ต้นน้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวหรืออาจข้ามปี เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่พันกับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง ลำต้นมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะต้นไม้อื่น ๆ ตามเถามีขนยาวสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
น้ำเต้า ชื่อไม้เถาล้มลุกชนิด Lagenaria siceraria Standl ในวงศ์ Cucurbitaceae อยู่ในจำพวกฟักแฟง ผลกินได้ เมื่อแก่แห้งใช้เป็นภาชนะได้
ชาวอาหรับเรียกน้ำเต้าเอาไว้หลายชื่อ เช่น อัดดุบบาอฺ (اَلدُّبَّاءُ ) อัลกอรอุ้ (اَلْقَرْعُ ) และ อัลยักฏีน (اَلْيَقْطِيْنُ )
ในคัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวถึง “น้ำเต้า” โดยใช้คำว่า “يَقْطِيْن ” โดยระบุเอาไว้ในบท อัซซอฟฟ๊าต อายะฮฺที่ 146 อันเป็นเรื่องราวของท่านศาสดา ยูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ซึ่งกล่าวถึงมาแล้วในเรื่อง “ปลาวาฬ”
มีรายงานระบุว่า ท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ชอบรับประทาน “น้ำเต้า” ที่ผสมในน้ำแกงจิ้มกับขนมปัง (รายงานจากท่านอะนัส (ร.ฎ) บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)
ในผลน้ำเต้า มีส่วนประกอบเป็นน้ำถึง 94.7% น้ำตาลเล็กน้อยและเส้นใยอาหาร ผลน้ำเต้าปริมาณ 100 กรัมจะให้พลังงาน 65 แคเลอรี่เท่านั้น เป็นอาหารอย่างดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก มีสารโซเดียมประกอบอยู่น้อยมาก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูง แต่อุดมด้วยโปตัสเซียม ซึ่งมีสรรพคุณในการทำให้ปัสสาวะคล่อง
แร่ธาตุสำคัญในผลน้ำเต้า ได้แก่ โปตัสเซียม , แคลเซียม , แมกนีเซียม , ฟอสฟอรัส , เหล็ก , กำมะถัน และคลอไรด์ มีไวตามิน A อยู่มาก น้ำของผลน้ำเต้ามีประโยชน์สำหรับผู้มีอาการไข้ตัวร้อน ดับกระหายและแก้อาการปวดศีรษะเมื่อดื่มน้ำของมันหรือนำเอาน้ำของมันมาทาใบหน้า เป็นยาระบายอ่อนๆ ออกฤทธิ์เร็ว
มีหลักฐานยืนยันว่า น้ำเต้ามีสรรพคุณในการป้องกันโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งที่ปอด ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) ระบุว่า คำว่า ยักฎีน (يَقْطِيْن ) เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ตามหลักภาษา หมายถึง พืชทุกชนิดที่ไม่มีลำต้น (ไม้ล้มลุก) เช่น แตงโม , แฟง และแตงกวา เป็นต้น แต่โดยปกติ “ยักฎีน” หมายถึง อัดดับบาอฺและอัลกอรอฺ อันหมายถึง น้ำเต้า นั่นเอง
น้ำเต้ามีสรรพคุณเย็นและชื้น มีผลงานวิจัยยืนยันว่า น้ำเต้ามีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ชราภาพ ใบของน้ำเต้ามีสรรพคุณบรรเทาอาการพุพองและผื่นคัน และยังค้นพบอีกว่า น้ำเต้ามีผลในการลดอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและอาการปัสสาวะยาก
นักพฤกษศาสตร์ระบุว่า น้ำเต้ามีสายพันธุ์ในวงศ์เดียวกันมากกว่า 1,000 ชนิด มีแพร่หลายในเขตเส้นทรอปิก ส่วนหนึ่งได้แก่ อัลกอรอุ้ลอะซะลีย์ (น้ำเต้าหวาน), กอรอุ้ลกูซา (แฟง-ฟัก), กอรอุ้ลอะวานีย์ (น้ำเต้าใหญ่), อัลอะญัร, บิตตีค (แตงโม), ซัมมาม (แตงไทย), อัลกอวูน (บวบ), อัลลัยฟ์ (น้ำเต้าพันธุ์เลื้อยหรือแตงร้าน) และอัลฮันซ็อล (บวบขม) เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลลจาก: อาลี เสือสมิง