ถ้าหากผู้หญิงที่จะไปทำฮัจญ์หาคนผู้ชายที่ห้ามแต่งงาน (มะฮ์รอม) ที่จะเดินทางไปทำฮัจญ์ด้วยทรัพย์สินของตนเองไม่ได้ ผู้หญิงคนนั้นจำเป็นต้องจ้างมะฮ์รอมให้ไปกับตน
เรื่องการแก้บน แก้คำสาบาน ในอิสลาม
ถ้าหากผู้หญิงที่จะไปทำฮัจญ์หาคนผู้ชายที่ห้ามแต่งงาน (มะฮ์รอม) ที่จะเดินทางไปทำฮัจญ์ด้วยทรัพย์สินของตนเองไม่ได้ ผู้หญิงคนนั้นจำเป็นต้องจ้างมะฮ์รอมให้ไปกับตน ถ้าหากมีค่าจ้าง เงื่อนไขนี้ใช้สำหรับการวายิบออกไปทำฮัจญ์ ส่วนเงื่อนไขที่อนุญาตออกไปทำฮัจญ์นั้นคือ มีผู้หญิงร่วมเดินทางไปอีกหนึ่งคนก็เป็นการเพียงพอแล้ว และอนุญาตเช่นเดียวกันให้ผู้หญิงออกไปทำฮัจญ์เพียงลำพังคนเดียว ถ้าหากเส้นทางมีความปลอดภัยเพียงพอ ที่กล่าวมานี้เฉพาะการทำฮัจญ์ที่เป็นฟัรดูเท่านั้น ส่วนฮัจญ์ที่ไม่ใช่ฟัรดูและในการเดินทางทั่ว ๆ ไปนั้นจำเป็นต้องมีมะห์รอม ที่เป็นสามี หรือที่เป็นบุคคลอื่นร่วมเดินทางไปด้วย
zeezah ได้บนเอาไว้ว่า ถ้าตัวเองรอดพ้นจากการ เป็นโรคโรคหนึ่ง ซึ่งรอคำตอบจากหมอ ช่วงขณะรอนั้น กระวนกระวายใจมาก จึงได้บนไว้ว่า ถ้าตัวเองไม่เป็น จะแก้บนด้วยการไปทำอุมเราะห์ ตอนนี้เนียตไว้ว่า ปีหน้าจะไป (อินชาอัลเลาะห์) แต่มาอ่านเจอบทความข้างบน จาก web นี้แหละ zeezah ไม่มีมะห์รอมไปด้วยจะทำอย่างไรดี ขอคำแนะนำ...
การบนบาน คือ "การสัญญาว่าจะกระทำดีเป็นกรณีเฉพาะ" หนังสือมุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ 6/341
อนึ่ง การบนบานนั้นเราจะเล่น ๆ ไม่ได้เลย หากจะบนบานต้องคิดพิจารณาใคร่ควรญให้รอบคอบ เนื่องมันหมายถึงการสัญญาระหว่างเรากับอัลเลาะฮ์ เนื่องจากถ้าหากเราป่วยหรือกลัวเป็นโรคหนึ่ง ซึ่งต่อไปภาคหน้าเราไม่รู้เลยว่า อัลเลาะฮ์จะให้เราทดสอบเราให้ป่วยทนทุกข์ด้วยโรคร้ายนี้หรือไม่ หรือถ้าหากป่วยแล้วอาจจะทำให้เราเสียชีวิตหรือทำให้ชีวิตต้องลำบากด้วยการป่วยดังกล่าว ดังนั้นผู้ที่อยู่สถาวะเช่นนี้ ไม่มีที่พึ่งอันใดนอกจำต้องกลับหาอัลเลาะฮ์อย่างมุ่งมั่นตั้งใจอย่างหนักแน่นโดยทำการบนบานว่า หากพระองค์ทรงให้หวยป่วยหรือให้พ้นจากโรคร้าย เขาจะทำการบริจาคทาน เลี้ยงอาหาร หรือไปทำอุมเราะฮ์ เป็นต้น เพื่อต้องการให้พระองค์ทรงให้เขาพ้นจากโรคร้ายที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงรู้มาก่อนแล้วว่า เราจะทำการสัญญาบนบานต่อพระองค์ แล้วพระองค์ผู้ทรงเมตตายิ่ง ก็ทำให้เราได้หายป่วยหรือพ้นจากโรคร้าย
ดังนั้น เมื่อพระองค์ประทานให้แก่เราพ้นภัยจากโรคร้ายหรือบะลาแล้ว หน้าที่ของผู้บนบานที่สัญญาไว้กับอัลเลาะฮ์ ก็จำเป็นต้องทำตามนั้น ฉะนั้นหลังจากที่อัลเลาะฮ์ให้เราสุขสบายปลอดจากโรคร้าย เราห้ามทำเป็นลืมอัลเลาะฮ์หรือหลีกเลี่ยงในการบนบานได้สัญญาไว้กับพระองค์เป็นอันขาด เพราะถ้าหากพระองค์ให้เรากลับมาเป็นโรคร้ายและได้รับบะลาอีกครั้ง ผู้บนบานอาจจะหมดสิทธิ์ยืนอุทรณ์ต่ออัลเลาะฮ์ก็เป็นได้ วัลอิยาซุบิลลาฮ์
เพราะฉะนั้น การบนบาน อิมามอัชชาฟิอีย์จึงไม่สนับสนุนและถือว่าสิ่งมักโระฮ์(ไม่บังควรกระทำ) เพราะเป็นการผูกมัดแก่ตนเองระหว่างเขากับอัลเลาะฮ์ทั้งที่พระองค์มิได้สั่งใช้กระทำการผูกมัด แต่เมื่อสัญญาบนบานกับพระองค์แล้ว บทบัญญัติศาสนาในเรื่องการบนบานก็ถูกกำหนดขึ้นมาทันที
หลักฐานในเรื่องการบนบานและจำเป็นต้องกระทำตามสิ่งที่บนบานนั้น คือ :
อัลเลาะฮ์ทรงตรัสถึงบรรดาผู้มีคุณธรรมว่า
يُوفُونَ بِالنَّذْرِ وَيَخَافُونَ يَوْماً كَانَ شَرُّهُ مُسْتَطِيراً
"(ที่พวกเขาได้รับการตอบแทนก็เพราะ) พวกเขาได้ทำตามการบนบานอย่างครบถ้วน (ไม่บิดพริ้ว) และพวกเขากลัววันหนึ่ง ซึ่งโทษทัณฑ์ของมันโบยบินอยู่ทั่วไป (หลบหนีไปใหนไม่พ้น วันนั้นคือวันกิยามะฮ์)" อัลอันซาน 56
พระองค์ทรงตรัสเช่นกันว่า
وَلْيُوفُوا نُذُورَهُمْ
"และพวกเขาต้องทำตามการบนบานให้ครบถ้วน" อัลฮัจญฺ 29
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวตำหนิผู้ที่บนบานแล้วบิดพริ้วความว่า
إِنَّ بَعْدَكُمْ قَوْماً يَخُوْنُونَ وَلاَ يُؤْتَمَنُوْنَ وَيَشْهَدُوْنَ وَلاَ يُسْتَشْهَدُوْنَ وَيَنْذُرُوْنَ وَلاَ يَفَوْنَ وَيَظْهَرُ فِيْهِمْ السِّمَنُ
"แท้จริงหลังจาก(ยุคสมัย)พวกท่าน จะมีกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาจะบิดพริ้วและไม่ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจ พวกเขาจะเป็นพยานโดยมิได้ถูกขอให้มาเป็นพยายาน พวกเขาจะทำการบนบานโดยพวกเขาไม่ทำให้ครบสมบูรณ์(กับบนบานนั้น) และในหมู่พวกเขาจะปรากฏการอวดกันในเรื่องดุนยา" รายงานโดยบุคอรีย์ (2508) และมุสลิม (2535)
การบนบานมีสองประเภท
1. การบนบานแบบ اللََجَاجُ (อัลละญาจญฺ) คือการบนบานด้วยกับสิ่งที่เขาไม่ปรารถนา
2. การบนบานแบบ التَّبَرُّرُ (อัตตะบัรรุร) คือการบนบานด้วยกับสิ่งที่เขาปรารถนาชอบที่จะกระทำ
อธิบายรายละเอียด
หนึ่ง : การบนบาน اللََجَاجُ (อัลละญาจญฺ) นั้นอยู่ในหลักการเดียวกับการสาบานในการยับยั้ง , การส่งเสริม , ให้บรรลุถึงที่บอกเล่า , ซึ่งดังตัวอย่างต่อไปนี้ :
(1) การยับยั้ง กล่าวคือ เขาได้ยับยั้งตนเองจากสิ่งหนึ่ง เช่นเขากล่าวว่า หากฉันพูดกับคนคนหนึ่ง ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉัน ทำเช่นนั้นเช่นนี้ , หรือยับยั้งผู้อื่น เช่นเขากล่าวว่า หากคนนั้นคนนี้ได้กระทำเช่นนั้นเช่นนี้ ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉันต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้
(2) การกระตุ้นส่งเสริม กล่าวคือ การได้กระตุ้นส่งเสริมตนเอง เช่นเขากล่าวว่า หากฉันไม่เข้าไปในบ้าน ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉัน ทำเช่นนั้นเช่นนี้ , หรือส่งเสริมผู้อื่น เช่นเขากล่าวว่า หากคนนั้นคนนี้ไม่กระทำเช่นนั้นเช่นนี้ ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉัน ทำเช่นนั้นเช่นนี้
(3) ให้บรรลุถึงสิ่งที่บอกเล่า เช่นเขากล่าวว่า หากเรื่องนี้ไม่เป็นไปอย่างที่ท่านได้พูดหรือไม่เป็นไปอย่างที่เขาได้พูด ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉัน ทำเช่นนั้นเช่นนี้
ฮุกุ่มของการบนบานประเภทนี้ คือให้เลือกเอาระหว่างการกระทำสิ่งที่บนบานไว้หรือไม่กระทำแต่ต้องเสียกัฟฟาเราะฮ์(ค่าปรับ)ตามทัศนะที่มีน้ำหนัก
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
كَفّارَةُ النَّذْرِ كَفَّارَةُ يَمِيْنٍ
"ค่าปรับของการ(ผิด)บนบานนั้น คือค่าปรับของการ(ผิด)สาบาน" รายงานโดยมุสลิม (1645)
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ กล่าวว่า "ไม่มีกัฟฟาเราะฮ์(เสียค่าปรับ)ในการบนบานแบบ(อัตตะบัรรุร)อย่างเด็ดขาด ดังนั้นจึงต้องเจาะจงตีความฮะดิษนี้ในเรื่องของการบนบานแบบอัลละญาจญฺเพราะมีซอฮาบะฮ์มากมายที่ได้กล่าวเช่นนั้นโดยไม่มีผู้ใดให้การขัดแย้ง" หนังสือตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ 4/406 ตีพิมพ์ที่มักตะบะฮ์อัษษะกอฟะฮ์อัดดีนียะฮ์
ท่านอิมามค่อฏีบ อัชชัรบีนีย์ ได้กล่าวว่า "จุดมุ่งหมายของฮะดิษนี้ อยู่ในเรื่องการบนบานแบบอัลละญาจญฺ ซึ่งได้รายงานทัศนะดังกล่าวนี้ จากท่านอุมัร , ท่านหญิงอาอิชะฮ์ , ท่านอิบนุอับบาส , ท่านอิบนุอุมัร , ท่านหญิงฮัฟเซาะห์ , ท่านนางอุมมุซะละมะฮ์ (ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ้ม)" หนังสือมุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ 6/242
การเสียกัฟฟาเราะฮ์ ก็คือให้เลือกกระทำดังต่อไปนี้
1. การปล่อยทาสผู้มีความศรัทธา
2. การให้อาหารหนึ่งมุด(ประมาณ 600 กรัม) แก่คนยากจนอนาถา 10 คน
3. การบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้สวมใส่ตามปกติแก่คนอนาถา 10 คน
ดังนั้น หากผู้ผิดบนบานไม่มีความสามารถจากอันใดสิ่งดังกล่าวทั้งหมด ก็ให้ถือศีลอด 3 วัน ไม่ว่าจะถือศีลอดติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
สอง : การบนบานแบบ التَّبَرُّرُ (อัตตะบัรรุร) คือการบนบานด้วยกับสิ่งที่เขาปรารถนาชอบที่จะกระทำเพื่อสร้างใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
(1) การบนบานที่ไม่ได้วางข้อแม้กับสิ่งใด เช่นเขากล่าวว่า ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ จำเป็นบนฉันทำการถือศีลอด , ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉันทำการบริจาคทรัพย์สิน เป็นต้น
(2) การบนบานในสิ่งดีงามโดยมีการวางข้อแม้ เช่นเขากล่าวว่า หากอัลเลาะฮ์ให้ฉันหายป่วย หรือทำให้คนป่วยของฉันหาย หรือหากอัลเลาะฮ์ให้ฉันสอบผ่านหรือหากอัลเลาะฮ์ให้ฉันพ้นภัยจากบะลอที่ประสบอยู่ , ขอยืนยันต่อพระองค์ว่า จำเป็นบนฉันต้องทำการถือศีลอด ทำละหมาดสุนัต ทำอุมเราะฮ์ หรือทำการบริจาคทรัพย์สิน เป็นต้น
ฮุกุ่มของการบนบานประเภทนี้ ท่านอิมามอัลบาญูรีย์กล่าวว่า "จำเป็นวายิบบนเขาต้องกระทำสิ่งที่บนบานเอาไว้ แต่อนุญาตให้ประวิงเวลาออกไปได้ถ้าหากเขามิได้เจาะจงเวลาที่เฉพาะ" หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์ 2/330 หมายถึง การบนบานแบบ อัตตะบัรรุรประเภทที่หนึ่งนั้น เช่น บนบานว่า ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉันทำการถือศีลอด ก็ให้จำเป็นบนเขาต้องกระทำตามนั้นแต่ประวิงเวลาให้กระทำในช่วงเวลาที่สะดวกสำหรับผู้บนบาน แต่สุนัตให้รีบกระทำ
แต่การบนบานแบบตะบัรรุรในประเภทที่สอง เช่น บนบานว่า หากอัลเลาะฮ์ให้ฉันหายป่วยหรือให้พ้นจากโรคร้าย ขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า จำเป็นบนฉันทำการถือศีลอดหรือทำอุมเราะฮ์ เป็นต้น ก็ถือว่าจะเป็นต้องรีบกระทำเมื่อข้อแม้ได้เกิดขึ้น คือเมื่ออัลเลาะฮ์ให้หายป่วยหรือทรงให้พ้นจากบะลอ
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
مَنْ نَذَرَ أَنْ يُطِيْعَ اللهَ فَلْيُطِعْهُ
"ผู้ใดที่บนบานจะทำการฏออัตต่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้นเขาจงกระทำการฏออัตต่อพระองค์เถิด" รายงานโดยบุคอรีย์ (6696)
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร กล่าวว่า "จำเป็นต่อผู้ทำการบนบานต้องกระทำสิ่งที่เขาได้บนบานไว้เมื่อข้อแม้ที่ตั้งขึ้นนั้นได้เกิดขึ้น เพราะมีฮะดิษบุคอรีย์รายงานว่า ""ผู้ใดที่บนบานจะทำการฏออัตต่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้นเขาจงกระทำการฏออัตต่อพระองค์เถิด" ซึ่งถ้อยคำชัดเจนของอิมามอันนะวาวีย์นั้น จำเป็นให้ผู้บนบานต้องกระทำโดยรีบด่วนด้วยการปฏิบัติสิ่งที่บนบานหลังจากที่เกิดข้อแม้ที่ได้ตั้งขึ้น" ตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ 4/409 ตีพิมพ์ที่มักตะบะฮ์อัษษะกอฟะฮ์อัดดีนียะฮ์
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ กล่าวว่า "ถ้าเขากล่าว(บนบาน)ว่า หากอัลเลาะฮ์ให้หายกับ(ญาติ)ผู้ป่วยของฉัน ดังนั้นขอยืนยันต่ออัลเลาะฮ์ว่า บนฉันจะทำฮัจญ์ แล้วพระองค์ก็ทรงทำให้หาย ดังนั้นจึงจำเป็นบนเขาต้องทำฮัจญ์ และในการวายิบต้องทำฮัจญ์นั้น จะไม่ถูกพิจารณาว่าจะมีต้องมีเสบียงและพาหนะ แต่การมีทั้งสองนั้นจะถูกพิจารณาในเรื่องการปฏิบัติฮัจญ์หรือไม่? ซึ่งทัศนะที่ชัดเจนของมัซฮับคือ จำเป็นต้องพิจารณา" ตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ 4/409 หมายถึง เมื่อเงื่อนไขในการบนบานเกิดขึ้น วายิบบนเขาต้องทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์แม้ว่าจะไม่มีเสบียงหรือพาหนะก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาจะไปทำฮัจญ์ต้องก็ต้องมีเสบียงและพาหนะหรือมะห์รอมสำหรับสตรีมุสลิมะฮ์
ดังนั้น เมื่อวายิบบนเขาต้องทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์บนบาน แต่ไม่มีความสามารถไปได้ เพราะเสบียงหรือค่าใช้จ่ายยังไม่เพียงพอ หรือไม่มีมะห์รอมร่วมเดินทางไปด้วย หรือไม่มีมุสลิมะฮ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับนาง ก็ให้ผู้บนบานทำการกอฏอชดใช้ฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์บนบานในปีต่อไปเมื่ออัลเลาะฮ์ให้ผู้บนบานความสะดวกจริง แต่ทั้งหมดนี้หากเขาไม่มีความสามารถไปทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์บนบานได้จริง ๆ ก็ให้ว่าจ้างผู้อื่นไปทำแทน
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