอาริฟ” หน้า 263 ว่า
وليلة النصف من شعبان كان التابعون من أهل الشام كخالد بن معدان ومكحول و لقمان بن عامر وغيرهم يعظمونها و يجتهدون فيها في العبادة وعنهم"أخذالناس"فضلها"و"تعظيمها
ความว่า: “ และคืนนิสฟูชะบานนั้นบรรดาตาบีอีน (หมายถึงผู้พบเจอหรือร่ำเรียนกับซอฮาบัต) จากชาวแผ่นดินชามเช่นท่านคอลิด บิน มะดาน(เสียชีวิต ฮ.ศ.104)และท่าน มักฮูล(อัชชามียฺ ) ท่านลุกมานบินอามิร(อัลเอาซอบียฺ)และท่านอื่นๆอีกมากมายเขาเหล่านี้ได้ให้เกียรติแก่ค่ำคืนนี้มากเลยทีเดียวขยันขันแข็งและขมักขะเม้นในการทำอิบาดัตในค่ำคืนนั้นและมนุษย์(ส่วนใหญ่)ก็ได้รับรายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของค่ำคืนนี้มาจากพวกเขา
ท่านอิบนุรอญับได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันหน้าเดียวกันอีกว่า ปวงปราชญ์แห่งแผ่นดินชามได้มีความเห็นต่างกันในรูปแบบการทำอิบาดัตในค่ำคืนนั้นอยู่ 2 ทรรศนะด้วยกัน
ทรรศนะที่ 1 เห็นว่าควรกระทำการอิบาดัตกันเป็นหมู่เหล่าในมัสยิด
ซึ่งท่านคอลิดบินมะดานและท่านลุกมานบินอามิรรวมทั้งคนอื่นๆ ต่างก็ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์อันงดงามมีการจุดเครื่องหอมรมควันกันมีการทาตา(ด้วยยาทาตา)กันและคืนนั้นก็ทำการละหมาดกันในมัสยิดและสิ่งดังกล่าวนี้ท่านอิสหากบิน รอฮาวียะฮฺ( ฮ.ศ. 161- 238)ก็ได้เห็นคล้องต้องกันด้วยและท่าน(อิสหาก)เองก็ได้กล่าวเกี่ยวกับการละหมาดภายในมัสยิดเป็นญามาอะฮฺกันในค่ำคืนนั้นว่า: มันไม่ถือเป็นบิดอะฮฺหรอก
ซึ่งคำกล่าวนี้ท่านฮัรบุบินอิสมาอิลอัลกัรมานียฺ(เสียชีวิต ฮ.ศ. 280)ได้รายงานมาจากท่าน(อิสฮาก)เองโดยได้บันทึกไว้ในหนังสือ “มาซาอิล” ของท่าน
ส่วนทรรศนะที่ 2 เห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะรวมตัวกันในค่ำคืนนั้นภายในมัสยิดไม่ว่าจะเพื่อการละหมาดก็ดีหรือบอกเล่าชีวประวัติต่างๆ ก็ดี หรือเพื่อการขอดุอาก็ดีและถือว่าไม่น่ารังเกียจ(ไม่มักรูฮฺ) หากว่า คนๆหนึ่งนั้นได้กระทำการละหมาดในมัสยิดเพียงเฉพาะตัวเขาคนเดียว
และ ทรรศนะที่ 2 คือทรรศนะของท่านอัล-เอาซาอียฺ( ฮ.ศ.88-157) ผู้นำแห่งชาวเมืองชามและเป็นผู้รู้แห่งเมืองนั้นและทรรศนะนี้(น่าจะเป็น)ทรรศนะที่ถูกต้องที่สุดสำหรับฉัน (ผู้เขียนหนังสือ “ ลาฏออิฟุลมาอาริฟ”)(โปรดดู หนังสือ “ ลาฏออิฟุลมาอาริฟ”ของท่าน อิบนุรอญับ หน้า 263 ประกอบนะครับ )
