หนึ่งในคุณลักษณะที่น่าตำหนิที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ทรงรังเกียจ คือการเยาะเย้ยและดูถูกผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า...
ทำไม อิสลามห้ามเรียกชื่อด้วยฉายา
ห้ามเยาะเย้ยดูถูกผู้อื่น ห้ามเรียกด้วยฉายา
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
หนึ่งในคุณลักษณะที่น่าตำหนิที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ทรงรังเกียจ คือการเยาะเย้ยและดูถูกผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า
وَيۡلٞ لِّكُلِّ هُمَزَةٖ لُّمَزَةٍ
ความว่า “ความหายนะจงประสบแด่ทุกผู้นินทาและผู้ใส่ร้ายผู้อื่น” (อัล-ฮุมะซะฮฺ: 1)
"อัล-วัยลุ" الويل เป็นคำขู่และคำเตือนสำทับสำหรับผู้ที่มีลักษณะนิสัยเหล่านี้
อัล-มุอัลลิมียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "อัล-ฮัมซฺ" الهمز หมายถึง การเยาะเย้ยถากถางผู้อื่นโดยใช้ท่าทาง เช่น ชี้นิ้วใกล้ศีรษะเสมือนกับผู้ที่ถูกชี้นิ้วใส่นั้นเป็นคนเสียสติ หรือใช้สายตาดูถูกเหยียดหยามเหมือนกับผู้อื่นไม่มีค่า ส่วน "อัล-ลัมซฺ" اللمز หมายถึง การเยาะเย้ยผู้อื่นด้วยคำพูด เช่น เรียกชื่อด้วยสรรพนามที่บ่งถึงโรคหรือปมด้อยที่น่ารังเกียจของผู้อื่น (หนังสือมะการิมุล อัคลาก ของยะหฺยา อัล-มุอัลลิมียฺ หน้า 333)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยนั้นจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ” (อัล-หุญุรอต: 11)
อัฏ-เฏาะบะรียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "อัลลอฮฺทรงสั่งห้ามบรรดามุอ์มินผู้ศรัทธามิให้ดูถูกเหยียดหยามบุคคลอื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆก็ตาม ทั้งในเรื่องของความยากจน ความผิดที่เขากระทำ หรือเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น ส่วนคำตรัสของพระองค์ที่ว่า “และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ” นั้น ทัศนะที่ฉันคิดว่าถูกต้องที่สุดในการอธิบายอายะฮฺนี้ก็คือ พระองค์อัลลอฮฺทรงห้ามบรรดาผู้ศรัทธามิให้เรียกขานผู้อื่นด้วยสรรพนามซึ่งผู้ที่ถูกเรียกนั้นรู้สึกรังเกียจและไม่พอใจโดยไม่มีข้อยกเว้น ตราบใดที่บุคคลที่ถูกพาดพิงไม่พอใจ" (ตัฟสีร อัฏ-เฏาะบะรียฺ 11/293)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ฉันได้พูดถึงเศาะฟิยะฮฺต่อหน้าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำนองว่านางนั้นมีรูปร่างเตี้ย ท่านจึงกล่าวแก่ฉันว่า
لَقَدْ قُلْتِ كَلِمَةً لَوْ مُزِجَتْ بِمَاءِ البَحْرِ لَمَزَجَتْهُ
ความว่า “คำพูดของเธอนั้นถ้าเอาไปผสมกับน้ำทะเล ก็คงจะทำให้มันเปลี่ยนสภาพไปเป็นแน่แท้” (เพราะความน่ารังเกียจของมัน- ผู้แปล) ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวอีกว่า และฉันได้เคยพูดถึงชายคนหนึ่งให้ท่านนบีฟัง ท่านจึงกล่าวว่า
مَا أُحِبُّ أَنِّي حَكَيْتُ إِنْسَانًا، وَأَنَّ لِي كَذَا وَكَذَا
ความว่า “ฉันไม่ชอบที่จะพูดถึงเรื่องที่ไม่ดีของบุคคลอื่นถึงแม้ว่าฉันจะได้สิ่งใดเป็นการตอบแทนก็ตาม” (บันทึกโดยอบูดาวูด เลขที่หะดีษ 4875)
การเยาะเย้ยผู้อื่นถือเป็นลักษณะของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและพวกกลับกลอก ซึ่งพวกเรานั้นถูกสั่งห้ามมิให้กระทำสิ่งใดก็ตามที่เป็นการเลียนแบบกลุ่มคนเหล่านั้น อัลลอฮฺตรัสว่า
ٱلَّذِينَ يَلۡمِزُونَ ٱلۡمُطَّوِّعِينَ مِنَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ فِي ٱلصَّدَقَٰتِ وَٱلَّذِينَ لَا يَجِدُونَ إِلَّا جُهۡدَهُمۡ فَيَسۡخَرُونَ مِنۡهُمۡ سَخِرَ ٱللَّهُ مِنۡهُمۡ وَلَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٌ
ความว่า “พวกที่ตำหนิบรรดาผู้ที่สมัครใจจากหมู่ผู้ศรัทธาในการบริจาคทาน และตำหนิผู้ที่ไม่พบสิ่งใด (จะบริจาค) นอกจากค่าแรงงานอันเล็กน้อยของพวกเขา แล้วเย้ยหยันพวกเขานั้น อัลลอฮฺได้ทรงเย้ยหยันพวกเขาแล้ว และสำหรับพวกเขานั้นคือการลงโทษอันเจ็บแสบ” (อัต-เตาบะฮฺ: 79)
อิบนุ กะษีรฺ กล่าวว่า "และลักษณะประการหนึ่งของพวกกลับกลอกคือ จะไม่มีผู้ใดสามารถรอดพ้นจากคำตำหนิติเตียนและคำเย้ยหยันของพวกเขาในทุกกรณี แม้แต่บรรดาผู้ที่บริจาคทานก็มิอาจรอดพ้นจากพวกเขาได้ หากบุคคลหนึ่งบริจาคทรัพย์สินมากมาย พวกเขาก็จะกล่าวว่า ท่านนั้นโอ้อวด ในทางกลับกันหากบริจาคเพียงเล็กน้อยพวกเขาก็จะกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงร่ำรวยเกินกว่าที่จะรับการบริจาคทานเพียงเท่านี้" (ตัฟสีรอิบนุ กะษีรฺ 7/247)
และการเยาะเย้ยผู้อื่นยังเป็นสาเหตุให้จิตใจมืดบอด เมื่อวันกิยามะฮฺมาถึงเขาจะรู้สึกเสียใจและเศร้าใจต่อการกระทำของเขาเป็นอย่างยิ่ง อัลลอฮฺตรัสว่า
ความว่า “มิฉะนั้นชีวิตหนึ่งจะกล่าวว่า โอ้ความหายนะจงประสบแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ทอดทิ้งหน้าที่ ที่มีต่ออัลลอฮฺ และข้าพระองค์เคยอยู่ในหมู่ผู้เยาะเย้ยอีกด้วย” (อัซ-ซุมัรฺ: 56)
ผู้ที่เยาะเย้ยผู้อื่นจะได้รับการลงโทษที่เจ็บแสบทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ โดยในดุนยาผู้ที่เยาะเย้ยอาจจะถูกเย้ยหยันกลับบ้าง ส่วนในอาคิเราะฮฺเขาจะได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺ พระองค์ตรัสว่า
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้กระทำผิดนั้น เคยหัวเราะเยาะบรรดาผู้ศรัทธาและเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาเดินผ่านพวกเขาไป พวกเขาจะหลิ่วตาเย้ยหยันและเมื่อพวกเขากลับไปยังพวกพ้องของพวกเขา พวกเขาก็กลับไปอย่างตลกคะนอง” (อัล-มุฏ็อฟฟิฟีน: 29-31)
และตรัสอีกว่า
ความว่า “และบรรดาผู้กล่าวร้ายแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิงในสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ แน่นอนพวกเขาได้แบกการกล่าวร้าย และบาปอันชัดแจ้งไว้” (อัล-อะหฺซาบ: 58)
ผู้ที่เยาะเย้ยผู้อื่นคือผู้ห่างไกลจากพระเจ้าของเขาและอยู่ใกล้ชิดชัยฏอน อัลลอฮฺ ตรัสว่า
ความว่า “แท้จริงมีหมู่ชนกลุ่มหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา พวกเขากล่าวว่า 'ข้าแต่พระเจ้าของเรา พวกเราได้ศรัทธาต่อพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดอภัยโทษให้แก่เรา และทรงเมตตาต่อเราด้วย และพระองค์ท่านเท่านั้น ทรงเป็นผู้เมตตาที่ดียิ่ง' พวกเจ้าได้ดูถูกเหยียดหยามพวกเขา จนกระทั่ง (การกระทำเช่นนั้นแก่พวกเขา) ทำให้พวกเจ้าลืมนึกถึงข้า และพวกเจ้าก็หัวเราะเยาะเย้ยพวกเขาแท้จริงข้าได้ตอบแทนรางวัลให้แก่พวกเขาแล้วในวันนี้ เพราะพวกเขาอดทน แท้จริงพวกเขาเท่านั้นเป็นผู้ได้รับชัยชนะ” (อัล-มุอ์มินูน: 109-111)
อัล-กุรฏุบียฺ กล่าวว่า "ข้อคิดที่เราได้รับจากอายะฮฺข้างต้นคือ พึงระวังการเย้ยหยันผู้ที่อ่อนแอและขัดสน รวมถึงการดูถูกและเข้าไปยุ่งวุ่นวายในสิ่งที่ไม่ควร การกระทำทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผู้กระทำนั้นอยู่ห่างไกลจากอัลลอฮฺ" (ตัฟสีร อัล-กุรฏุบียฺ 15/95)
และจากทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเห็นได้ชัดเจนว่าการเย้ยหยันผู้อื่นนั้นถือเป็นบาปใหญ่ ซึ่งขัดกับหลักการศาสนาและจรรยามารยาทอันดีงาม
และนี่คือตัวอย่างบางประการของการเยาะเย้ยในสังคมปัจจุบัน:
การเยาะเย้ยต่อบรรดาผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน ผู้สั่งใช้ให้ผู้อื่นทำความดีละเว้นความชั่ว รวมทั้งบุคคลอื่นๆทั้งหลายที่เป็นคนดีของสังคม อีกทั้งยังเรียกพวกเขาด้วยสรรพนามที่น่ารังเกียจ หาเรื่องใส่ร้ายป้ายสีโดยทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน นักวิชาการบางท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผู้ใดเยาะเย้ยผู้รู้หรือผู้ที่สั่งใช้ผู้อื่นให้ทำความดีละเว้นความชั่วในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถือว่าเขานั้นได้ออกจากวงจรแห่งศาสนาแล้ว
อัลลอฮฺตรัสว่า ความว่า “และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นเพียงแต่พูดสนุก พูดเล่นเท่านั้นจงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าต่ออัลลอฮฺและบรรดาโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือ ที่พวกท่านเย้ยหยันกัน? พวกท่านอย่าแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่านได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากการมีศรัทธาของพวกท่าน” (อัต-เตาบะฮฺ: 65)
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการเยาะเย้ยต่อคนงาน หรือคนจนและคนอ่อนแอ รวมทั้งการดูถูกพวกเขาว่าเป็นคนสัญชาตินั้น สัญชาตินี้ หรือมาจากประเทศนั้นประเทศนี้ มีชายคนหนึ่งเดินผ่านท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านกล่าวถามผู้ที่อยู่กับท่านว่า “พวกท่านเห็นว่าชายคนนี้เป็นอย่างไร?” พวกเขาตอบว่า "แน่นอนเขาผู้นี้หากไปขอใครแต่งงานก็คงได้รับการยินยอม ขอความช่วยเหลือใครก็ได้รับความช่วยเหลือ หรือพูดสิ่งใดก็มีคนรับฟัง" ท่านนบีก็เงียบ จนกระทั่งชายยากจนคนหนึ่งเดินผ่านมา ท่านนบีจึงถามขึ้นอีกว่า “แล้วชายผู้นี้เล่าพวกท่านเห็นเป็นอย่างไร?” พวกเขาตอบว่า "แน่นอนเขาผู้นี้หากไปขอใครแต่งงานก็คงไม่มีใครยกให้ ขอความช่วยเหลือใครคงไม่มีใครยอมช่วยเหลือ หรือพูดสิ่งใดก็คงไม่มีใครรับฟัง" ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ชายยากจนผู้นี้ประเสริฐยิ่งกว่าผู้นั้น แม้ว่าจะมีจำนวนเต็มแผ่นดินรวมกันเสียอีก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5091)
ผู้ที่เยาะเย้ยผู้อื่นเขานั้นไม่รู้หรอกว่าผู้ที่เขาเยาะเย้ยนั้นอาจเป็นคนดีและเป็นผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺมากกว่าเขาเสียอีก พระองค์ ตรัสว่า
﴿إِنَّ أَكۡرَمَكُمۡ عِندَ ٱللَّهِ أَتۡقَىٰكُمۡۚ ﴾ [الحجرات: ١٣]
ความว่า “แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า” (อัล-หุญุรอต: 13)
- ผู้ชายที่ชอบตบตีเมีย ได้รับผลกรรมอย่างไร – โดนสามีตบหน้า ภรรยาในอิสลาม
- วิธีเลือกคู่ครองอิสลาม - หะดีษ เกี่ยวกับครอบครัว
- ฮาดิษ ว่าด้วยเรื่องชายหญิงอยู่ด้วยกันลำพัง สองต่อสอง
- คน พุทธ ไป งาน แต่ง อิสลาม จะแต่งตัวอย่างไร เหมาะสมที่สุด
- จดทะเบียนสมรส แต่งงานกับต่างชาติมุสลิม ต้องดำเนินการอย่างไร
- ผู้ชายมุสลิม สามารถรักกับหญิงต่างศาสนาได้หรือไม่?
- ทฤษฎีการเลือกคู่ครอง ข้อคิดการเลือกคู่ครอง อิสลาม
- ดุอาอฺเรียกลูกค้า ดุอาอฺค้าขายดี การค้าขายในอิสลาม
- หะดีษ ครอบครัว หน้าที่สามีต่อภรรยา อิสลาม สามีควรศึกษา และภรรยามุสลิมต้องรู้
- วิธีละหมาดฮายัตภาษาไทย ละหมาดขอความช่วยเหลือ ที่ถูกต้องทำอย่างไร
- รู้สึกปัสสาวะเล็ดในขณะละหมาด ควรปฏิบัติอย่างไร?
ที่มา: www.piwdee.net