เรามักได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดแตกต่างกันไป บ้างมีทฤษฎีรองรับ บ้างใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งไม่ว่าจะมาจากอะไรการได้รับคำแนะนำในช่วงเวลาที่คนเป็นแม่สับสน
ท่านอนต้องห้าม ในศาสนาอิสลาม
ท่านบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า: การนอน (ในสภาพที่คว่ำหน้านั้น) เป็นท่านอนของชาวนรก และท่านยังกล่าวอีกว่า เป็นท่านอนที่พระองค์ทรงรังเกียจ
เลี้ยงลูกให้นอนคว่ำได้หรือไม่ ?
เรามักได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดแตกต่างกันไป บ้างมีทฤษฎีรองรับ บ้างใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งไม่ว่าจะมาจากอะไรการได้รับคำแนะนำในช่วงเวลาที่คนเป็นแม่สับสน และต้องการที่พึ่งที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่มีค่าและสร้างความอุ่นใจ สบายใจมากกว่าการคำนึงถึงผลลัพท์ของการเลี้ยงดูทารกในระยะนั้นๆ
ท่านอนทารกเป็นอีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาช้านาน สมัยก่อนรุ่นปู่รุ่นย่าจับทารกนอนหงายกันมาตั้งแต่แรกเกิด ถัดมาอีกรุ่นก็เปลี่ยนมาประโคมให้ลูกนอนคว่ำ ถัดมาอีกยุคก็งัดทฤษฎีบทวิจัยต่างๆ นานา เพื่อเปลี่ยนลูกให้กลับไปนอนหงายอีก สรุปแล้วทารกควรหรือไม่ควรนอนท่าไหน คุณแม่มือใหม่จะตัดสินใจอย่างไร อิสลามมีคำตอบในเรื่องนี้หรือไม่ ?
เหตุผลที่นิยมให้ทารกนอนคว่ำ โดยตะแคงหน้าออกนั้นเป็นเพราะ
1. ทำให้ทารกนอนหลับได้นานมากขึ้น
2. ทำให้ศีรษะทารกไม่กดทับไปกับเบาะ หัวเด็กจึงทุยแลดูสวยงาม
3. ทำให้เด็กไม่นอนผวาตกใจตื่นบ่อย
4. ปอดจะทำงานได้ดีกว่าท่านอนหงายเพราะไม่ถูกหัวใจกดทับ ส่งผลให้ปอดขยายตัวได้ดีเวลาที่เด็กหายใจ และทำให้มีออกซิเจนในเลือดสูง
5. เด็กที่มีอาการสำรอกนมบ่อยๆ จะแหวะนมออกมาได้ง่ายไม่ย้อนเข้าสู่หลอดลม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบ
ข้อเสียของท่านอนคว่ำ คือ
รายงานทางการแพทย์พบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรค sudden infant death syndrome (SIDS) หรือที่เรียกว่า “โรคไหลตาย” นั้น พบมากในเด็กนอนคว่ำ และพบต่ำสุดในเด็กนอนหงาย ตั้งแต่ช่วงอายุ 0-6เดือน และยังไม่พบบทสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของการเสียชีวิตในทารกจากสภาวะดังกล่าว
ข้อดีของการนอนหงาย คือ
1. ลดความเสี่ยงของภาวะ SIDS (หลับไม่ตื่น,ไหลตาย) ในทารก
2. ลดปัญหาในเด็กที่มีอาการขาบิด ขาเก
ข้อเสียของการนอนหงาย คือ
อาจเสี่ยงต่อการที่อาหารไหลย้อนเข้าหลอดลม หรือเข้าไปอุดตันหลอดลม (สำหรับเด็กที่มีอาการกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ หรือระบบทางเดินหายใจไม่ปกติ)
ข้อดีของการนอนตะแคงขวา คือ
1. หัวใจทำงานได้สะดวก
2. อาหารจากกระเพาะ ถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ทำให้ไม่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไป
สำหรับมุมมองอิสลามแล้ว ท่านร่อซู้ล ได้ห้ามการนอนคว่ำไว้ในหลายหะดีษด้วยกัน ซึ่งเป็นการห้ามในลักษณะของมั๊กรู๊ฮฺ (ไม่ชอบให้กระทำ) ไม่ใช่การห้ามที่หมายถึงหะรอม (ห้ามกระทำโดยเด็ดขาด)
ท่านฏิคฟะฮฺ อัลฆิฟารีย์ رضي الله عنه กล่าวว่า : ขณะที่ฉันนอนเอกเขนกอยู่ในมัสยิดโดยนอนทับท้อง (นอนคว่ำ) ก็มีชายคนหนึ่งมาสกิดฉันด้วยขาของเขา แล้วกล่าวว่า : “ท่านอนนี้เป็นท่าที่อัลลอฮฺทรงกริ้ว” ชายผู้นั้นคือ ท่านร่อซู้ล
(หะดีษบันทึกโดยอิมาม อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่ศ่อเฮี๊ยะฮฺ )
อีกรายงานหนึ่ง ระบุว่า:
" هَذِهِ ضَجْعَةُ الشَّيْطَانِ " “นี่คือท่านอนของชัยฏอน”
อีกหะดีษซึ่งรายงานโดย ท่านอบูหุรอยเราะห์ رضي الله عنه บันทึกอยู่ในสุนันอัตติรมีซีย์ ระบุว่า:
" إن هذا ضجعة لا يحبها الله" “แท้จริงแล้ว ท่านอนนี้เป็นท่าที่อัลลอฮฺไม่พอพระทัย”
และในหะดีษของอบูซัร رضي الله عنه ในบันทึกของอิมาม อิบนิ มาญะฮฺ ระบุว่า: “ แท้จริงแล้ว มันคือท่านอนของชาวนรก ”