การทำอิบาดัตในค่ำคืนนี้ นั้นถือเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ ส่วนเรื่องรูปแบบวิธีการนั้นท่านศาสดาไม่ได้กำหนดตายตัวไว้ ดังนั้นชาวซาลัฟแห่งแผ่นดินชามจึงมีทรรศนะที่แตกต่างกันออกเป็นสองทรรศนะด้วยกัน
-ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ได้กล่าวไว้ใน“ อัลฟาตาวา อัล-กุบรอ”เล่ม 2 หน้า 262 และคำกล่าวเดียวกันยังมีบันทึกอยู่ใน “ มัจญมุอฺฟาตาวา “ ของท่านเช่นกันเล่มที่ 23 หน้า 131 ไว้ว่า
مسألة : في صلاة نصف شعبان ؟ . الجواب : إذا صلى الإنسان ليلة النصف وحده ، أو في جماعة خاصة كما كان يفعل طوائف من السلف ، فهو أحسن
ความว่า : “คำถามเกี่ยวกับการละหมาดในคืนนิสฟูชะบาน? คำตอบ..เมื่อบุคคลหนึ่งได้ทำการละหมาดในค่ำคืนนิสฟูชะบานเพียงคนเดียวหรือได้ละหมาดเป็นญามาอะฮฺเฉพาะกลุ่มดังที่ชาวซาลัฟหลายๆกลุ่มได้ปฏิบัติกันก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่ง ”
อ้าว...อิบนุตัยมียะฮฺเองยังเอ่ยถึงการทำอามาลในคืนนี้ในรูปแบบเฉพาะเช่นนี้แต่ทำไมผู้ที่เคารพเทิดทูนท่านถึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป
ทำไมต้องอ่านซูเราะฮฺยาซีนด้วย? อ่านซูเราะฮฺอื่นไม่ได้เหรอ?
คำตอบก็คือ เมื่อเรารับทราบกันแล้วว่ารูปแบบการทำอามาลในคืนนิสฟูชะบานนั้นสามารถกระทำได้หลากหลายสุดแล้ว แต่ความสามารถของแต่ละคนที่พึงปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัลกุรอานหรือซิกรุลลอฮฺหรืออื่นๆ
ฉะนั้นการอ่านอัลกุรอานนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะการอ่านซูเราะฮฺยาซีน เราสามารถอ่านซูเราะฮฺอื่นๆ เพื่อแสวงหาความพอพระทัยจากองค์อัลลอฮฺได้อย่างไม่จำกัดแต่เนื่องจากมนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลาในการอ่านอัลกุรอ่านมากนักและเมื่อมีโอกาสรวมตัวกันเพื่ออ่านอัลกุรอ่านกันนานๆที อุลามะอฺบางท่านจึงได้กำหนดให้อ่านซูเราะฮฺยาซีนกัน
ท่าน เชค อัลมุฮัดดิษ มูฮัมหมัด บิน ดูรวัยชฺ อัลฮูต อัลบัยรูตีอัชชาฟีอีย์ (ฮ.ศ.1209-1276) ได้กล่าวไว้ใน หนังสือ “ อัซนัล-มาฏอลิบฯ” ของท่านหน้า 234 ว่า:
َأَمَّا قِرَاءَةُ سُوْرَةِ يس لَيْلَتَهَا بَعْدَ الْمَغْرِبِ وَالدُعَاءِ الْمَشْهُوْرِ فَمِنْ تَرْتِيْبِ بَعْضِ أهْلِ الصَّلاَحِ مِنْ عِنْدِ نَفْسِهِ قِيْلَ هُوَ الْبُوْنِى وَلَا بَأْسَ بِمِثْلِ ذَلِكَ
