ความหมายของเดือนชะอฺบาน การเตรียมพร้อมในเดือนชะอฺบาน ความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน และสุนนะฮฺที่ให้ปฏิบัติในเดือนชะอฺบาน...
เดือนชะอฺบาน (คืออะไร หมายถึง ความหมาย) ในอิสลาม
ทางมุสลิมไทยโพสต์ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเดือนชะอฺบาน ที่มุสลิมควรรู้ อาทิ เช่น ความหมายของเดือนชะอฺบาน การเตรียมพร้อมในเดือนชะอฺบาน ความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน และสุนนะฮฺที่ให้ปฏิบัติในเดือนชะอฺบาน
ความหมายของคำว่า ชะอฺบาน
คำว่า ชะอฺบาน เป็นคำเอกพจน์ คือ ชื่อหนึ่งในบรรดาชื่อเดือนของอิสลาม เป็นเดือนลำดับที่ 8 ตามปฏิทินอิสลาม อยู่ระหว่างเดือนเราะญับกับเดือนเราะมะฎอน
ส่วนสาเหตุที่เรียกเดือนนี้ว่า ชะอฺบาน เป็นเพราะในเดือนนี้ชาวอาหรับจะกระจายกันออกไปหาน้ำ หรือกระจัดกระจายกันออกไปทำสงคราม (มาจากรากศัพท์เดิมของคำว่า الْقَوْمُ تَشَعَّبَ (อ่านว่า ตะชะอะบะ อัลเกามุ) أي تفرق หมายถึง แยกย้าย หรือกระจัดกระจายออกไป) (ดู ฟัตหุลบารีย์ เล่ม4 หน้า 251 ) หลังจากที่พวกเขาได้หยุดพักจากการทำสงครามในเดือนเราะญับเพราะเป็นเดือนหะรอมหรือเดือนต้องห้ามทำสงคราม
อุละมาอ์บางท่าน ระบุว่า สาเหตุที่เรียกเช่นนั้น เพราะเดือนนี้ปรากฏอยู่ช่วงกลางระหว่างเดือนเราะญับกับเดือนเราะมะฎอน (มาจากรากศัพท์เดิมของคำว่า الشَّعَبُ อ่านว่า อัชชะอะบุ หมายถึง ช่วงที่อยู่ระหว่างสองไหล่ หรือสองเขาสัตว์)
การเตรียมพร้อมในเดือนชะอฺบาน
ชะอฺบาน คือ ประตูสู่เดือนเราะมะฎอน เป็นเดือนที่ใกล้เคียงกับเราะมะฎอนมากที่สุด จึงเป็นโอกาสเดียวจะเตรียมตัวเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนในทุกๆ ด้าน
ท่านซะละมะฮฺ อิบนุ สุฮัยล์ (บ้างว่า อิบนุ กุฮัยล์) และอุมัร อิบนุ ก็อยส์ กล่าวว่า “เดือนชะอฺบานคือเดือนแห่งนักอ่านอัลกุรอาน“
ท่านอุมัร อิบนุ ก็อยส์ นั้น เมื่อชะอฺบานมาเยือนท่านจะปิดประตูบ้านเพื่อให้เวลากับการอ่านอัลกุรอาน
จากคำกล่าวของอุละมาอ์ข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า พวกเขาได้เตรียมตัวอย่างจริงจังในการต้อนรับเดือนเราะมะฎอนแม้จะมีเวลาอีกหนึ่งเดือนก็ตาม
ความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน
มีหะดีษมากมายที่รายงานถึงความประเสริฐของเดือนชะอฺบาน มีทั้งที่เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ หะดีษหะสัน หะดีษเฎาะอีฟ (อ่อน) และหะดีษเมาฎูอฺ (หะดีษปลอม) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. การถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า
“ท่านบีได้ถือศีลอดในเดือนนี้จนกระทั่งพวกเรากล่าวว่า ท่านไม่ได้ละศีลอดเลย และท่านนบีไม่ได้ถือศีลอดจนกระทั่งพวกเรากล่าวว่าท่านไม่ได้ถือศีลอดเลย และฉันไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากเดือนเราะมะฎอน และฉันไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดอย่างมากมายนอกจากเดือนนี้ชะอฺบาน”
