10 สิ่งที่ทำให้ขาดจากการเป็นมุสลิม


14,740 ผู้ชม

มุสลิมคนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเขาจะตกศาสนาไปเพราะด้วยหลากหลายสาเหตุ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เลือดเนื้อและทรัพย์สินของเขาจะไม่ได้รับการปกป้องจากศาสนาของเขาอีกแล้ว และด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองทำให้เขาต้องออกจากการเป็นมุสลิมก็เป็นได้


10 สิ่งที่ทำให้ขาดจากการเป็นมุสลิม

หลัก 10 ประการ ที่ทำให้สูญเสียความเป็นมุสลิม 

พึงทราบเถิดครับพี่น้องมุสลิมทั้งหลาย ว่า แท้จริงอัลลอฮฺตะอาลาได้กำชับให้บ่าวของพระองค์ทั้งหลายเข้ารับศาสนาของพระองค์ (อิสลาม) และยึดมั่นกับศาสนาของพระองค์ พระองค์ยังทรงกำชับและเตือนให้ระมัดระวังในสิ่งที่จะขัดแย้งกับศาสนาของพระองค์ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงแต่งตั้งศาสนทูต มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อเชิญชวนมวลมนุษย์ชาติสู่ศาสนาที่เที่ยงแท้ของพระองค์ พระองค์ทรงแจ้งว่าผู้ใดที่ปฏิบัติตามศาสนาอิสลามแท้จริงเขาจะได้รับทางนำ และผู้ใดที่หันเหและผินหลังให้กับศาสนาของพระองค์เขาจะหลงทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้พระองค์ได้ทรงกำชับและตักเตือนในอัลกุรอานหลายอายะฮฺด้วยกัน ตลอดจนชี้แจงสาเหตุต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการตกศาสนา รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งภาคีและการปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ทั้งนี้ บรรดาอุละมาอ์เองได้กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าวนี้ในหัวข้อบทบัญญัติว่าด้วยการตกศาสนา

มุสลิมคนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเขาจะตกศาสนาไปเพราะด้วยหลากหลายสาเหตุ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เลือดเนื้อและทรัพย์สินของเขาจะไม่ได้รับการปกป้องจากศาสนาของเขาอีกแล้ว และด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองทำให้เขาต้องออกจากการเป็นมุสลิมก็เป็นได้

ส่วนสิ่งที่มักทำให้มุสลิมตกศาสนานั้น มีอยู่ 10 ประการหลักๆ ดังที่ท่านอิหม่าม ชัยคฺ มุหัมหมัด บิน อับดุลวะฮฺฮาบ และอุละมาอ์ท่านอื่นๆ ได้กล่าวถึง ซึ่งในตรงนี้ข้าพเจ้าขอสรุปสั้นๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันในการที่จะหลีกห่างจากมันและรักษาไว้ซึ่งตัวตนของความเป็นมุสลิมของพวกท่านและคนอื่นๆ  ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าพวกเราจะได้รับความปลอดภัยและหายขาดจากโรคร้ายดังกล่าวนี้  ซึ่งจะขออธิบายและเพิ่มเติมบางส่วนดังนี้

ประการแรก คือ การตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ (ชิริก) ในการประกอบอิบาดะฮฺ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ ﴾ [النساء: ٤٨] 

ความว่า : “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺจะไม่อภัยให้ในกรณีที่มีการตั้งภาคีกับพระองค์ และพระองค์จะทรงอภัยให้ในความผิดที่นอกเหนือจากการตั้งภาคีสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” (อัน-นิสาอ์ : 48)

และพระองค์ยังตรัสอีกว่า :

﴿إِنَّهُۥ مَن يُشۡرِكۡ بِٱللَّهِ فَقَدۡ حَرَّمَ ٱللَّهُ عَلَيۡهِ ٱلۡجَنَّةَ وَمَأۡوَىٰهُ ٱلنَّارُۖ وَمَا لِلظَّٰلِمِينَ مِنۡ أَنصَارٖ ٧٢ ﴾ [المائ‍دة: ٧٢] 