ความว่า : “ อนึ่งการอ่านซูเราะฮฺยาซีนในคืนนิสฟูชะบานภายหลังจากละหมาดมัฆริบกันเสร็จแล้ว และก็อ่านดุอาอันเป็นที่แพร่หลายกัน(หลังจาก การอ่าน ยาซีน)นั้นถือได้ว่าเป็นรูปแบบที่กำหนดโดยอุลามาอฺบางท่าน (ซึ่งชื่อของอุลามะอ์ท่านนั้นยังเป็นที่เห็นต่างกันอยู่) บางทรรศนะก็บอกว่าเป็น (การกำหนดของ)ท่าน (เชค อะฮฺหมัด บิน อาลี) อัลบูนีย์ (อัลมาลีกี มีชีวิตใน ฮ.ศ.520-622) และการปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่ประการใด”
ท่านเชค อะฮฺหมัด บิน อุมัร อัด-ดีรฺบีย์ อัช-ชาฟีอีย์(เสียชีวิตฮ.ศ.1151) ได้กล่าวไว้ใน หนังสือ ของท่านที่มีชื่อว่า“ ฟุตฮุลมาลิกิล มาญีด” หน้า 19 ว่า:
(وَمِنْ خَوَاصِ سُوْرَةِ يس) كَمَا قَالَ بَعْضُهُمْ أنْ تَقْرَأَهَا لَيْلَةَ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ ثَلاَثَ مَرَّاتٍ الأُوْلَى بِنِيَّةِ طُوْلِ اْلعُمْرِ وَالثَّانِيَةُ بِنيَّةِ دَفْعِ الْبَلاَءِ وَالثَّالِثَةُ بِنِيَّةِ اْلإسْتِغْنَاءِ عَنِ النَّاسِ
ความว่า: “และหนึ่งในความพิเศษของซูเราะฮฺยาซีนนั้นดังที่อุลามะอฺบางท่านได้กล่าวไว้ นั้นก็คือ การที่ท่านได้อ่านมัน 3 จบในคืนนิสฟูชะบานซึ่งครั้งแรกนั้นให้ตั้งเจตจำนงค์ (ขอต่ออัลลอฮ์)ให้ประทานอายุที่ยืนยาว.ครั้งที่สองนั้นตั้งเจตนาขอให้รอดพ้นจากภัยร้ายต่างๆและครั้งที่สามตั้งเจตนาขอจากอัลลอฮฺให้เราหลุดพ้นจากมนุษย์(คืออยู่อย่างไม่แร้นแค้น)”
ท่าน เชค อับดุร-รอมาน บิน มูฮัมหมัด บาอาลาวีย์(ฮ.ศ.1250-1320)ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า“ ตัลคิส ฟาตาวา อิบนิ ซิยาด” หน้า 301 ว่า:
(مَسْئَلَةٌ) حَدِيْثُ يس لِمَا قُرِئَتْ لَهُ لاَ أَصْلَ لَهُ وَلَمْ أَرَ مَنْ عَبَّرَ بِأَنَّهُ مَوْضُوْعٌ فَيَحْتَمِلُأنَهُ لاَ أصْلَ لَهُ فِى الصِّحَّةِ وَالَّذِىْ أعْتَقِدُهُ جَوَازُ رِوَايَتِهِ بِصِيْغَةِ التَّمْرِيْضِ نَحْوُ بَلَغَنَا كَمَايَفْعَلُهُ أصْحَابُ الشَّيْخِ اِسْمَعيِلَ اْلَجْبَرِتى اهـ
ความว่า: “ ฮาดีษบทหนึ่งที่บอกว่า“ ซูเราะฮฺ ยาซีนนั้น สามารถที่จะอ่านเพื่อให้บังเกิดวัตถุประสงค์ตามที่เจตนาไว้” ถือเป็นฮาดีษที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุแต่ว่าฉันก็ไม่เคยพบว่าอุลามะอฺท่านใดที่กำหนดว่ามันคือ ฮาดีษ เก๊ (หมายความว่า ไม่ถึงขั้น เมาดุอฺ) ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่ว่าฮาดีษบทนี้นั้นหมายถึงไม่มีต้นตอแห่งความซอเฮี้ยะ (ซึ่งก็หมายถึงดออิฟนั้นเอง)และข้าพเจ้าก็มั่นใจเหลือเกินว่าการรายงานฮาดีษบทนี้ด้วยถ้อยคำที่ไม่ฟันธงลงไป(ซี่งเขาเรียกว่าซีเฆาะตัมรีด)นั้นถือเป็นที่อนุญาตเช่นกล่าวว่า:
“ได้มีรายงานมายังฉัน” เป็นต้น ดังที่ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน เชค อิสมาอิล อัลญาบารีตียฺ ได้ทำกัน”(หมายเหตุเชคอิสมาอิล อัลญาบารีตียฺ น่าจะหมายถึง เชค อิสมาอิล บิน อิบรอฮีม บิน อับดุซซอมัด อัลญาบารีตีย์เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของท่านเชคอับดุลการีม อัล-ญีลียฺ เสียชีวิต ฮ.ศ.806 ผู้เขียน)ท่าน อิบนุกาษีร ได้กล่าวไว้ใน“ ตัฟซีร อัลกุรอ่าน อัลอาซีม” เล่มที่ 3 หน้า 742 ซึ่งท่านเองได้อ้างอิงคำกล่าวนี้มาจาก ผู้รู้ท่านหนึ่งว่า:
أنَّ مِن خصائص هذه السورة أنها لا تُقرَأ عند أمر عسير إلا يسره الله تعالى
ความว่า: “ ส่วนหนึ่งจากคุณประโยชน์พิเศษของซูเราะฮฺ (ยาซีน) นี้ก็คือ การงานใดที่ยากลำบากแสนเข็ญที่ได้มีการอ่านซูเราะฮฺยาซีนนั้น อัลลอฮฺก็จะประทานความง่ายดายแก่มัน”
สรุปสั้นๆก็คือ คืนนิสฟูชะบาน นั้นศาสนาส่งเสริมให้เราปฏิบัติอามาลให้มากๆ และส่วนหนึ่งจากอามาลที่ควรปฏิบัตินั้นคือการอ่านอัลกุรอานและด้วยเหตุนี้อุลามะอฺบางท่านได้กำหนดให้อ่านซูเราะฮฺยาซีนกันซึ่งก็ถือว่า เป็นที่อนุมัตเพราะมันยังคงวางอยู่บนรากฐานแห่งการอ่านอัลกุรอ่านและที่เจาะจงด้วยซูเราะฮฺยาซีนนั้นก็เพราะว่า มันมีคุณประโยชน์พิเศษบางประการที่มีความเหมาะสมกับบริบทแห่งค่ำคืนนี้นั่นเอง
มีหลายคนถามว่า แล้วดุอาอ์นิสฟูชะบานที่เขาอ่านกันทั่วไปนั้นเป็นดุอาที่ท่านศาสดาสอนเอาไว้หรือ? หรือว่าใครกำหนดให้อ่าน...? คำตอบ ก็คือ ไม่ปรากฏสายรายงานใดๆเกี่ยวกับดุอาคำวิงวอนเฉพาะสำหรับคืนนิสฟูชะบาน อันหมายถึงเราสามารถอ่านดุอาต้นใดๆในค่ำคืนดังกล่าวก็ได้ แต่อุลามะอฺรุ่นก่อนบางท่านได้กำหนด ดุอาขึ้นมาให้สอดคล้องกับบริบทของคืนอันมงคลนี้ทั้งนี้ได้พิจารณาจากทรรศนะของปวงปราชญ์เกี่ยวกับพระดำรัสของอัลลอฮในอัลกุรอ่านซูเราะฮฺอัด-ดุคอน โองการที่ 3-4 ที่ว่า
إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُبَارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنْذِرِينَ فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ
ความว่า“ แท้จริงนั้นเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในค่ำคืนหนึ่งอันเป็นมงคลแท้จริงเรานั้นเป็นผู้สำทับให้เกรงกลัว ในคืนนั้นการงานต่างๆอันเปี่ยมด้วยวิทยปัญญาได้ถูกจำแนกแจกแจงไว้แล้ว"
พระดำรัสที่ว่า “ในคืนนั้นการงานต่างๆ” บรรดาอุลามะอฺได้มีทรรศนะที่แตกต่างกันบ้างก็บอกว่าคืนนั้นคือคืนลัยลาตุลกอดร
ที่มา: Miftah Students in Jordan