ในหนังสือ “มุฆนีย์ อัลมุฮฺตาจ” เชค อัชชิรบีนีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ระบุว่า ชอบให้ปลุกคนที่นอนคว่ำ (โดยเจตนา) ให้ตื่น เพราะเป็นท่าที่อัลลอฮฺทรงกริ้ว ดังกล่าวเป็นการสนับสนุนว่า การนอนคว่ำเป็นท่านอนที่รับทราบโดยทั่วกันว่า “มั๊กรูฮ” (น่ารังเกียจ ไม่ชอบให้กระทำ)
อนึ่ง ผู้ที่หลับไปโดยไม่ได้เจตนานอนคว่ำตั้งแต่ต้น แล้วพบว่าภายหลังตนนอนคว่ำอยู่นั้นก็ถือว่าไม่เป็นไร เพราะคนนอนหลับสนิทจะไม่ถูกนับเอาความผิดจนกระทั่งเขาตื่น เช่นเดียวกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยการนอนคว่ำ ก็ไม่ถือเป็นความผิดแต่ประการใด เพราะเข้าอยู่ในขอบข่ายที่ว่า “ความจำเป็น (ฎ่อรูเราะห์) สามารถทำให้ข้อจำกัดทางศาสนาเป็นที่อนุมัติ”
แม้นักวิชาการหะดีษจะมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องความน่าเชื่อถือของสายรายงานหะดีษที่เกี่ยวกับการนอนคว่ำ ซึ่งบางท่านระบุว่าอ่อนหลักฐาน และบางท่านระบุว่าสายสืบถูกต้องใช้ได้ก็ตาม แต่ก็พอเพียงแล้วกับการที่เราจะยึดถือดำเนินตามแนวทางการปฏิบัติของท่านนบี ซึ่งท่านได้แนะนำให้นอนตะแคงขวา ดังปรากฎในหะดีษที่ว่า
ท่านร่อซู้ล ได้เคยบอกท่านอัลบะร็ออฺ บิน อาศิบ ว่า :
“เมื่อท่านจะเข้านอน ก็จงอาบน้ำละหมาด เช่นการอาบน้ำละหมาดของท่านเพื่อละหมาด จากนั้นก็จงนอนตะแคงขวาเถิด”
(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรี และอิมามมุสลิม)
และพอเพียงแล้วอีกเช่นกัน กับเหตุผลทางสุขลักษณะของการนอนตะแคงขวาที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความงดงามและความใส่ใจของบทบัญญัติอิสลามที่มีต่อประชาชาตินี้ ตั้งแต่ในยุคที่ไม่มีคำรับรองทางการแพทย์และบทวิจัยใดๆ การันตีถึงผลดีผลเสียของการนอนในท่าทางต่างๆ เลย
การส่งเสริมไม่ให้นอนคว่ำนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดไว้สำหรับผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว เราจะเห็นได้ว่าหากเด็กเคยชินกับท่านอนใด เขาก็จะคุ้นชินกับการนอนท่านั้นไปจนโต หากฝึกลูกให้นอนคว่ำแต่เล็ก โตขึ้นลูกก็จะติดนอนคว่ำจนเป็นพฤติกรรมที่แก้ไม่หาย พฤติกรรมของมนุษย์นั้นส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมที่เขาเติบโต และวิถีปฏิบัติที่เขาเคยชิน
เพราะฉะนั้น หากลูกคือของขวัญจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่มีค่าที่สุด คือ “ อมานะฮฺ ” ที่ถูกเจาะจงฝากไว้ การดูแลเขาในทุกอิริยาบทด้วยการทุ่มเทใส่ใจ และคำนึงถึงแบบอย่างที่สมควรดำเนินตามที่สุดเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าเรื่องใดๆ ของลูกล้วนจะพบรายละเอียดที่สัมพันธ์กับวิถีอิสลามอันบริสุทธิ์ ซึ่งจะคอยหล่อหลอมเขาให้อยู่ในครรลองของอิสลาม ทั้งในวิธีคิด วิธีตัดสินใจ และวิธีปฏิบัติ ซึ่งพ่อแม่สามารถปลูกฝังลูกได้แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของผลลัพท์สำหรับเรื่องใหญ่ๆ ในอนาคตต่อไปของเขา
ความรักของพระผู้สร้างนั้น สัมพันธ์กับสิ่งที่ท่านนบี รักสิ่งที่ท่านชอบ สิ่งที่ท่านใช้ และสิ่งที่ท่านทำ การดำเนินรอยตามท่านจึงเป็นสายสัมพันธ์โดยตรงของผู้เป็นบ่าวที่มีต่อพระเจ้า และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงรัก เพราะพระองค์ไม่ทรงละเลยบ่าวของพระองค์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน จึงไม่มีเรื่องเล็กน้อยใดที่บ่าวสมควรละเลย เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น อาจหมายถึงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ช่วยยกระดับเขาให้ได้เป็น “ผู้เป็นที่รัก ที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระองค์” หากพระองค์ทรงประสงค์
قُلْ إِنْ كُنْتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَاللَّهُ غَفُورٌ رَحِيمٌ ٣١
"(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮ์ก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งความผิดทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อาละอิมรอน / 31)
เรียบเรียงโดย : อุมมุ อุ้ลยา
www.islamhouse.com