การทำกุรบานแก่ผู้ตาย


8,379 ผู้ชม

การทำกุรบานแก่ผู้ตาย การเชือดสัตว์พลีเพื่ออัลลอฮฺในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองวันเทศกาลอีดุลอีฎฮา อันเป็นวันที่มุสลิมทั่วโลกเฉลิมฉลองแสดงความยินดีแก่มุสลิมจากส่วนต่าง ๆ...


กุรบาน คือ การเชือดสัตว์พลีเพื่ออัลลอฮฺในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองวันเทศกาลอีดุลอีฎฮา อันเป็นวันที่มุสลิมทั่วโลกเฉลิมฉลองแสดงความยินดีแก่มุสลิมจากส่วนต่าง ๆ ของโลกได้มีโอกาส ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย วันทำกุรบานจึงตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ

การทำกุรบานแก่ผู้ตาย

ไม่เป็นที่สงสัยใดๆ ว่ าการทำกุรบาน (อุฎฮียะฮฺ) นั้น เป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ  (เน้นหนักให้กระทำ)  ตามทัศนะของปวงปราชญ์ส่วนใหญ่ เเละภาคผลของการทำกุรบานนั้นมีมากมายมหาศาลดังที่มีหลักฐานยืนยันจากศาสนา เเละเเน่นอนเหลือเกินว่า ภาคผลของการทำกุรบานนั้นจะได้แก่ตัวของผู้ทำเอง เเละรวมถึงบุคคลในครอบครัวของเขาด้วย ดังกล่าวนี้คือ สิ่งที่ชัดเจนดังที่มีปรากฏในตัวบทหลักฐานโดยไม่มีข้อคลางเเคลงสงสัยใดๆ ถึงกระนั้นก็ตามยังคงมีประเด็นที่เป็นข้อขัดเเย้งระหว่างบรรดาอุลามาอฺ นั่นคือ ประเด็นการทำกุรบ่านแก่ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นที่อนุญาตหรือไม่ในบทบัญญัติของศาสนา ?

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำกุรบาน เป็นอิบาดะฮฺที่ถูกกำหนดแก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ดังคำกล่าวของชัยคฺ อัล-อุษัยมีน รอหิมาฮุลลอฮฺ : 

"พื้นฐานเดิมของการทำอุฎฮียะฮฺนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ ดังที่ท่านรอซูลเเละเหล่าศอหาบะฮฺได้ทำอุฎฮียะฮฺให้แก่ตัวของพวกเขา เเละครอบครัวของพวกเขา ส่วนประเด็นที่ผู้คนเข้าใจว่ามีการทำอุฎฮียะฮฺที่เจาะจงให้กับผู้ตายนั้น สิ่งนี้ไม่มีหลักฐานจากศาสนา" (อ้างอิง : أحكام الأضحية والزكاة)

การทำกุรบานแก่ผู้ตาย

การทำกุรบานแก่ผู้ตาย

การทำกุรบ่านให้ผู้ตายนั้นมี 3 ประสภาพ ดังนี้ :

สภาพที่หนึ่ง : ทำกุรบ่านให้ผู้ตายโดยทำร่วมกับผู้ที่มีชีวิตอยู่ นั่นคือการที่คนๆหนึ่งทำกุรบานให้เเก่ตัวเขาเเละครอบครัวของเขา โดยมีเจตนาว่าการทำกุรบานนั้นให้แก่ผู้ที่มีชีวิตรวมถึงผู้ตายด้วย การกระทำในสภาพนี้เป็นที่อนุญาต ดังหลักฐานจากการกระทำของท่านนบี (ซ.ล.) ที่ท่านได้ทำกุรบ่านให้เเก่ตัวของท่าน เเละครอบครัวของท่าน ดังหะดีษ : 

عَنْ عَائِشَةَ رضي الله عنها أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أُتِيَ بِكبش لِيُضَحِّيَ بِهِ، فأَضْجَعَهُ، ثُمَّ ذَبَحَهُ، ثُمَّ قَالَ: (بِاسْمِ اللهِ، اللهُمَّ تَقَبَّلْ مِنْ مُحَمَّدٍ، وَآلِ مُحَمَّدٍ، وَمِنْ أُمَّةِ مُحَمَّدٍ، ثُمَّ ضَحَّى بِهِ . (رواه المسلم في صحيحه)

ความว่า : รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า : ท่านนบีได้นำเเกะมาตัวหนึ่งเพื่อจะทำอุฎฮียะฮฺ เเล้วท่านก็จับมันนอนตะเเคงหลังจากนั้นท่านก็ได้เชือดมัน เเละกล่าวว่า : "ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ โอ้อัลลอฮฺขอพระองค์ทรงตอบรับจากมุฮัมมัด และวงศ์วานของมุฮัมมัด และจากประชาชาติของมุฮัมมัดด้วยเถิด" เเละหลังจากนั้นท่านก็ได้ทำอุฎฮียะฮฺด้วยกับแกะตัวนั้น" (บันทึกโดยมุสลิม ในศอฮีฮฺของท่าน)

หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานที่มาอนุญาตการทำกุรบานให้แก่ตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งที่มีชีวิตอยู่เเละที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะในตัวบทหะดีษระบุว่าท่านนบีได้ทำกุรบานให้เเก่ตัวของท่าน, คนในครอบครัวของท่าน เเละประชาชาติของท่าน เเละเเน่นอนว่าในบรรดาสมาชิกในครอบครัวของท่าน และประชาชาติของท่านนั้น มีผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วรวมอยู่ด้วย

สภาพที่สอง : การทำกุรบานให้ผู้ตายเนื่องจากผู้ตายได้สั่งเสียไว้ก่อนตาย ในสภาพนี้ถือว่าวาญิบ  (จำเป็น) ต้องทำตามคำสั่งของผู้ตายถ้าหากมีความสามารถ ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)ที่ว่า :

 
فَمَن بَدَّلَهُ بَعْدَمَا سَمِعَهُ فَإِنَّمَا إِثْمُهُ عَلَى الَّذِينَ يُبَدِّلُونَهُ ۚ إِنَّ اللَّهَ سَمِيعٌ عَلِيمٌ 181)

ความว่า : แล้วผู้ใดเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมหลังจากที่เขาได้ยินมันเเล้ว โทษแห่งการเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมนั้นก็ตกอยู่เเก่บรรดาผู้เปลี่ยนแปลงพินัยกรรมนั้นเท่านั้น แท้จริงอัลลอฮฺทรงได้ยินทรงรอบรู้ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 181)

การทำกุรบานแก่ผู้ตาย

สภาพที่สาม : การทำกุรบานให้ผู้ตายเป็นการเฉพาะ กล่าวคือทำให้เป็นเอกเทศ ในสภาพนี้เป็นที่อนุญาตตามทรรศนะของนักวิชาการมัซฮับฮัมบะลียฺ โดยการเอามาเปรียบเทียบ(กิยาซ)กับการศอดาเกาะฮฺ(บริจาคทาน)ให้แก่ผู้ตาย (เพราะมีตัวบทหลักฐานระบุว่าการทำศอดาเกาะฮฺให้แก่ผู้ตายเป็นที่อนุญาต และผลบุญก็ถึงผู้ตายเช่นเดียวกัน) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าท่านนบี (ซ.ล.) เเละบรรดาศอหาบะฮฺเคยทำกุรบ่านในสภาพนี้(ให้ผู้ตายเป็นการเฉพาะ)

เราขอให้น้ำหนักในเรื่องนี้ว่า การทำกุรบานให้ผู้ตายเป็นการเฉพาะนั้น ไม่มีในแบบอย่างของท่านนบี (ซ.ล.) เพราะตลอดชีวิตของท่าน ท่านไม่เคยทำกุรบ่านให้ผู้ตายเป็นการเฉพาะเลยเเม้เเต่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะให้เเก่ท่านฮัมซะฮฺ ลุงสุดที่รักของท่าน หรือบรรดาบุตรธิดาของท่านที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าท่าน แม้กระทั่งท่านหญิงคอดิญะฮฺ ภรรยาสุดที่รักของท่าน ท่านก็ไม่เคยทำกุรบ่านให้บุคคลเหล่านี้เป็นการเฉพาะเลยเเละไม่พบการกระทำดังกล่าวจากบรรดาศอหาบะฮฺเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่คนๆหนึ่งทำกุรบานให้แก่ตัวเขาเองเเละครอบครัวของเขาเเล้วนั้น ผลบุญในส่วนนั้นจะครอบคลุมทั้งบุคคลที่มีชีวิตอยู่เเละที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย เเละโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำกุรบานของลูก ผลบุญจะถึงพ่อแม่อย่างเเน่นอน ถึงแม้จะไม่มีการเจตนาให้เเก่ท่านทั้งสองก็ตาม เพราะการงานที่ลูกกระทำจะถึงพ่อแม่โดยอัตโนมัติ เพราะลูกคือผลงานของพ่อแม่ ดังหะดีษของท่านนบี (ซ.ล.) : 

عن أبي هريرة -رضي الله عنه- أن رسول الله -صلى الله عليه وسلم- قال: إذا مات ابن آدم انقطع عمله إلا من ثلاث: صدقة جارية، أو علم ينتفع به، أو ولد صالح يدعو له، (رواه مسلم)

ความว่า : รายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ:แท้จริงท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า : "เมื่อลูกหลานของอาดัมเสียชีวิตลง การงานทั้งหมดจะถูกตัดขาด(จบสิ้น)เว้นเเต่สามประการเท่านั้น ศอดาเกาะฮฺญารียะฮฺ(การบริจาคที่ผลบุญไหลเวียน),ความรู้ที่ยังประโยชน์ เเละลูกที่ดีขอดุอาอฺให้แก่เขา" (บันทึกโดยมุสลิม)

ด้วยหลักฐานดังที่กล่าวมาเเล้วข้างต้น เป็นที่เเน่ชัดเเล้วว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทำกุรบ่านให้แก่ผู้ตายเป็นการเฉพาะ 

ที่มา:  อิสลามตามแบบฉบับ

https://islamhouse.muslimthaipost.com/

อัพเดทล่าสุด