ความว่า : “แท้จริงแล้วผู้ใดที่ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์จะกำหนดให้เขาเป็นบุคคลต้องห้ามในการเข้าสวรรค์และสถานที่ของเขาคือนรก และไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับผู้อธรรม (ผู้ตั้งภาคี)”  (อัล-มาอิดะฮฺ : 72)

ส่วนหนึ่งในรูปแบบของการตั้งภาคี คือ การขอดุอาอ์จากผู้ตาย การขอความช่วยเหลือจากผู้ตาย การบนบานและเชือดพลีสำหรับผู้ตาย ดังที่ผู้คนเชือดพลีให้กับญินหรือสุสานต่างๆ

ประการที่สอง คือ ผู้ที่ใช้สื่อกลางระหว่างเขากับอัลลอฮฺ ซึ่งพวกเขาได้ขอวิงวอนต่อสื่อ และพวกเขาก็ขอความช่วยเหลือจากสื่อ ตลอดจนมอบหมายการงานทุกอย่างไว้กับสื่อ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นกุฟรฺ ตามมติเอกฉันท์ของอุละมาอ์อิสลาม

ประการที่สาม คือ ผู้ที่ปฏิเสธการเป็นการฟิรฺของพวกมุชริกีนหรือมีข้อสงสัยในความเป็นกาฟิรฺของพวกเขาหรือเห็นว่าศาสนาของพวกเขานั้นถูกต้องแล้ว 

ประการที่สี คือ ผู้ที่เชื่อและศรัทธาว่า มีทางนำที่ดีกว่าและสมบูรณ์กว่าทางนำของท่านศาสนาทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือเชื่อและศรัทธาว่า บทบัญญัติของผู้อื่นดีกว่าบทบัญญัติของท่านศาสนทูตมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เหมือนกับผู้เชื่อว่าบทบัญญัติที่ไม่ได้มากจากอิสลามดีกว่าบทบัญญัติที่มาจากอิสลาม เขาคือกาฟิรฺ

ประการที่ห้า คือ ผู้ที่รังเกียจหรือเกลียดชังส่วนใดส่วนหนึ่งในสิ่งที่ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้นำเสนอ ถึงแม้ว่าเขาจะปฏิบัติสิ่งดังกล่าวอยู่ก็ตามที เขาคือกาฟิรฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

﴿ ذَٰلِكَ بِأَنَّهُمۡ كَرِهُواْ مَآ أَنزَلَ ٱللَّهُ فَأَحۡبَطَ أَعۡمَٰلَهُمۡ ٩ ﴾ [محمد: ٩] 

ความว่า : “ดังนั้น เพราะพวกเขาเกลียดชังในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานลงมา ดังนั้น พระองค์จึงทำให้การงานของเขานั้นมลายไป” (มุหัมมัด : 9 )

ประการที่หก คือ ผู้ที่เย้ยหยัน ล้อเลียนส่วนใดส่วนหนึ่งที่เป็นศาสนาของท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งที่เป็นเรื่องของผลบุญหรือเรื่องของการลงโทษ  เขาคือกาฟิรฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า:

﴿ قُلۡ أَبِٱللَّهِ وَءَايَٰتِهِۦ وَرَسُولِهِۦ كُنتُمۡ تَسۡتَهۡزِءُونَ ٦٥ لَا تَعۡتَذِرُواْ قَدۡ كَفَرۡتُم بَعۡدَ إِيمَٰنِكُمۡۚ ﴾ [التوبة: ٦٥-٦٦] 

ความว่า : “จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า กับพระองค์อัลลอฮฺ  กับโองการของพระองค์ และกับศาสนทูตของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านล้อเลียนกัน ? ไม่ต้องขออภัยเลย แท้จริง พวกท่านทั้งหลายได้ปฏิเสธ หลังจากที่พวกท่านศรัทธาแล้ว” (อัต-เตาบะฮฺ : 65-66 )

