โดยหลักการทางศาสนาอิสลาม อันมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอาน และซุนนะฮฺ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติ ของบรรพชนรุ่นแรก (สะลัฟซอลิฮฺ) นั้น ไม่มีระบุให้ชาวมุสลิม จัดงานวันเกิด หรือการฉลอง ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
การจัดงานวันเกิด ทำได้หรือไม่ในอิสลาม
โดยหลักการทางศาสนาอิสลาม อันมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอาน และซุนนะฮฺ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติ ของบรรพชนรุ่นแรก (สะลัฟซอลิฮฺ) นั้น ไม่มีระบุให้ชาวมุสลิม จัดงานวันเกิด หรือการฉลอง ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น การครบรอบแต่งงาน เป็นต้น ส่วนกรณีการจัดงานฉลอง ที่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มชนต่างศาสนิก และมีคติเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องของศาสนา ของชนต่างศาสนิกนั้น กรณีนี้ ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิม จัดงานฉลองดังกล่าว อาทิเช่น การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ, ประเพณีสงกรานต์, การแห่เทียนเข้าพรรษา, งานฉลองวันนักบุญต่าง ๆ เป็นต้น ตลอดจนมีการระบุ ห้ามจัดงานฉลอง และเข้าร่วมในงานฉลอง ดังกล่าวอีกด้วย ดังปรากฏในหะดีษ ที่รายงานโดย อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) จากท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า
ﻣﻦﺗَﺸَﺒَّﻪَﺑِﻘَﻮْﻡٍﻓَﻬُﻮَﻣِﻨْﻬُﻢْ
“ผู้ใดเลียนแบบ (เอาอย่าง) กลุ่มชนหนึ่ง ผู้นั้น คือส่วนหนึ่งจากพวกนั้น” (บันทึกโดยอบูดาวูด)
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หะดีษบทนี้ สภาพอย่างน้อย คือชี้ขาดว่า เป็นที่ต้องห้าม ในการเลียนแบบ เอาอย่างพวกชาวคัมภีร์ ถึงแม้ว่าตามลักษณะบ่งชี้ภายนอก ของหะดีษ จะชี้ขาดว่า ผู้เลียนแบบ เอาอย่างพวกเขานั้น เป็นกุฟร์ (ดูฟัยฎุลกอดีร ชัรฮฺ อัลญิอฺ อัซซ่อฆีรของอัลลามะฮฺ อัลมินาวีย์, ดารุ้ลมะอฺริฟะฮฺ เบรุต เล่มที่ 6/104 หะดีษเลขที่ 8593) และมีคำกล่าวของท่านอิบนุ อัมรฺ (ร.ฎ.) ระบุว่า : ผู้ใดสร้างบ้าน (อาศัย) ในดินแดน ของบรรดาผู้ตั้งภาคี และกระทำงานฉลองนัยรูซฺ และเทศกาล (มิฮฺร่อญาน) ของพวกเขา และเลียนแบบพวกเขา จนกระทั่งเสียชีวิต เขาผู้นั้น จะถูกรวมอยู่พร้อมกับพวกนั้น ในวันกิยามะฮฺ” (อ้างแล้ว 6/104) คำว่า นัยรูซฺ สำหรับพวกเปอร์เซีย คือวันแรกในปีปฏิทินสุริยคติ คือวันขึ้นปีใหม่ของเปอร์เซีย หรือหมายถึงวันรื่นเริงโดยทั่วไป ส่วนคำว่า มิฮฺร่อญาน นั้น คือวันตรุษสำคัญ ของเปอร์เซีย และมีคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ระบุว่า : พวกท่านทั้งหลาย จงหลีกห่างบรรดาศัตรู ของอัลลอฮฺ ในวันอีดของพวกเขา (อัลอิบดาอฺ ฟี มะฎ๊อร อัลอิบติดาอฺ, ชัยค์อะลี มะฮฺฟูซฺ หน้า 275) ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เป็นกรณีของการจัดงานเฉลิม ที่ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมจัด และเข้าไปมีส่วนร่วม
ส่วนการจัดงานรื่นเริง เนื่องในโอกาสพิเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา และ มิใช่งานรื่นเริง เป็นการเฉพาะของกลุ่มชน ต่างศาสนิกนั้น ข้อนี้นักวิชาการ มีท่าที และความเห็น แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกถือว่า เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมจัดงานดังกล่าว โดยอาศัยหะดีษที่บันทึกโดย อันนะซาอีย์ และอิบนุ มาญะฮฺ ด้วยสายรายงานซ่อฮีฮฺ ว่า ท่านอนัส (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้มายังนครม่าดีนะฮฺ ซึ่งพวกเขามีวัน 2 วัน ที่พวกเขาจะมีการละเล่นใน 2 วันนั้น แล้วท่านนบีก็กล่าวว่า : แน่แท้พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงเปลี่ยนวันทั้ง 2 นั้น แก่พวกท่าน ด้วยวันที่ดีกว่าวันทั้ง 2 นั้น คือ วันฟิฏร์ และวันอัลอัฎฮา” ดังนั้น ทุกสิ่งที่นอกเหนือ จากวันอีดทั้ง 2 นั้น จึงถือเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)
อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า อนุญาต และค้านฝ่ายแรกว่า หะดีษข้างต้น มิได้จำกัดบรรดาวันอีดเอาไว้ เฉพาะในวันอีดทั้ง 2 แต่ระบุถึงความประเสริฐ ของวันอีดทั้ง 2 นั้น ว่า อยู่เหนือบรรดาวันอีด ของชาวเมืองม่าดีนะฮฺ ซึ่งพวกเขานำเอามาจากพวกเปอร์เซีย ... และไม่มีตัวบทระบุห้าม ในการแสดงออกซึ่งความดีใจ และความปิติยินดี ในวันอื่น ๆ นอกจากวันอีดทั้ง 2 นั้น ท่านชัยค์ อะฏียะฮฺ ซอกร์ สรุปว่า : การจัดงานรื่นเริง ในโอกาสใด ๆ ที่ดีนั้น ย่อมไม่เป็นอะไร ตราบใดที่มีเป้าหมายตามหลักการ และมีรูปแบบอยู่ในขอบเขตของศาสนา และไม่มีข้อเสียหายแต่อย่างใด ในการเรียกงานรื่นเริงทั้งหลายว่า เป็นวันอีด (ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เวียนมาบรรจบครบรอบ และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน) สิ่งที่ถูกพิจารณา คือสิ่งที่ถูกเรียกชื่อ (มุซัมม่ายาต) ไม่ใช่นามชื่อ (อัสมาอฺ)” (อะฮฺซะนุ้ลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัลอะฮฺกาม ; ชัยค์ อะฏียะฮฺ ซอกร์ ; ดารุ้ลฆอดฺ อัลอะร่อบีย์ เล่มที่ 1 หน้า 701-702)
หากพิจารณาตามความเห็นของฝ่ายที่สอง ก็ถือว่า ชาวมุสลิมสามารถจัดงานฉลอง โอกาสพิเศษ เช่น วันเกิดได้ เนื่องจากไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา แต่มีข้อแม้ว่า ต้องหลีกห่างการเอาอย่างกลุ่มชนอื่น โดยเฉพาะชาวคัมภีร์ เช่น การเป่าเทียนวันเกิด เป็นต้น ตลอดจนไม่มีสิ่งที่ขัด ต่อหลักการของศาสนา เช่น การปะปนระหว่างชายหญิง ที่แต่งงานกันได้ หากขาดเงื่อนไขดังกล่าว ก็ถือว่าต้องห้าม ผู้ตอบเข้าใจว่า นักวิชาการฝ่ายนี้ (ฝ่ายที่ 2) ได้พิจารณาว่า การจัดงานรื่นเริง เป็นสิ่งที่อยู่ในหมวดของมุอามะลาต (เรื่องความสัมพันธ์ ที่มนุษย์ปฏิบัติระหว่างกัน) ซึ่งโดยหลักมูลฐานถือว่า อนุญาต (มุบาฮฺ) จนกว่าจะมีหลักฐาน ที่ระบุห้าม รายงานมา
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีข้อคัดค้านว่า มีหลักฐานระบุห้ามมา ในเรื่องการเลียนแบบชนกลุ่มอื่น ซึ่งก็พอฟังได้ แต่จะตีขุมไปทั้งหมดทุกเรื่อง ก็คงมิได้ เพราะการเลียนแบบเอาอย่างกลุ่มอื่นนั้น มีทั้งที่อนุญาต เช่น การศึกษาวิทยาการต่าง ๆ, การแต่งชุดสากล เป็นต้น และที่ไม่อนุญาต ดังตัวอย่างที่กล่าวมาบ้างแล้ว เมื่อต้นเรื่อง ส่วนเรื่องการเป่าเค้กนั้น ก็ควรหลีกห่าง และที่มาของการเป่าเค้กนั้น ก็คงมาจากพวกฝรั่ง ที่ได้กระทำเช่นนั้น และถือปฏิบัติกันมา จนผู้คนทั้งหลาย เอาเยี่ยงอย่างนั่นเอง การกินเค้ก หรือ คุกกี้ แฮมเบอเกอร์ หรือเมนูอาหารสากลทั่วไป ที่ฮะล้าลนั้น สามารถกินได้ทุกเมื่อ ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
ที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ คือหลีกห่างจากข้อที่คลุมเครือ และการขัดแย้งของนักวิชาการ กล่าวคือ ไม่จัดงานวันเกิดดีกว่า (ถึงแม้ว่าจะมีฝ่ายที่บอกว่าอนุญาต) เพราะจะได้ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นตามมา คุณดีนและผม ก็ไม่ต้องปวดหัว และกลุ้มใจ ในเรื่องนี้อีกด้วย ดีด้วยกันสำหรับทุกฝ่าย คนเราทุกคน มีวันเกิดด้วยกันทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ เกิดมาแล้วจะพากเพียร และสั่งสมคุณงามความดี ให้สมกับที่เกิดมาหรือไม่ และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ วันตายของเราทุกคน ซึ่งต้องพานพบอย่างแน่นอน คนที่มุ่งแต่จะรื่นเริง เฉพาะในวันเกิด แต่กลับลืมวันตายที่จะมาเยือนนั้น คงไม่เข้าท่าเอาเสียเลย!
วัลลอฮุอะอฺลัม
ที่มา: muslimchiangmai.net