(อัลบุคอรีย์ 1833, มุสลิม 1956 )
2 การอภัยโทษของอัลลอฮฺในค่ำคืนที่ 15 ของชะอฺบาน
รายงานจากท่านอบูมูซา อัลอัชอะรีย์ จากท่านเราะซุลลุลลอฮฺ (ซ.บ.) กล่าวความว่า
“แท้จริงอัลลอฮฺจะมองดูในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน ดังนั้นพระองค์จะทรงให้อภัยแก่ทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างนอกจากผู้ที่ตั้งภาคี(มุชริก) หรือคนที่เป็นศัตรูกัน”
(รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ, อัลอัลบานีย์กล่าวว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษหะสัน ดู อัสสิลสิละฮฺ อัศเศาะฮีหะฮฺ หมายเลข 1144)
อย่างไรก็ตามหะดีษนี้และหะดีษอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันยังมีความขัดแย้งระหว่างบรรดาอุละมาอ์ถึงระดับความถูกต้องของมัน ตามที่อิบนุ เราะญับได้ระบุไว้ใน ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ
อิบนุ ดิห์ยะฮฺ ได้กล่าวว่า "เหล่าอุละมาอ์เกี่ยวกับสายรานได้ระบุว่า ไม่มีหะดีษใดเกี่ยวกับคืนนิศฟู ชะอฺบาน ที่เป็นหะดีษทถูกต้องเลย"
(อัลบาอิษ อะลา อินการ อัลบิดะอฺ ของ อิบนุ ชามะฮฺ หน้า 127)
การถือศีลอดในดือนชะอฺบาน
1 สุนนะฮฺให้ถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน
การถือศีลอดในเดือนชะอฺบานถือว่าเป็นสุนนะฮฺของท่านนบี (ซ.ล.) ที่ควรปฏิบัติตามยิ่ง เนื่องจากมีหะดีษที่รายงานด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ ที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า
“ท่านนบีได้เคยถือศีลอดในเดือนนี้จนกระทั่งพวกเรากล่าวว่า ท่านไม่ได้ละศีลอดเลย และท่านนบีเคยไม่ถือศีลอดในเดือนนี้จนกระทั่งพวกเรากล่าวว่าท่านไม่ได้ถือศีลอดเลย และฉันไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากเดือนเราะมะฎอน และฉันไม่เคยเห็นท่านนบีถือศีลอดอย่างมากมายนอกจากเดือนนี้คือชะอฺบาน”
(อัลบุคอรีย์ 1833, มุสลิม 1956 )
ในอีกสายรายงานหนึ่งของมุสลิม 1957 “ท่านนบีได้ถือศีลอดทั้งเดือนชะอฺบาน และท่านนบีได้ถือศีลอดทั้งเดือนนอกจากวันน้อยนิด(ที่ท่านไม่ได้ถือศีลอด)”
ส่วนวิธีการถือศีลอดของท่านนบี (ซ.ล.) ในเดือนนี้ มีทัศนะที่แตกต่างกันไป โดยสรุปแล้ว ท่านนบีไม่ได้ถือศลอดตลอดทั้งเดือนชะอฺบาน แต่ท่านนบีจะถือศีลอดในเดือนนี้มากกว่าเดือนอื่นๆ (ทัศนะของอุละมาอ์ส่วนหนึ่ง อาทิ อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุบาร็อก)
ท่านอิมาม อิบนุ เราะญับ ได้อธิบายถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนชะอฺบานนี้ว่า