ประการที่เจ็ด  คือ สิหิรฺ หมายถึง ไสยศาสตร์ ซึ่งผู้ใดที่กระทำการสิหิรฺและยอมรับมัน เขาคือกาฟิรฺ  ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

﴿وَمَا يُعَلِّمَانِ مِنۡ أَحَدٍ حَتَّىٰ يَقُولَآ إِنَّمَا نَحۡنُ فِتۡنَةٞ فَلَا تَكۡفُرۡۖ ﴾ [البقرة: ١٠٢] 

ความว่า : “และเขาทั้งสอง(ฮารูต กับ มารูต)ไม่ได้สอน(การสิหิรฺ)แก่คนหนึ่งคนใด เว้นแต่ว่าทั้งสองจะกล่าวเตือนก่อนว่า แท้จริงเราคือฟิตนะฮฺ(บททดสอบ) ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าปฏิเสธศรัทธา” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :102 )

ประการที่แปด คือ ร่วมมือกับบรรดามุชริกีนศัตรูของอัลลอฮฺและช่วยเหลือพวกมุชริกีนเพื่อทำลายมุสลิมด้วยกันเอง ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿وَمَن يَتَوَلَّهُم مِّنكُمۡ فَإِنَّهُۥ مِنۡهُمۡۗ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَهۡدِي ٱلۡقَوۡمَ ٱلظَّٰلِمِينَ ٥١ ﴾ [المائ‍دة: ٥١] 

ความว่า : “และผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่เอาพวกเขา(กาฟิรฺ)เป็นเพื่อนสนิท แท้จริงแล้วเขาคนนั้นก็คือสมาชิกหนึ่งในหมู่พวกเขา แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ให้ทางนำสำหรับกลุ่มผู้ที่อธรรม” (อัล-มาอิดะฮฺ : 51 )

ประการที่เก้า คือ ผู้ที่เชื่อว่ามุสลิมนั้นมีสิทธิที่จะออกห่าง ปลีกตัวไป หรือไม่ต้องใช้ชะรีอะฮฺ/บทบัญญัติศาสนาของท่านศาสนทูต มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวัสลัม ได้ เหมือนกรณีที่คิฎิรฺมีสิทธิไม่ใช้ชะรีอะฮฺของนบีมูซาได้ ใครที่เชื่อเช่นนั้นเขาก็คือกาฟิรฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า :

﴿ وَمَن يَبۡتَغِ غَيۡرَ ٱلۡإِسۡلَٰمِ دِينٗا فَلَن يُقۡبَلَ مِنۡهُ وَهُوَ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ مِنَ ٱلۡخَٰسِرِينَ ٨٥ ﴾ [آل عمران: ٨٥] 

ความว่า : “และผู้ใดที่ค้นหาวิถีชีวิตที่นอกเหนือจากวิถีชีวิตของอิสลามมาเป็นวิถีชีวิตของพวกเขาแล้ว ไม่มีโอกาสเลยที่การงานของพวกเขาจะถูกตอบรับ และในวันกิยามะฮฺเขาคือผู้ที่ขาดทุน” (อาล อิมรอน : 85 )

ประการที่สิบ คือ การหันเห ผินหลังออกจากศาสนาของอัลลอฮฺ โดยไม่ได้มีการเรียนรู้และไม่มีการปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้นในสิ่งที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม  ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า :

﴿ وَمَنۡ أَظۡلَمُ مِمَّن ذُكِّرَ بِ‍َٔايَٰتِ رَبِّهِۦ ثُمَّ أَعۡرَضَ عَنۡهَآۚ إِنَّا مِنَ ٱلۡمُجۡرِمِينَ مُنتَقِمُونَ ٢٢ ﴾ [السجدة: ٢٢] 

ความว่า : “และใครเล่าที่จะอธรรมมากไปกว่าผู้ที่ถูกเตือนสติด้วยอายะฮฺของอัลลอฮฺ แต่แล้วเขาก็ผินหลังให้ แท้จริงแล้ว เราจะเอาโทษกับบรรดาผู้ที่อธรรมทั้งหลาย” (อัส-สัจญ์ดะฮฺ : 22)

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนี้ไม่ได้มีข้อแตกต่างอะไรเลย ระหว่างผู้ทำเล่นๆ หรือทำจริงๆ หรือผู้ที่ตกอยู่ในสภาพแห่งความหวาดกลัว เว้นแต่กรณีผู้ที่ถูกบังคับเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อันตรายยิ่งและเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมากที่สุด

ดังนั้น สมควรอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคนที่ระมัดระวังและยับยั้งตนเอง ซึ่งเราขอความคุ้มครองต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ทรงทำให้เราห่างไกลจากสิ่งที่จะทำให้เราต้องตกอยู่ภายใต้การโกรธกริ้วของพระองค์ด้วยเถิด อามีน (จบการอ้างคำพูดจากเชคมุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ)

สิ่งที่รวมอยู่ในประเภทที่สี่ด้วยประการหนึ่งก็คือ การเชื่อว่ากฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองมีความประเสริฐกว่าบทบัญญัติอิสลาม หรือมีฐานะเท่ากัน หรืออนุญาตให้ใช้เป็นข้อตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทได้แม้จะเชื่อว่าอิสลามดีกว่าก็ตามที หรือเชื่อว่าระบอบของอิสลามไม่เหมาะสมที่จะใช้ในศตวรรษที่ยี่สิบ หรือเชื่อว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้มุสลิมตกต่ำ หรือเชื่อว่าอิสลามเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้าเท่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในด้านอื่นๆ แต่อย่างใด

ในประเภทที่สี่นี้ยังรวมถึง การมีความเชื่อว่าการดำเนินบทลงโทษของอัลลอฮฺ เช่น การตัดมือขโมย การขว้างหินผู้ผิดประเวณี ไม่คู่ควรกับยุคนี้ และยังรวมถึงการเชื่อว่าอนุญาตให้ใช้บทบัญญัติอื่นนอกจากบทบัญญัติของอัลลอฮฺในเรื่องธุรกรรมและการลงโทษหรืออื่นๆ แม้ว่าจะไม่ได้เชื่อว่าสิ่งนั้นดีกว่าบทบัญญัติของอิสลามก็ตาม เพราะการเชื่อเช่นนั้นก็คือการอนุมัติสิ่งที่อัลลอฮฺห้ามนั่นเอง ใครก็ตามที่อนุมัติสิ่งที่อัลลอฮฺห้ามซึ่งเป็นที่รู้กันในศาสนาว่ามันต้องห้าม เช่น การผิดประเวณี การดื่มเหล้า ดอกเบี้ย การตัดสินด้วยบทบัญญัติอื่น ฯลฯ เขาผู้นั้นก็เป็นกาฟิรฺ (อย่างไรก็ตาม ในเชิงปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้ชี้ขาดว่าคนหนึ่งคนใดตกเป็นกาฟิรฺโดยไม่ไตร่ตรองหรือกระทำไปโดยไม่ผ่านการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ วัลลอฮุอะอฺลัม – บรรณาธิการ)

เราวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้ทรงประทานหนทางที่พระองค์พอพระทัย และทรงชี้ทางเราและบรรดามุสลิมทั้งหลายสู่เส้นทางที่เที่ยงตรง แท้จริง พระองค์คือผู้ได้ยินและใกล้ชิดยิ่ง


وصلى الله على خير خلقه محمد وآله وصحبه وسلم

แหล่งที่มา www.binbaz.org

อับดุลอะซีซ บิน บาซ
แปลโดย : นุมาน สะอะ www.islammore.com
 

อัพเดทล่าสุด