แต่งงานกับอิสลาม ทำไมต้องเปลี่ยนศาสนา ?


203,727 ผู้ชม

การแต่งงาน เป็นการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่จะร่วมชีวิตคู่และสร้างครอบครัว ลองคิดดูเอาเถิดว่า ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกที่ถือศาสนาต่างกัน


 แต่งงานกับอิสลาม ทำไมต้องเปลี่ยนศาสนา ?

การแต่งงาน เป็นการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่จะร่วมชีวิตคู่และสร้างครอบครัว ลองคิดดูเอาเถิดว่า ครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกที่ถือศาสนาต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน มีวิถีชีวิตอันสืบเนื่องจากคำสอนของศาสนาต่างกัน มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างกัน ครอบครัวนั้นจะเป็นเช่นใด?

พ่อไปมัสญิด แม่ไปวัด ลูกไปโบสถ์ พ่อไม่กินเนื้อสุกร แต่แม่กับลูกกินเนื้อสุกร ในบ้านมีรูปเคารพทั้งพระพุทธรูป ไม้กางเขน รูปเหมือนพระแม่มารี เวลาพ่อเสียชีวิตจะเอาไปฝังหรือว่าจะเอาไปเผา

สัพเพเหระและสารพันปัญหาในบางครอบครัว พ่อเป็นมุสลิม แม่เป็นพุทธศาสนิกชน ลูกจะถือศาสนาตามผู้ใดเล่า! ถ้าลูกจะเป็นมุสลิมตามพ่อ แล้วแม่จะคิดอย่างไร? เพราะจะไม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูกเสียแล้ว แต่ถ้าลูกจะเป็นพุทธตามแม่ พ่อก็ย่อมลำบากใจและบกพร่องในฐานะของความเป็นพ่อที่ต้องให้ศาสนาแก่ลูกและภรรยา

ทางออกของปัญหาก็คือต้องเป็นสักอย่างหนึ่งให้ชัดเจน แต่ละศาสนาย่อมมีกรอบและหลักคำสอนในการรักษาสถานภาพแห่งศาสนิกชนของตน ไม่มีศาสนาใดยินดีต่อการออกนอกกรอบและหลักคำสอนของศาสนิกชนในศาสนาของตน

ดังนั้น คนในศาสนาเดียวกันแต่งงานกันเองนั่นย่อมเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในกรณีนี้ได้ดีที่สุด ต่อเมื่อชายหญิงถือกันคนละศาสนาและประสงค์จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็ต้องเลือกเอาว่าตนจะถือศาสนาใด จึงเป็นไปไม่ได้ที่อิสลามจะยินดีให้ศาสนิกชนของตนเปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น

คนต่างศาสนา จึงต้องเข้ารับอิสลาม เพื่อให้มีชีวิตคู่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามครรลองของศาสนา นี่เป็นเงื่อนไขในการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง การมีชีวิตคู่หรือการแต่งงานเป็นเรื่องของการยอมรับโดยสมัครใจระหว่างชายหญิง ถ้าประสงค์จะอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาก็ต้องยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าว จะว่าเป็นการบังคับกันคงไม่ใช่เพราะนี่เป็นกติกาที่กำหนดเอาไว้

เหมือนอย่างกรณีของบุคคลที่เป็น ส.ส.หรือ ส.ว. คนที่จะมีสิทธิลงรับการเลือกตั้งเป็นคนไทยคือมีสัญชาติไทย ต้องมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถ้าคุณไม่ใช่คนไทยคุณก็ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า ไปกันสิทธิหรือเอาเปรียบคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทยได้หรือไม่? หรือจะเรียกว่าเป็นการบังคับใช่หรือไม่? ว่าต้องเป็นคนไทยเสียก่อนถึงจะเป็นส.ส.หรือส.ว.ได้ ก็คงไปเรียกเช่นนั้นไม่ได้ เพราะนี่คือกติกาหรือเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อประสงค์จะใช้ชีวิตคู่ก็ต้องทำตามกติกาคือเป็นศาสนิกชนในศาสนาเดียวกัน เหตุนี้เองศาสนาอิสลามจึงยอมรับในสถานภาพของคู่สามีภรรยาที่ถือศาสนาเดียวกันสำหรับบุคคลต่างศาสนิกโดยไม่พิจารณาว่าขั้นตอนในการแต่งงานว่ามีพิธีการอย่างไร เช่น สามีและภรรยาเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งคู่

