การนิกะห์ (แต่งงาน) ขณะผู้หญิงท้องโตอยู่ (นิกะห์กับคนที่เป็นพ่อเด็ก) ได้หรือไม่?
ท้องแล้วนิกะห์ได้หรือไม่?
การนิกะห์ (แต่งงาน) ขณะผู้หญิงท้องโตอยู่ (นิกะห์กับคนที่เป็นพ่อเด็ก) ได้หรือไม่?
โดย: อาลี เสือสมิง
กรณีของหญิงที่ตั้งครรภ์นั้น ถ้าหากเป็นการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากการผิดประเวณี (ซินา) นักวิชาการมีความเห็นต่างกันในเรื่องนี้
1. ตามมัซฮับอิหม่ามอะหฺมัด , มาลิก และ ปวงปราชญ์ ถือว่า การอักดุนนิกาห์กับสตรีในกรณีนี้เป็นโมฆะ คือ ใช้ไม่ได้
2. ตามมัซฮับอิหม่าม อัช-ชาฟิอียฺ และ อบีหะนีฟะฮฺ ถือว่า ใช้ได้ แต่จะต้องไม่มีการร่วมหลับนอนกับนางภายหลังการอักดุนนิกาห์จนกว่านางจะคลอดบุตรเสียก่อน (ตามทัศนะของอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ)
ดังนั้น ในกรณีที่ถือตามทัศนะของนักวิชาการฝ่ายที่สอง หากหญิงนั้นตั้งครรภ์จากการผิดประเวณีที่ได้ทำการอักดุนนิกาห์กับชายที่เป็นคู่ผิดประเวณีของนาง ก็ถือว่า การนิกาห์นั้นใช้ได้ และอนุญาตให้ชายนั้นร่วมหลับนอนกับนางได้โดยไม่ต้องรอให้นางคลอดบุตรก่อน เพราะการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากชายผู้นั้น จึงไม่ใช่ผู้ที่รดน้ำลงในแปลงเกษตรของผู้อื่นตามที่มีหะดีษระบุห้ามไว้
ส่วนที่ถามว่า ถ้าเลือกได้ควรให้หญิงคลอดบุตรก่อนดีกว่าหรือไม่? ก็ตอบได้ว่า ดีกว่า เพราะเป็นการหลีกห่างจากความเห็นต่างของนักวิชาการในเรื่องนี้ ทั้งนี้การนิกาห์กับผู้หญิงที่ผิดประเวณีมีความเห็นต่างกันในหมู่นักวิชาการในกรณีที่มิได้ตั้งครรภ์เช่นกัน นักวิชาการบางส่วนถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเมื่อปรากฏว่าหญิงนั้นเป็นที่รับรู้กันว่าผิดประเวณีในทำนองสำส่อน และนักวิชาการบางส่วนถือว่า อนุญาต ถ้าหากฝ่ายชายรู้ถึงการเตาะบะฮฺของนาง ดังที่ อิบนุ อัล-ก็อยยิมมีความเห็นไว้ใน “
บะดาอิอฺ อัล-ฟะวาอิดฺ” เล่มที่ 14 หน้า 103
ท้องแล้วนิกะห์ได้หรือไม่? (สรุปความจาก อะหฺสะนุลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัล-อะหฺกาม ; ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ เล่มที่ 7 หน้า 284 ดารุล-ฆ็อด อัล-อะเราะบียฺ)
ที่มา: alisuasaming.org