กรณีที่ดิฉันอาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว เกิดสัมผัสสามี แบบนี้น้ำละหมาดของดิฉันจะเสียหรือไม่ค่ะ?
มีน้ำละหมาดเกิดสัมผัสสามี เสียน้ำละหมาดหรือไม่?
กรณีที่ดิฉันอาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว เกิดสัมผัสสามี แบบนี้น้ำละหมาดของดิฉันจะเสียหรือไม่ค่ะ?
ตอบโดย: อ. มุรีด ทิมะเสน
เรื่องการกระทบเพศตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม กรณีนี้มีการขัดแย้งกันในระหว่างนักวิชาการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ทัศนะดังนี้
1. เสียน้ำนมาซในทุกๆ กรณี
2. เสียน้ำนมาซต่อเมื่อมีอารมณ์ แต่ถ้าไม่มีอารมณ์ทางเพศไม่เสีย
3. ไม่เสียน้ำนมาซในทุกๆ กรณี (ยกเว้นมีน้ำใดๆ ออกมาจากอวัยวะเพศ)
ส่วนทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ ทัศนะที่ ระบุว่าการกระทบเพศตรงข้ามไม่ทำให้เสียน้ำนมาซแต่ประการใด ไม่ว่าจับมือภรรยา, จูบภรรยา หรือกอดนาง โดยไม่มีการหลั่งน้ำใดๆ จากอวัยวะเพศ เช่นนี้ไม่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียน้ำนมาซแต่อย่างใด เพราะไม่มีหลักฐานใดจากอัลกุรฺอ่านและหะดีษมายืนยันระบุว่าการสัมผัสเพศตรงข้ามทำให้เสียน้ำนมาซ ( ดูหนังสือ “ฟะตาวา อุละมาอิลบะละดิลหะรอม” หน้า 640)
อีกทั้งมีหะดีษของท่านรสูลุลลอฮฺมาระบุชัดเจนว่า การกระทบภรรยา (หรือเพศตรงข้าม) ไม่ทำให้เสียน้ำนมาซแต่อย่างใด ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า :
أَنَّ النَّبِىَّ -صلى الله عليه وسلم- قَبَّلَ امْرَأَةً مِنْ نِسَائِهِ ثُمَّ خَرَجَ إِلَى الصَّلاَةِ وَلَمْ يَتَوَضَّأْ
“แท้จริงท่านนบีมุหัมมัดจูบภรรยาคนหนึ่งของท่านนบี จากนั้นท่านนบีก็ออกไปนมาซ โดยที่ท่านนบีมิได้อาบน้ำนมาซใหม่ (แต่อย่างใด)” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 179)
ส่วนอายะฮฺอัลกุรฺอ่านที่ระบุว่า
أَوْ لَامَسْتُمُ النِّسَاءَ
“หรือสูเจ้าสัมผัสสตรี” (ซูเราะฮฺอันนิสาอ์ อายะฮฺที่ 43)
ความนัยของอายะฮฺที่ว่า “สัมผัส” ในที่นี้คือ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา (ไม่ใช่การจับหรือสัมผัสเฉยๆ) ซึ่งเป็นการอธิบายของนักวิชการส่วนใหญ่ (ดูหนังสือ “ฟะตาวา อุละมาอิลบะละดิลหะรอม” หน้า 639)
สรุปของคำถามนี้คือ ภรรยามีน้ำนมาซสัมผัสสามี (หรือสามีสัมผัสภรรยา) ไม่ทำให้เสียน้ำนมาซแต่อย่างใด ซึ่งเป็นทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่, ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยกับทัศนะนี้อย่างยิ่ง (ส่วนผู้อ่านท่านใดยึดไม่ตรงกับผู้เขียนก็เป็นสิทธิของแต่ละท่าน)
อนึ่ง ส่วนการสัมผัสเพศตรงข้ามกับบุคคลที่แต่งงานกับเราได้โดยไม่เจตนา เช่นนี้ไม่ทำให้เสียน้ำนมาซ และไม่มีบาปด้วย ส่วนกรณีที่สัมผัสเพศตรงข้ามที่แต่งงานกับเราได้โดยเจตนา (ย้ำว่าโดยเจตนา) เช่นนี้ถือว่า ไม่ทำให้เสียน้ำนมาซ ทว่าหะรอม (มีบาป) นั่นเอง (วัลลอฮุอะอฺลัม)
(มุรีด ทิมะเสน,4-10-60,ร้านแปดบรรทัด)