“การถือศีลดอดในเดือนชะอฺบานนั้นดีกว่าการถือศีลอดในเดือนที่ทรงห้ามการทำสงคราม (อัชฮุรฺ อัลหุรุม) และเป็นสุนัตที่ดีที่สุดเนื่องจากอิบาดะฮฺทุกอย่างที่ใกล้เคียงกับเดือนเราะมะฎอน จะก่อนหรือหลังเราะมะฎอนก็ตามแต่ ระดับความประเสริฐของมันเหมือนกับระดับความประเสริฐของการละหมาดสุนัตเราะวาติบกับการละหมาดฟัรฎูจะก่อนหรือหลังละหมาดก็ตามแต่ และมันจะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดหรือบกพร่องไปในส่วนที่เป็นฟัรฎู เช่นเดียวกับการถือศีลอดก่อนเราะมะฎอนและหลังเราะมะฎอน ในเมื่อการละหมาดสุนัตเราะวาติบเป็นสุนัตที่ดีที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการละหมาด ดังนั้นการถือศีลอดก่อนเราะมะฎอนและหลังเราะมะฎอนก็เป็นสุนัติที่ดีที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดเช่นเดียวกัน” (ดู ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ)
ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมท่านนบี (ซ.ล.) ได้ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานนี้มากกว่าเดือนอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้บรรดาอุละมาอ์ได้มีทัศนะดังนี้
1. เพราะท่านนบี (ซ.ล.) ไม่สามารถถือศีลอด 3 วัน ประจำเดือนได้เนื่องจากท่านมีภารกิจและการเดินทางไกล(มุซาฟิร) ดังนั้นท่านจึงมารวบรวมทั้งหมดไว้ในเดือนนี้ เพราะท่านนบี (ซ.ล.) นั้นจะปฏิบัติสิ่งที่เป็นสุนัตต่างๆ ทั้งหมด เมื่อท่านได้ละทิ้งเพราะเหตุจำเป็นท่านก็จะชดใช้แทนในช่วงเวลาอื่น
2. เพราะภรรยาของท่านส่วนใหญ่จะถือศีลอดชดเชยในเดือนแห่งนี้ ท่านจึงถือศีลอดด้วย แต่เป็นทัศนะที่ขัดแย้งกับที่มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ที่ระบุว่า นางเจตนายืดเวลาถือศีลอดชดเชยมาไว้ในช่วงท้ายของปี เพื่อที่จะได้ถือศีลอดพร้อมๆ กับท่านนบี(ซ.ล.) ในเดือนชะอฺบาน
3. เพราะเป็นเดือนที่คนทั่วไปมักจะหลงลืมจากการถือศีลอด และเป็นเดือนที่อะมัลในรอบปีจะถูกยกขึ้นไปยังอัลลอฮฺ นี่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักที่สุด ดังมีรายงานจากหะดีษของท่านนบี (ซ.ล.) จากอุสามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ความว่า
“เดือนชะอฺบานแห่งนี้เป็นเดือนที่หลายคนหลงลืมมัน ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนเราะญับและเดือนเราะมะฎอน มันเป็นเดือนที่อะมัลต่างๆ จะถูกยกขึ้นไปยังองค์อภิบาลแห่งสากลโลก ดังนั้นฉันจึงพอใจที่จะให้อะมัลของฉันถูกยกขึ้นสู่พระองค์ในสภาพที่ฉันกำลังถือศีลอดอยู่”
(อันนะสาอีย์ 2357)
2 การเจตนาเริ่มถือศีลอดหลังครึ่งเดือนของชะอฺบาน
การถือศีลอดในเดือนชะอฺบานถือว่าเป็นสุนนะฮฺของท่านนบี(ซ.ล.) แต่ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่ง คือการเจตนาเริ่มถือศีลอดหลังจากครึ่งเดือนแรกของชะอฺบานผ่านไปแล้ว
ท่านอิหม่าม อิบนุ มุลักกิน ซึ่งเป็นอุละมาอ์ในสังกัดมัซฮับชาฟิอีย์ ได้อธิบายว่า
“แท้จริงเมื่อครึ่งหลังของเดือนชะอฺบานมาถึง การเจตนาเริ่มถือศีลอดถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ซึ่งเป็นทัศนะของบรรดาอุละมาอ์มุหักกิกูน(อุละมาอ์ผู้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ) ในมัซฮับของเรา(มัซฮับชาฟิอีย์)
ดังหะดีษที่รายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวความว่า “เมื่อถึงครึ่งเดือนของชะอฺบาน จงอย่าได้ถือศีลอด“
(รายงานโดยอัต-ติรมิซีย์ 738 และอบู ดาวูด 2337 ดู อิอฺลาม ฟะวาอิดอุมดะติลอะห์กาม ของอิบนุ มุลักกิน เล่ม 5 หน้า 159-169)
อย่างไรก็ตาม การถือศีลอดที่ถูกห้ามในข้างต้นคือกรณีที่มีเจตนาและเจาะจงว่าจะเริ่มการถือศีลอดหลังจากวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบานเป็นต้นไป ส่วนกรณีที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะเริ่มถือศีลอดหลังจากวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบานดังกล่าว ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ
3 การถือศีลอดชดเชย (เกาะฎออ์) ในเดือนชะอฺบาน
การถือศีลอดชดเชย (เกาะฎออ์) สำหรับผู้ที่ได้ละทิ้งศีลอดในเดือนเราะมะฎอนถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) ซึ่งมีระยะเวลาที่ยาวนานเป็นปี กล่าวคือเดือนชะอฺบานคือเดือนสุดท้ายที่สามารถถือศีลอดชดเชยได้ หากพ้นเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาทิ ป่วยหรืออื่นๆจะต้องถูกปรับและต้องได้รับบาป และหากไม่ชดเชยจนถึงเดือนเราะมะฎอนปีหน้า เขาจะต้องขออภัย (เตาบัต) ต่ออัลลอฮฺ และถือศีลอดชดเชยพร้อมกับต้องให้อาหารแก่ผู้ยากไร้ (ฟากิรฺมิสกีน) ทุกวันตามที่จำนวนวันที่เขาได้ละทิ้ง (ตามทัศนะของอิมามชาฟิอีย์ อิมามมาลิก และอิมามอะหฺมัด)
4 การถือศีลอดในช่วงท้ายของเดือนชะอฺบาน (1-2 วัน ก่อนเข้าเราะมะฎอน)
การถือศีลอดในช่วงท้ายนี้ แบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ถือศีลอดด้วยการเนียตว่า ข้าพเจ้าถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน เพื่อเผื่อว่าอาจจะเข้าเดือนเราะมะฎอน กรณีนี้ ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)
กรณีที่ 2 ถือศีลอดเพราะมีการนะซัรไว้ หรือเพื่อชดเชย (เกาะฎออ์) ที่ขาดไป หรือเพื่อทดแทนกรณีที่ผิด (กัฟฟาเราะฮฺ) กรณีนี้ ถือว่าเป็นสิ่งอนุญาต (ยะญูซ)
กรณีที่ 3 ถือศีลอดสุนัตทั่วๆไป (สุนัตมุฏลัก) กรณีนี้ มีทัศนะที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. ถือว่าเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ เพราะมีคำสั่งให้เว้นว่างจากการถือศีลอดระหว่างชะอฺบานกับเราะมะฎอน ถึงแม้ว่าเขาจะปฏิบัติมาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องก็ตาม (ทัศนะของ อัลหะสัน)
2. ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาต (ทัศนะของอิมามมาลิก)
3. สามารถทำได้ (อนุญาต) ถ้าเป็นการถือศีลอดที่เขาเคยปฏิบัติมาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง (ทัศนะของอิมามชาฟิอีย์, เอาซาอีญ์ และอิมามอะหฺมัด )
ที่มา: https://saaid.net/mktarat/12/8.htm
แปล : นุมาน อิสมาอีล สะอะ / Islam House