รักษาอาการใจลอยในละหมาด


11,556 ผู้ชม

พึงตระหนักว่าแท้จริงขณะที่คุณกำลังอยู่ในการละหมาดอยู่นั้น คุณกำลังยืนอยู่ต่อหน้าอัลลอฮ์ ด้วยกับความยิ่งใหญ่...


รักษาอาการใจลอยในละหมาด 

1. พึงตระหนักว่าแท้จริงขณะที่คุณกำลังอยู่ในการละหมาดอยู่นั้น คุณกำลังยืนอยู่ต่อหน้าอัลลอฮ์ ด้วยกับความยิ่งใหญ่ และความน่าเกรงขามของพระองค์ จงพยายามสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้น

หากคุณยืนอยู่ต่อหน้าเจ้านายคุณตอนทำงาน คุณก็ยืนเรียบร้อยต่อหน้าเขา แล้วสภาพของคุณจะต้องเป็นอย่างไร ถ้าคุณจะต้องยืนอยู่ต่อหน้าผู้สร้างชั้นฟ้าและผืนแผ่นดิน?? พึงรู้เถิดว่าแท้จริงแล้วคุณกำลังสนทนากับกับอัลลอฮ์ และคุณกำลังขอการอภัยจากพระองค์ ในขณะที่คุณกำลังอ่านอัลกุรอาน

2. ก่อนละหมาดจำเป็นที่คุณจะต้องมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า คุณจะไม่ใจลอยเผลอเรอในการละหมาดของคุณ (กำหนดความตั้งใจ)และคุณจะต้องมีจุดประสงค์ที่แน่วแน่มั่นคง เพราะคุณจะต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับชัยฏอน เพราะชัยฏอนจะพยายาม(สุดความสามารถ)ที่จะทำให้คุณนั้นหันห่าง(ออกจากอัลลอฮ์)ตลอดไป

3. จากสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยคุณจากอาการใจลอยในการละหมาด นั้นก็คือ การนึกถึงความหมายของอายะห์ต่างๆ และเป้าหมายจากดำรัสของอัลลอฮ์ อัซซะวะจัล (ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง)

4. ไม่ผินหน้า (วอกแวกและขาดสมาธิ) ในการละหมาด

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

"แท้จริงอัลลอฮ์บัญชาใช้พวกท่านทั้งหลายให้ละหมาด และเมื่อพวกท่านละหมาด อย่าได้ผินหน้า (วอกแวก กลอกตาไปมา)

เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ ผินใบหน้าของพระองค์มายังใบหน้าของบ่าวของพระองค์ในการละหมาดของเขา ตราบใดที่เขาไม่ผินหน้าออกไป"

(บันทึกโดยอิบนุฮิบบาน ในศ่อฮิฮ์ของท่าน และอิหม่ามอัตติมิซีย์)

รักษาอาการใจลอยในละหมาด

5. ให้คุณพยายาม(ท่องจำ) ซูเราะห์ หรืออายะห์ใหม่ๆในการละหมาด เพราะมันจะช่วยให้คุณเพิ่มความระมัดระวังในการละหมาดมากยิ่งขึ้น

6. ไม่หาวในละหมาด....

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : "การหาวในละหมาดมาจากชัยฏอน"

แล้วถ้าคนหาวเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไร? ทุกครั้งที่เขาหาวต้องพยายามเอามือปิดปากเอาไว้

หมายเหตุ : เพราะการหาวนั้นทำให้เกิดการง่วง ความเพลีย ความขี้เกียจ ชัยฏอนพยายามทำให้เราเสียสมาธิในการละหมาด ดังนั้นเมื่อคนใดหาวพยายามเอามือปิดปาก และดึงสติกลับมาสู่การละหมาด

7. การอ่านค่อย หรือ อ่านดัง แบบไหนดีกว่า เพื่อไม่ให้ใจลอยในละหมาด ?

เห็นชอบว่าอย่าอ่านเสียงดังมาก และอย่าค่อยจนเกินไป ดีที่สุด คือ ปานกลาง (เมื่อต้องละหมาดคนเดียว)

หมายเหตุ : หากเป็นอิหม่ามก็อ่านเสียงชัดเจนให้มะอ์มูมได้ยิน ถ้าเป็นมะอ์มูม การอ่านถ้อยคำต่างๆในละหมาดให้มีการขยับปาก

8. คุณอย่าได้สิ้นหวัง จนพูดว่า : มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก!!! เพราะยังไงคุณก็ไม่สามารถกำจัดอาการใจลอยให้หมดไปได้ในการละหมาด แต่ให้พยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่มา: www.islammore.com 

ดาวุด ธิยัน แปลเรียบเรียง

อัพเดทล่าสุด