การร่วมประเวณีก็ย่อมมิใช่การผิดประเวณี ลูกที่เกิดมาก็ย่อมมีสิทธิโดยชอบในการสืบสกุลและสืบมรดก มิใช่ลูกนอกสมรสแต่อย่างใด และถ้าหากว่าทั้งสามีและภรรยาเข้ารับอิสลามทั้งคู่ก็ไม่ต้องแต่งงานใหม่ อย่างนี้เป็นต้น

เรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ อิสลามมิได้บังคับให้ชนต่างศาสนิกมาแต่งงานกับคนมุสลิม และการบังคับให้ชนต่างศาสนิกมาถือศาสนาอิสลามก็เป็นสิ่งที่อิสลามปฏิเสธ หากจะถือเอาประเด็นการเปลี่ยนศาสนาของคนที่ต้องการแต่งงานกับคนมุสลิมมาเป็นข้อโจมตีก็คงไม่เป็นธรรม เพราะจำนวนของคนที่เข้ารับอิสลามเนื่องจากการแต่งงานยังเป็นเรื่องเฉพาะของคนบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น

อิสลามส่งเสริมและบัญญัติให้คนมุสลิมเลือกคนมุสลิมด้วยกันในการครองชีวิตคู่และการครองชีวิตคู่ (แต่งงาน) ในทัศนะของอิสลามก็มิใช่เป็นเพียงแค่จารีตประเพณีทางสังคมเท่านั้น

แต่อิสลามถือว่า การแต่งงานเป็นเรื่องของศาสนาที่มีบทบัญญัติกำหนดเอาไว้ และเมื่อเรื่องการแต่งงานเป็นบทบัญญัติทางศาสนาจึงมีการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขเอาไว้

กระนั้น ก็มิได้หมายความว่า อิสลามปิดโอกาสของคนต่างศาสนิกในการแต่งงานกับชายมุสลิมไปเสียทุกกรณี ดูตัวอย่างของการอนุโลมให้สมรสกับสตรีชาวคัมภีร์ (นัศรอนียะฮฺและยะฮูดียะฮฺ) นั่นประไร? สตรีชาวคัมภีร์ที่เป็นภรรยาของชายมุสลิมก็คงถือในศาสนาเดิมของนางอยู่เช่นเดิม สามีที่เป็นชายมุสลิมจะบังคับให้นางเข้ารับอิสลามนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำไป

สรุปง่าย ๆ ก็คือ หากชนต่างศาสนิก เช่น พุทธศาสนิกชนจะแต่งงานก็ควรแต่งงานกับคนในศาสนาเดียวกับตน ซึ่งมีให้เลือกอย่างมากมาย แต่ถ้าจะแต่งงานกับคนมุสลิมก็ต้องยอมรับกติกาที่ศาสนาอิสลามกำหนดเอาไว้ ถ้ายอมรับไม่ได้ก็ให้เลือกคู่ครองที่เป็นพุทธศาสนิกชนเช่นเดียวกัน ปัญหาข้อนี้ก็ย่อมไม่เกิดเพราะไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาและอิสลามก็ไม่ได้บังคับให้พุทธศาสนิกชนต้องมาแต่งงานกับชาวมุสลิมเป็นหลักเดิมอยู่แล้ว!

ที่มา: อิสลามกับคำถามที่คุณอยากรู้คำตอบ

เรียบเรียง: islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด