พิธีแต่งงานแบบอิสลาม เรียกว่า นิกะห์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงปลงใจจะแต่งงานกัน จากนั้นฝ่ายชายจะให้ผู้ใหญ่ไปทำการสู่ขอ โดยมีการตกลงค่า มะฮัรฺ หรือ สินสอดทองหมั้น และกำหนดวันแต่งงาน
ผู้หญิงที่ถูกห้ามไม่ให้แต่งงานด้วย ตามบทบัญญัติอิสลาม
พิธีแต่งงานแบบอิสลาม เรียกว่า นิกะห์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงปลงใจจะแต่งงานกัน จากนั้นฝ่ายชายจะให้ผู้ใหญ่ไปทำการสู่ขอ โดยมีการตกลงค่า มะฮัรฺ หรือ สินสอดทองหมั้น และกำหนดวันแต่งงาน
ผู้หญิงที่ชายต้องการแต่งงานด้วยนั้นมีเงื่อนไขว่า นางต้องไม่ใช่ผู้หญิงที่หะรอมสำหรับชายคนนั้น
เหตุแห่งการต้องห้ามของผู้หญิงที่ถูกห้ามมิให้แต่งงานด้วยมี 2 ประเภท คือ
1. การห้ามอย่างถาวร ซึ่งมี 3 ประการ
1.1 ห้ามอันเนื่องด้วยสายโลหิต คือ 1) แม่และผู้ที่ถือว่ามีฐานะเดียวกันในชั้นที่สูงกว่าของตระกูล (เช่น ย่า ยาย ทวด) 2) และลูกสาวและผู้ที่ถือว่ามีฐานะเดียวกันในชั้นล่างลงไปของเชื้อสาย(เช่นหลานสาว เหลนสาว) 3)พี่สาวน้องสาว 4) พี่สาวและน้องสาวของพ่อ 5) พี่สาวและน้องสาวของแม่ 6) ลูกสาวของพี่ชายน้องชาย 7) ลูกสาวของพี่สาวน้องสาว
1.2 ห้ามอันเนื่องด้วยการร่วมน้ำนม ซึ่งถูกห้ามเหมือนกับการห้ามด้วยสายโลหิต หญิงทุกคนที่ร่วมน้ำนมซึ่งมีฐานะเหมือนหญิงที่ถูกห้ามเนื่องด้วยสายโลหิต จะถูกห้ามเหมือนเป็นกรณีเดียวกัน (ตัวอย่างเช่น พี่สาวจากการร่วมน้ำนมก็มีหุก่มเหมือนกับพี่สาวจากสายโลหิต คือแต่งงานกันไม่ได้) เว้นแต่แม่ของพี่น้องร่วมน้ำนมของเขา หรือพี่สาวน้องสาวของลูกชายจากการดื่มนม(หมายถึง เด็กชายไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของเขา แต่ได้ดื่มนมจากภรรยาของเขา) ซึ่งพวกนางจะไม่ถูกห้ามสำหรับเขา และการดื่มนมที่ทำให้ห้ามแต่งงานนั้นคือการดื่มห้าครั้งขึ้นไป
1.3 ห้ามอันเนื่องด้วยความเกี่ยวดองกันเป็นเครือญาติ คือ 1) แม่ของภรรยา 2) ลูกสาวของภรรยาที่เกิดจากสามีอื่นในกรณีที่เขา(สามีใหม่)ได้มีเพศสัมพันธ์กับแม่ของนางแล้ว 3) ภรรยาของพ่อ 4) ภรรยาของลูก
สรุปแล้ว หญิงที่ห้ามเนื่องจากสายโลหิตนั้นมีเจ็ดจำพวก และห้ามเนื่องจากน้ำนมก็มีเจ็ดจำพวกเช่นเดียวกัน และห้ามเนื่องจากความสัมพันธ์เกี่ยวดองกันอีกสี่จำพวก
ดังคำตรัสของพระองค์อัลลอฮฺที่ว่า
حُرِّمَتْ عَلَيْكُمْ أُمَّهَاتُكُمْ وَبَنَاتُكُمْ وَأَخَوَاتُكُمْ وَعَمَّاتُكُمْ وَخَالَاتُكُمْ وَبَنَاتُ الْأَخِ وَبَنَاتُ الْأُخْتِ وَأُمَّهَاتُكُمُ اللَّاتِي أَرْضَعْنَكُمْ وَأَخَوَاتُكُم مِّنَ الرَّضَاعَةِ وَأُمَّهَاتُ نِسَائِكُمْ وَرَبَائِبُكُمُ اللَّاتِي فِي حُجُورِكُم مِّن نِّسَائِكُمُ اللَّاتِي دَخَلْتُم بِهِنَّ فَإِن لَّمْ تَكُونُوا دَخَلْتُم بِهِنَّ فَلَا جُنَاحَ عَلَيْكُمْ وَحَلَائِلُ أَبْنَائِكُمُ الَّذِينَ مِنْ أَصْلَابِكُمْ وَأَن تَجْمَعُوا بَيْنَ الْأُخْتَيْنِ إِلَّا مَا قَدْ سَلَفَ إِنَّ اللَّهَ كَانَ غَفُورًا رَّحِيمًا
ความว่า “ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้านั้นคือมารดาของพวกเจ้า ลูกหญิงของพวกเจ้า พี่น้องหญิงของพวกเจ้า พี่น้องหญิงแห่งบิดาของพวกเจ้า และพี่น้องหญิงแห่งมารดาของพวกเจ้า บุตรหญิงของพี่หรือน้องชายของพวกเจ้า บุตรหญิงของพี่หรือน้องหญิงของพวกเจ้า และมารดาของพวกเจ้าที่ให้นมแก่พวกเจ้า และพี่น้องหญิงของพวกเจ้าเนื่องจากการดื่มนม และมารดาภรรยาของพวกเจ้า และลูกเลี้ยงของพวกเจ้าที่อยู่ในตักของพวกเจ้าจากภรรยาของพวกเจ้าที่พวกเจ้าได้สมสู่นาง แต่ถ้าพวกเจ้ามิได้สมสู่นางแล้วก็ไม่มีบาปใด ๆ แก่พวกเจ้า และภรรยาของบุตรพวกเจ้าที่มาจากเชื้อสายของพวกเจ้า และการที่พวกเจ้ารวมระหว่างหญิงสองพี่น้องไว้ด้วยกัน นอกจากที่ได้ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยผู้เมตตาเสมอ” (อัน-นิสาอ์ 23)
ดังนั้นสาเหตุที่ห้ามอย่างถาวรมีสามประการ คือ การสืบสายโลหิต การร่วมดื่มนม และการมีสัมพันธ์เกี่ยวดองกันเป็นเครือญาติ
สรุปกฎในการห้ามเนื่องด้วยสายโลหิต
ญาติผู้หญิงทุกคนของชายที่สืบสายโลหิตเดียวกันเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา เว้นแต่ลูกพี่ลูกน้องของเขาที่เป็นผู้หญิงทุกคน นั่นคือ
1) ลูกสาวของลุงหรืออาชายซึ่งเป็นพี่น้องกับพ่อ
2) ลูกสาวของป้าหรืออาหญิงซึ่งเป็นพี่น้องกับพ่อ
3) ลูกสาวของลุงหรือน้าชายซึ่งเป็นพี่น้องกับแม่
4) ลูกสาวของป้าหรือน้าสาวซึ่งเป็นพี่น้องกับแม่ ทั้งสี่จำพวกนี้เป็นที่อนุญาตให้เขาแต่งงานด้วย
2. การห้ามเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่กำหนดแน่นอน
2.1 ห้ามรวมเอาสองพี่น้องเป็นภรรยาในเวลาเดียวกัน และระหว่างผู้หญิงคนหนึ่งกับป้าหรือน้าของนางที่ร่วมสายโลหิตเดียวกันหรือร่วมแม่นมเดียวกัน จะเป็นที่อนุมัติก็ต่อเมื่อหย่าร้างกันกับคนใดคนหนึ่งระหว่างพวกนางแล้ว หรือคนใดคนหนึ่งระหว่างพวกนางได้เสียชีวิตไป
2.2 หญิงที่อยู่ในอิดดะฮฺ ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับนางจนกว่านางจะออกจากอิดดะฮฺ
2.3 หญิงที่เขาถูกหย่าขาดสามครั้ง จนกว่านางจะแต่งงานกับชายคนใหม่แล้วหย่าขาดจากสามีคนที่สอง จากนั้นก็มาคืนดีกับเขาอีกครั้ง
2.4 หญิงที่ครองอิห์รอมเพื่อทำหัจญ์หรืออุมเราะฮฺ จนกว่านางจะออกจากการครองอิห์รอม
2.5 หญิงมุสลิมเป็นที่ต้องห้ามสำหรับชายที่ไม่ใช่มุสลิมจนกว่าเขาจะรับอิสลาม
2.6 หญิงที่ไม่ใช่มุสลิมนอกจากหญิงชาวคัมภีร์ เป็นที่ต้องห้ามสำหรับชายมุสลิมจนกว่านางจะนับถือศาสนาอิสลาม
2.7 ภรรยาของผู้อื่น และผู้ที่อยู่ในอิดดะฮฺของผู้อื่น เว้นแต่ทาสหญิงของเขา
2.8 หญิงที่ผิดประเวณี เป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ชายที่ผิดประเวณีกับนาง(ห้ามแต่งงานด้วย) และเป็นที่ต้องห้ามสำหรับชายคนอื่นๆ จนกว่านางจะขออภัยโทษและพ้นช่วงอิดดะฮฺของนางไปแล้ว
ผู้หญิงที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ห้ามมิให้แต่งงานด้วย จนกว่าสาเหตุแห่งการห้ามนั้นจะหมดไป
- ห้ามพ่อแต่งงานกับลูกสาวของตนที่ได้จากการผิดประเวณี และห้ามแม่แต่งงานกับลูกชายของตนที่ได้จากการผิดประเวณีเช่นกัน
- ห้ามทาสชายแต่งงานกับนายหญิงของเขา หรือเจ้านายแต่งงานกับทาสหญิงของเขาเอง เพราะทาสหญิงเป็นที่ครอบครองของเจ้านาย และหญิงใดที่ถูกที่ห้ามมีเพศสัมพันธ์ด้วยการแต่งงาน(หญิงแปดจำพวกที่กล่าวข้างต้น) ก็จะถูกห้ามมีเพศสัมพันธ์ด้วยการถือครองเป็นทาส(หมายความว่าถ้าหญิงแปดจำพวกดังกล่าวเป็นทาส ก็ห้ามเขามีเพศสัมพันธ์กับพวกนางด้วยเช่นกัน) เว้นแต่ทาสหญิงที่เป็นชาวคัมภีร์ซึ่งไม่อนุญาตให้แต่งงานกับนาง แต่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับนางได้ในฐานะที่นางเป็นทาสของเขา และในบทบัญญัติทางศาสนานั้นไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนหนึ่งคนใด เว้นแต่ด้วยการแต่งงานหรือการที่นางเป็นทาสของเขาเท่านั้น
หุก่มทาสหญิงที่ให้กำเนิดบุตรแก่เจ้านายของนาง
ทาสหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับเจ้านาย แล้วให้กำเนิดบุตรแก่เขา อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับนาง และใช้ หรือจ้างนางได้เหมือนกับทาสทั่วไป แต่ไม่อนุญาตให้ขาย มอบ หรืออุทิศนาง แก่คนอื่นได้ เสมือนว่านางนั้นเป็นไท(ในกรณีทั้งสามนี้) และจะนับอิดดะฮฺของนางด้วยการมาประจำเดือนเพียงครั้งเดียว เพื่อที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของมดลูกของนาง
เงื่อนไขการแต่งงานที่ตั้งเองโดยไม่ขัดกับบัญญัติทางศาสนา
ถ้าฝ่ายหญิงหรือผู้ปกครองของนางกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เจ้าบ่าวแต่งงานกับคนหญิงอื่นเป็นภรรยาน้อย หรือกำหนดไม่ให้เขาไล่นางออกจากบ้านหรือประเทศของนาง หรือกำหนดให้เพิ่มค่าสินสอดแก่นาง และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับความถูกต้องในพิธีแต่งงาน ถือว่าเงื่อนไขนั้นใช้ได้ ถ้าเขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นสิทธิของฝ่ายหญิงที่จะยกเลิกการแต่งงานได้หากนางต้องการ
ภรรยาที่สามีหายสาบสูญ
ถ้าหญิงที่มีสามีหายสาบสูญไป แล้วนางก็แต่งงานใหม่ ถ้าหากสามีคนแรกกลับมาก่อนที่สามีคนที่สองจะมีเพศสัมพันธ์กับนาง ก็ถือว่านางเป็นสิทธิของสามีคนแรก แต่ถ้าหากสามีคนแรกกลับมาหลังจากที่สามีคนที่สองมีเพศสัมพันธ์กับนางแล้ว สามีคนแรกมีสิทธิจะเอานางคืนมาเป็นภรรยาโดยที่ไม่ต้องรอให้สามีคนที่สองทำการหย่ากับนาง และสามีคนแรกสามารถมีเพศสัมพันธ์กับนางได้ก็ต่อเมื่อพ้นอิดดะฮฺของนางไปแล้ว หรือสามีคนแรกอาจจะปล่อยนางให้เป็นภรรยากับสามีคนที่สองได้ โดยสามารถเอาสินสอดของเขาคืนมาจากสามีคนที่สองของนาง
การแต่งงานกับผู้ที่ไม่ละหมาด
- ถ้าสามีของนางไม่ดำรงการละหมาด นางก็ไม่อนุญาตให้อยู่กับสามีได้ และห้ามสามีของนางมีเพศสัมพันธ์กับนาง เพราะการละทิ้งการละหมาดนั้นเป็นการปฏิเสธศรัทธา และชายที่ปฏิเสธการศรัทธาไม่สามารถจะครอบครองหญิงมุสลิมได้ และถ้านางได้ละทิ้งการละหมาด และไม่ขออภัยโทษต่อพระองค์ จำเป็นสำหรับสามีของนางต้องแยกจากนาง เพราะนางได้เป็นผู้ที่ปฏิเสธการศรัทธา
- ถ้าสองคู่บ่าวสาวไม่ดำรงการละหมาดในขณะทำการแต่งงานกัน การแต่งงานนั้นถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าเจ้าสาวดำรงการละหมาดส่วนเจ้าบ่าวนั้นไม่ดำรงการละหมาดในขณะทำการแต่งงาน หรือเจ้าสาวไม่ดำรงการละหมาดส่วนเจ้าบ่าวนั้นดำรงการละหมาด แล้วทั้งสองได้ทำการแต่งงานกันในสภาพนั้น (คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ดำรงการละหมาดในขณะที่แต่งงานกัน) เมื่อทั้งสองได้รับทางนำและกลับตัวกลับใจ (คือกลับมาละหมาดทั้งคู่) จำเป็นต้องทำพิธีแต่งงานกันใหม่ อันเนื่องมาจากว่ามีคนหนึ่งระหว่างทั้งสองคนนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาในขณะที่ทำพิธีแต่งงาน
- การแต่งงานกับหญิงคนหนึ่งในอิดดะฮฺของพี่สาวหรือน้องสาวของนาง (หมายถึง หย่ากับภรรยาแล้วแต่งงานกับพี่สาวหรือน้องสาวของภรรยาในช่วงอิดดะฮฺ) ซึ่งเป็นอิดดะฮฺจากการหย่าที่สามารถคืนดีกันได้ การแต่งงานนั้นถือว่าเป็นโมฆะ และถ้าหากเป็นอิดดะฮฺจากการหย่าขาด การแต่งงานนั้นถือว่าหะรอม
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
ที่มา: อิสลามกับคำถามที่คุณอยากรู้คำตอบ