การคัดเลือกหุ้นในการลงทุนแบบอิสลาม


3,291 ผู้ชม

หุ้นสามัญ หรือ Common Stock คือ หลักทรัพย์ที่แสดงความเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งในบริษัท ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงตามผล ประกอบการของบริษัทและภาวะตลาด


การคัดเลือกหุ้นในการลงทุนแบบอิสลาม

การลงทุน ในหุ้นสามัญคืออะไร 

หุ้นสามัญ หรือ Common Stock คือ หลักทรัพย์ที่แสดงความเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งในบริษัท ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงตามผล ประกอบการของบริษัทและภาวะตลาด การลงทุนในหุ้นสามัญตรงกับหลักการมุซาเราะห์กะฮ์ (Musharakah) ของอิสลาม คือ การเป็นหุ้นส่วน โดยร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อกิจการมีกำไรจะนำผลกำไรมาแบ่งให้กับเจ้าของในรูปแบบของเงินปันผล (Dividend) นอกจากเงินปันผลแล้วมีผลตอบแทนจากการลงทุนคือ กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital gain) อันเนื่องมาจากการขายหลักทรัพย์ ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา อันเนื่องมากจากมีแนวโน้มเป็นกิจการที่ดีและมีกำไรต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นคือการเลือกซื้อหุ้นในกิจการที่ขาดทุนหรือมีแนวโน้มที่ไม่ดี อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นต้องขายหุ้นออกไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อมาก็เป็นได้ (Capital Loss) ซึ่งเหมือนกับการซื้อขายสินค้าอื่นๆ ด้วยหลักการ มุรอบาฮะห์ (Murabahah) หากสินค้าที่ดี ตลาดมีความต้องการสูงก็สามารถขายได้ด้วยราคาที่สูงกว่าต้นทุน แต่ถ้าหากสินค้าไม่ดี ตลาดไม่เป็นที่นิยมก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนนั้นเอง ซึ่งหลักการของความเสี่ยงจากการค้าขายนั้น สอดคล้องกับหลักการของอิสลามในเรื่องของ  Al- ghorm bil ghonm  (no reward without risk)  ไม่มีผลตอบแทนหากไม่มีความเสี่ยงในธุรกิจ เฉกเช่นเดียวกันการลงทุนธุรกิจต่างๆ

อนึ่งอิสลามห้ามการลงทุนในอนุพันธ์ (Derivative) และทีเฟค(TFEX) เพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่ได้มีทรัพย์สินจริงรองรับ เป็นแค่การอ้างอิงมูลค่าจากทรัพย์สิน หรือจากหุ้น เท่านั้น หรือเรียกได้ว่าเป็นการพนันชนิดหนึ่งที่เอาไว้แทงขึ้นหรือแทงลงเท่านั้น นอกเสียจากการใช้อนุพันธ์ (Derivative) และทีเฟค(TFEX) เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างแท้จริง(Hedging)  จากการลงทุนในหุ้นสามัญเท่านั้นเพื่อรับผลตอบแทนเป็นปันผลโดยเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังไม่มีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงแบบอิสลาม(Islamic Hedging ) ด้วยเหตุผลลดความเสี่ยงในการลงทุนและความจำเป็น(เฏาะรูเราะห์) เท่านั้น

กระบวนการคัดกรองหุ้นด้วยกรอบของชะรีอะฮ์ (Shariah Screening Process)

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงไม่มีระบบการคัดกรองหุ้นที่อยู่ในกรอบของชะรีอะฮ์ที่มุสลิมสามารถลงทุนได้มาประกาศแก่สาธารณชนทราบอย่างเช่นในประเทศมุสลิมอื่นๆ เช่นในประเทศมาเลเซีย จะมีการขึ้นเครื่องหมายหลังหุ้นว่า SH ย่อมาจากคำว่า Shariah Compliance เป็นการแสดงว่าหุ้นของบริษัทนี้มุสลิมสามารถลงทุนได้เนื่องจากได้รับการคัดกรองว่าบริษัทดำเนินการอยู่ในกรอบของชะรีอะฮ์ที่มุสลิมสามารถเข้ามาซื้อหุ้นเป็นเจ้าของได้ อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการว่าจ้างให้ฟุตซี(FTSE) ทำการจัดทำ  FTSE SET Shariah Index  ขึ้นมาเพื่อเป็นการคัดกรองหุ้นที่อยู่ในกรอบของชะริอะห์เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศมุสลิมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างถูกหลักชะริอะฮ์(Shariah) ดังนั้นหากนักลงทุนมุสลิมต้องการที่จะทราบว่าหุ้นตัวใดอยู่ใน FTSE SET Shariah Index  โดยรายชื่อจะมีการทบทวนทุกๆครึ่งปี อย่างไรก็ตามจากการรับรองรายชื่อหุ้นที่ถูกต้องตามหลักศาสนาจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการชะรีอะฮฺ ในประเด็นการดำเนินธุรกิจในแง่ต่างๆของหลักชะรีอะฮ์ โดยอาศัยหลักการตามลำดับดังต่อไปนี้

1. หาข้อมูลรายงานงบการเงินประจำปีและประจำไตรมาสได้จากเวบไซด์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2.การคัดกรองกิจกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัท (Business Activity Screening) ว่าไม่ได้ดำเนินการขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม ได่แก่

1)Conventional Financeเช่น ธนาคาร สถาบันการเงินหรือประกันภัยที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามหลักศาสนาอิสลาม

2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ (Alcohol)

3) ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร ซึ่งไม่เป็นอาหารฮาลาล (Halal)

4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นคาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ ดนตรี สื่อลามก รวมทั้งธุรกิจโรงแรม

5) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

6) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ

3. การคัดกรองจากข้อมูลทางการเงิน (Financial ratios screening) เป็นการกำหนดอัตราส่วนทางการเงินขึ้นมาจากการเทียบเคียง (กิยาส) จากหลักฐานกรุอ่านและหะดิษ ซึ่งเป็นไปตามหลักของชะรีอะห์ ซึ่งมี 2 แนวทางที่จะยกตัวอย่าง คือ

หลักเกณฑ์โดย FTSE SET Shariah Index พิจารณาเรื่องโครงสร้างทางการเงินเป็นหลัก โดยมีทัศนะว่าหากมีหนี้สิน ลูกหนี้หรือเงินสด มากกว่าอัตราส่วนกำหนด จะทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อขายได้เพราะเหมือนกันการซื้อขายหนี้ หรือเงินสด ซึ่งอาจมีดอกเบี้ยมาเกี่ยวข้อง จึงมีการกำหนดการพิจารณาดังนี้

1) ส่วนของหนี้ (Debt) ต้องน้อยกว่า 33% ของสินทรัพย์รวม (Total assets)

2) ส่วนของเงินสดและดอกเบี้ย (Cash & Interest bearing) ต้องน้อยกว่า 33% ของสินทรัพย์รวม

3) สัดส่วนของบัญชีลูกหนี้และเงินสด (Accounts receivable & cash) ต้องน้อยกว่า 50% ของสินทรัพย์รวม

4) ดอกเบี้ยรวม (Total interest) และรายได้อื่นๆที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม (Non compliant activities income) ไม่ควรเกินกว่า 5% ของรายได้รวม (Total revenue) เนื่องจากอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในธุรกิจที่ไม่ใช่อิสลาม

หวังว่าที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นทำให้ท่านผู้อ่านได้มีแนวคิดในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แบบอิสลามมากขึ้น และมีความเข้าใจว่าไม่ใช่หุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์นั้นสามารถลงทุนได้โดยไม่มีเงื่อนไข และหวังว่าในอนาคตทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเห็นความสำคัญของการมีเครื่องหมาย SH แบบประเทศมาเลเซียหรือการเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะห์ในระบบของตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ต้องเอาไปข้อมูลที่ FTSE เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ เพราะเมื่อมีการเปิด AEC หรือ ASEAN Economic Community ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการเปิดเสรีทางการเงินรวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ภาพมุสลิมไทยประมาณ10 ล้านคน จะเปลี่ยนเป็นภาพ AEC ที่มีประชากรมุสลิมถึง 300 ล้านคน ใน AEC ที่มีความต้องการลงทุนในหุ้นที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

โดย Muhammad Azmii Mahamad

 หมายเหตุ:ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง https://www.islamicfinancethai.com

อัพเดทล่าสุด