ผลบุญมากมหาศาล ของการทำดีต่อพ่อแม่


37,259 ผู้ชม

บิดามารดา คือ ผู้มีพระคุณสูงส่งสุด ในหมู่มวลมนุษย์ ทุกชาติพันธุ์ และทุกคำสอนของทุกศาสนา..


ผลบุญที่ได้จากการทำความดีต่อบิดามารดา

บิดามารดา  คือ ผู้มีพระคุณสูงส่งสุด ในหมู่มวลมนุษย์ ทุกชาติพันธุ์ และทุกคำสอนของทุกศาสนาได้เน้นย้ำเรื่องการให้ความเคารพกับบุพการีทั้งสองไว้เป็นพิเศษ 

อัลกุรอาน ทั้งสองโองการ บทอัลอิสรออฺ ได้กล่าวถึงความเป็นเอกภาพของพระเจ้า และหน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่อบิดามารดาของตน โองการกล่าวว่า

23 و 24. وَقَضَى‏ رَبُّكَ أَلَّا تَعْبُدُواْ إِلَّآ إِيَّاهُ وَبِالْولِدَيْنِ إِحْسناً إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَآ أَوْ كِلَاهُمَا فَلَا تَقُل لَّهُمَآ أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلًا كَرِيماً* وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَقُل رَّبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِى صَغِيراً

ความหมาย : “พระผู้อภิบาลของเจ้าได้บัญชาว่า สูเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้น อย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ (คำพูดที่ดูถูกน้อยที่สุด) และอย่าตะเพิดท่านทั้งสอง แต่จงพูดแก่ท่านทั้งสอง ด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน จงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสอง ซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา และจงกล่าวว่า โอ้ ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสอง เช่นที่ทั้งสองได้เคยเลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย”

อัลกุรอานได้กล่าวถึง เตาฮีด ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของอิสลามหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน โดยกล่าวไว้เคียงข้างกับการทำความดีต่อบิดามารดา ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการทำความดีกับบิดามารดา

อัลกุรอาน โองการนี้ได้เน้นย้ำไว้ถึง 5 ครั้งด้วยกันว่า ให้ทำความดีกับบิดามารดา เช่น

1. คำว่า เกาะฎอ นั้นหมายถึงคำสั่งเด็ดขาด มั่นคง และแน่นอน

2. คำว่า อิฮฺซาน ได้ถูกกล่าวในลักษณะของ ความสมบูรณ์ ทั่วไป ซึ่งครอบคลุมทุกการกระทำความดีกับบิดามารดา

3. คำว่า อิฮฺซาน ถูกใช้ในรูปคำนามที่ไม่ได้ระบุเจาะจง ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่

4. คำว่า วาลิดัยนฺ ถูกใช้ในลักษณะที่เป็นความสมบูรณ์ทั่วไป ซึ่งครอบคลุมบิดามารดาที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

5. การทำความดีกับบิดามารดาอยู่ในแถวเดียวกันกับเตาฮีด

นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า อัลกุรอาน โองการนี้ที่กล่าวว่า บิลวาลิดัยนิ บ่งบอกให้เห็นว่า บุตรมีหน้าที่ทำความดีและรักบิดามารดาโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสื่อกลางใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือ การทำความดีอยู่ด้วยน้ำมือของบุตรนั้นยิ่งใหญ่และดีกว่าการทำความดีของคนรับใช้

อัลกุรอาน โองการนี้ได้กล่าวถึง วัยชราภาพของบิดามารดา เนื่องจากว่าคนในวัยนี้ต้องการความรัก การเอาใจใส่ดูแล ตลอดจนความเคารพ และการให้เกียรติ ซึ่งคำพูดเพียงเล็กน้อยที่ส่อให้เห็นการดูถูกจะทำให้ท่านทั้งสองเสียใจและน้อยใจเป็นที่สุด

ทำนองเดียวกันในวัยชรานี้บางที่บิดามารดาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การทำความสะอาดสิ่งสกปรกทั้งหลาย ตรงนี้ท่านทั้งสองต้องการการเอาใจใส่ดูแล การช่วยเหลือ ความอดทน และความรักจากบุตรธิดาเป็นอย่างยิ่ง

อัลกุรอาน โองการข้างต้นยังได้กล่าวถึงหน้าที่ของบุตรในการพูดสนทนากับบิดามารดา ซึ่งได้บ่งชี้ให้เห็นในหลายประเด็นด้วยกัน เช่น

  • จงอย่าได้กล่าวคำล่วงเกิน หรือคำดูถูกเหยียดหยามแม้เพียงสั้นๆ และเล็กน้อยก็ตาม
  • จงอย่าตะโกนขึ้นเสียง หรือส่งเสียงดังต่อหน้าท่านทั้งสอง
  • จงกล่าวคำพูดที่ให้เกียรติ และบ่งบอกให้เห็นถึงการแสดงความเคารพที่มีต่อท่าน
  • จงวิงวอนขอดุอาอฺ แก่ท่านทั้งสองเสมอ

ประเด็นสำคัญของโองการนี้คือกล่าวถึงการขอพร (ดุอาอฺ) ให้แก่บิดามารดา โดยกล่าวว่า “โอ้ ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสอง เช่นที่ทั้งสองได้เคยเลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย”

การกล่าวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าครั้นเมื่อบิดามารดาย่างเข้าสู่วัยชราภาพ ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น จงอย่าลืมว่าวันหนึ่งตัวคุณเองก็เคยเป็นเด็กที่ไร้ความสามารถมาก่อน และบุพการีทั้งสองได้ให้ความรักและความเมตตาเลี้ยงดูคุณมาจนเติบใหญ่

รายงานฮะดีซกล่าวว่า มีชายคนหนึ่งได้แบกมารดาของเขา เพื่อเดินเวียนรอบกะอฺบะฮฺ ในเวลานั้นเขาได้เห็นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และกล่าวว่า โอ้ ยาเราะซูลฉันได้ดูแลรักษาสิทธิของมารดาแล้วหรือยัง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตอบว่า ยังหรอก แม้กระทั่งเสียงร้องโอดครวญเพราะความเจ็บปวดขณะนางตั้งครรภ์ เจ้าก็ยังไม่ได้ตอบแทนพระคุณแม่เลย

อัลกุรอาน โองการข้างต้นได้เน้นย้ำถึงเรื่อง การนอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าบิดามารดาด้วยการให้เกียรติ ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) รายงานว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า สิทธิของบิดามารดาคือ จงอย่าเรียกท่านทั้งสองด้วยนามชื่อเด็ดขาด ทว่าต้องเรียกท่านว่า คุณพ่อ คุณแม่ ต้องไม่เดินออกหน้าท่านทั้งสอง อย่านั่งก่อนท่านทั้งสอง และจงอย่าได้กระทำบางสิ่งบางอย่าง อันเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนกล่าวสิ่งไม่ดีกับบิดามารดา

คำว่า อุฟ ตามหลักภาษาถือว่าเป็น เป็นคำนามเสียง หมายถึง เสียงที่ถูกเปล่งออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรำคาญ เบื่อหน่าย หรือสิ่งโสโครกที่ได้หลุดออกมาจากปากของตน

คำๆ นี้ให้ความหมายถึง ความไม่พอใจที่เล็กน้อยที่สุด ความรำคาญซึ่งเป็นการดูถูกฝ่ายตรงข้าม แน่นอนคำๆ นี้ถูกห้ามกล่าวแก่บิดามารดาอย่างเด็ดขาด

รายงานฮะดีซจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่ามีสิ่งอื่นที่น้อยกว่าคำว่า อุฟ อัลลอฮฺ ก็จะทรงสั่งห้ามคำๆ นั้น เนื่องจากคำนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นปฏิปักษ์ที่เล็กน้อยที่สุด การไม่ให้เกียรติต่อบิดามารดา ซึ่งหนึ่งในการไม่ให้เกียรติและแสดงความเบื่อหน่ายคือ บุคคลนั้นได้มองบิดามารดาด้วยสายตาแข็งกระด้างผสมกับความไม่พอใจและโกรธ

บทเรียนจากโองการ :

1. มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่หลักตายตัว 2 ประการได้แก่ การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และทำดีต่อบิดามารดา

2. หน้าที่หลักของท่านที่ต้องกระทำต่อบิดามารดาคือ การทำดี พูดจาไพเราะ นอบน้อมถ่อมตน ให้เกียรติ และขอพรให้แก่ท่านทั้งสอง

3. จงให้ความรักและเมตตาต่อบิดามารดาในวัยชราภาพให้มากที่สุด

4. จงขอพรให้แก่บิดามารดาเมื่อรำลึกถึงวัยเด็กของตนเอง

 คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้

ที่มา: www.taqrib.info

อัพเดทล่าสุด