เรื่องละหมาด เวลาของละหมาดตะฮัจยุต ลืมซุหยูด รู่ก่นละหมาด


9,649 ผู้ชม

สิ่งที่มุ่งหมายของละหมาด ตะฮัจญุด ได้แก่การละหมาดกลางคืน เมื่อตื่นขึ้นในเวลากลางคืน แม้ว่าเขานอนเพียงประเดี๋ยวก็ตาม และ ละหมาดตะฮัจญุด มิได้กำหนดจำนวนรอก้าอัตที่แน่นอน  แต่อย่างน้อย สอง รอก้าอัต และละหมาดตะฮัจญุดนั้น ให้กระทำแบบตัวใครตัวมัน


เรื่องละหมาด เวลาของละหมาดตะฮัจยุต ลืมซุหยูด รู่ก่นละหมาด

เรื่องละหมาด เวลาของละหมาดตะฮัจยุต ลืมซุหยูด รู่ก่นละหมาด

สิ่งที่มุ่งหมายของละหมาด ตะฮัจญุด ได้แก่การละหมาดกลางคืน เมื่อตื่นขึ้นในเวลากลางคืน แม้ว่าเขานอนเพียงประเดี๋ยวก็ตาม และ ละหมาดตะฮัจญุด มิได้กำหนดจำนวนรอก้าอัตที่แน่นอน  แต่อย่างน้อย สอง รอก้าอัต และละหมาดตะฮัจญุดนั้น ให้กระทำแบบตัวใครตัวมัน

การละหมาดตะฮัจญุดไม่มีจำนวนแน่นอน  บ้างก็ระบุว่า  มีจำนวน  12  ร็อกอะฮฺ  (อิอานะตุตตอลิบีน  ;  เล่ม  1  หน้า  309)  เป็นการละหมาดซุนนะฮฺในยามค่ำคืนหลังจากการนอน  เพราะคำว่าตะฮัจญุด  มีความหมายว่า  ตื่นนอนด้วยความลำบาก  (อ้างแล้ว  1/308)  หรือหมายถึงละทิ้งการนอนเพื่อลุกขึ้นละหมาด  (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญี่ย์  เล่มที่  1  หน้า  219)  บางทีเรียกการละหมาดตะฮัจญุดว่า  กิยามุลลัยล์  (قِيَامُ الَّيلِ)  ซึ่งมีความหมายกว้างครอบคลุมการละหมาดซุนนะฮฺทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังการละหมาดอิชาอฺ  เช่น  ละหมาดตะรอวีฮฺก็เรียกว่า  กิยามุ้ลลัยล์  การละหมาดวิตร์เพียง  1  รอกอะฮฺหลังละหมาดอิชาอฺก็เรียกว่า  กิยามุลลัยล์  เป็นต้น  (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ  ;  อัซซัยยิด  ซาบิก  เล่มที่  1  หน้า  223)  
แต่ถ้าทำละหมาดซุนนะฮฺ หลังจากการนอนหลับในยามค่ำคืนแล้ว เรียกว่า  ละหมาดตะฮัจญุดนั่นเอง  นักวิชาการบางท่านที่ระบุจำนวนของละหมาดกิยามุลลัยล์อาศัยหลักฐานที่รายงานโดยอิบนุ  อับบาส  (ร.ฎ.)  และท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (ร.ฮ.)  ว่าท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ละหมาดกิยามุลลัยล์  11  รอกอะฮฺ  หรือ  13  รอกอะฮฺ  โดยอธิบายว่าท่านละหมาด  10  รอกอะฮฺและวิตรฺ  1  รอกอะฮฺ  และรวมละหมาดซุนนะฮฺอัลฟัจร์เข้าไปอีก  2  รอกอะฮฺ  รวมเป็น  13  รอกอะฮฺ  (ดูรายละเอียดในซาดุ้ลมะอาด ; อิบนุ  อัลก็อยฺยิม  เล่มที่  1  หน้า  216)  แต่สำหรับนักวิชาการที่ระบุว่าการละหมาดตะฮัจญุดไม่มีจำนวนแน่นอนก็ถือว่าการละหมาดจำนวน  11  รอกอะฮฺนั้นคือ  จำนวนสูงสุดของการละหมาดวิตรฺ  (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญี่ย์  เล่มที่  1  หน้า  216)
ส่วนวิธีการในการละหมาดตะฮัจญุดนั้น  หลังจากตื่นนอนก็ให้ลูบหน้า  แปรงฟัน  และมองท้องฟ้าพร้อมกับกล่าวซิกรุลลอฮฺ  อาบน้ำละหมาดแล้วเริ่มละหมาด  2  รอกอะฮฺเบา ๆ ต่อมาก็ลุกขึ้นละหมาดทีละ  2  รอกอะฮฺแล้วปิดท้ายด้วยละหมาดวิตร์  หรือจะละหมาดรวดเดียวจำนวน  8  รอกอะฮฺ  หรือ  10  รอกอะฮฺ  แล้วก็ตามด้วยละหมาดวิตร์ก็ได้  หรือจะละหมาดรวดเดียวแล้วนั่งตะชะฮฺฮุดในครั้งสุดท้ายแล้วให้สลามก็ได้  เรียกว่า  ทำได้ตามสะดวกเพราะท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ทำไว้หลายรูปแบบนั่นเอง  
ส่วนที่ถามว่าจำเป็นต้องละหมาดวิตฺร์ด้วยหรือไม่  ก็ตอบว่าไม่จำเป็น  แต่ที่ดีที่สุดให้เอาละหมาดวิตฺร์ไว้ปิดท้ายการละหมาดกิยามุลลัยล์  ยกเว้นในกรณีที่ละหมาดวิตฺร์ไปก่อนแล้วในคืนนั้น  เช่น  ละหมาดวิตฺร์หลังละหมาดอิชาอฺไปเมื่อตอนก่อนนอนแล้วก็ไม่มีซุนนะฮฺให้ทำละหมาดวิตฺร์อีก 
 
เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการละหมาดตะฮัจญุด คือ  ให้ล่าช้าจนเข้าสู่ส่วนที่  3  สุดท้ายของเวลากลางคืน  กล่าวคือ  ถ้าแบ่งเวลากลางคืน  ซึ่งมีอยู่ประมาณ  12  ช.ม.  แต่ละช่วงก็จะมี  4  ช.ม.  หากแบ่งเป็น  3  ช่วง,  ช่วงสุดท้ายก็อยู่ประมาณราวตี  2  จนถึงก่อนเวลาศุบฮินั่นเอง  นี่คือเวลาที่ดีที่สุด  (อัลอัฟฎ้อล)  แต่เวลาที่อนุญาตนั้นก็คือ  หลังละหมาดอิชาอฺแล้ว  ท่านอัลฮาฟิซฺ  อิบนุ  ฮะญัร  (ร.ฮ.)  กล่าวว่า  :  ไม่ปรากฏว่าสำหรับการละหมาดตะฮัจญุดของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  มีเวลาที่แน่นอนแต่เป็นไปตามความสะดวกในการลุกขึ้นละหมาดของท่าน  (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ  เล่ม 1  หน้า  222)  บางทีท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็ลุกขึ้นละหมาดเมื่อได้เวลาเที่ยงคืน  หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย,  บางทีท่านก็ลุกขึ้นเมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน  เป็นต้น  (ซาดุ้ลมาอาดฺ  เล่มที่  1  หน้า  139)


กรณีลืมสุหญูด แล้วมานึกขึ้นได้เมื่อให้สล่ามแล้วก็ให้สุหญูดรุ่ก่นที่ขาดไป  เมื่อสุหญูดแล้วก็ให้อ่านตะชะฮฺฮุด  ถึงแม้ว่าจะอ่านไปแล้วก็ตาม  แล้วก็สุหญูดซะฮฺวีย์สองครั้งแล้วให้สล่าม  ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องไม่แยกจากกันนานเกินไประหว่างการให้สล่ามเมื่อตอนลืมกับการนึกขึ้นได้  แต่ถ้าหากแยกจากกันนานเกินไปก็จำเป็นต้องเริ่มต้นละหมาดใหม่  (อัลมัจญ์มูอฺ  เล่มที่  4  หน้า  43,48-49)  โดยหลักในการพิจารณาว่าแยกกันนานหรือไม่ให้ถือตามจารีต  (อัลอุรฟุ้)  หรือขนาดเท่ากับละหมาดยาว  1  รอกอะฮฺ  ซึ่งในเรื่องการละทิ้งการสุหญูดรุ่ก่นนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก  คุณวัยรุ่นมิได้ระบุมาว่าเป็นอย่างไร  จึงตอบไว้กว้าง ๆ 
ส่วนถ้าหากสุหญูดที่ถามมาเป็นสุหญูดซะฮฺวีย์  คือลืมสุหญูดซะฮฺวีย์ก่อนให้สล่าม  แล้วก็ให้สล่ามมานึกขึ้นได้ว่าลืมสุหญูดซะฮฺวีย์อีกก็ให้พิจารณาว่าแยกจากกันนานหรือไม่ระหว่างการให้สล่ามกับการนึกขึ้นได้  ถ้าหากแยกจากกันนานตามเกาลุน  ญะดีดฺที่ปรากฏชัดคือไม่ต้องสุหญูดอีก  แต่ในเกาลุนก่อดีมให้สุหญูด  และถือว่าละหมาดที่ผ่านมาใช้ได้ทั้ง  2  กรณี  ในกรณีที่สุหญูดนั้นก็ให้สล่ามตามปกติอีกครั้งเมื่อสุหญูดซะฮฺวีย์แล้วตามประเด็นหนึ่งในมัซฮับ  ส่วนตามมัซฮับนั้นก็ให้สุหญูดโดยไม่ต้องให้สล่ามอีก  (อัลมัจญ์มูอฺ  เล่มที่  4  หน้า  70-71)
ในกรณีที่ละทิ้งการอ่านอัลฟาติฮะฮฺโดยหลงลืมจนกระทั่งให้สล่ามหรือลงก้มรุ่กัวอฺ  ก็มี  2  คำกล่าว  (เกาว์ลานฺ)  ที่มัชฮู๊ร  คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดโดยมติเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์  เป็นเกาว์ลุนญะดีด  คือ  การอ่านฟาติฮะฮฺนั้นไม่ตกไป  โดยหากนึกขึ้นได้ในขณะก้มรุ่กัวอฺหรือหลังการรุ่กัวอฺก่อนลุกขึ้นยืนยังรอกอะฮฺที่  2  ก็ให้ย้อนกลับไปยืนและอ่านซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ  และถ้าหากนึกขึ้นได้หลังจากลุกขึ้นยืนไปยังรอกอะฮฺที่  2  แล้ว  ก็ยกเลิกรอกอะฮฺที่  1  (คือไม่นับว่าเป็นรอกอะฮฺ)  แล้วรอกอะฮฺที่  2  ก็กลายเป็นรอกอะฮฺที่  1  
และถ้าหากนึกขึ้นได้หลังจากให้สล่ามแล้ว  และแยกจากกันไม่นาน  ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปละหมาดและทำต่อในอากัปกริยาที่เป็นอยู่  (เช่นนั่ง)  แล้วก็ทำอีก  1  รอกอะฮฺ  แล้วให้สุหญูดซะฮฺวีย์  แต่ถ้าหากแยกจากกันนานเกินไป  ก็จำเป็นต้องเริ่มต้นละหมาดใหม่  ส่วนในเกาว์ลุนก่อดีมนั้นถือว่าการอ่านฟาติฮะฮฺตกไปด้วยเหตุการลืม  ดังนั้นตามคำกล่าวนี้  หากนึกขึ้นได้หลังการให้สล่าม  ก็ไม่มีอะไร  (คือแล้วกันไป)  แต่ถ้านึกขึ้นได้ในขณะรุ่กัวอฺหรือหลังจากรุ่กัวอฺก่อนให้สล่าม  ก็มี  2  ประเด็น  

         1. จำเป็นต้องกลับไปอ่าน  

         2. ไม่มีอะไร  (คือแล้วกันไป)  และถือว่ารอกอะฮฺที่ลืมนั้นใช้ได้  
         (กิตาบอัลมัจญ์มูอฺ  ชัรฮุ้ลมุฮัซซับฺ  เล่มที่  3  หน้า  287-288)
 

รุ่ก่นคือสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติและเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อแท้หรือสาระของการปฏิบัตินั้น  รุ่ก่นของการละหมาดมี  13  ประการ  คือ  

        1. เหนียต
        2. ยืนตรง
        3. ตักบีร่อตุ้ลอิฮฺรอม
        4. อ่านอัลฟาติฮะฮฺ
        5. รุ่กัวอฺ  
        6. เอียะอฺติด๊าล
        7. สุหญูด  2  ครั้งในแต่ละรอกอะฮฺ
        8. นั่งระหว่าง  2  สุหญูด
        9. นั่งครั้งสุดท้ายก่อนให้สล่าม
        10. อ่านตะชะฮฺฮุดในการนั่งครั้งสุดท้าย
        11. กล่าวซอละหวาตแก่ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  หลังการอ่านตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย
        12. ให้สล่ามครั้งที่  1  
        13. เรียงตามลำดับรุ่ก่นทั้งหมด
ทั้ง  13  ประการที่กล่าวมาเรียกว่า  บรรดารุ่ก่นของการละหมาด  เป็นสิ่งจำเป็นในการละหมาดที่ขาดไม่ได้เรียกอีกอย่างว่าเป็นฟัรฎูหรือวาญิบก็ได้  และฟัรฎูกับวาญิบเหมือนกันในมัซฮับอัชชาฟิอีย์  จะแยกกันก็เฉพาะในเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์เท่านั้น  ส่วนการปฏิบัติที่เมื่อเกิดความบกพร่องแล้วให้ทำการสุหญูดซะฮฺวีย์คือ  ซุนนะฮฺอับอาฎ  เช่นการนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรก  หรือการอ่านดุอาอฺกุหนูตในละหมาดซุบฮิ  เป็นต้น  

อาลี เสือสมิง
ที่มา: alisuasaming.org


อัพเดทล่าสุด