การละหมาดของผู้ป่วย มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร?


93,970 ผู้ชม

ก่อนการละหมาดวาญิบสำหรับผู้ป่วยอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำ แต่หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ให้เขาทำการตะยัมมุม(การใช้ดินฝุ่นแทนน้ำ) และหากไม่สามารถตะยัมมุมได้ การทำความสะอาดของผู้ป่วยก็เป็นอันตกไป เขาสามารถละหมาดตามสภาพที่เขาเป็นอยู่ได้เลย


การละหมาดของผู้ป่วย มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร?

การละหมาดในผู้ป่วย

การละหมาด

1. กำหนดให้ผู้ป่วยทำการละหมาดในท่ายืนถึงแม้จะอยู่ในสภาพโค้งเอียงหรือพิงอยู่กับผนัง , เสาหรือใช้ไม้เท้าผยุงก็ตาม

2. ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถยืนละหมาดได้ก็ให้เขาทำการนั่งละหมาด ซึ่งท่าที่ดีที่สุดคือ ท่านั่งขัดสมาธิ สำหรับในกรณีที่ใช้แทนกริยาที่เป็นท่ายืนและในช่วงการก้มคำนับ(รุกั้วะ) และใช้ท่านั่งบนน่อง(อิ้ฟติร้อช)สำหรับช่วงที่ต้องทำการก้มสุญูด

3. ถ้าหากผู้ป่วยหมดความสามารถที่จะทำการละหมาดในท่านั่งได้ ก็ให้เปลี่ยนมาทำละหมาดในท่านอนตะแคงโดยให้ผินหน้าไปทางทิศกิบละฮฺ ซึ่งการตะแคงขวานั้นดีกว่าตะแคงซ้าย แต่ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถนอนตะแคงหันไปทางทิศกิบละฮฺได้ ก็ให้เขาทำการละหมาดไปตามสภาพโดยหันไปตามทิศทางที่สะดวกจะกระทำได้และไม่ต้องกลับมาทำการละหมาดชดใช้ใหม่แต่ประการใด

4. ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถทำการละหมาดในท่านอนตะแคงได้ ก็ให้ทำการละหมาดในท่านอนหงายแทน โดยให้หันเท้าทั้งสองไปทางทิศกิ้บละฮฺและสมควรที่เขาจะยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยเพื่อเป็นการผินหน้าสู่ทิศกิ้บละฮฺด้วย แต่หากเขาไม่สามารถนอนละหมาดโดยหันเท้าไปทางทิศกิบละฮฺได้ ก็ให้ทำการละหมาดไปตามสภาพโดยหันไปตามทิศทางที่สะดวกจะกระทำได้ และไม่ต้องกลับมาทำละหมาดชดใช้ใหม่แต่ประการใด

5. กำหนดให้บุคคลที่มีอาการป่วยทำการก้มรุกั้วะและก้มสุญูด แต่หากเขาไม่สามารถก้มได้ก็ให้ทำการผงกศีรษะลงแทน โดยให้การผงกศีรษะลงที่เป็นสัญลักษณ์แทนการสุญูดนั้นอยู่ในระดับที่ลดลงต่ำกว่าการผงกที่เป็นสัญลักษณ์แทนการรุกั้วะ แต่ถ้าอยู่ในกรณีที่เขาสามารก้มในท่ารุกั้วะได้อย่างเดียว ก็ให้ทำการก้มรุกั้วะตามท่าทางปกติและใช้การผงกศีรษะลงแทนการสุญูด เช่นเดียวกันถ้าหากเขาสามารถก้มลงสุญูดได้แต่ไม่สามารถก้มรุกั้วะได้ ก็ให้ทำการก้มสุญูดตามท่าปกติและใช้การก้มผงกศีรษะแทนการก้มรุกั้วะ

6. ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถผงกศีรษะลงแทนการก้มรุกั้วะและสุญูดได้ ก็ให้ใช้การหรี่ตาเป็นสัญลักษณ์แทน โดยให้การหรี่ตาเพื่อแทนการสุญูดนั้นมิดกว่าการหรี่เพื่อเป็นการแทนการรุกั้วะ ส่วนการใช้นิ้วมือเป็นสัญลักษณ์แทน ดังที่มีผู้ป่วยบางท่านทำนั้น ไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง และกระผมเองก็ไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีที่มา มาจาก อัลกุรอ่าน จากอัซซุนนะฮฺหรือจากคำพูดของบรรดานักวิชาการ แต่ประการใด

7. ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถใช้การผงกหัวลงหรือแม้แต่การหรี่ตาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนในการละหมาดของเขาได้  ก็ให้ทำการละหมาดด้วยหัวใจโดยให้นึกคิดในใจเอาว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในท่า รุกั้วะ สุญูด ยืนหรือนั่ง และบุคคลทุกคนก็จะได้รับผลลัพท์ตามที่เขาได้เจตนาไว้

8. กำหนดให้ผู้ป่วยกระทำการละหมาดให้ตรงตามเวลาของมัน ให้ได้เต็มตามความสามารถ ซึ่งให้กระทำโดยเป็นไปตามลักษณะที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น และไม่อนุญาตให้กระทำละหมาดล่าช้ากว่าเวลาที่ถูกกำหนดไว้

9. ในกรณีที่การทำการละหมาดในแต่ละเวลาอย่างตรงตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากขึ้นแก่ผู้ป่วย ก็อนุมัติให้เขาทำการรวมเวลาละหมาด ดุฮฺริเข้ากับอัสริ และมักริบเข้ากับอิชาอฺได้ โดยจะทำให้เป็นการรวมในเวลาต้นหรือเวลาหลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของตัวผู้ป่วยเอง

การละหมาดของผู้ป่วย มีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างไร?

กล่าวคือ จะเลือกรวมละหมาดอัสริเข้ามาในเวลาของละหมาดดุฮฺริ หรือชลอละหมาดดุฮริเข้าไปไว้ในเวลาของละหมาดอัสริก็เป็นเรื่องที่ทำได้ หรือจะเร่งละหมาดอิชาอฺมาไว้ในเวลาละหมาดมักริบ หรือชลอละหมาดมักริบให้เข้าไปในเวลาของละหมาดอิชาอฺก็สุดแล้วแต่ความสะดวกของตัวผู้ป่วยเอง ส่วนละหมาดซุบฮินั้นไม่อนุญาตให้กระทำรวมกับละหมาดเวลาอื่นไม่ว่าจะเป็นเวลาละหมาดที่อยู่ก่อนเวลาซุบฮิหรือเวลาละหมาดที่อยู่หลังเวลาซุบฮิก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากการละหมาดซุบฮินั้น ถูกกำหนดให้มีขึ้นในเวลาของตัวมันเองอย่างเป็นเอกเทศ โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการละหมาดของเวลาที่มาก่อนหรือมาหลังละหมาดซุบฮฺแต่ประการใด

อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

"และเจ้าจงดำรงการละหมาดตั้งแต่ยามตะวันคล้อยจนเวลาพลบค่ำ และจงดำรงการอ่านแห่งยามรุ่งอรุณเอาไว้ แท้จริงการอ่านแห่งยามรุ่งอรุณนั้นคือสิ่งที่ได้รับการยืนยัน"

ลักษณะการละหมาดของผู้ป่วย 

หนึ่ง สำหรับผู้ป่วยนั้นเขาจำเป็นต้องละหมาดฟัรฎูในท่ายืนในส่วนที่ต้องยืน แต่หากเขาไม่สามารถยืนได้ ก็อนุโลมให้เขาละหมาดในท่านั่งขัดสมาธิหรือในท่าตะชะฮฺฮุด(นั่งพับเพียบ)โดยโค้งหลังของเขาในขณะรุกูอฺและสุญูดตามสภาพ  หากเขาไม่สามารถทำลักษณะดังกล่าวได้ก็ให้เขารุกูอฺและสุญูดด้วยการทำสัญญาณด้วยศรีษะของเขา หากเขาไม่สามารถละหมาดในท่านั่งดังกล่าวได้ ก็ให้ละหมาดในท่านอนตะแคงขวา หันใบหน้าไปทางกิบละฮฺ และหากลำบากที่จะทำเช่นนั้น ก็ให้นอนตะแคงซ้าย

หากไม่สามารถอีกก็ให้ละหมาดในท่านอนหงายโดยให้ยื่นสองขามาทางกิบละฮฺหากสะดวกที่จะทำเช่นนั้น หากไม่สะดวกก็ให้ละหมาดตามสภาพที่เขาทำได้โดยให้สัญญานด้วยศรีษะของเขาไปยังหน้าอกของเขาหากจะรุกูอฺและสุญูด ซึ่งการสุญูดนั้นให้ทำสัญญาณหรือก้มต่ำกว่ารุกูอฺ ดังนั้นจึงถือว่าผู้ป่วยนั้นยังคงต้องละหมาดอยู่ตราบใดที่เขายังมีสติ เพียงแต่อนุโลมให้เขาละหมาดตามสภาพที่เขาจะทำได้ตามที่มีรายงานมาจากตัวบทหลักฐาน

สอง ผู้ป่วยนั้นเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งในการละหมาดแต่ละครั้งเขาจำเป็นต้องหันหน้าไปสู่กิบละฮฺ แต่หากเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เขาก็สามารถที่ละหมาดตามสภาพที่เขาทำได้โดยหันหน้าไปทางไหนก็แล้วแต่เขาสะดวก การละหมาดของผู้ป่วยจะใช้ไม่ได้หากละหมาดด้วยการให้สัญญานด้วยเปลือกตาหรือนิ้วมือของเขา แต่การละหมาดของเขาจะใช้ได้ด้วยลักษณะที่มีรายงานมาในตัวบทหลักฐาน

1- อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ความว่า “ดังนั้นจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิดเท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ และจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามและบริจาคเถิด เพราะเป็นการดียิ่งสำหรับพวกเจ้าและผู้ใดถูกปกป้องให้พ้นจากความตระหนี่แห่งจิตใจของเขา ชนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ” (อัต-ตะฆอบุน : 16)

2- มีรายงานจากท่านอิมรอน อิบนุ อัล-หุศ็อยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าฉันเป็นโรคริดสีดวงทวาร ฉันถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าฉันจะละหมาดอย่างไร? ท่านก็ตอบฉันว่า

ความว่า “ท่านจงละหมาดในท่ายืน หากไม่สามารถในท่ายืน ท่านจงละหมาดในท่านั่ง หากไม่สามารถในท่านั่ง ท่านจงละหมาดในท่านอนตะแคง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1117)

3- มีอีกรายงานจากท่านอิมรอน อิบนุ อัล-หุศ็อยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ซึ่งเขาเป็นโรคริดสีดวงทวารอยู่ เขากล่าวว่า ฉันถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับการที่คนคนหนึ่งจะละหมาดในท่านั่งท่าน ก็ตอบฉันว่า

ความว่า “หากเขาจะละหมาดในท่ายืนนั้นดีกว่า หากผู้ใดละหมาดในท่านั่ง เขาจะได้ผลบุญลดลงมาครึ่งหนึ่งจากผลบุญของผู้ที่ละหมาดในท่ายืน และหากผู้ใดละหมาดในท่านอน เขาจะได้ผลบุญลดลงมาครึ่งหนึ่งจากผลบุญของผู้ที่ละหมาดในท่านั่ง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1115)

การทำความสะอาดของผู้ป่วย 

ก่อนการละหมาดวาญิบสำหรับผู้ป่วยอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำ แต่หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ให้เขาทำการตะยัมมุม(การใช้ดินฝุ่นแทนน้ำ) และหากไม่สามารถตะยัมมุมได้ การทำความสะอาดของผู้ป่วยก็เป็นอันตกไป เขาสามารถละหมาดตามสภาพที่เขาเป็นอยู่ได้เลย

หุก่มต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละหมาดของผู้ป่วย 

1. เมื่อผู้ป่วยได้ละหมาดในท่านั่งแล้วหลังจากนั้นเขาสามารถที่จะยืนได้ หรือละหมาดในท่านอนอยู่แล้วเขาก็สามารถที่จะนั่งได้ในขณะละหมาด ก็ให้เขาเปลี่ยนไปปฏิบัติในสิ่งที่เขาสามารถทำได้เหมือนเดิม เพราะนั่นคือสิ่งที่วาญิบสำหรับเขาแต่เดิมแล้ว

2. อนุญาตให้ผู้ป่วยละหมาดในท่านอนได้หากเป็นไปเพื่อการรักษาตามคำยืนยันของแพทย์ที่เชื่อถือได้ ถึงแม้ว่าเขาสามารถจะละหมาดในท่ายืนได้ก็ตาม

3. หากผู้ป่วยสามารถที่จะละหมาดยืนและนั่งได้แต่ไม่สามารถรุกูอฺและสุญูดได้ ให้เขาละหมาดในท่ายืนในอิริยาบทที่ต้องยืน และให้รุกูอฺด้วยการให้สัญญานก้มหัวในขณะที่เขายืนอยู่ และให้นั่งละหมาดในอิริยาบทที่ต้องนั่งและสุญูดด้วยการให้สัญญานก้มหัวในขณะที่เขานั่งอยู่

4. ผู้ใดที่ไม่สามารถลงสุญูดกับพื้นได้ ให้เขารุกูอฺและสุญูดในท่านั่ง โดยท่าก้มสุญูดให้ต่ำกว่าท่าก้มรุกูอฺ และวางมือทั้งสองบนหัวเข่าทั้งสอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรองหรือยกพื้นให้สูงจนถึงหน้าผากของเขาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะใช้หมอนหรือสิ่งอื่นๆ

เมื่อใดบ้างที่อนุญาตให้ผู้ป่วยละหมาดควบรวมได้ 

หากผู้ป่วยประสบความลำบากหรือไม่สามารถที่จะละหมาดในแต่ละครั้งในเวลาที่กำหนดได้ เขาสามารถที่จะละหมาดควบรวมระหว่างซุฮฺริกับอัศฺริในเวลาหนึ่งเวลาใดของสองเวลาละหมาดนี้ได้ และเขาสามารถที่จะละหมาดรวมระหว่างมัฆฺริบกับอิชาอ์ในเวลาหนึ่งเวลาใดของสองเวลาละหมาดนี้ได้เช่นกัน

- ความลำบากในการละหมาดนั้น คือสิ่งที่อาจทำให้การคุชูอฺในละหมาดหมดไป การคุชูอฺ ก็คือการทำใจให้อยู่กับเนื้อกับตัวและการสงบนิ่งมีสมาธิในขณะละหมาด

ผู้ป่วยจะละหมาดที่ไหน? 

สำหรับผู้ป่วยที่สามารถไปมัสญิดได้ เขาจำเป็นต้องไปละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด และให้ละหมาดยืนหากเขาสามารถยืนได้ หรือถ้ายืนไม่ได้ก็ให้เขาละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺตามสภาพเท่าที่เขาสามารถจะทำได้

แต่หากไม่สามารถไปมัสญิดได้ให้ละหมาดญะมาอะฮฺในสถานที่ที่เขาพักอยู่ หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ให้เขาละหมาดคนเดียวตามสภาพของเขา

โดย: เชค อิบนุ อุซัยมีน

www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด