พิธีแต่งงานแบบอิสลาม จะเรียกว่า นิกะห์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกัน โดยมีเงื่อนไขว่า...
แต่งงาน การแต่งงาน พิธีแต่งงาน เงื่อนไขการแต่งงาน ตามหลักอิสลาม
พิธีแต่งงานแบบอิสลาม จะเรียกว่า นิกะห์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ทั้งคู่ต้องเป็นอิสลามทั้งคู่ ซึ่งถ้าหากฝ่ายใดไม่ได้เป็นอิสลาม ต้องทำพิธีเข้ารับอิสลามก่อน ถึงจะทำพิธีนิกะห์ได้ ถ้าไม่ใช่อิสลามทั้งคู่หรือทำพิธีเข้ารับอิสลาม พิธีนิกะห์จะถือว่าเป็นโมฆะ
เงื่อนไขการแต่งงานในอิสลามมี 5 ประการ ดังนี้
1. หญิงและชายต้องเป็นมุสลิมทั้งคู่ หลังแต่งงานไปแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกศาสนา ความเป็นสามีภรรยาก็ถือเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย การอยู่ร่วมกันหลังจากนั้นถือเป็นการผิดประเวณี
2. ผู้ชายต้องจัดหามะฮัรฺ (ของขวัญแต่งงาน) ให้แก่ผู้หญิงตามที่ผู้หญิงร้องขอ เมื่อทำพิธีแต่งงานทางศาสนาเสร็จ มะฮัรฺนี้จะเป็นของผู้หญิงครึ่งหนึ่งก่อน จนกว่าจะได้อยู่ด้วยกันโดยพฤตินัยแล้ว มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงทั้งหมด หากหลังพิธีแต่งงานแล้วคู่บ่าวสาวมิได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีกันจริงๆ มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงเพียงครึ่งเดียว
3. ต้องมีพยานเป็นชายมุสลิมที่มีคุณธรรมอย่างน้อย 2 คน
4. ต้องมีวะลี (ผู้ปกครอง)ของผู้หญิงให้อนุญาตแต่งงาน หากพ่อผู้หญิงมิใช่มุสลิม ไม่สามารถเป็นวะลีได้ ผู้หญิงจะต้องแต่งตั้งให้ใครเป็นวะลีทำหน้าที่ในพิธีแต่งงานให้ ทำพิธีเสร็จแล้ว ความเป็นวะลีโดยการแต่งตั้งก็เป็นอันจบไป
5. มีการเสนอแต่งงาน(อีญาบ)จากทางวะลีของฝ่ายหญิง และเจ้าบ่าวต้องกล่าวรับ(กอบูล)
พิธีกรรมแต่งงานก็ประกอบด้วยการคุฏบะห์นิกะห์ เสร็จแล้วก็ทำพิธีนิกะห์ ตามหลักศาสนา โดยการกล่าวเสนอแต่งงานจากทางวะลีฝ่ายหญิง และฝ่ายชายตอบรับ เท่านั้นก็เป็นเสร็จพิธี
ส่วนงานเลี้ยงฉลองแต่งงานเราเรียกว่า "วะลีมะฮฺ" อิสลามส่งเสริมให้ทำเพื่อแสดงความยินดี และรื่นเริงเพราะเป็นโอกาสสำคัญ แต่งานเลี้ยงต้องไม่ฟุ่มเฟือย
หลักการศาสนาอิสลามเป็นเช่นนี้ทุกที่ทั่วโลก หากนั้นนอกเหนือจากนั้นเป็นการเพิ่มเติมขึ้นมาเอง
หากผู้อ่านไปค้นหะดีษว่าด้วยเรื่องนิกาหฺ (การแต่งงาน) จะไม่พบแม้แต่หะดีษบทเดียวที่ระบุถึงการแห่ขันหมาก ศาสนาระบุเรื่องพิธีนิกะห์ ระบุเรื่องงานวะลีมะฮฺ (งานเลี้ยงเนื่องจากแต่งงาน) แต่มิได้ระบุเรื่องการแห่ขันหมากเลยแม้แต่น้อย เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็หมายรวมว่า การแห่ขันหมากเพื่อทำพิธีนิกะห์ไม่มีในหลักการของอิสลาม
นอกจากนี้ พิธีอาบน้ำเจ้าสาว จุดเทียนตัดเค้ก การแห่ขันหมากไปมา เจ้าสาว เจ้าบ่าว มีอ้อย และอื่นๆนั้น เป็นสิ่งอุตริที่ไม่มีอยู่ในอิสลาม มนุษย์สร้างขึ้นมาให้เล่นให้วุ่นวาย และนำมาเหมารวมว่า มันคือพิธีกรรมทางอิสลาม
อิสลามไม่สนับสนุนให้ทำ เพราะมันสร้างภาระ และสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
และการเลี้ยงฉลองงานแต่งงานหากมีการเลี้ยงเกิน 3 วัน ถือเป็นการฟุ่มเฟือยโอ้อวดและท่านนบีไม่สนับสนุนงานเช่นนี้ค่ะ อิสลามห้ามเรื่องการ โอ้อวดและฟุ่มเพื่อยโดยใช่เหตุ
ท่านนบี กล่าวไว้ว่า อาหารมื้อที่ดีที่สุด คืออาหารในงานนิกะห์ และอาหารที่แย่ที่สุด คืออาหารในงานวลีมะห์ (อาหารงานฉลองงานแต่งงาน)
เนื่องจากเจ้าภาพ มักเชิญเฉพาะคนรวย คนที่มีฐานะทางสังคม ส่วนคนที่ยากไร้ต้องการอาหารประทังชีวิต กลับไม่ได้รับเชิญ
บางกลุ่มชนของอินโดนีเซียนั้นพิธีการมีการเลี้ยงฉลอง 7 วัน และประเพณีแต่ละที่ก็แตกต่างกันไปตามพื้นที่ หากกลุ่มคนใดที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนา ก็จะไม่มีสิ่งเสริมนอกเหนือเพิ่มเติมที่กล่าวมา
ต้องแยกให้ออกระหว่าง ประเพณีที่ทำตามกันมา กับหลักศาสนา
ส่วนเรื่องสินสอดในอิสลามนั้น มีกล่าวไว้ดังนี้.....
มะฮัรฺ หมายถึง ทรัพย์สิน,เงินทองที่ฝ่ายเจ้าบ่าวมอบให้แก่ฝ่ายเจ้าสาวเท่านั้น ญาติของนางไม่มีสิทธิ์ เข้ามามีส่วนกำหนดทรัพย์สิน ว่าจะต้องได้เท่านั้นได้เท่านี้
ถือว่าผิดหลักคำสอนของศาสนา แม้ว่าญาติของนางจะอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมอะไรก็ตาม ศาสนาไม่อนุญาตให้ญาติมีส่วนมาตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดมะฮัรฺ แต่ปัจจุบันผู้คนหลงลืมไปว่า การเรียกเงินสูงๆ เป็นการให้เกียรติ และนับหน้าถือตาในสังคม และยกย่องกันแต่เรื่องฐานะ
ลืมหลักการศาสนา ที่อิสลามมีกล่าวไว้ตั้งแต่เกิดจนตายว่า เท่าเทียมกัน..
ผู้ที่ดีที่สุดคือ ผู้ที่ศรัทธาและอยู่ในหลักการศาสนา ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติความดีงาม อ่อนโยนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์และไม่โอ้อวดฟุ่มเฟื่อย ไม่หลงงมงายกับฐานะหน้าตาทางสังคม ที่สร้างกันขึ้นมาเอง
งานวะลีมะฮฺ หมายถึง เจ้าบ่าวเจ้าสาวเลี้ยงอาหารให้แก่แขกที่มาเป็นสักขีพยานในงานพิธีนิกะห์ หรืองานฉลองการแต่งงานนั่นเอง ทั่วไปเรียกว่า งานมงคลสมรส
งานวะลีมะฮฺจะจัดงานในวันเดียวกับงานพิธีนิกะห์ ก็ได้ หรือจะจัดงานภายหลังพิธีนิกะห์ก็ได้
ซึ่งท่านนบีมุฮัมหมัด(ซล.) กระทำไว้เป็นแบบอย่าง โดยจัดงานวะลีมะฮฺระยะห่างจากจัดงานนิกะห์ ประมาณ1สัปดาห์
หากนิกะห์ เสร็จแล้ว อีก 1 หรือ 2 วันจะจัดงานวะลีมะฮฺนั้น สามารถกระทำได้เพราะศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ เช่น การที่มุสลิมทำพิธีนิกะห์ ที่มัสยิด/บ้าน ในตอนเช้า และมีงานฉลองอีกงานหนึ่งโรงแรม/สถานที่อื่น
หรือ ทำพิธีนิกะห์ ที่มัสยิด/บ้าน ในวันหนึ่ง และมีงานฉลองอีกงานหนึ่งที่โรงแรม/สถานที่อื่น ใน 2 วัน หรือ อีก 1 อาทิตย์ถัดมา
ที่มา: www.annisaa.com